“พระพุทธรูปนาคปรก” องค์ที่งดงามที่สุดจากกรุวัดปู่บัว สุพรรณบุรี
“พระพุทธรูปนาคปรก” (Buddha Sheltered by a Naga) กลางห้องศาสนศิลป์สุพรรณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี ถูกพบครั้งแรกที่วัดผักบัว/ปู่บัว ดังปรากฏในเอกสารกราบทูลของพระยาพิศาลเกษตร ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ถวายแก่ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าเจดีย์เก่าที่วัดปู่บัว ตำบลพิหารแดง จังหวัดสุพรรณบุรีได้หักพังลง จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในระหว่างการดำเนินการได้พบจารึกลานทองและพระพุทธรูปนาคปรก สลักขึ้นจากหินทรายขาวจำนวน 31 องค์
.
พระพุทธรูปนาคปรกจากกรุวัดปู่บัวองค์สำคัญที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพิจารณาจากภาพถ่ายที่พระยาพิศาลเกษตรส่งมาให้ทอดพระเนตรพร้อมกับเอกสารกราบบังคมทูล จึงได้มีรับสั่งให้ทางสุพรรณบุรีส่งพระพุทธรูปที่ทรงเห็นว่า “มีความงดงาม ” จากทั้ง 31 องค์ มาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครก่อน ด้วยเพราะเวลานั้น เมืองสุพรรณยังไม่มีการจัดพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งต่อมาเมื่อมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองขึ้น ในปี พ.ศ. 2509 จึงได้มีการจัดส่งพระพุทธรูปนาคปรกของกรุวัดปู่บัวมาจัดแสดงไว้ครับ
.
จนถึงปี พ.ศ. 2544 เมื่อมีการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณขึ้น จึงได้ย้ายพระพุทธรูปนาคปรกองค์ที่งามที่สุดของกรุวัดปู่บัว มาจัดแสดงไว้จนถึงในปัจจุบัน (ชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ)
.
-------------
*** แต่ผู้คนในพื้นที่วัดปู่บัว เล่าต่างกันไปว่า ครั้งที่พระอาจารย์ใยเป็นเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ. 2473 ได้มีการขุดรื้อเนินดินทางเหนือของกุฏิ เพื่อปราบพื้นที่เป็นทางเดินราบไปยังศาลาการเปรียญ เมื่อขุดลงไปได้พบกับชั้นทรายอัดหนา เมื่อโกยทรายขึ้นจึงพบแผ่นหินปิดปากกรุหลายแผ่น ภายในกรุพบพระพุทธรูปนาคปรกสลักจากหินทราย ความสูงประมาณ 1.5 เมตร ตั้งอยู่ตรงกลางกรุเพียงองค์เดียว ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปนาคปรกขนาดเล็กอีกประมาณ 30 องค์ ในกรุยังมีไหใบหนึ่งบรรจุพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงกว่า 100 องค์ ปางประทานพรและประทานอภัย (สองปางในองค์เดียว) เรียกกันว่าพระร่วงยืนพิมพ์เศียรโตและพิมพ์รัศมี
.
จากข้อมูลในท้องถิ่น พระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่ที่พบจากวัดปู่บัว จึงไม่ได้ขุดพบมาจากเจดีย์ที่เพิ่งสร้างขึ้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ขุดพบจากกรุของซากเนิน (เจดีย ?) องค์หนึ่งที่พังทลายลงมานานแล้ว และเป็นพระพุทธรูปนาคปรกหินทรายขนาดใหญ่ที่พบเพียงองค์เดียว ไม่ได้พบมากถึง 30 องค์ครับ
.
