วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ที่มาเงาะโรงเรียน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
"#ที่มาของเงาะโรงเรียน .. ได้ยินเสียงรถประกาศ 
เงาะโรงเรียนมาแล้วครับ เงาะโรงเรียนหวานล่อนกรอบอร่อย มากันสดๆ ใหม่ๆ จากนาสาร จึงสงสัยว่าทำไมถึงชื่อนี้ งั้นวันนี้เรามาดูต้นกำเนิดเงาะโรงเรียน กันดีกว่า

ภาพโรงเรียนนาสารหลังแรก (ที่ทำการเหมืองแร่เก่าของนายเค ว่อง) ต้นไม้ด้านขวาคือ ต้นเงาะโรงเรียนต้นแรก ส่วนบุคคลในภาพคือคณะครูและนักเรียน อ.บ้านนาสารในสมัยนั้นถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2499 

เงาะโรงเรียน หรือ เงาะพันธุ์โรงเรียน เป็นเงาะพันธุ์ดีที่สุดในประเทศไทย และเป็นเงาะพันธุ์ดีที่สุดในโลก เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เงาะโรงเรียน มีชื่อมาจากสถานที่ต้นกำเนิดของเงาะ คือ โรงเรียนนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เงาะต้นแม่พันธุ์มีเพียงต้นเดียว ปลูกด้วยเมล็ดเมื่อ พ.ศ. 2469

ผู้ปลูกเงาะต้นแม่พันธุ์นี้ เป็นชาวจีนสัญชาติมาเลเซีย ชื่อ นายเค หว่อง (Mr. K Wong) มีภูมิลำเนาเดิมอยู่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกที่หมู่บ้านเหมืองแกตะ ตำบลนาสาร อำเภอนาสาร ตั้งอยู่บนฝั่งคลองฉวาง ตรงข้ามกับที่ตั้งของโรงเรียนนาสารในปัจจุบัน นายเค หว่อง ได้ซื้อที่ดินริมทางรถไฟด้านทิศตะวันตก จำนวน 18 ไร่ สร้างบ้านพักของตนและได้นำเมล็ดพันธุ์เงาะจากปีนัง มาปลูกทางทิศเหนือของบ้านทั้งสิ้น 4 ต้น (ขณะนี้เงาะพันธุ์นี้ที่เมืองปีนังสูญพันธุ์แล้ว) แต่มีเพียงต้นที่สองเท่านั้นที่มีลักษณะพิเศษ เมื่อสุกแล้วรสชาติหวาน หอม เนื้อกรอบ เปลือกบาง เงาะต้นนี้ก็คือ “เงาะพันธุ์โรงเรียน”

พ.ศ. 2479 เมื่อ นายเค หว่อง เลิกกิจการเหมืองแร่กลับเมืองปีนัง ได้ขายที่ดินผืนนี้พร้อมบ้านพักแก่กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ทางราชการจึงปรับปรุงให้เป็นอาคารเรียน และย้ายโรงเรียนนาสารจากวัดนาสารมาอยู่ที่อาคารแห่งนี้ เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 แต่เงาะพันธุ์โรงเรียนก็ไม่ได้แพร่หลาย เนื่องจากการส่งเสริมด้านการเกษตรไม่ดีพอ และทางโรงเรียนสงวนพันธุ์ไว้ ไม่ให้แพร่หลายในระหว่าง พ.ศ. 2489-2489 มีผู้ตอนกิ่งไปขยายพันธุ์ได้เพียง 3-4 รายเท่านั้น สาเหตุที่สงวนพันธุ์น่าจะเนื่องมาจาก กลัว “ต้นแม่พันธุ์” จะตาย ต่อมาปี พ.ศ. 2499 นายคำแหง วิชัยดิษฐ์ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านนาสาร และพิจารณาแล้วว่า เงาะต้นนี้เป็นเงาะพันธุ์ดี ควรให้มีการขยายพันธุ์อย่างแพร่หลาย จึงอนุญาตให้คนทั่วไปตอนกิ่งแพร่พันธุ์ได้

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายชัช อุตตมางกูร ผู้นำชาวสวนเงาะได้ทูลเกล้าฯถวายผลเงาะโรงเรียน และขอพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะนี้เสียใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสว่า "ชื่อเงาะโรงเรียนดีอยู่แล้ว" ตั้งแต่นั้นมา เงาะพันธุ์นี้จึงได้ชื่อว่า เงาะโรงเรียน อย่างเป็นทางการ อนึ่ง เพื่อความเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดงาน วันเงาะโรงเรียน ขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคมของทุกปี

Cr. Adtaporn Matitham / สุริยวงศ์ หิรัญเตโช
เรื่องเล่า ภาพเก่าในอดีต

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

บึงสามพัน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.


