วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ยมกปาฏิหาริย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ยมกปาฏิหาริย์”  มหาปาฏิหาริย์แห่งพระพุทธเจ้าบนพระพิมพ์ดินเผาทวารวดี

พุทธประวัติตอน “ยมกปาฏิหาริย์” (ยะมะกะ – เป็นคู่) (Yamaka-pātihāriya /Twin Miracles)  ที่เมืองศราวัสตี/สาวัตถี  (Śrāvastī Miracles)  ปรากฏเรื่องราวและรูปงานศิลปะในพระสูตรภาษาสันสกฤต “ปาฏิหาริย์สูตร” (Prātihārya-sūtra) ใน “คัมภีร์ทิวยาวทาน” Divyāvadāna ของนิกายสรรวาสติวาส  (Sarvāstivāda) ที่นิยมในช่วงราชวงศ์กุษาณะ (Kushana Dynasty) ในแคว้นคันธาระและมถุรา ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-8 โดยเป็นการแสดงมหาปาฏิหาริย์เป็นพระพุทธนิมิต ปรากฏเป็นพระพุทธเจ้าคู่ในอิริยาบถต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน บางองค์มีสายน้ำออกมาจากพระบาท บางองค์มีเปลวเพลิงออกมาจากพระอังสะ บางองค์แผ่ฉัพพรรณรังสีสว่างไปทั่วจักรวาล ทั้งพระพุทธเจ้า เทวดาและพระโพธิสัตว์ต่างได้สนทนา/วิสัชนาถามตอบพระธรรมระหว่างกัน ซึ่งการแสดงมหาปาฏิหาริย์ในพระสูตรภาษาสันสกฤตนี้ นิยมต่อเนื่องมาในวรรณกรรมของฝ่ายมหายาน (Mahāyāna Buddhism)  
.  
ส่วนพุทธประวัติยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทอย่างเช่น “ธมฺมปทฏฐกถา”  (Dhammapadattakathā อรรถคาถาธรรมบท ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) และ “ชาตกัฏฐกถา” (Jātakaṭṭhakathā อรรถกถาชาดก ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) ปรากฏครั้งแรกในคติฝ่ายคณะมหาวิหารลังกา ช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 แสดงเรื่องราวการแสดงมหาปาฏิหาริย์ของ “พระสมณโคตม” (Gautama Buddha) ในตอนปลูกต้นมะม่วงคัณฑคามพฤกษ์ และตอนกำราบพวกเดียรถีย์ (tīrthika  พวกนอกศาสนาทั้ง 6) ประกอบด้วย ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธกัจจายะ และนิครนถ์นาฏบุตร (มหาวีระ/เชน) จนพ่ายแพ้ไปใน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 
.
*** ดูเหมือนว่า พุทธประวัติมหาปาฏิหาริย์/ยมกปาฏิหาริย์ (แบบมีต้นมะม่วงคัณฑคามพฤกษ์) ของฝ่ายมหาวิหาร (เถรวาท) ลังกานั้น จะรับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมในอินเดียเหนือ (พระพุทธเจ้ามากมายแสดงอิทธิฤทธิ์เป็นคู่) โดยมีการดัดแปลง แต่งเนื้อความขึ้นใหม่ครับ
.
----------------------------------
*** คติการเป็น “ผู้อยู่เหนือมนุษย์” (Miracles/Superhuman Powers) ด้วยการแสดงมหาปาฏิหาริย์ (Mahā Pāṭihāriya) ของพระพุทธเจ้า ปรากฏครั้งแรกใน “นิกายมหาสังฆิกะ” (Mahāsāṃghika) /อาจาริยวาท  ที่มีแนวคิดว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา แต่มีพุทธภาวะเป็นโลกุตระ มีกายทิพย์ มีอานุภาพเหนือสามัญชน มีเป้าหมายตามปณิธานแห่งพระโพธิสัตว์และการปฏิบัติโพธิญาณบารมี  แต่แสดงองค์ เป็นมนุษย์โดยมายาเพื่อช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ ซึ่งแนวคิดนี้ได้เข้าไปผสมผสานกับนิกายวรสาสติวาส  ช่วงราชวงศ์กุษาณะ มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7-8  นิกายนี้ได้รับความนิยมในแคว้นอานธระประเทศ (Andhra Pradesh)  ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์ศาตวาหนะ (Satavahana Dynasty)  และราชวงศ์อิกษวากุ (Ikshvaku Dynasty)  โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอมราวดีและเมืองนาคารชุนโกณฑะ มาจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 10
.
