วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธเจ้าหมอยา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “พระพุทธเจ้าหมอยา/พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ ” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ?
ถึงแม้จะปรากฏวรรณกรรมที่กล่าวถึง “พระพุทธเจ้าหมอยา” (Medicine Buddha)  ใน “พระสูตรลลิตวิสตระ” (Lalitavistara Sūtra)  ที่ได้กล่าวสรรเสริญ “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นราชาแห่งโอสถ”  (King of Medicines)  ผู้สามารถปลดเปลื้องความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของมวลมนุษย์ นำทางไปสู่พระนิพพาน “...พระองค์เป็นแพทย์ที่ประทานพระโอสถอันได้แก่น้ำอมฤต ทรงเป็นผู้นำ และเป็นผู้ชี้ทางสู่สวรรค์...” มาตั้งแต่ช่วงต้นราชวงศ์คุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 9 
.
*** มาจนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12  ปรากฏพระพุทธเจ้าหมอยาในชื่อพระนาม “พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวทูรยประภาสุคต” (Bhaiṣajyaguru Vaidūryaprabha rāja -Sugata) “พระไภษัชยคุรุตถาคต” (Bhaiṣajyaguru Tathagata) (มหาแพทยราชาพุทธะ – มหาไภษัชยราชพุทธเจ้า)  ในพระสูตร   “ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตปูรวปณิธานสูตร” (Bhaiṣajya-guru-vaiḍūrya-prabhāsa-tathāgata-pūrva-praṇidhāna Sūtra) ที่ลิขิตโดยพระตรีปิฎกธราจารย์เฮี้ยนจั๋ง (ซาน จั๋งเสวียนจั้ง พระถังซำจั้ง) ในคติพุทธศาสนามหายาน (Mahāyāna  Buddhism) ความว่า 
“...เมื่อครั้งที่พระศากยมุนีเจ้า ได้ทรงจาริกไปถึงเมืองเวศาลี ทรงประทับอยู่ใต้ร่มพฤกษชาติที่มีเสียงดนตรีของลมและใบไม้ ครั้งนั้นมีพระภิกษุจำนวน 8,000 รูป พระมหาโพธิสัตว์จำนวน 36,000 องค์ แล้วพระโพธิสัตว์มัญชุศรี  (โพธิสัตว์แห่ง ปัญญา) ได้มาร่วมชุมชนและกราบทูลอาราธนาให้พระศากยมุนี ตรัสถึงพระนามของเหล่าพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ และพระปณิธาน รวมทั้งอานิสงส์ของการบูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๆ  
.
พระศากยมุนีจึงทรงตรัสเล่าว่า “...นับจากโลกธาตุแห่งนี้ไปทางด้านบูรพาทิศ (ตรงข้ามกับแดนสุขาวดี) ผ่านโลกธาตุและดินแดนต่าง ๆ ไปมากมายเท่ากับจำนวนเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา 10 สายรวมกัน ยังมีโลกธาตุแห่งหนึ่งนามว่า “ศุทธิไวฑูรย์” มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า “ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา” ประทับอยู่...”
.
“... พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อครั้งยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งจิตมหาปณิธานไว้ 12 ประการ เพื่อช่วยเหล่าสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกายและทางใจและมีชีวิตยืนยาว ...”
.
*** มาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13  ปรากฏพระนามของพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุตถาคต  ในพระสูตร “ไภษชฺยคุรุไวฑูรฺยประภาสปฺตพุทฺธปูรฺวปรฺณิธานวิเศษวิสตฺรสูตร”  (Bhaiṣajya guru vaiḍūrya prabhā Sapta Buddha pūrva praṇidhāna viśeṣa vistāra Sūtra) ที่ลิขิตเป็นภาษาจีนโดยพระอี้จิง (I-Tsing) อธิบายว่า “...พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวทูรยประภาสุคตทรงเป็นประธานของกลุ่มพระไภษัชยตถาคต 7 พระองค์ มหาปณิธานและชื่อโลกธาตุของพระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุที่มีจำนวนมหาปณิธานไม่เท่ากัน แต่มีมหาปณิธาน 12 ประการแบบเดียวกัน แต่ละองค์ประทับอยู่ที่พุทธเกษตรศุทธิไวฑูรย์ ทางแดนตะวันออก....” 