“จระเข้สามพัน” ลำน้ำโบราณกับนิทานจระเข้ เมืองสุพรรณบุรี
จากแม่น้ำแม่กลองมี “ลำน้ำทวน” แยกซ้ายทะลุที่ราบต่ำขึ้นไปเลาะขอบที่สูงทางเหนือ จากบริเวณปากคลองชลประทานตรงเขื่อนแม่กลอง ในเขตอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี น้ำไหลทวนขึ้นไปทางเหนือ จึงเรียกว่าน้ำทวน ถึงเขาหัวนอน ตัวอำเภอพนมทวน จะเปลี่ยนชื่อไปเรียกว่าลำน้ำ “จรเข้สามพัน/จระเข้สามพัน” ตรงบ้านดอนตาเพชร แล้วไหลผ่านบ้านรางหวาย ผ่านที่ราบที่มีเขาลูกโดดคือ “เขารักษ์” ในเขตตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา และ “เขาคลุกคลี” ในเขตตำบลตลาดเขต อำเภอพนมทวน ขนาบทั้งสองฟาก ผ่านวัดปทุมวนาราม ในเขตอำเภออู่ทอง บ้านจระเข้สามพัน แยกออกไปทางตะวันตกตรงคอกช้างดิน เขาคอก/ถ้ำเสือ/เขารางกะบิด ( มีทางน้ำไหลลงมาเติมจากห้วยรวกและห้วยหางนาค ผ่านทางเมืองโบราณ) เขาพระยาแมน บ้านนาลาว เมืองโบราณอู่ทอง บ้านท่าพระยาจักร/ตลาดอู่ทอง บ้านหนองตาสาม แยกคลองบ้านยางยี่แส แยกห้วยคนที บ้านกล้วย ไหลไปบรรจบลำน้ำท่าว้าซึ่งไหลมาจากแม่น้ำด้วน อำเภอสามชุก ที่บ้านไก่หงอย อำเภอสองพี่น้อง แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำสุพรรณบุรีที่ปากคลองสองพี่น้อง ไปรวมกับแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีน  
.
เส้นทางลำน้ำทวน/จรเข้สามพัน ที่ต่อมาจากแม่น้ำแควและแม่น้ำแม่กลองทางตะวันตก เป็นเส้นทางการค้าโบราณจากอ่าวเมาะตะมะ ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเข้าช่องด่านเจดีย์สามองค์ มาตามแควใหญ่แควน้อย แยกแม่น้ำแม่กลองผ่านเข้าลำน้ำทวน ต่อมายังลำน้ำจระเข้สามพันเข้าสู่เมืองโบราณอู่ทองออกไปยังแม่น้ำท่าจีน เชื่อมต่อมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏร่องรอยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏชุมชนโบราณบ้านดอนเพชรและเมืองโบราณอู่ทองในช่วงวัฒนธรรมทวารวดีเรื่อยมาถึงสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา จนได้กลายมาเป็นเส้นทางเดินทัพสำคัญของฝ่ายพม่าจากด่านพระเจดีย์สามองค์ครับ
.
*** ชื่อนาม “บ้านจระเข้สามพัน” ที่เก่าที่สุดปรากฏในลิลิตหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ เสด็จธุดงค์ ในปี พ.ศ. 2427 ความว่า "...ถึงคามเขตหนึ่งนั้น นามมี ติสหัสกุมภีล์ บอกไว้ แว่นแคว้นสุพรรณบุรี ภิกษุรีบ ถึงนอ สัปปุรุสชวนกันให้ พรักพร้อม ทำบุญ... " ติสหัสกุมภีล์” มีความหมายของบ้านจระเข้สามพัน 
.
*** พ.ศ. 2434 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จมายังเมืองโบราณท้าวอู่ทอง ทรงมีพระนิพนธ์กล่าวถึง “แม่น้ำจระเข้สามพัน” ไว้ในเรื่อง”นิทานโบราณคดี” ว่า “พอตกเย็นก็ถึงบ้านจระเข้สามพัน อันเป็นที่พักแรมอยู่ริมลำน้ำชื่อเดียวกัน ใต้เมืองท้าวอู่ทองลงมาไม่ห่างนัก ...พิเคราะห์ดูลำน้ำจรเข้สามพัน เดิมเห็นจะเป็นแม่น้ำใหญ่ ที่สูงซึ่งสร้างปราการ (เมืองโบราณ) เห็นจะเป็นตลิ่ง ครั้นนานมาเกิดมีช่องทางพาสายน้ำไหลไปเสียทางอื่น แม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินแคบเข้าโดยลำดับ จนเกิดแผ่นดินที่ราบมีขึ้นริมตลิ่ง ก็ต้องทำถนนต่อออกไปจากเมืองจนถึงท่าเรือ ความที่ว่านี้เห็นได้ด้วยทีสระขุดขนาดใหญ่ สัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมรีอยู่ทั้งสองข้างถนน คงขุดสำหรับขังน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง น่าจะเป็นเพราะเมืองกันดารน้ำหนักขึ้นนั่นเอง ....”
.
*** ชื่อนาม “บ้านจระเข้สามพัน” มาปรากฏในหนังสือ “ไทยรบพม่า”พระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ. 2460 ตอนไทยรบพม่า ครั้งที่ 10 คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง ปี พ.ศ. 2135 “...ครั้นถึงวันแรมค่ำ 1 เดือนยี่ พระยาศรีไสยณรงค์บอกมากราบทูลว่า ให้ไปสอดแนมเห็นข้าศึกยกทัพใหญ่พ้นบ้านจรเข้สามพันมาแล้ว จึงมีรับสั่งให้กองทัพทั้งปวงเตรียมตัวรบข้าศึกในวันรุ่งขึ้น แล้วสั่งให้พระยาศรีไสยณรงค์ว่าให้ลาดตระเวนดูเค้าเงื่อนว่ากระบวนข้าศึกยกมาอย่างไร แล้วให้ถอยมา...”
.