ในพุทธศตวรรษที่ 6-7 คติความเชื่อพระพุทธเจ้าผู้มีอำนาจ (วิเศษ) เหนือมนุษย์ของนิกายมหาสังฆิกะ พัฒนาไปอยู่ใน “นิกายมหายาน” ที่ได้รับความนิยมในเขตแคว้นอานธระประเทศ  ผสมผสานปรัชญาและวิถีปฏิบัติที่เด่นชัดของแต่ละนิกายในพระพุทธศาสนารวมกับปรัชญาของฝ่ายพราหมณ์ครับ
.
ราวพุทธศตวรรษที่ 8-9  ปรัชญาฝ่ายมหายาน นิกายมาธยมิกะ(Mādhyamika)  ที่ได้ส่งอิทธิพลเข้าไปสู่แนวคิดของนิกาย “สถวีรวาท” (Sthāvirīya วิภัชยวาทิน หินยาน/เถรวาท) นิกายย่อยสางมิตียะ (Samitīya) ในอินเดียเหนือช่วงราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) เกิดเป็นพุทธศาสนาแบบผสมผสาน ที่อาจเรียกว่า “นิกายคุปตะ” ขึ้น
.
เรื่องราวพุทธประวัติของพระสมณโคตมแบบสถวีรวาท/เถรวาท (ไม่มีอิทธิฤทธิ์อำนาจ) จึงได้ถูกคติมหาปาฏิหาริย์ของฝ่ายมหายานเข้ามาผสมผสาน เกิดเป็นเรื่องราวมหาปฏิหาริย์ทั้ง 8  หรือ “อัษฏมหาปาฏิหาริย์ ” (Aṣṭa Mahā Prātihārya) ขึ้นในยุคราชวงศ์คุปตะเป็นครั้งแรกครับ
 
ซึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 ราชวงศ์คุปตะ ได้แผ่อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้ามาปกครองแคว้นอานธระประเทศ ยาวนานกว่า 100 ปี  ทำให้เกิดการฟื้นฟูคติและงานพุทธศิลป์แบบอมราวดีขึ้นใหม่  ในคติผสมผสานระหว่างมหายานเดิมกับเถรวาท-หีนยาน (Theravāda - Hīnayāna)  จากคณะมหาวิหาร (Maha-vihāra) ในศิลปะแบบอนุราธปุระ (Anuradhapura)  มีพระภิกษุและผู้ศรัทธาจากเกาะลังกาเดินทางเข้ามาจาริกแสวงบุญ เพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในแคว้นอานธระประเทศ  เกิดเป็นคติและงานพุทธศิลป์แบบ “หลังอมราวดี” (Post Amaravati) ทั้งแบบศิลปะอมราวดีเดิมผสมผสานมหาวิหารลังกา และแบบอมราวดีเดิมผสมผสานศิลปะคุปตะ(สารนาถ) ซึ่งเป็นรูปแบบคติและงานพุทธศิลป์ช่วงเวลาสำคัญ ที่ส่งอิทธิพลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะวัฒนธรรมภารตภิวัฒน์/ทวารวดี
 .
----------------------------
*** คติมหาปาฏิหาริย์ ความเป็นเหนือมนุษย์ (เหนือโลกุตระ) มีอำนาจ สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ของพระพุทธเจ้าศากยมุนี ตามความเชื่อฝ่ายมหายาน/มาธยมิกะ ที่มาผนวกเข้ากับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าสมณโคตมของฝ่ายสถวีรวาท/สางมิตียะช่วงราชวงศ์คุปตะ ในแคว้นอานธระประเทศ ได้กลายมาเป็นเรื่องราวยมกปาฏิหาริย์ในวรรณกรรมของฝ่ายเถรวาทลังกาครับ 
.
*** ร่องรอยคติมหาปาฏิหาริย์/ยมกปาฏิหาริย์ แบบคณะมหาวิหารลังกา จากอิทธิพลคุปตะในแคว้นอานธระประเทศ ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดีช่วงแรก ๆ ประมาณ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 โดยมีจุดเด่นอยู่ที่รูปศิลปะของต้นมะม่วงคัณฑคามพฤกษ์และรูปของเหล่าเดียรถีย์ประกอบร่วมในการแสดงมหาปาฏิหาริย์   
.