.
*** แต่กระนั้น ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ก็ยังไม่เคยปรากฏรูปพุทธศิลป์ของพระพุทธเจ้าหมอยาราชาแห่งโอสถ/พระไภษัชยคุรุ อย่างชัดเจนครับ
------------------------
*** ดูเหมือนว่า คติและรูปพุทธศิลป์ของพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุจะไม่ได้รับความนิยมในวัฒนธรรมอินเดียมาก่อน แต่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงของวัฒนธรรมทิเบตและจีน อาจด้วยเพราะในอินเดียช่วงราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ที่มีความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน/วัชรยาน/ตันตระ (Vajrayāna -Tantric Buddhism) ยังคงนิยมใน “พระโพธิสัตว์ผู้บริบาลรักษาโรคภัย” ทั้ง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระปัญจรักษาอิตถีโพธิสัตว์ (Pañcarakṣā) ประจำพระฌานิพุทธเจ้าทั้ง 5 องค์  ที่มีธาริณี/มนตรา ป้องกันภัยร้ายแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ “พระมหาประติสราอิตถีโพธิสัตว์” (Mahāpratisarā) สายตระกูลพระธยานิพุทธะรัตนสัมภาวะ (Ratnasambhava) บุคลาธิษฐานรูปเทวีของพระสูตร  “มหาปฺรติสรา-วิทฺยาราชฺญี” (Mahāpratisarā Vidyārājñī Dhāraṇī Sūtra) เพื่อการปกป้องมนุษย์จากวิญญาณชั่วร้าย บาปเคราะห์ โรคร้าย ความเจ็บป่วย การคลอดลูก ความอดอยากและอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์  
.
---------------------------
*** แต่มีรูปประติมากรรมสำริดชิ้นหนึ่ง จัดแสดงที่ Arthur M. Sackler Gallery  (ภาพจาก วิกิมีเดีย) ระบุในคำอธิบายของสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ว่าเป็นพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ /พระพุทธเจ้าหมอยา ได้มาจากชวากลาง ประมาณอายุที่พุทธศตวรรษที่ 14   ซึ่งเป็นช่วงอิทธิพลของราชวงศ์ไศเลนทรา (Śailendra Dynasty-ศรีวิชัย) โดยรับคติเรื่องพระพุทธเจ้าหมอยาจากทิเบต ผสมผสานงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละครับ
.
รูปสำริดที่ระบุว่าเป็นพระไภษัชยคุรุ  มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะชวา/ศรีวิชัย ประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิเพชร/ขัดไขว้ข้อพระบาท (วัชรปรยังกะ/Vajraparyaṅka) บนปัทมสนะ/บัลลังก์ (padmāsana) ด้านหลังเป็นแผงประภาวลีกลม มีเปลวเพลิงอานุภาพแหลมเรียงเว้นเป็นช่วง มีรูปดอกไม้สวรรค์เรียงอยู่บนแผง ด้านบนเป็นฉัตร (Chattra) ก้านฉัตรเป็นพุ่มดอกไม้ พระหัตถ์ซ้ายถือผลสมอไทย (Myrobalan fruit) ในท่าแบพระหัตถ์ประทานพร (มอบให้) พระหัตถ์ขวาถือม้วน “พระมนูสูตร”  (Manuscript) หรือผ้าห่อยา
.
รูปศิลปะการถือผลสมอ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากฝ่ายเถรวาท (Theravāda) ลังกา ที่ในพุทธประวัติอธิบายว่า พระอินทร์ได้ถวายผลสมอ ในความหมายของ “ทิพย์โอสถ” เพื่อเป็นยาระบาย แก่พระพุทธองค์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของประทับเสวยวิมุติสุขครับ
หากรูปสำริดจากชวากลางองค์นี้ คือ พระพุทธเจ้าหมอยา/พระไภษัชยคุรุ ก็อาจอธิบายได้ว่า รูปพุทธศิลป์ของพระไภษัชยคุรุในยุคแรก ช่วงราชวงศ์ปาละ-ชวา/ศรีวิชัย จะฉลองพระองค์แบบพระภิกษุไม่สวมเครื่องประดับ  มีลักษณะของมหาบุรุษเช่นเดียวกับ “พระพุทธเจ้าอมิตาภะ” (Amitabha Dhyāni Buddha) แต่ยังไม่นิยมวางรูปสิ่งของมงคล ทั้งหม้อยาโอสถ ผลสมอ บาตร (บรรจุทิพยโอสถ) และรัตนเจดีย์ ตามแบบศิลปะทิเบตและจีน ในพระหัตถ์ขวา รวมทั้งยังรับคติผลสมอโอสถทิพย์จากฝ่ายเถรวาทมาผสมผสานในรูปงานพุทธศิลป์อีกด้วย
.
