พุทธศิลป์ “ปางป่าลิไลยก์” เกิดขึ้นครั้งแรกในยุควัฒนธรรมทวารวดี
พุทธศิลป์ “ปางป่าลิไลยก์” (Palileyaka) ที่มีรูปช้าง (Elephant) และลิง (Monkey) ประกอบอยู่ร่วมพร้อมกันนั้น อาจเริ่มต้นครั้งแรกในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี/รามัญ ดังปรากฏหลักฐานจากพระพิมพ์ดินเผา (Terracotta Votive Tablet) ที่มีขนาดใหญ่ (23 * 11 เซนติเมตร) พบจากริมน้ำตรงข้ามวัดคุ้งสำเภาล่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นรูปของพระพทุธเจ้าสมณโคตมประทับบนบัลลังก์ แสดงวิตรรกะมุทราที่พระหัตถ์ขวา (ปางแสดงธรรม) มีภาพต้นไม้ (ป่า) ที่มีลิงกำลังยกสิ่งของถวายและภาพช้างประกอบอยู่ที่ส่วนล่างอย่างชัดเจน
.
คติเรื่อง “ปางป่าลิไลยก์” มีพัฒนาการมา 2 สาย คือสายอินเดียเหนือและสายลังกา โดยงานพุทธศิลป์ของฝ่ายสถวีรวาท/ศราวกยาน (Sthāvirīya) ในอินเดียเหนือตั้งแต่ช่วงราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 จนถึงราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) ในอินเดียตะวันออก ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 - 17 จะปรากฏพุทธประวัติตอน “การโปรดสั่งสอน-ทรมานพญาวานร” ที่นครเวสาลี (Vaishali) หนึ่งใน “อัษฏมหาปาฏิหาริย์/อัฐฏมหาปาฏิหาริย์” (Aṣṭa Mahā Prātihārya) หรือพุทธประวัติตอนแสดงมหาปาฏิหาริย์ 8 เหตุการณ์ ในสถานสำคัญที่ควรระลึกถึงพระพุทธเจ้า 8 แห่ง ที่เรียกว่า “อัษฏมหาสถาน” (Aṣṭa Mahastan) ครับ
.
“การโปรดสั่งสอน-ทรมานพญาวานร” เป็นเรื่องราวของพญาวารนร ใน “ป่ามหาวัน” (Mahāwan) ที่นครเวสาลี (Vaiśālī) ที่ได้นำรวงผึ้งใหญ่ (Honeycomb) มาถวายแก่พระพุทธองค์ จนในที่สุด พญาลิงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสรวงสวรรค์ไตรตรึงษ์ (Trāyastriṃśa)
.
*** พุทธศิลป์ฝ่ายอินเดียเหนือในยุคราชวงศ์คุปตะจนมาถึงราชวงศ์ปาละ จะปรากฏเพียงรูปลิง/พญาวานรถวายรวงผึ้งแก่พระพุทธเจ้าในป่า “มหาวัน” โดยไม่ปรากฏรูปช้างร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยครับ
.
---------------------------------
*** ส่วนในคติเถรวาทฝ่ายลังกาวงศ์ (Theravāda) กลับไม่ปรากฏเรื่องราวของพญาวานรถวายรวงผึ้งที่เมืองเวสาลีตามแบบอินเดียเหนือ แต่มีพุทธประวัติตอน “พญาช้างปาลิเลยะ/ปาเลไลยกะ” (Pārileyya/ Pārileyyaka) และโขลงช้างบริวารใน “ป่ารักขิตวันสัญธะ” (Rakkhitavanasanda Forest) ทางใต้ของนครโกสัมพี (Kosambhi) ในแคว้นเจตี (Cedi) ที่คอยปรนนิบัติถวายภัตตาหารทั้งน้ำสะอาดและผลไม้ ในครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จหลีกออกมาจากความวุ่นวายจากการทะเลาะวิวาท ขาดความสามัคคีของคณะสงฆ์วัดโฆสิตาราม จนเมื่อการทะเลาะเบาะแว้งเริ่มสงบลง พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมายังพระเชตะวันมหาวิหาร ทรงเทศนาธรรมแห่งความสามัคคี โดยทรงชี้ไปที่พญาช้างปาลิเลยะและโขลงช้างบริวารแห่งป่ารักขิตวันสัญธะ เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขครับ
.
*** แต่ก็ยังไม่เคยปรากฏหลักฐานงานพุทธศิลป์ปางป่าลิไลยก์ที่ชัดเจนในงานศิลปะแบบลังกา แล้วปางป่าลิไลยก์ที่มีช้างอยู่พร้อมกับลิงนั้น เริ่มต้นจากที่ไหนกันแน่ ?
.