*** ชื่อนามของ “จรเข้/จระเข้สามพัน” มาจากนิทานเรื่องเล่าของ “น้องจระเข้” (Crocodiles) สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่เคยปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากตามลำน้ำหนองบึงของภูมิภาคที่ราบลุ่มเขตร้อนชื้น ซึ่งก็เคยเป็นสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่น่ากลัวในยุคโบราณ ที่เล่ากันว่าเคยมีอยู่อย่างชุกชุมในลำน้ำจระเข้สามพันนี้ ซึ่งในท้องถิ่นก็มีหลายสำนวน บ้างก็เล่าว่า คำว่า “สามพัน” มาจากคำว่า “สามพันธุ์ หรือ สามสายพันธุ์” คือ ในลำน้ำนี้จะมีจระเข้พันธุ์ตีนเป็ด จระเข้พันธุ์ตีนกาและพันธุ์ตีนแร้ง บางสำนวนเล่าว่า ในลำน้ำมีจระเข้พันธุ์ที่มีพังผืดระหว่างนิ้วคล้าย “ตีนเป็ด” พันธุ์ที่มีรอยสีขาวเป็นจุดบนหน้าผากเรียกว่า “หน้าแด่น” และพันธุ์ที่มีก้อนกลมใหญ่เหมือนก้อนหูดติดอยู่บนหัวเรียกว่าพันธุ์ “ก้อนขี้หมา”
.
บางสำนวนเล่าว่า ในยุคสมัยที่เมืองท้าวอู่ทองยังเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น ในแม่น้ำมีจระเข้ออกอาละวาดหากินแย่งกินปลาของชาวบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ท้าวอู่ทองจึงคิดอยากจะจำกัดจำนวนของจระเข้ให้ลดลงจะได้ไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับราษฎร จึงมอบหมายให้พระราชโอรสนำขุนทหาร 3 คนไปนับจำนวนจระเข้ในลำน้ำ ขุนทหารแบ่งลำน้ำกันนับเป็นต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ทหารทั้งสามนายนับได้คนละ 1,000 ตัว รวมกันเป็น 3,000 ตัว พอดี จระเข้สามพันตัวนี้จึงกลายมาเป็นชื่อลำน้ำมาโดยตลอดมาจนถึงในปัจจุบัน 
*** หลักฐานเรื่องเล่าจระเข้สามพันที่เก่าที่สุด อาจอยู่ในหนังสือวิทยาจารย์ เล่มที่ 24 พ.ศ. 2466 กล่าวถึงลำน้ำจระเข้สามพันเมื่อครั้งที่ “หลวงวิศาลดรุณกร” ได้เดินทางไปราชการที่อำเภอจระเข้สามพัน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 เล่าว่า “... วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าตื่นตั้งแต่เช้า ได้ลงไปอาบน้ำที่ลำน้ำจระเข้สามพัน ลำน้ำนี้อยู่ตรงที่ว่าการอำเภอออกไปทางทิศตะวันออก ยืนอยู่ที่ว่าการอำเภอพอเห็นลำน้ำได้ ลำน้ำนี้ตื้นและไม่กว้างพอที่จะ เรียกว่าแม่น้ำ แต่ขังน้ำไว้ได้ตลอดปี มีปลาชุมมาก จึงเป็นเหตุให้มาปลูกบ้านเรือนริมฝั่งน้ำนี้เป็นอันมาก เรือนหลังคามุงด้วยแฝก ที่อย่างดีก็มุงด้วยไม้ไผ่ คือผ่าไม้ไผ่ทั้งลำออกเป็นสองซีกแล้ววางมุงเป็นหลังคา หงายสองซีกแล้วคว่ำคร่อมหนึ่งซีก ทำอย่างนี้จนตลอดหลังคา พื้นโดยมากเป็นไม้ไผ่ตลอดทั้งลำ ฝากรุด้วยแฝก เมื่อข้าพเจ้ากลับมาที่พักสนทนาเรื่องราชการกับนายอำเภอเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าจึงพูดกับนายอำเภอต่อไปว่า ตำบลนี้ชื่อจระเข้สามพัน ดูลำน้ำแคบนักไม่สมกับว่าจะมีจระเข้อยู่ได้ตั้งสามพันเลย นายอำเภอตอบว่า เมื่อมาอยู่ที่นี่ ทีแรกก็คิดอย่างข้าพเจ้าเหมือนกัน ภายหลังคนที่อยู่ในตำบลนี้ได้เล่าตำนานให้ฟังว่า 
.
“...เดิมทีมีผัวเมียอยู่คู่หนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ (บางสำนวนเล่าว่า เป็นคหบดีตายาย ชื่อตาอยู่และยายเมี้ยน) ครั้งหนึ่งได้ไปพบชาวประมงเลี้ยงลูกจระเข้ไว้ตัวหนึ่ง (บางสำนวนเล่าว่า พวกมอญตีอวนได้) สองผัวเมียอยากได้ลูกจระเข้ตัวนั้นเป็นอันมาก จึงได้อ้อนวอนขอซื้อลูกจระเข้จากชาวประมงนั้น แล้วได้ตกลงกันเป็นราคาสามพันเบี้ย แล้วผัวเมียได้นำลูกจระเข้นั้นมาเลี้ยงไว้ที่บ่อในบ้าน ภายหลังจระเข้นั้นใหญ่ขึ้น สองผัวเมียไม่สามารถหาเหยื่อมาให้จระเข้กินได้ จึงปล่อยจระเข้ลงในลำน้ำที่หน้าบ้านนั้น เพื่อให้มันไปหาอาหารกินเอง จระเข้นั้นเมื่อไปหาอาหารกินก็กลับมานอนอยู่ใต้ตะพานของผัวเมียคู่นั้นเสมอ จนมันโตสามารถกินคนได้แล้วก็ยังมิได้ไปอยู่ที่อื่น ทั้งนี้เพราะสองผัวเมียมีใจกรุณาต่อจระเข้นั้นมาก หมั่นเอาอาหารไปให้จระเข้นั้นกินอยู่เนือง ๆ 
.
วันหนึ่งจระเข้จะมีความหิวเพราะหาอาหารไม่ได้หรือเพราะอยากกินอย่างไร เมื่อชายผู้ผัวได้ลงไปที่ท่าน้ำนั้น จระเข้ก็คาบเอาชายนั้นไปกินเสีย ฝ่ายภรรยาเมื่อทราบความก็โกรธเคืองจระเข้นั้นเป็นอย่างมาก เปล่งอุทานวาจาว่า “เมื่อกินผัวแล้วจงมากินเมียเสียด้วยเถิดจะได้ตายไปตามกัน” ครั้นเห็นจระเข้กลับมาที่เดิมก็ลงไปด่าว่าจระเข้อยู่ที่ท่าน้ำนั้น จระเข้ก็คาบเอาไปกินเสียอีกคนหนึ่ง ตำนานนี้ตรงกับสุภาษิตที่ว่า “เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้”...ชื่อจระเข้สามพันจึงหมายถึงราคาของจระเข้สามพันเบี้ยนั้นเอง...ลำน้ำที่จระเข้เคยอยู่อาศัยก็เรียกว่า จระเข้สามพันด้วย...” 
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ปราสาทพิมานอากาศ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปราสาทพิมานอากาศ” เกาะต้นหมันและนางนาคีในพระราชวังหลวง

ภายหลังสงครามกลางเมืองในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 “พระเจ้ายโศวรมัน” (Yaśōvarman) ผู้ได้รับชัยชนะ ได้ย้ายราชสำนักจากเมืองหริหราลัยที่ประสบความเสียหายอย่างยับเยินมาสร้างเมือง “ศรียโศธรปุระ” (Sri Yaśōdharapura) ขึ้นใหม่ทางเหนือของหริหราลัยเดิม ทรงให้พราหมณ์ “วามะศิวะ” (Vāmaśiva) ประกอบพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น “เทวราชา” (Devarāja) เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ที่ปรากฏในกายมนุษย์ ทรงสถาปนามหาปราสาทพีรามิดบนยอดเขา “ศรียโศธรคีรี” (Yaśōdharagiri) หรือ "พนมบาเค็ง - พนมกังดาล" (Phnom Bakheng - Phnom Kandal) ที่ประดิษฐาน “ศิวลึงค์ (ปลอก) ทองคำ” ประตูสู่สรวงสวรรค์แห่งเทวราชา นามว่า “ยโศธเรศวร” (Yaśōdhareśvara) ขึ้นเป็นศูนย์กลางจักรวาล-อาณาจักรแห่งใหม่ ที่ยิ่งใหญ่กว่าสมัยพระราชบิดาของพระองค์ สร้าง “ปราสาทพนมบก” (Phnom Bok) บนยอดเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือ และ “ปราสาทพนมกรอม” (Phnom Korm) ภูเขาลูกโดดทางใต้ ใกล้กับโตนเลสาบ
.
ส่วนในพระราชวังหลวงแห่งราชสำนักใหม่ ทรงโปรดให้สร้างเขาไกรลาสสมมุติที่ประทับแห่งองค์พระศิวะ บริเวณจุดที่มีความเชื่อว่าเป็นดินแดนเก่าแก่ตามตำนานเรื่องการกำเนิดอาณาจักร ที่ภายหลังกลายเป็นตำนานเรื่อง “พระทอง (Preah Thaong)/นางนาคทาวดี-โสมานาคี (Nāgī)/นครโคกหมัน” ที่เรียกว่า “เกาะโกกโธลก” (Kôk Thlok) หรือ “เกาะต้นหมัน” เป็นปราสาทบนฐานพีรามิด (Pyramid) แบบขั้นบันไดขนาดใหญ่ ที่เป็นความนิยมมาตั้งแต่สมัยพระราชบิดา (พระเจ้าอินทรวรมัน/Indravarman) ถมยกเนินดินล้อมรอบ ก่อศิลาแลงที่ขอบตลิ่งจนฐานพีรามิดดูเหมือนเกาะใหญ่กลางสระน้ำครับ 
.
*** จารึกกรอบประตูปราสาทพิมานอากาศ (Phĭmãnàkàs K.291 มหาศักราช 832) ที่ระบุนาม “มฺรตาญ ศฺรีสัตฺยาศฺรย” (Mratāñ śrī Satyāśraya) ขุนนางในสมัยพระเจ้ายโศวรมัน ได้ประดิษฐานรูป “ศฺรีตฺรโลกฺยนาถ” (Śrī Trailokyanātha) (ควรเป็นรูปของพระศิวลึงค์/ลิคโกษะ (Lingakosฺa)ทองคำ) และถวายข้าทาสปรากฏชื่อนาม 90 คน ที่ปราสาทแห่งนี้ 
.
ต่อมาในสมัยพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 (Sūryavarman I) ได้มีก่อสร้างกำแพงและซุ้มประตูล้อมพระราชวังหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งในสมัยนี้ได้มีการสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทพิมานอากาศ ซ่อมปราสาทประธานผังจตุรมุข สร้างซุ้มประตูโคปุระและอาคารระเบียงคดล้อมแบบย่อส่วนรอบตัวปราสาทประธานด้านบน รวมทั้งขุดสระสรง/สระหลวง ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ขึ้นทางทิศเหนือครับ  
.
*** จากการขุดค้นโดยองค์กรอัปสราและสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (EFEO) โดยรอบฐานปราสาทพิมานอากาศ ได้แสดงให้เห็นร่องรอยการทับถมและรากฐานอาคารแต่ละยุคสมัยลึกลงไปใต้ดินเป็นจำนวนมาก มีการใช้ประโยชน์รอบปราสาทมาตั้งแต่ยุคพระเจ้ายโศวรมัน มาจนถึงฐานอาคารด้านหน้าฐานขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18  
.
*** การขุดค้นยังได้พบกิ่งก้านและเมล็ดของ “ต้นหมัน” (โธลก) จำนวนมาก ถูกฝังอยู่ในชั้นดินทางทิศใต้ของปราสาท สอดรับกับตำนาน “เกาะต้นหมันที่พระทองกับนางนาคเทวี (เกาณฑินยะ (Kauṇḍinya) และ นางนางโสมา)” ได้มาพบรักกันครับ
.
ซึ่งตำนานเกาะต้นหมัน ต้นกำเนิดอาณาจักรกัมพุชะเทศะ อาจเป็นนิทานที่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปของชาวเขมรในเมืองพระนครธมมาหลายยุคสมัย จนเมื่อ “โจวต้าหว้าน” (Chou Ta Kuan/Zhou Daguan) ที่ได้เดินทางมาพร้อมกับราชทูตราชวงศ์หยวน (รัชสมัยของจักรพรรดิเฉวิงจง) มาถึงเมืองพระนครในสมัยของพระเจ้าศรีนทรวรมัน ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ได้จดบันทึก “เรื่องเล่าชาวบ้าน” (Folk Tale) ที่เล่าเรื่องราวของปราสาทพิมานอากาศไว้ว่า
.
“....ทางทิศเหนือประมาณ 1 ลี้เศษ เป็นพระราชนิเวศน์ในตำหนักที่บรรทม (ของกษัตริย์) มีปราสาททองคำอยู่หลังหนึ่ง ฉะนั้น การที่พ่อค้าชาวเรือกล่าวขวัญชมเชยว่า เจินละมั่งคั่งและสูงส่งนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะเป็นเพราะเรื่องดังกล่าวแล้วนั่นเอง .......ส่วนที่เกี่ยวกับปราสาททองคำภายในพระราชวังนั้น พระเจ้าแผ่นดินจะเข้าที่พระบรรทมในยามราตรีบนยอดปราสาท พวกชาวพื้นเมืองพากันกล่าวว่า..... ในปราสาทนั้นมีภูตงูเก้าศีรษะซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ ทั่วทั้งประเทศ ภูตตนนี้เป็นร่างของสตรีและจะปรากฏกายทุกคืน พระเจ้าแผ่นดินจะเข้าที่บรรทมและทรงร่วมสมพาสด้วยก่อน แม้แต่บรรดามเหสีทั้งหลายของพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่กล้าเข้าไปในปราสาทนี้...
...พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จออกจากปราสาทนั้นเมื่อเพลายามที่ 2 แล้วจึงจะเข้าที่พระบรรทมร่วมกับพระมเหสีและพระสนมได้ ถ้าหากราตรีใดภูตตนนี้ไม่ปรากฏกาย ก็หมายความว่าเวลาสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินของชาวป่าเถื่อนพระองค์นั้นใกล้เข้ามาแล้ว ถ้าพระเจ้าแผ่นดินของชาวป่าเถื่อนมิได้เสด็จไปเพียงราตรีเดียว ก็จะต้องทรงได้รับภัยอันตราย...”
.
*** ตำนานของนครโคกหมัน/เกาะโกกโธลก สถานที่ที่พระทองได้ร่วมเสพสังวาสกับนางนาคทาวดี/โสมา อาจเป็นต้นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้านเมืองพระนครธม ได้นำมาเล่าให้โจวต้ากว้านฟัง โดยมีปราสาทพิมานอากาศที่อาจมีเพียงพิธีกรรมบูชาพระศิวลึงค์ “ศรีไตรโลกยนาถ” และอาจมีพิธีกรรมบูชาพระแม่โสมา/โสมะนาคี/หลิวเย่ (Somā Nāgī/Liǔyè) ผู้เป็นพระมารดาแห่งแผ่นดิน ที่เกาะนครต้นหมันจำลองหรือเกาะพิมานอากาศ โดยเอาตอนเสพสังวาสของพระทองกับนางนาคบนเกาะต้นหมันมาผสมผสานกับเรื่องในรั้วในวังที่ตนเองก็ไม่รู้อะไรมากนัก (แต่อยากเล่า) รวมทั้งนาค 9 เศียร (จากรูปประติมากรรมนาคที่พบเห็นได้ทั่วไปในอาณาจักร) แล้วเล่าให้โจวต้ากว้านฟังเพื่อเพิ่มอรรถรสให้ดูสมจริงสมจังครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ปราสาทพระถกล