พระพุทธรูปสำริด  ศิลปะในพุทธศตวรรษที่ 14 จากชวากลางองค์นี้ จึงเป็นงานพุทธศิลป์ในคติพระพุทธเจ้าหม้อยา/พระไภษัชยคุรุรุ่นแรก ที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจเป็นรุ่นแรก ๆ ของโลกไปพร้อมกัน ก่อนจะเกิดความนิยมรูปศิลปะพระไภษัชยคุรุ ที่ถือหม้อยา/บาตรในพระหัตถ์ครับ
.
--------------------------------------
*** ในคติความเชื่อของมหายานและวัชรยาน/ตันตระ เหล่าสรรพสัตว์ที่ทนทุกข์ทรมานด้วยโรคภัย หากเพียงได้ยิน รำลึกถึงหรือกล่าวพระนามของพระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต ก็จะพ้นจากโรคภัยทั้งหลาย มีร่างกายสมบูรณ์ ประกอบด้วยสติปัญญา มีทรัพย์มหาศาล ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางกายและทางใจ จะสามารถพ้นจากโรคภัยได้ ด้วยการถวายเครื่องบูชาแก่รูปบุคลาธิษฐานของพระไภษัชยคุรุ สวดพระธาริณี-มนตราประจำพระองค์ กล่าวเสียงและตั้งจิตเป็นกสิณรำลึกถึงพระนามของพระองค์
.
เหล่าผู้ศรัทธาจะนิยมสาธยายจารึก คัดลอกพระนาม สวดธาริณี-มนตรา (dhāraṇī) ตามพระสูตร วาดภาพพระบฏ สร้างงานพุทธศิลป์ของพระไภษัชยคุรุ  ตามอรรถในพระสูตรที่กล่าวว่า “หากได้ปรากฏพระนามจากพระธาริณี-มนตรา พระสูตร รูปภาพและรูปพระปฏิมาของพระไภษัชยคุรุสถิตหรือปรากฏอยู่ ณ แห่งใด โรคอาพาธร้ายแรง อาถรรพ์ชั่วร้ายทั้งปวง การเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ ก็จะสิ้นไปจากที่แห่งนั้น ด้วยอำนาจแห่งพระองค์...”
.
“...หากสาธุชนหญิงชายใดๆ จดจำพระนามได้และภาวนาอ่านท่องพระสูตร พระธาริณี และพระนามของพระไภษัชยคุรุโดยสม่ำเสมอ  ผู้นั้นจะปราศจากโรคภัยร้ายแรงทั้งปวง  ไม่เป็นผู้พิกลพิการ ไม่ยากจนข้นแค้น จักมีอายุขัยที่ยืนยาว และเมื่อสิ้นชีวิตลงก็จะได้ไปจุติยังศุทธิไวฑูรย์พุทธเกษตร...”
.
“...โอม ไภษัชเย ไภษัชเย มะหาไภษัชเย ไภษัชยะราเช สะมุทคะเต สวาหา...”
.
*** สวดพระธาริณีนี้ เพื่อกล่าวระลึกถึงพระนามต่อหน้ารูปแทนพระองค์  
.
“...นะโม ภาคะวะเต ไภษัชเย คุรุไพฑูรยะ ประภา ราชายะ ตถาคตายะ อรหัตเต สัมมาสัมพุทธายะ ตัทยาถา โอม ไภษัชเย ไภษัชยเย มหาไภษัชเย ราชา สมุทคะเต สวาหา...”
.
ขออำนาจแห่งพระไภษัชยคุรุ ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองทุกท่าน ให้พ้นจากภัยพิบัติจากโรคร้ายทั้งทางกายและจิตใจ ขอให้ประสพความปลอดภัย สุขสมหวังและมีสุขภาพที่แข็งแรง
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น