“เจดีย์ช้างล้อม/วัดปรัมปีลเวง” สัญลักษณ์อำนาจอาณาจักรอยุทธยา เหนือศรียโศธระปุระ
ในปี พ.ศ. 1974 สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา-สามพระยา) นำกองทัพอยุทธยาบุกไปพิชิตเมืองพระนครศรียโสธระปุระ ศูนย์กลางราชสำนักอาณาจักรเขมรโบราณจนพ่ายแพ้ ทรงส่งพระราชโอรส “เจ้าพรญาพรณครอินทร-เจ้าพญาพระนครอินทร์” หรือ “เจ้านครอินทร์” ยุวราชผู้ปกครองรัฐสุพรรณภูมิ ให้ไปเป็นกษัตริย์ (พระเจ้ากรุงยโศธร-สมเด็จพญาพระนครหลวง) ปกครองเมืองกัมพูชา
.
พงศาวดารเขมรฉบับนักองค์เอง (พงศาวดารเมืองละแวก) บันทึกว่า “...แลข่าวการผลัดแผ่นดินนั้นขจรไปถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชผู้พานพระนครศรีอยุทธยา (Samtec Braḥ Parama rājādhirāja) จึงได้โปรด ฯ ให้เตรียมช้างม้ารี้พลเสด็จยกกองทัพออกมาล้อมเมืองพระนครหลวงไว้ได้ประมาณเจ็ดเดือน พระบาเจ้าศรีธรรมโศกราช (Braḥ cau śrī dharmāśokaraja) จึงนิมนต์พระสังฆราชาคณะสององค์ ๆ หนึ่งชื่อพระธรรมกิจ อีกองค์หนึ่งชื่อพระสุคนธ์ กับขุนมโนรศ ขุนมงคล ออกไปยอมแพ้ ถวายพระนครแก่พระบรมราชาธิราช แล้วพระบาเจ้าศรีธรรมโศกราชได้เสด็จสวรรคต พระบรมราชาธิราชให้แต่งการพระศพ เมื่อพระราชทานเพลิงแล้ว ให้สร้าง“วัดพระเชตุพน” (Jetavana) ถวายพระธรรมกิจ ในเมืองพิศนุโลก (นครวัด/Bisnuloka/viṣṇuloka) สร้าง “วัดน้อย” (Noi) ถวายพระสุคนธ์ แล้วโปรดให้เจ้าพญาแพรดผู้เปนราชบุตรอยู่ครองเมืองพระนครหลวง ทรงพระนามว่า “พระอินทราชา” แล้วกวาดครัวอพยพได้ประมาณ 4 หมื่น ยกกลับไปพระนครศรีอยุทธยา...”
.
*** จารึก K. 489 พบจากวัดปรัมปีลเวง ? (Pram pi lveng/Buddhist Terrace No.1) พระอารามพุทธศาสนาเถรวาททางตะวันออกของสนามชัย หน้าลานพระราชวังหลวงและปราสาทสุออร์ปรัต ภายในกำแพงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างยาวประมาณ 35 * 125 เมตร อายุจารึกประมาณช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ปรากฏชื่อนามสำคัญในจารึกด้านหนึ่งว่า “ธรรมมิกราชาธิราช” (Dharmmikarājādhirāja) และ “ราชาธิปติราช” (Rājādhipatirāja) ส่วนอีกด้านหนึ่งมีคำอธิษฐานของพระภิกษุเพื่อขอความสมหวังหลายประการ ซึ่งหากพิจารณาชื่อนามราชาธิปติ จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ พงศาวดารฉบับวันวลิตและเอกสารหมิงสื่อลู่ จะหมายถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพญา-สามพระยา) ผู้พิชิตเมืองพระนครหลวงนั่นเองครับ
.
*** วัดปรัมปีลเวง ที่ตั้งของพระพุทธรูปประธานปราสาทบายนขนาดใหญ่ ที่อาจมีพระนามว่า “พระกัมพุเชศวร” (Kambujeśvara) จากจารึก K. 293 บนผนังกำแพงที่ปราสาทบายน ที่ถูกขนย้ายมาประดิษฐานในภายหลัง (พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ (เจ้ามณีวงศ์) กษัตริย์แห่งกัมพูชาได้โปรดให้เคลื่อนย้ายรูปประติมากรรมพระนาคปรกที่ซ่อมแซมแล้ว มาไว้ในมณฑปที่วัดจนถึงในปัจจุบัน) จึงอาจเป็น “วัดน้อย” ที่ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารละแวก ที่ถูกสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา ภายหลังที่ได้ทรงพิชิตเมืองพระนครศรียโศธระปุระแล้ว โดยที่วัดพระเชตุพนในเขตนครวัด (ตามพงศาวดาร) ยังคงปรากฏใบเสมาในคติและศิลปะแบบรัฐสุพรรณภูมิเป็นหลักฐานอยู่
.