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
อดีตที่เคยงดงาม “ปราสาทพระถกล” ปราสาทอานุภาพบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ ที่เมืองกำปงสวาย
.
.
.
เมื่อครั้งที่ “หลุยส์ เดอลาพอร์ต” (Louis Delaporte) นักสำรวจและจิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้หลงใหลในวัฒนธรรมที่สาบสูญในลุ่มน้ำโขง ได้ท่องเที่ยวสำรวจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากยูนนานลงมายังลาว ไทยและเขมร ในช่วงทศวรรษที่ 2400 นักเดินทางชาวฝรั่งเศสผู้นี้ได้วาดรูปลายเส้นเพื่อจดบันทึกเรื่องราวการเดินทางท่องอินโดจีนไว้มากมาย ซึ่งแต่ละภาพนั้น ก็ล้วนแต่มีคุณค่าในเวลาต่อมา เพราะภาพที่เขาวาดไว้นั้นยังคงอยู่ 
.
*** แต่ตัวซากปรักหักพังหลายแห่งในภาพวาดของเขา ได้ถูกทำลายซ้ำซากโดยสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งและความยากจนครับ
.
ครั้งหนึ่ง ดอลาพอร์ตได้เดินทางไปถึงกลุ่ม “ปราสาทพระขรรค์แห่งกำปงสวาย” (Preah Khan Kampog Svay) นครใหญ่ลึกลับในป่าทางตะวันออกของอาณาจักรกัมพุชะเทศะที่เคยยิ่งใหญ่ ภาพวาดลายเส้นของเขาจำนวนมาก ได้แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของหมู่มหาปราสาทในไพรสณฑ์ สะพานชาลาทางเดินและภาพแกะสลักอันวิจิตรบรรจง สลักเสลาไปบนเนื้อหินที่ดูอ่อนนุ่มราวอย่างกับงานแกะสลักไม้
.
 *** “ปราสาทพระถกล” (Preah Thkol) หรือที่เรียกกันว่า “ปราสาทแม่บุญ” (Mebon) เป็นปราสาทแบบเพื่อการแสดงอานุภาพแห่งจักรวรรดิบายน ตั้งอยู่กลางบารายใหญ่ (ตระเปรียงประดาก/Tapeang Pradak) ทางตะวันออกของเมืองรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เรียกว่ากำปงสวาย มีปราสาทพระขรรค์เป็นศูนย์กลาง ปราสาทประธานของปราสาทพระถกล ผังจัตุรมุขทรงศิขระวิมานจำลองลดหลั่นเป็นชั้นเชิงบาตร ไม่มีใบหน้าของพระโพธิสัตว์เหมือนปราสาทประธานในรูปแบบอื่น ๆ  มีซุ้มประตูโคปุระทั้ง 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง อาคารบรรณาลัย ปราสาทหลังนี้เคยมีสภาพที่สมบูรณ์ก่อนถูกกะเทาะทำลายอย่างยับเยิน เพื่อเอารูปสลักติดผนังออกมาขายในยุคไร้เสถียรภาพด้วยเพราะสงครามกลางเมืองครับ 
.
ภายในคูหาจัตุรมุข เปิดเป็นประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้านอันเปล่าเปลี่ยว เคยเป็นที่ประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอำนาจบารมีเหนือสกลจักรวาล นับเป็นรูปประติมากรรมที่มีความสมส่วนทางสรีระ มีใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในวัยหนุ่ม ที่มีความงดงามมากที่สุดในบรรดารูปเคารพในคติและงานศิลปะเดียวกัน รวมทั้งรูปประติมากรรมพระทวารบาล สิงห์ทวารบาลและนาคหัวราวบันได ที่ปัจจุบันได้ถูกขนย้ายไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ช่วงยุคอาณานิคม
.
ภาพลายเส้นปราสาทพระถกลของเดอลาพอร์ต ได้แสดงให้เห็นอดีตอันสุดอลังการของปราสาทอานุภาพหลังนี้ ที่มุมรักแร้ของเรือนธาตุ ส่วนเพิ่มมุมที่ควรจะว่างเปล่า กลับแกะสลักทำเป็นชั้นของหมู่นางอัปสราและเทพยดากำลังถวายอัญชลีสาธุการ ถัดขึ้นไปเป็นช้างเอราวัณสามเศียร มีรูปครุฑยุดนาคแบกขนาดใหญ่รองรับลวดบัวชั้นรัดเกล้าของเรือนธาตุ ที่เริ่มต้นชั้นอัสดงเป็นรูปหงส์เหิน
.
*** ภาพวาดของเดอลาพอร์ต คงได้ช่วยเติมเต็มจินตนาการให้กับความงดงามที่สาบสูญไปแล้วตลอดกาล ในท่ามกลางซากปรักหักพังของปราสาทงามและความหดหู่ใจ ได้คืนกลับมาครับ 
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy 