*** จากหลักฐานพระพิมพ์ดินเผาที่พบจากจังหวัดสุพรรณบุรี อาจอธิบายได้ว่า พุทธประวัติเรื่อง “พญาวานรถวายรวงผึ้ง ที่ป่ามหาวัน นครเวสาลี” จากคตินิยมช่วงราชวงศ์ปาละ และเรื่อง “พญาช้างปาลิเลยะและโขลงช้างปรนนิบัติพระพุทธเจ้า ที่ป่ารักขิตวันสัญธะ เมืองโกสัมพี” จากคติความนิยมของฝ่ายเถรวาท
อาจได้เข้ามาผสมผสานกันครั้งแรกในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา โดยพิจารณาช่วงเวลาจากงานพุทธศิลป์ในพระพิมพ์ ที่นุ่งห่มดอง/เฉียงแบบเถรวาท แสดงวิตรรกะมุทราที่พระหัตถ์ขวาเพียงพระหัตถ์เดียว โดยอีกพระหัตถ์วางบนหน้าพระเพลาอันเป็นลักษณะเด่นของคติเถรวาทฝ่ายคณะมหาวิหาร (Maha-vihāra) จากลังกา ที่เป็นความนิยมในวัฒนธรรมทวารวดีช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ส่วนการประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ขัดไขว้ข้อพระบาทแบบท่านั่งโยคาสนะ “โยคาสนะ” (Yogāsana) ก็เป็นลักษณะเด่นของพระพุทธรูปตามคติฝ่ายมหายาน รวมไปถึงซุ้มโค้งประภามณฑลตามรูปศิลปะแผ่นหลัง “ประภาวลี” (Altarpiece) ที่นิยมในศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 ครับ
.
เรื่อง “ช้างถวายของ” จึงอาจเพิ่งแต่งขึ้นใหม่ในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี/รามัญนิกาย โดยรับอิทธิพลมาจากฝ่ายเถรวาทลังกา (ทั้งมหาวิหารและอภัยคีรีวิหาร/Abhayagiri-vihāra) และรูป “ลิงถวายรวงผึ้ง” จากคติและงานศิลปะฝ่ายราชวงศ์ปาละ จึงได้มาอยู่รวมกันเป็นครั้งแรกในชื่อนาม “ปางป่าลิไลยก์” ตามชื่อนามพญาช้างที่กลายมาเป็นชื่อป่าในเวลาต่อมา
.
พุทธศิลป์ปางป่าเลไลยก์ที่ปรากฏรูปช้างถวายผลไม้และลิงถวายรวงผึ้ง (The elephant bringing fruit and the monkey bringing a honeycomb) ในวัฒนธรรมรามัญ/ทวารวดี ยังส่งอิทธิพลไปยังงานศิลปะแบบพุกาม (Bagan Art) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากท่านั่งขัดตะหมาดไปเป็นท่านั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ภัทรบิฐ (เก้าอี้นั่งมีพนักพิง) แบบกรีกหรือแบบยุโรป (Seated Buddha on a throne -The Buddha sits in “Greek – European Posture” on a Emperor throne) หรือที่เรียกว่า “ปรลัมพปาทาสนะ” (Pralambapa – dasana posture) ทำพระหัตถ์ทั้งสองข้างประคองบาตรถือบาตรบนพระเพลา ทั้งแบบนั่งห้อยขาบนภัทรบิฐหรือนั่งสมาธิเพชรแบบขัดตะหมาด ซึ่งก็เป็นเปลี่ยนแปลงรูปจากท่านั่งเดิมเป็นเป็นครั้งแรกครับ
.
คติและรูปพุทธศิลป์ปางป่าเลไลยก์ในคติพุทธศาสนาสายรามัญนิกาย คงได้เข้าไปสู่เมืองพระนครผ่านไปจากเมืองละโว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ดังปรากฏภาพสลักบนหน้าบันที่ “ปราสาทบันเตียกะเดย” (Banteay Kdei) ทางตะวันออกของเมืองนครธม และที่ “ปราสาทพระป่าลิไลยก์” (Preah Palilay) วัดทางพุทธศาสนาแบบเถรวาท ทางเหนือของพระราชวังหลวงภายในตัวเมืองพระนครหลวงศรียโศธรปุระ ที่ยังคงรักษารูปแบบประทับ (นั่ง) ขัดตะหมาดบนภัทรบัลลังก์ตามแบบศิลปะทวารวดีอยู่
.
*** คติและพุทธศิลป์ปางป่าเลไลยก์จากรามัญ ได้เลี้ยวกลับเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 โดยนิยมทำเป็นพระพุทธรูปแบบนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ตามแบบศิลปะปาละและพุกาม แต่ได้เปลี่ยนแปลงการวางพระหัตถ์ขึ้นใหม่ โดยวางปลายพระกรขวาและซ้ายแนบไปบนพระเพลา หงายพระหัตถ์ขวาขึ้นเหนือพระชานุขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายเหนือพระชานุวางคว่ำลงครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น