*** พระพุทธรูปนาคปรกที่พบจากกรุวัดปู่บัว เป็นงานพุทธศิลป์เดิมของกลุ่ม “รัฐสุวรรณปุระ” (Svarṇapura) ในคติมหายาน/วัชรยานแบบจักรวรรดิบายน ช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ที่อาจเคยมีศาสนสถานในยุคจักรวรรดิบายนอยู่ในบริเวณวัดปู่บัวและบริเวณใกล้เคียงตัวเมืองสุพรรณบุรี ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่ออิทธิพลของราชสำนักกัมพุชะเทศะหมดไปจากลุถ่มน้ำเจ้าพระยา ราชสำนักใหม่ลูกครึ่งรามัญทวารวดีเดิมกลับเข้ามาปกครอง หันมานิยมงานศิลปะและคติความเชื่อแบบเถรวาทรามัญนิกาย แบบลูกผสมวัรชยานเดิมที่เรียกว่า “กัมโพชสงฆ์ปักขะ”
.
ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อของราชสำนักผู้ปกครองและเหล่าสาธุชนผู้ศรัทธา แต่ในครั้งเริ่มแกะสลัก พระพุทธรูปนาคปรกกรุวัดปู่บัว ช่างแกะสลักยังคงใช้งานศิลปะและคติพระพุทธเจ้าอมิตาภะนุ่งขาสั้นแบบบายนเดิม ที่นิยมสลักให้พระพุทธรูปนุ่งภูษาสมพต (แบบกางเกงขาสั้น) พระวรกายไม่ห่มจีวร ในรูปแบบพุทธศิลป์ปางนาคปรกนั่งขัดสมาธิราบ แสดงธยานมุทราแบบมหายานครับ
.
แต่ระหว่างการแกะสลัก ดูเหมือนว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปศิลปะ โดยช่างแกะสลักได้ถูกสั่งให้แก้ไข โดยให้สลักเส้นจีวรและผ้าสังฆาฏิแบบเถรวาทจากอิทธิพลคติกัมโพช/เถรวาทเข้ามาสวมใส่ ไม่เจาะช่องแขนด้านซ้ายตามแบบพระพุทธรูปนาคปรกแบบบายนเดิม ที่ไม่นุ่งจีวรจึงเกิดช่องแขนว่างเพราะไม่มีผ้าจีวรลงมาปิด สลักชายผ้าสังฆาฏิ ที่คลุมบนอังสาซ้าย เป็นเส้นลงมาคลุมพระกรซ้าย พระหัตถ์ประสานเอานิ้วหัวแม่มือ (พระอังคุฐ) ชนกัน ไม่ซ้อนทั้งพระหัตถ์กันตามแบบเดิม สลักเส้นชายผ้าที่พระชงฆ์แสดงการนุ่งห่มผ้าสงบแบบพระภิกษุเถรวาท
.
*** คงด้วยเพราะในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงจะหมดยุคจักรรวรรดิบายนไปแล้วระยะหนึ่ง แต่ช่างแกะสลักพระพุทธรูปในรัฐสุวรรณปุระ/ละโว้ ที่ยังคงนิยมงานศิลปะแบบบายนเดิม ได้แกะสลักพระพุทธรูปในคติใหม่แบบนุ่งห่มจีวร ไม่สวมกุณฑล แต่ด้วยความเคยชิน จึงไม่ได้แก้ไขเอาผ้าโจงภูษาสมพต (กางเกงขาสั้น) ที่ดูเหมือนกางนุ่งทับซ้อนผ้าสงบแบบเถรวาท รวมทั้งรูปขนดและนาคปรกแบบบายนออก
.
*** พระพุทธรูปนาคปรกกรุปู่บัว จึงเป็นงานพุทธศิลป์ของรัฐสุวรรณภูมิในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงในยุคหลังบายน (Post-Bayon Period) ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ราชสำนักใหม่ที่กำลังเปลี่ยนมานิยมในคติกัมโพชสงฆปักขะ/เถรวาท ตามแบบรามัญทวารวดีเดิม และเป็นช่วงแรกของการพัฒนามาเป็น “รัฐสุพรรณภูมิ” (Sbarṇa Bhūmi) แห่งแดนตะวันตก รากฐานกำเนิดสำคัญของความเป็นอาณาจักรอยุทธยาในอีก 100 ปี ต่อมาครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น