*** “พระพิมพ์ดินเผา” ที่แสดงเรื่องราวพุทธประวัติมหาปาฏิหาริย์/ยมกปาฏิหาริย์ที่เก่าแก่ที่สุด  พบในเขตจังหวัดนครปฐม อาจเป็นพระพิมพ์ดินเผาที่ถูกทำขึ้นโดยกดประทับลงในแม่พิมพ์ (Mould Seals) ชิ้นเดียวกัน กลุ่มคนเดียวกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ดูเหมือนว่าจะเป็นงานพุทธศิลป์ที่สะท้อนคติของฝ่ายมหาวิหาร/เถรวาทลังกาที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาคุปตะในแคว้นอานธระ มีรูปแบบพระโพธิสัตว์มหายานถือแซ่จามรเข้ามาประกอบครับ     
.
พระพิมพ์ดินเผามีความกว้างประมาณ  8 เซนติเมตร สูง 12 เซยติเมตร หนา 1.1 เซนติเมตร เผาขึ้นในท้องถิ่นนครปฐม มีรูปศิลปะพระพุทธเจ้าประทับในท่า “วัชรปรยังกะสนะ” (Vajraparyaṅkasana ไขว้ข้อพระบาทตามแบบคุปตะ) บนภัทรบิฐ /รัตนบัลลังก์ ยกพระหัตถ์แสดงธรรม (วิตรรกะมุทรา) มีประภามณฑลโค้งล้อมรอบ ประกอบเครื่องสูงอย่างฉัตรและแซ่จามร ขนาบข้างด้วยเจดีย์ในความหมายของอดีตพระพุทธเจ้า ซ้อนด้วยรูปเทวดาบริวารถือแซ่จามร ตามแบบมหายาน
.
ด้านล่างเป็นรูปบุคคลชายหญิง 4 คนพร้อมสักการบูชาเป็นพานพุ่ม 3 ชุด ตั้งอยู่บนฐาน หมายถึงผู้คนชาวสาวัตถีที่เข้ามาร่วมในการแสดงมหาปาฏิหาริย์ มุมล่างขวาเป็นรูปบุคคลเดินเข้า อาจเป็นภาพศิลปะตัวแทนของพวกเดียรถีย์ที่เข้ามาท้าทาย ส่วนมุมซ้ายล่างเป็นภาพบุคคลเดินออก ที่อาจหมายถึงการหลบหนีของพวกเดียรถีย์ครับ
.
ด้านบนเป็นรูปศิลปะต้นไม้วางตัวแบบสมมาตร หมายถึงต้นมะม่วงคัณฑคามพฤกษ์ มีรูปพุทธนิมิตคู่ (ยมก) ของพระพุทธเจ้าปรากฏในอิริยาบถต่าง ๆ ตามความที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท 
.
“...ท่อไฟและสายน้ำพุ่งออกจากส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายเป็นคู่ ๆ ได้แก่ พระวรกายเบื้องบนกับพระวรกายเบื้องล่าง พระเนตรทั้งสอง ช่องพระกรรณทั้งสอง ช่องพระนาสิกทั้งสอง พระอังสาทั้งสอง พระหัตถ์ทั้งสอง พระปรัศว์ทั้งสอง พระบาททั้งสอง พระองคุลีกับระหว่างพระองคุลี และพระโลมากับขุมพระโลมา มีฉัพพรรณสังสีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย 6 สีสลับกัน เมื่อกระทบกับสายน้ำมีแสงสะท้อนสวยงามมาก พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ปรากฏพระพุทธนิรมิตในอิริยาบถต่าง ๆ ที่ต่างไปจากพระองค์ เช่นหากพระพุทธองค์เสด็จจงกรม พระพุทธนิรมิตจะประทับยืน ประทับนั่ง หรือไสยาสน์ หากพระพุทธองค์ประทับยืน พระพุทธนิรมิตจะเสด็จจงกรม ประทับนั่งหรือไสยาสน์...เมื่อทรงตั้งปัญหาปุจฉาพระพุทธนิรมิต ก็ตรัสวิสัชนาแก้สลับกันไป...”  
.
ริมสุดด้านบนเป็นรูปบบุคลในวงกลม หมายถึง “พระอาทิตย์” (ขวา) และ “พระจันทร์ (ซ้าย) ดังปรากฏความว่า “พระพุทธนิมิต เอื้อมพระหัตถ์ไปสัมผัสพระอาทิตย์และพระจันทร์...” 
.
*** ด้านล่างสุดเป็นรูปพิมพ์อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ข้อความแก่นหัวใจพระพุทธศาสนา “.....เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา.....” จากอิทธิพลของนิกายคุปตะ รูปอักษรนิยมในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ครับ  
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น