เมืองป้อมปืนใหญ่แบบฝรั่งเศส ที่เมืองลิกอร์ นครศรีธรรมราช
*** สงครามแย่งชิงอำนาจในเมืองนคร (น่คอร/ณคอร ในสมุดภาพไตรภูมิ ลิกอร์/Ligor ในภาษาโปรตุเกส Singor/ภาษาฝรั่งเศส) เมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาบนคาบสมุทรมาลายู ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2173 – 2174 ระหว่างกลุ่มชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง กลุ่มชาวญี่ปุ่นกับข้าราชการในท้องถิ่นและคนพื้นเมือง ได้ทำให้เมืองนครพินาศเสียหายจนกลายเป็นเมืองร้าง มีแต่ซากปรักหักพังและศพของผู้คนนอนตายกันอย่างเกลื่อนกลาดไปทั่วเมือง
.
แต่เมื่ออำนาจของชาวญี่ปุ่นหมดลง เหล่าข้าราชการและชาวเมืองเชื้อสายชาวใต้-มาลายู ที่อพยพกลับมา ต่างนำพรรคพวกเข้าแย่งชิงอำนาจกันเอง จนถึงขั้นเตรียมสถาปนากษัตริย์ขึ้นเองโดยไม่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา แยกกลับเป็นอาณาจักรตามพรลิงค์ดังเดิม จนพระเจ้าปราสาททองได้โปรด ฯ ให้ ออกพระสุพรรณพล ออกญาท้ายน้ำ กองทัพใหญ่ ออกญานคร (คนใหม่) นำไพร่พลกว่า 10,000 คน ลงไปปราบกบฏเมืองนครจนพ่ายแพ้ บ้านเมืองลิกอร์ที่ถูกทำลายเสียหายหลายครั้ง จึงได้เริ่มถูกฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ครับ
.
จนมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชโอรสในพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีความสัมพันธ์กับราชสำนักฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก เมื่อสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส ได้นำพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และศุภอักษรแห่งสันตะปาปาคลีเมนท์ที่ 9 มาเข้าเฝ้าถวายสมเด็จพระนารายณ์ในปี พ.ศ. 2216 ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดการขยายทางการค้านานาชาติ โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าขึ้นในกรุงศรีอยุธยา
.
ต่อมาในปี พ.ศ. 2228 คณะทูตที่นำโดย “มองสิเออร์ เลอ เชอร์วาเลีย เดอ โชมอง" (Chevalier de Chaumont) เป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาเข้าเฝ้าอีกครั้ง มีการเจรจาลงนามในอนุสัญญาการค้าระหว่างราชสำนักกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ รวมทั้งความช่วยเหลือสนับสนุนในภูมิปัญญาความรู้ในแขนงต่าง ๆ จากตะวันตก โดยเฉพาะด้านอาวุธและการสงคราม ซึ่งในคณะ มี “เมอร์ซิเออร์ เดอ ลามาร์” (De Lamare) วิศวกรและสถาปนิกในราชสำนักฝรั่งเศสร่วมในคณะมาด้วย ซึ่งมองสิเออร์ คอนสตันซ์ (Constance Phaulkon - คอนสแตนติน ฟอลคอล Constantine Phaulkon) ที่รับราชการในตำแหน่ง พระฤทธิกำแหงศรีสุเรนทรเสนา/ออกญาวิชาเยนทร์ เป็นข้าราชการชาวต่างประเทศคนแรกของราชสำนักกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับความไว้วางพระทัยจากสมเด็จพระนารายณ์มากที่สุดในเวลานั้น ได้ทูลขอให้ทรงจ้าง เดอ ลามาร์ เอาไว้ เพื่อให้เป็นผู้ช่วยออกแบบงานก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะการสร้างกำแพงป้อมในยุคที่การต่อสู้ด้วยปืนใหญ่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมากแล้วในเวลานั้นครับ
.
ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้โปรด ฯ ให้ฟอลคอน เป็นแม่กองสำรวจหัวเมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพระราชอาณาจักรที่จำเป็นจะต้องมีการก่อสร้างกำแพงเป็นป้อมปืนใหญ่แบบฝรั่ง ซึ่งฟอลคอนได้นำแผนผังเมืองต่าง ๆ ที่จะปรับปรุงสร้างเป็นเมืองป้อมขึ้นทูลเกล้า ทั้งป้อมรูปดาว (Star fort) บริเวณปากคลองบางหลวง หัวโค้งเลี้ยวสองฝั่งแม่น้ำที่บางกอก ที่เดอ ลามาร์ เป็นผู้ออกแบบในปี พ.ศ. 2228 (ฝั่งตะวันออกคือ “ป้อมวิไชยเยนทร์” ป้อม 8 แฉกขนาดใหญ่ และทางฝั่งตะวันตกคือ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” 5 แฉก) ซึ่งในช่วงนั้นคงได้มีการออกแบบและก่อสร้างเมืองป้อมปืนใหญ่ขึ้นหลายแห่ง ทั้งที่กรุงศรีอยุธยา เมืองศรีสัชนาลัย (รับศึกล้านนา) เมืองกำแพงเพชร (รับศึกพม่า) เมืองสุพรรณบุรี (ตะวันตก/รับศึกพม่า) เมืองโคราช (ตะวันออก/รับศึกเขมร)
.
*** ส่วนทางภาคใต้ของพระราชอาณาจักรนั้น ฟอลคอนและลามาร์ได้ออกแบบและก่อสร้างเมืองป้อมลิกอร์ (นคร) ขึ้น ในปี พ.ศ. 2230 พร้อมกับการสร้างป้อมเมืองละโว้ครับ
.
เมืองป้อมปืนใหญ่ลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) สร้างขึ้นตามแบบกำแพง/ป้อมปืนใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา ขุดคูน้ำวางเป็นแนวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2240 * 460 เมตร ตามแนวศาสนสถานสำคัญที่เคยมีอยู่ แล้วก่ออิฐเป็นผนังหนาเรียงอัดแน่นแบบตะวันตกด้านนอกที่เรียกว่า “ชาโตว์ ” (château) ด้านบนมีใบบังรูปกลีบบัว/เสมา และใบเหลี่ยมใหญ่ (แบบป้อมกำแพงเพชร) มีรูเล็กบนผนังเรียงใต้ใบบังสำหรับปืนเล็ก ด้านหลังกำแพงอัดดินเพื่อขยายเป็นเชิงเทินสำหรับการลำเลียงขนย้ายยุทโธปกรณ์ วางปืนใหญ่จุกช่องและให้ทหารขึ้นไปบนกำแพง
.
จากแบบแปลนของลามาร์แสดงว่า ในครั้งแรกนั้น มีความตั้งใจจะสร้างกำแพงเมืองลิกอร์ให้มีป้อมปืนยื่นออกมาจากแนวกำแพงสลับกับประตูเป็นระยะโดยรอบ ประตูใหญ่ทางทิศเหนือและใต้ที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของกำแพงทั้งหมดจะมีป้อมปืนขนาดใหญ่ล้อมไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในการก่อสร้างจริงนั้นประตูทิศเหนือคือประตูชัยสิทธิ์และประตูทิศใต้คือประตูชัยศักดิ์มีการสร้างป้อมใหญ่ป้องกันประตูตามแบบแปลน กำแพงด้านข้างทางทิศตะวันออกมีประตูเล็ก 4 ประตู คือ ประตูลัก ประตูโพธิ์ ประตูลอด ประตูสะพานยม ส่วนทางทิศตะวันตกคือ ประตูนางงาม/หลังพระธาตุ ประตูท่าม้า ประตูท้ายวัง ประตูท่าชี ไม่มีการสร้างป้อมปืนใหญ่ระหว่างแนวกำแพงแต่อย่างใด แต่มีป้อมปืนผังสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่อยู่ที่ 4 มุมเมือง
.
*** กำแพงและป้อมเมืองลิกอร์ (นคร-ศรีธรรมราช) ถูกรื้อทิ้งไปในแต่ละยุคสมัยจนเกือบหมด คงเหลือเพียงแนวกำแพงด้านทิศเหนือริมคลองหน้าเมืองประมาณ 100 เมตร ที่ได้การบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2530-2533 ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น