“พระพุทธรูปทวารวดี/รามัญละโว้” เคยประดิษฐานในพระปรางค์สามยอด ?
ภายในห้องคูหาครรภธาตุของปราสาท (พระปรางค์) สามยอด ในยุคจักรวรรดิบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 อาจเคยประดิษฐานรูปประติมากรรม “พระพุทธเจ้าอมิตาภะ” (Amitābha Dhyāni Buddha) แสดงธยานะมุทรา ปางนาคปรก เป็นประธานในห้องคูหาปราสาทหลังกลาง รูป “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร” (Bodhisattva Avalokiteśvara ) ในห้องคูหาปราสาทฝั่งทิศใต้ และรูปประติมากรรม “เทวีปรัชญาปารมิตา 2 กร” (Prajñāpāramitā) ในห้องคูหาของปราสาทองค์ทิศเหนือ ตามคติการจัดวางรูปบุคลาธิษฐานแบบเรียงวิภัติ 3 รูป (Trinity) ใน “ลัทธิโลเกศวร” (Lokeśvara) ที่นิยมในราชสำนักเมืองพระนครในช่วงเวลานั้น เพื่อแสดงความเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและความเชื่อของจักรวรรดิ ด้วยการสร้างปราสาทสามหลังตามคติวัชรยานไตรลักษณ์ (Vajrayāna Triad -Trinity) บนเนินดินศักดิ์สิทธิ์ใจกลางเมือง “ละโว้ทยปุระ” (Lavodayapura) หรือชื่อนาม “กัมโพช” ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์
.
ภายหลังการสิ้นอำนาจของจักรวรรดิบายนและราชสำนักยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ลูกหลานลูกครึ่งรามัญ/เขมรของอดีตกมรเตงผู้ปกครองละโว้ทยปุระได้สร้างราชสำนัก/อาณาจักรใหม่ แยกตัวออกจากอาณาจักรกัมพุชเทศะเดิม หันมานิยมในพุทธศาสนาลูกผสมนิกายเถรวาท/รามัญนิกาย คณะ “กัมโพชสงฆ์ปักขะ” (Kambojsanghapakkha) แต่ส่วนหนึ่งก็ยังคงให้ความนิยมในงานศิลปะแบบบายนเดิมอยู่ครับ
.
ความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของราชสำนักละโว้ใหม่ ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปประธานภายในห้องคูหาของพระปรางค์สามยอด โดยได้มีการรื้อถอนรูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรของปราสาทองค์ทิศใต้ และรูปพระนางปรัชญาปารมิตาในปราสาททางทิศเหนือ ตามคติแบบวัชรยาน/โลเกศวรที่ไม่ได้รับความนิยมแล้วออกไป แต่ยังคงวางรูปพระพุทธเจ้านาคปรกเป็นประธานในปราสาทหลังกลางอยู่เช่นเดิม
.
ในช่วงเวลานี้มาจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา งานประติมากรรมหินทรายในยุคบายนจำนวนมากในเมืองละโว้ ได้ถูกนำมารียูธ ดัดแปลงไปใช้ใหม่ โดยมีการดัดแปลงแก้ไขพระพุทธรูปนาคปรกแบบบายนเดิมให้มีรูปจีวร มีผ้าสังฆาฏิ เดินเส้นจีวรพาดพระอุระ เดินเส้นขอบจีวรที่พระเพลา แต่ยังคงเป็นปางธยานะมุทรา/สมาธิ บางรูปมีการเปลี่ยนรายละเอียดของอุณหิสศิราภรณ์ แก้ไขขมวดพระเกศา บ้างก็เอากุณฑล (ตุ้มหู) หลายรูปแก้ไขโดยเอาขนดนาคและตัวนาคปรกด้านหลังออก รวมทั้งการแก้ไขรูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ให้เป็นพระพุทธรูปยืนประกอบปูนปั้น ลงรักปิดทองจนสมบูรณ์ครับ
.
