วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

พระฝาง อุตรดิตถ์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระฝาง”  จังหวัดอุตรดิตถ์
“พระฝาง” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องใหญ่อย่างพระจักรพรรดิราช หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบ ประทับเหนือฐานปัทม์เหนือฐานสิงห์ซ้อนชั้นหย่อนท้องสำเภา ซ้อนผ้าทิพย์ (ฐานเป็นโลหะสำริด) เดิมอาจเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่แกะสลักขึ้นจากไม้ (?) แต่ต่อมาคงได้ถูกกระแหนะรัก ปั้นประดับลวดลายเปลี่ยนให้เป็นพระพุทธรูปเครื่อง ทรงมงกุฎแบบชฎามงกุฎ กระบังเล็กแบบมาลัยรัด รัดเกล้ายอดปราสาทแหลมมีเกี้ยวยอด (แตกต่างไปจากศิลปะช่วงราชวงศ์ปราสาททองก่อนหน้า ที่นิยมมงกุฎทรงเทริดมีกระบังหน้าใหญ่) ลงรักปิดทองและประดับกระจก ตั้งอยู่หน้าพระประธานในอุโบสถวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ/สว่างคบุรีมุนีนาถ จังหวัดอุตรดิตถ์
.
สันนิษฐานว่าผู้ดัดแปลงคือพระพากุลเถระ พระสังฆราชแห่งเมืองฝาง (เจ้าพระฝาง) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระฝางในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมกับการบูรณะพระเจดีย์องค์เดิมแบบทรงยอดดอกบัวตูมแบบสุโขทัย มาเป็นเจดีย์ทรงระฆังไม่มีบัลลังก์ในสถาปัตยกรรมนิยมแบบพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครับ 
.
*** ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญองค์พระฝางมาไว้ที่พระนคร ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2451 ทรงได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ช่างรีบปั้นหุ่นจำลองรูปพระฝางเก็บไว้ที่กรุงเทพ ฯ เช่นเดียวกับพระพุทธชินราช และให้กระทรวงมหาดไทยนำองค์พระกลับคืนไปไว้ที่เมืองฝางตามเดิมให้ทันฤดูน้ำนี้  แต่ได้เสด็จสวรรคตไปก่อน จึงยังไม่ทันได้มีการจำลองพระฝางไว้  
.
*** พระฝาง จึงยังคงประดิษฐานอยู่ที่มุขเด็จของพระวิหารสมเด็จ วัดเบญจมบพิตร ฯ กรุงเทพมหานคร มาจนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น