วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระพิมพ์ทราวดี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
จาริกแสวงบุญ การกระทำบุญเป็นพุทธบูชา ใน “พระพิมพ์ทวารวดี”

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12  “พระตรีปิฎกธราจารย์เหี้ยนจั๋ง-ฮวนซัง” (Hsuan tsang) ซานจั๋ง (Sānzàng)  หรือพระถังซัมจั๋ง ได้บันทึกไว้ใน “ไซอิ๋วกี่/บันทึกการเดินทางไปตะวันตก” ว่า “...ผู้จาริกแสวงบุญในอินเดีย ที่เดินทางไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา จะนิยมสร้างพระธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และนิยมสร้างอุเทสิกเจดีย์หรือสถูปจำลองซึ่งเป็นสถูปขนาดเล็ก ด้วยหิน ดินเผา หรือโลหะถวายแด่สถานที่นั้น ๆ เพื่อเป็นการอุทิศถวายให้พุทธศาสนา...” 
.
“...ชาวพุทธที่ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน จะแสดงถึงความศรัทธาเลื่อมใสที่ตนมีต่อพระพุทธศาสนา โดยการสร้างวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เป็นที่ระลึก สำหรับคนรวยจะสร้างสถูปจำลอง ส่วนคนจนนั้น จะนิยมทำเป็นรูปแผ่นดินเผา (พระพิมพ์) จารึกด้านหลังด้วยคาถาเย ธมฺมา...”
.
--------------------
*** “พระพิมพ์” (Terracotta Votive Tablet) เป็นงานประดิษฐ์แบบเดียวกับ “ตราประทับดินเผา” (Terracotta sealing)  ที่เกิดจาก“แม่พิมพ์กดประทับ” (Mould Seals) ที่ทำจากโลหะ หิน หินกึ่งอัญมณีและดินเผาเนื้อแกร่ง จัดวางองค์ประกอบ “รูปสัญลักษณ์เชิงศิลปะ” (Art Symbol Images) และอักษร/ภาษา (Script) ในกรอบรูปเดียว มีคติและความหมายเป็นที่รับรู้กันในสังคม มาใช้เป็นสื่อกลางเพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างราชสำนัก ผู้นำทางจิตวิญญาณ/ศาสนา การเมืองและการค้าขาย  จากอิทธิพลของวัฒนธรรมเฮเลนิสติก (Hellenistic) /กรีก และอาคีเมนิด (Achaemenid)/เปอร์เซีย ที่ส่งอิทธิพลเข้ามาสู่อินเดีย ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมาครับ
.
เมื่อพระพุทธศาสนาได้รับความนิยมเป็นที่เคารพนับถือในอินเดีย เกิดคำสอนหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำบุญเพื่อเป็นพุทธบูชา  อย่างนิกายมหาสังฆิกะ/ไจตยกะ (Mahāsāṃghika /Chaitayaka)  ในแคว้นอานธระ (ลุ่มแม่น้ำกฤษณา-โคทาวรี)  ที่ชี้นำว่า “...การสร้างเจดีย์ การประดับเจดีย์และการบูชาเจดีย์ การถวายดอกไม้ เครื่องประดับจะเป็นบ่อเกิดแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่...”  
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 7  นิกายมหาสังฆิกะ ได้ผสมผสานกับคติ “บารมี 6 ประการแห่งพระโพธิสัตว์” กับนิกายสรวาสติวาท (Sarvāstivāda) พัฒนามาเป็น “นิกายมหายาน” (Mahāyāna Buddhism)  จึงเกิดคติความเชื่อและวรรณกรรมเรื่องพระอนาคต/พระอดีตพระพุทธเจ้า ทั้งในฝ่ายมหายานและสถวีรวาท (Sthāvirīya หินยาน/เถรวาท) ในช่วงราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ราวพุทธศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา พุทธศาสนาที่รุ่งเรืองในช่วงเวลานี้ ได้นำไปสู่การสร้างรูปพระพิมพ์ดินเผาขนาดกลางและเล็กขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้นำไปประดับและบูชาพระสถูปเจดีย์ตามคติของฝ่ายมหาสังฆิกะ/มหายาน  ที่ชี้ว่า การอุทิศถวายประดับประดาเพื่อเป็นพุทธบูชา จะได้บุญกุศลอันใหญ่หลวงครับ  
.