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

พระศิวะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระศิวะ” มหาเทพแห่งความรัก พระผู้สร้างความรักที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ

ในวรรณกรรมฮินดู หากสตรีที่ยังไม่มีคนรักหรือยังไม่ได้แต่งงาน ประสงค์จะขอพรเรื่อง “ความรัก” ขอสามีที่เป็นคนดีมีความเพียบพร้อม มีความเหมาะสมทางจิตวิญญาณและกายภาพ (รวมทั้งเคมีและระดับศีล) ที่จะนำพาให้ชีวิตคู่นั้นยั่งยืนและประสบแต่ความสุขไปตลอดชีวิต ก็เห็นจะมีแต่องค์ “พระศิวะ” เท่านั้นที่จะประทานสามี (ผู้ชายดี ๆ) ได้ชัดเจนที่สุดแล้ว  โดยในสังคมฮินดูจะมีพิธีกรรมเพื่อการขอสามี (ผู้ชาย) ที่สมบูรณ์แบบ (ประดุจองค์พระศิวะ ผู้มีรักแท้เป็นต้นแบบ) ในเดือนศฺราวณะ (กรกฏาคม - สิงหาคม) เพราะถือว่าเป็นเดือนที่พระศิวะเจ้าโปรดปรานที่สุด ต่อเนื่องไป 16 วันจันทร์/16 ครั้ง/16 เสี้ยวพระจันทร์ (ไวทิกทรฺศน 2021) 
.
วรรณกรรม “มหากาพย์มหาภารตะ” (The Epic Mahābhārata)  ภาค “อาทิบรรพ” (Adi Parva)  มหาฤๅษีวยาสะ เล่าถึงเหตุการณ์อดีตชาติของ “นางเทราปตี” (Draupadī)  ว่า แต่เดิมก่อนที่นางจะมาเกิดเป็นพระธิดาของท้าวทรุปัท นางเคยเป็นบุตรีของพระฤๅษีรูปหนึ่ง มีความงดงามและคุณสมบัติของกุลสตรีทุกประการ เธอปรารถนาจะได้ชายที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ (และรักนางอย่างสุดหัวใจ) มาเป็นสามี จึงได้บำเพ็ญพรตทำพิธีขอสามีจากองค์พระศิวะ/พระอิษฎเทพ ด้วยความพากเพียรพยายาม จนพระศิวะพอพระทัยจึงได้เสด็จลงมาปรากฏพระวรกายต่อหน้านาง ครั้งนางได้เห็นก็ตกใจจนเลิ่กลั่กด้วยความดีใจ ทูลขอสามีด้วยเสียงสั่นละล่ำละลัก ขอสามีที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมไปถึง 5 ครั้ง ในชาตินี้นางเทราปตีจึงได้ภารดาปาณฑพ (Pāṇḍava) ทั้ง 5 มาเป็นสามี พร้อมกันในคราวเดียวครับ
.
ในวรรณกรรม “กุมารสัมภวะ/กำเนิดกุมาร” (Kumārasambhava) ที่แต่งโดย “กาลิทาส” (Kālidāsa) ได้เล่าเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ขององค์พระศิวะ ผ่านรสชาติของวรรณกรรมอันสุดแสนโรแมนติกและอีโรติก ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งความรักอันบริสุทธิ์ โดยมีความพินาศของมนุษย์และโลกจากการทำลายล้างของ “อสูรตาระกา”  (Tārakāsura) เป็นเดิมพันครั้งใหญ่ 
.
“มหาตาระกาสูร ได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นผู้ไม่ตาย แต่ก็มีข้อยกเว้นแนบท้ายในพรที่ประสาทให้ไว้ (ตามแบบฉบับของพระพรหม) ว่า จะตายได้เพราะบุตรที่กำเนิดจากองค์พระศิวะและพระศักติเท่านั้น ซึ่งในเวลาที่อสูรตารกะขอพร ก็เป็นเวลาเดียวกับที่พระศิวะยังครองรักอยู่กับพระนางสตี (Sati) ผู้เป็นความรักครั้งแรกและครั้งเดียวอยู่พอดีครับ
.
แต่เมื่อพระนางสตีได้วิ่งเข้ากองไฟจนสิ้นชีวิต ในเหตุการณ์ที่ท้าวทักษะประชาบดี (Dakṣa Prajapati)  ผู้เป็นพระบิดาได้กล่าวดูแคลนพระศิวะผู้เป็นพระสวามี และยังไม่เชิญให้เข้าร่วมในพิธียัชญะ (Yagam) เมื่อสิ้นพระนางสตี พระศิวะได้แต่เศร้าโศกเสียพระทัย เป็นเวลายาวนาน 
ทรงรำพันในท่ามกลางน้ำตาที่ไหลนองพระพักตร์ "...กาลนับจากนี้ไป ข้าจะจมลึกเข้าไปในห้วงระทมทุกข์จนสุดแห่งจักรวาลไปตลอดกาล ด้วยเพราะ "ความรัก" ของข้านั้นสูญสลายไปพร้อมกับนางอันเป็นที่รักของข้า "สตี" นางผู้พลีกายบูชาความรักแห่งข้า จักรวาลนี้จะไร้ซึ่งความรัก โลกจงดิ่งจมลงไปสู่ทะเลแห่งระทมไปตราบนานเท่านาน....”
.