อีกหลักฐานสำคัญที่สามารถยืนยันความเป็นวัดน้อย ในยุคการครอบครองเมืองพระนครหลวงในสมัยของเจ้าสามพระยา คือ เจดีย์ประธานประธานของวัดปรัมปีลเวง ด้านหลังมณฑป ที่ปรากฏรูปสลักโกลนขาช้างคู่อยู่ล้อมรอบ เหนือฐานประทักษิณเวที (Pradakshina platform) ของเจดีย์ผังสี่เหลี่ยม ตามรูปแบบ “ช้างล้อม/หัตถีปราการ” (Hatthī-Prākāra) ในความหมายของกำแพงแห่งคชสาร สถาปัตยกรรมนิยมแบบมหิยังคณะมหาเจดีย์ (Mahiyangana) และสถูปรุวันเวลิ (Ruwanweli) ในคติเถรวาทลังกาวงศ์ ที่เมืองอนุราธปุระบนเกาะลังกา ที่เริ่มปรากฏความนิยมในรัฐสุโขทัยมาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และที่วัดมเหยงค์ในรัฐอยุทธยา ที่สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 1981 ครับ
.
เจดีย์ช้างล้อมที่วัดน้อย/ปรัมปีลเวง ตามสถาปัตยกรรมนิยมช้างล้อมแบบอยุทธยา เป็นเจดีย์ช้างล้อมเพียงองค์เดียวที่พบในเมืองพระนคร สอดรับกับพงศาวดารเมืองละแวก ชื่อพระนามที่กล่าวถึงในจารึก K. 489 อีกทั้งรูปแบบการปักใบเสมาคู่ในคติสีมันตริกรอบอุโบสถแบบรัฐสุพรรณภูมิ วัดปรัมปีลเวงจึงควรเป็นวัดน้อย ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา สร้างถวายพระราชาคณะเมืองพระนครตามพงศาวดาร
.
*** แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การสร้างเจดีย์ช้างล้อมที่เมืองพระนคร มีลักษณะเช่นเดียวกับการสร้างพระปรางค์วัดจุฬามณี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 1981 จนถึงปี พ.ศ. 1991 ที่เมืองพิษณุโลก ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของอาณาจักรอยุทธยา ที่สามารถครอบครองดินแดนที่อยู่ทางเหนือสุด (ในช่วงเวลานั้น) ของอยุทธยาได้เป็นครั้งแรกครับ
.
เจดีย์ช้างล้อมวัดปรัมปีลเวง จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของรัฐอยุทธยาที่สามารถพิชิตและครอบครองอาณาจักรเขมรโบราณอันยิ่งใหญ่ได้อย่างแท้จริง เช่นเดียวกัน
.
-----------------
*** แต่กระนั้น การแย่งชิงอำนาจในราชสำนักเมืองพระนครก็ยังคงดำเนินต่อไป อยุทธยาปกครองเมืองศรียโสธระปุระได้ประมาณ 11 ปี จึงเกิดกบฏเจ้าพระยาญาติ-เจ้ายาด –เจ้าพญาคามยาต ผู้สืบเชื้อสายกษัตริย์เมืองพระนครเดิม ที่เจ้าสามพญาได้ส่งให้ไปปกครองหัวเมืองจัตุรมุข (พนมเปญ) ขึ้นในปี พ.ศ. 1986 เกิดสงครามใหญ่ไปจนถึงเมืองจัตุมุขทางใต้ของโตนเลสาบ ซึ่งในพงศาดารฝ่ายเขมรให้รายละเอียดว่า ในสงครามปราบพญายาดที่เมืองจัตุมุขนี้ อยุธยาได้กวาดต้อนเชลยศึกเป็นจำนวนถึง 120,000 คนกลับไปพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจำนวนผู้คนชาวเขมรมากที่สุด ยิ่งกว่าในยุคปี พ.ศ. 1974 ที่เจ้าสามพญามาพิชิตเมืองพระนครได้เสียอีกครับ
.
แต่ในปีเดียวกัน เจ้าพญาพระนครอินทร์-พระเจ้ากรุงยโศธระได้เสด็จสวรรคต พญาแพรกศรีราชา ที่คุมกองทัพจึงได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงกัมพูชาสืบต่อจากพระเชษฐาได้อีกประมาณกว่า 1 ปี จนถึงประมาณปี พ.ศ. 1987-1988 พญายาดที่มีพรรคพวกในราชสำนักเมืองพระนครจำนวนมากได้กลับมาลักลอบปลงพระชนม์พญาแพรกได้เป็นผลสำเร็จ ข้าราชการและขุนนางเมืองพระนครที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขมรในราชสำนักพระบาศรีธรรมโศกราชเดิมจึงได้ร่วมกันแข็งข้อขับไล่ขุนนาง ทหารและชาวอยุทธยากลับไป ยกให้พญายาดขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองพระนคร พระนามว่า “พระบาพญายาด/สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีธรรมมิกราช”
.
*** เจดีย์ช้างล้อม ที่วัดน้อย/ปรัมปีลเวง สัญลักษณ์แห่งชัยชนะของอาณาจักรอยุทธยาในสมัยเจ้าสามพระยา ที่อาจยังก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยดี จึงอาจได้ถูกรื้อทำลายลงในช่วงเวลานี้ครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น