บันทึกของหลวงจีนฟาเหี้ยน เหี้ยนจังและอี้จิง อาจสรุปได้ว่า ชาวพุทธในอินเดียเหนือช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 – 13 ที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญยังสังเวชนียสถาน นิยมจารึก พระคาถา “เย ธมฺมา” (เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เตสัง เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรโธ  เอวังวาที มหาสมโณ) อันเป็นความย่อของหลักธรรม “ปฏิจจสมุปบาท” (Pratītyasamutpāda) หรือ “อิทัปปัจจยตา” (Idappaccayatā)  แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาไว้ที่หลังแผ่นพระพิมพ์ดินเผา  (รวมทั้งบนพระธรรมจักร ฐานพระพุทธรูป บนสถูปจำลอง บนบาตรพระ บนแท่งหิน บนแผ่นอิฐ หรือบนผนังถ้ำ)
.
*** พระพิมพ์ดินเผาในครั้งแรกนั้น นิยมสร้างรูปพุทธศิลป์ตามเรื่องราวพุทธประวัติ “ตอนเทศนาธรรมสัทธรรมปุณฑริกสูตร” (Saddharmapuṇḍarīka Sūtra) บนยอดเขาคิชกูฏ มาสร้างสรรค์เป็นรูปสัญลักษณ์ ในความหมายของการแสดง “พระธรรมขั้นสูงสุดแห่งพระศากยมุนี ที่จะทรงสอนให้แก่พระโพธิสัตว์เท่านั้น”  ตามคติของฝ่ายมหายาน ซึ่งในช่วงราชวงศ์คุปตะ ยังคงมีเพียงฝ่ายมหายานเท่านั้นที่สร้างพระพิมพ์ดินเผาขึ้น จากการตีความในเรื่องบุญกุศลที่สามารถอุทิศ/ส่งต่อเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่นได้ครับ   
.
พระพิมพ์ดินเผาจึงได้กลายมาเป็น “เครื่องอุทิศถวาย” ในการพุทธบูชา โดยเฉพาะผู้คนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาแต่มีฐานะยากไร้ เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ก็จะนำพระพิมพ์ที่ได้กดพิมพ์เผาไว้ (หรือซื้อหามา) ไปประดับวางไว้บนส่วนต่าง ๆของพระสถูปเจดีย์ แต่กระนั้น เมื่อสังเวชนียสถานในอินเดียถูกทำลาย โดยกลุ่มชน “เฮฟทาไลต์/ฮันขาว” (Hephthalite/White Hun) กลุ่มชนผู้บูชาไฟที่ขยายอิทธิพลลงมาจากทางเหนือในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 10 รวมถึงความขัดแย้งระหว่างแว่นแคว้นและความแตกต่างทางความเชื่อระหว่างพุทธกับฮินดู การเดินทางไปจาริกแสวงบุญในอินเดียเหนือจึงสิ้นสุดลง 
.
*** แต่การกระทำบุญอุทิศถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา ยังคงเป็นวิถีปฏิบัติของชาวพุทธในวัฒนธรรมทวารวดี  ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 สืบต่อมาจากยุคหลังคุปตะ-อานธระ มีสร้างพระพิมพ์ตามแบบรูปศิลปะมหายาน/สถวีรวาทเดิม รวมทั้งการสร้างพระพิมพ์ในคติใหม่ที่ได้พุทธศิลป์มาจากพุทธประวัติฝ่ายมหาวิหารลังกา (เถรวาท)ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 จนมาถึงช่วงรับอิทธิพลจากราชวงศ์ปาละและสุขาวดีจากราชวงศ์ถังในจีน ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 พุทธศิลป์อันงดงามของพระพิมพ์ได้กลายมาเป็นเครื่องอุทิศถวายสำคัญในการพุทธบูชา ทั้งมีการจารึกข้อความพระธรรมคำสอนจากพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทมากขึ้น
.
*** การจาริกแสวงบุญไปตามพระสถูปเจดีย์ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ในช่วงแรกนั้น ยังคงนิยมจารึกพระคาถาเย ธมฺมา ตามแบบหลังราชวงศ์คุปตะ/อานธระ แต่ต่อมาในช่วงอิทธิพลราชวงศ์ปาละ พระภิกษุและผู้แสวงบุญ เริ่มนิยมจารึกชื่อนามของตนเอง เพื่อเป็นพยานในการกระทำบุญอุทิศถวายเป็นการพุทธบูชา เพื่อระลึกถึงในวาระต่าง ๆ รวมถึงเป็นการแสดงตนว่าได้เดินทางจาริกแสวงบุญมาเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในดินแดนที่ห่างไกลอย่างที่ตั้งหวังไว้ โดยสมบูรณ์แล้วครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น