--------------------
*** ในภาพเก่าหนึ่ง เรื่อง พระพุทธรูปสมัยลพบุรี จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้แสดงให้เห็นภายในห้องคูหาครรภธาตุของปราสาทหลังทิศเหนือที่เคยประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ องค์ทางด้านหน้า (ทางซ้ายของภาพ) เป็นพระพุทธรูปที่ยังคงเห็นร่องรอยการดัดแปลงมาจากพระพุทธรูปนาคปรกแบบบายนเดิม เหนือพระอุระเป็นหินต่อชิ้นประกอบ ปั้นปูนลงรักและปิดทองตามศิลปะแบบอยุธยา ประดิษฐานอยู่ฐานที่มี 2 ช่องเดือย ที่น่าจะถูกย้ายมาวางใหม่ในตำแหน่งกลางห้อง ก่อนจะมีการถมยกพื้นห้องให้สูงขึ้นแล้วปูอิฐเป็นแผ่นรองพื้นในสมัยพระนารายณ์มหาราช ทำให้ฐานรองจมอยู่ในพื้น เช่นเดียวกับฐานเดี่ยวอีกชิ้นหนึ่งที่จมอยู่ในพื้นด้านหลัง
.
*** พระพุทธรูปองค์นี้ยังคงประดิษฐานในคูหาเช่นเดิม แต่ได้ถูกเคลื่อนย้ายตำแหน่งมาวางด้านหน้าฐาน หินประกอบส่วนบนเหนือพระอุระหายไปครับ
.
-----------------------------
*** พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งด้านหลังในภาพเก่า ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัยที่มีองค์ประกอบพระพักตร์ มวยพระเกศาก้นหอยใหญ่และอุษณีษะ (หม่อมกะโหลก) รวบขึ้นยอดบัวตูม ตามพุทธศิลป์แบบทวารวดี/รามัญละโว้ แต่คงได้มีการสลักจีวรและผ้าสังฆาฏิขึ้นในภายหลัง ดังเห็นได้จากเส้นจีวรแบบห่มคลุมใต้พระศอฝั่งซ้ายยังคงเว้นเว้าไว้ตามเดิม ไม่ได้ถูกแก้เป็นผ้าสังฆาฏิที่สลักภายหลังคลุม ส่วนพระชานุ (เข่า) ทั้งสองด้านเป็นหินประกอบเข้าเดือยใหญ่ แต่หลุดหายไปทั้งสองข้าง
.
*** ส่วนฐานปัทม์เป็นลายบัวคว่ำกลีบยาวและบัวหงายกลีบสั้นแบบบัวเกสร วางกลีบสับหว่าง แบ่งช่วงกลางด้วยเส้นลวดบัวลูกแก้ว ไม่ใช่งานศิลปะฐานแบบเขมรละโว้หรือแบบบายน
.
พระพุทธรูปองค์นี้ ควรเป็นงานพุทธศิลป์แบบทวารวดี/รามัญละโว้ ตามคติมหาวิหาร/ลังกาเดิมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 แต่ได้มีการแกะสลักแก้ไขเป็นส่วนจีวรขึ้นใหม่ ถูกย้ายเข้ามาประดิษฐานในห้องคูหาครรภธาตุของปราสาทหลังทิศเหนือ ในยุคการเปลี่ยนแปลงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ตามคติ “พระตรีกาย” หรือ “พระพุทธเจ้าสามพระองค์” ของฝ่ายเถรวาทรามัญ/กัมโพช อันหมายถึง “อดีตพระพุทธเจ้า ปัจจุบันพระพุทธเจ้าและอนาคตพระพุทธเจ้า” มากกว่าจะเป็นพระพุทธรูปในตรีกายแบบคติมหายาน ( นิรมาณกาย สัมโภคกาย และธรรมกาย)
.
*** พระพุทธรูปแบบทวารวดี/รามัญละโว้ คงได้ถูกนำกลับเข้ามาวางในปรางค์องค์ทิศเหนือ ตามตำแหน่ง “พระอนาคตพุทธเจ้า” สอดรับกับพระพิมพ์ตรีกายที่พบเป็นจำนวนมากในเมืองละโว้ รวมทั้ง “พระนั่งสาม” ของเมืองหริภุญชัย/ลำพูน ที่มีคติรามัญนิกาย/กัมโพชสงฆ์ปักขะเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างชัดเจนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 นี้ครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น