วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระพิมพ์ดินเผา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพิมพ์ดินเผา” รุ่นแรกของโลก
.
“พระพิมพ์ดินเผา” (Terracotta Votive Tablet/Votive Plaque) ในความหมายของรูปสัญลักษณ์ (Symbol Images) ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ทั้งรูปศิลปะและอักษร/ภาษาจารึก (Art/Script) ในกรอบวงเดียว เป็นงานประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกแบบเดียวกับ “ตราประทับดินเผา” (Terracotta sealing)  ที่เกิดจากกระบวนการการกดประทับดินแผ่นกับ “แม่พิมพ์กดประทับ” (Mould Seals) ที่ทำขึ้นจากโลหะ หิน หินกึ่งอัญมณีหรือดินเผาเนื้อแกร่ง แล้วนำมาเผาไฟในอุณหภูมิที่มากกว่า 500 องศา (C)  
.
ความหมายในครั้งแรกของการสร้างพระพิมพ์ดินเผา อาจเริ่มต้นมาจากช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 จากคติของนิกายมหาสังฆิกะ/ไจตยกะ (Mahāsāṃghika /Chaitayaka)  ในแคว้นอานธระประเทศ  ที่เริ่มชี้นำการ “สร้างบุญกุศล” ว่า “...การสร้างเจดีย์ ประดับประดาและบูชาพระเจดีย์ การถวายดอกไม้ เครื่องประดับเครื่องหอม ล้วนแต่เป็นบ่อเกิดแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่...”   
.
เมื่อนิกายมหาสังฆิกะ ได้พัฒนามาเป็น “ลัทธิมหายาน” (Mahāyāna Buddhism)  ราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 คติการทำบุญกุศลเป็นพุทธบูชาและปรัชญานิกายมาธยมิกะ(Mādhyamika)  ที่เน้นทางสายกลาง “ปฏิจจสมุทปบาท” (Pratītyasamutpāda) ได้ส่งอิทธิพลเข้าไปสู่แนวคิดของนิกาย “สถวีรวาท” (Sthāvirīya วิภัชยวาทิน หินยาน/เถรวาท) นิกายย่อยสางมิตียะ (Samitīya  เน้นแนวคิด “อนันตา”)  ที่นิยมในอินเดียเหนือช่วงราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) เกิดเป็นความเชื่อแบบผสมผสานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 - 11 ครับ
.
พุทธศาสนิกชนในยุครุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาจึงได้มีโอกาสถวายส่งของมงคลเป็นพุทธบูชาเพื่อสร้างบุญกุศลให้กับตนเอง (คติฝ่ายหีนยาน) และเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่น (คติฝ่ายมหายาน)  โดยผู้คนที่มีทุนทรัพย์น้อยหรือฐานะยากจน ก็จะนิยมสร้างรูปสถูปจำลองและพระพิมพ์ดินเผาขนาดพอเหมาะ ได้นำไปประดับและบูชาพระสถูปเจดีย์เมื่อเดินทางไปทำบุญใหญ่หรือเดินทางไปจาริกแสวงบุญยังสังเวชนียสถาน 
.
ปรัชญาทางสายกลาง “ปฏิจจสมุทปบาท” ที่มีพระคาถา “เย ธมฺมา” เป็นมนตราธารณี (Dhāraṇī) ความย่อของนิกายมาธยมิกะ ฝ่ายมหายาน  จึงได้ถูกนำอธิบายว่าเป็นพระคาถาอันเป็นแก่นแท้ /หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา” นำข้อความพระคาถามาใช้ประกอบร่วมกับ “อุเทสิกเจติยะ/อุเทสิกเจดีย์”  (Uthesik/Object Chaityas) แบบต่าง ๆ ทั้งในภาษาสันสกฤต บาลี และปรากฤต (Prakrit) ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8-9 เป็นต้นมาครับ  
.