ถึงแม้พระนางสตีได้กลับมาจุติเป็น “พระนางปารฺวตี/พระนางอุมา” ( Pārvatī/Umā) ธิดาของท้าวหิมวัต (Himavat) และนางเมนาวตี (Menavati) และยังระลึกถึงชาติแห่งรักเดิมได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้น ก็มิได้ทำให้พระศิวะที่ยังรักมั่นเพียงหนึ่งเดียวกับพระนางสตี หันมารักและสนใจพระนางปารฺวตีเลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งเวลานั้นมหาตาระกาสูรก็ยังคงสนุกสนานเพลิดเพลินกับการเข่นฆ่าทำลายล้างผู้คนและเทวดาไปทั้งสามโลกครับ   
.
 “....ธิดาแห่งหิมวัต... เจ้าเป็นใคร ทำไมเข้าช่างละหม้ายคล้ายกับนางสตีของเรายิ่งนัก แต่อย่างไรก็ตามความรักของข้านั้นยังคงมั่นคง ยั่งยืนต่อนางสตีผู้เป็นประดุจดวงใจแห่งข้า เจ้าปราวตีเอ๋ย เจ้าช่างน่าไม่อาย ที่เอ่ยอ้างว่าเจ้านั้นคือนางสตีเมื่อภพชาติที่แล้ว ...ก็เมื่อความรักของข้ายังมิเคยจาง นางจะกลับมาเกิดเป็นเจ้าได้อย่างไร เจ้านี่ช่างน่าขยะแขยงยิ่งนัก ไสหัวไปจากข้า ไปให้ไกล เจ้าไม่ใช่นางสตี    และ.....ข้าจะไม่มีวันรักเจ้า...." 
.
"ข้าจะไม่มีวันรักเจ้า...ตลอดไป"
.
*** จักรวาลและมนุษย์กำลังจะสูญสิ้น เมื่อไร้ซึ่งความรักอันยิ่งใหญ่เกินจะพรรณนาจากองค์มหาเทพ
.
พระพรหมได้ขอให้พระนางปารฺวตีบำเพ็ญพรตขอสามีด้วยพิธีบูชาศักดิ์สิทธิ์จากองค์พระศิวะ แต่ก็ไร้ผล เพราะหัวใจขององค์มหาเทพนั้นดำดิ่งลึกลงไปในความดำมืดแห่งจักรวาล ปราศจากสิ้นแล้วซึ่งความรักทั้งปวงแล้ว เหล่าคณะเทพเจ้าขอให้ “พระกามเทพ” (Kāmadeva) (“พระมันมธะ” (Manmatha- ผู้ปลุกความปรารถนาในรักและใคร่) เทพเจ้าแห่งความรัก เสน่หาและแรงปรารถนา (ทางเพศ) ผู้มอบความสุขในแก่ชีวิต และมเหสีนามว่า “นางรตี” (Rati) เทวีแห่งความรัก แรงปรารถนา ตัณหาและความสุขแห่งเพศ) เทพอุ้มสมได้แผลงศรเบญจพฤกษาแห่งความรักที่หอมหวน คันศรปล้องอ้อยแห่งความหวานซึ้งตรึงใจ สายรั้งฝูงผึ้งแห่งความเพียรพยายามในรัก ซึ่งอย่างไรก็ไม่น่าพลาดเป้าที่จะนำพาให้พระศิวะหันกลับมารักพระนางสตีในพระชาติพระนางปารฺวตีได้
.
แต่คันศรแห่งรักของพระกามเทพนั้น มันใช้ได้แค่กับเหล่าเทพเจ้าและมนุษย์ สำหรับมหาเทพนั้น มันประดุจเข็มพิษที่แทงซ้ำเข้าไปในดวงใจอันแตกสลายของพระองค์อย่างเจ็บปวดอีกครั้ง น้ำพระเนตรไหลหลั่งด้วยความรักที่มั่นคงต่อพระนางสตีไม่เปลี่ยนแปลง นำไปสู่มหาโกรธา รุทรเนตรของพระองค์เบิกกว้าง เพลิงพิโรธเผาผลาญพระกามเทพจนเป็นจุลหายสิ้นไปจากจักรวาล     
.
บัดนี้ ความรักและความปรารถนาทั้งปวงในจักรวาลได้มลายหายสิ้นไปแล้ว
.
*** คงมีเพียงเสียงสวดภาวนาอ้อนวอนเล็ก ๆ ที่ดูอ่อนโยนและจริงใจ เพื่อขอให้พระศิวะกลับคืนมาสู่ความรัก   จากที่ไกลแสนไกล เพียงแว่วเข้ามาส่องแสงสว่างในจิตใจที่มืดดับแห่งองค์มหาเทพอยู่เสมอเท่านั้น 
.
*** ณ มหาอาศรมในดินแดนอันไกลโพ้น ที่ซึ่งเหล่านักบวชชายหญิงได้มารวมตัวกันเพื่อบำเพ็ญตบะ บูชาพระศิวะมหาเทพด้วยความรักและศรัทธา มีพราหมณ์มุนีรูปงามผู้หนึ่ง แวะเวียนเข้ามาเกี้ยวพาราสีนางปารฺวตี อดีตชาติของนางสตี ผู้ยังคงเทิดทูนบูชาพระศิวะด้วยความรักอันระทมอยู่เป็นนิจ
.
"...ปารฺวตีเอ๋ย เจ้าผู้งามเพียบพร้อม ใยเจ้ายังอาลัยอาวรณ์ในรักถึงองค์พระศิวะเจ้า ผู้ไม่เคยสนใจเจ้า ไม่เคยคิดถึงเจ้า ไม่เคยกล่าวถึงเจ้า ทั้งยังเกลียดชังเจ้า ไฉนเจ้ายังคงครองรักไว้ในหัวใจ ในเมื่อแดนมหาอาศรมนี้ เจ้าก็ยังมีข้า คนที่หลงรักเจ้ามาโดยตลอด เฝ้าดูแลทะนุถนอมเจ้า ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว..." 
.
"... พี่พราหมณ์จ๋า ข้านั้นกำเนิดขึ้นมาจากอดีตชาติแห่ง "ความรัก" ของพระองค์ พาให้ข้านั้นยังคงรักและเทิดทูนองค์พระศิวะเจ้า ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปรผันไป ถึงพระองค์จะไม่รักข้า เกลียดชังข้า หรือแม้จะดูถูกเหยียดหยาม ขับไล่ไสส่งข้า...แต่ความรักของข้านั้น ก็ยังคงมอบถวายแด่องค์พระศิวะไปตลอดกาล ...."ข้ารักพระศิวะ..."
 