------------------------
*** พระพิมพ์ดินเผารุ่นแรกของโลก อาจเพิ่งเกิดขึ้นช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 10 เมื่อคติศาสนาของฝ่ายมหายาน( มหาสังฆิกะ/ มาธยมิกะ) ได้เขาผสมผสานกับแนวคิดปรัชญาของฝ่ายสถวีรวาทจนเป็นที่ยอมรับกันในช่วงราชวงศ์คุปตะ ซึ่งพระพิมพ์ดินเผาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่พบในปัจจุบัน อาจเป็นตราประทับดินเผา (Terracotta Sealing) ที่พบจากเขตสังฆารามนาลันทา รัฐพิหาร อินเดีย/เบงกอลตะวันออก  ปรากฏรูปของพระศากยมุนี (Shakyamuni)  มีประภามณฑลวงกลมรอบพระเศียร วางพระหัตถ์ขวาสูงกว่าพระหัตถ์ซ้ายตามแบบ “ธรรมจักรมุทรา/ธรฺมจกฺร-ปฺรวรฺตน-มุทรา” (Dharmacakra Pravartana Mudrā) หรือ “การหมุนวงล้อ-พระธรรมจักร” (Turning of the wheel) ประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ บนปัทมะบัลลังก์ที่มีก้านขึ้นมาจากเส้นลวดสองเส้นที่อาจหมายถึงน้ำ/มหาสมุทร  มีรูปของตัวมกร (Makara) ที่ปลายคานพนักพิงทั้งสองฝั่ง  ซึ่งเป็นรูปแบบงานพุทธศิลป์ที่นิยมในคติฝ่ายมหายาน ในช่วงราชวงศ์คุปตะ/วากาฏกะ พุทธศตวรรษที่ 10 – 11  
.
ส่วนด้านล่างนั้น พิมพ์ “อักษรพฺราหฺมีแบบหัวเหลี่ยม” (Box-Headed Brahmi) ภาษาสันสกฤต จารึกพระคาถา “.....เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ...” รูปแบบอักษร นิยมในเขตอินเดียตะวันออก ช่วงกลางถึงปลายยุคราชวงศ์คุปตะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 ครับ
.
*** พระพิมพ์ดินเผาในรูปแบบตราประทับที่เก่าแก่ที่สุดอีกองค์หนึ่ง พบในเขตรัฐอุตตรประเทศ (อินเดียเหนือ) ศูนย์กลางของราชวงศ์คุปตะ เป็นภาพของพระศากยมุนีประทับบนปัทมะบัลลังก์ แสดงธรรมจักรมุทรา ในวิมานตรงกลาง ล้อมรอบด้วยพระมหาโพธิสัตว์ในกรอบเส้นลวดเป็นตาราง 8 องค์ หรือ อัษฏมหาโพธิสัตว์ (Aṣṭamahābodhisatavas /8 Great Bodhisattvas) ที่ประกอบด้วย  “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ไมเตรย พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์วัชรปาณี พระโพธิสัตว์สรรวนิสรณวิษกัมภิณ พระมัญชูศรีโพธิสัตว์ พระอากาศครรภโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์” ที่ต่างกำลังแสดงท่าสดับฟังพระธรรมเทศนาอยู่ครับ
.
คติของพระพิมพ์นี้ อาจหมายถึง “เทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร” (Saddharmapuṇḍarīka Sūtra) บนยอดเขาคิชกูฏ (เขาแร้งใกล้กรุงราชคฤห์) ตามพระสูตรของฝ่ายมหายาน  ที่พระพุทธเจ้าศากยุมนีโปรดแสดงพระธรรมขั้นสูงแก่เหล่าพระโพธิสัตว์ 80,000 องค์ ทั่วพุทธเกษตร โดยมีรูปศิลปะของพระมหาโพธิสัตว์ทั้ง 8 เป็นตัวแทน   
.
พระพิมพ์นี้ ยังคงมีรูปแบบพุทธศิลป์ตามแบบราชวงศ์คุปตะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-11 แต่กระนั้นการปรากฏคติของกลุ่ม “อัษฏมหาโพธิสัตว์” ที่กำลังพัฒนาไปสู่ความเป็น “นิกายวัชรยาน” (Vajrayāna)  ก็อาจได้แสดงว่าพระพิมพ์องค์นี้ มีอายุของคติความเชื่ออยู่ในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 11 หรือช่วงปลายของสมัยราชวงศ์คุปตะแล้วครับ   
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น