"...โอ้แม่ปารฺวตี เจ้านี่ช่างโง่เขลานัก ในยามนี้โลกกำลังวุ่นวาย วายร้ายมหาตารกะอสุราออกทำลายล้างไปทั่วสามโลก มหาเทพผู้ประสาทพรอันโง่เขลาก็ไร้ซึ่งแล้วด้วยพลานุภาพ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายดั่งคนบ้า ปล่อยให้เหล่าเทพเจ้าต้องต่อสู้กันตามมีตามเกิด โลกก็กำลังพินาศ ผู้คนล้มตายมากมาย คนเห็นแก่ตัวในความรักเช่นนี้ เจ้ายังคงรักได้ลงอีกเชียวหรือ..."
.
"...พี่พราหมณ์ อาจเป็นเพราะข้าเองที่หุนหันพลันแล่น ไม่ได้คิดให้ดีในชาติภพที่แล้ว บาปกรรมทั้งหลายอันเกิดจากตารกะอสูรนั้น มิได้เกี่ยวข้องกับองค์มหาเทพเลย มันเป็นความผิดของข้า ข้าได้ทำลายความรักของพระองค์ เพียงด้วยเพราะความเห็นแก่ตัวในความรักของนางสตีที่มีต่อพระองค์ ความผิดทั้งหลายนั้นจึงไม่ใช่เป็นของพระศิวะ แต่เป็นเพราะข้า ...พระองค์คือทุกสิ่งของข้า ความรักของข้า จะมอบถวายแด่องค์พระศิวะไปตลอดกาล ...."ข้ารักพระศิวะ"..."
.
"... เจ้านี่ช่างไร้สติเสียกระไร ศิวะมันเป็นใคร ไฉนเจ้าจึงรับความผิดบาปทั้งมวลของเขามาไว้ที่เจ้า อีกร้อยพันชาติ เจ้าจะระทมทุกข์อย่างแสนสาหัส อีกหมื่นแสนชาติ เจ้าจะถูกเผาไหม้ในนรกภูมิ วิญญาณของเจ้าจะมอดไหม้ไม่จบสิ้นไปตราบนานชั่วกาลแห่งจักรวาล เพียงเพราะเจ้ายังคงมีความรักให้กับมหาเทพผู้ไร้ซึ่งความเมตตา ไร้ซึ่งความรักและกำลังวิปลาสบ้าคลั่ง เพียงเพราะสูญเสียความรักของตน ... ทำอย่างกับว่าตนนั้นมีความรักเพียงผู้เดียว..."
.
"... พี่พราหมณ์ ท่านอย่าได้กล่าวดูถูกดูแคลนมหาเทพเลย ถึงความระทมทุกข์ของโลกทั้งหลายจะมาลงโทษที่ข้า จนวิญญาณของข้านั้นดับสูญไปตลอดกาล ขอเพียงแต่ให้ความรักของข้าที่มีอยู่นั้น ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจขององค์มหาเทพแม้เพียงเสี้ยวนิด หากทุกอย่างจะดับสลาย ข้าก็ยินดี เพราะความรักของข้านั้น มอบถวายแด่องค์พระศิวะไปแล้วตลอดกาล ... "ข้ารักพระศิวะ"....” 
.
".... เหนื่อยใจเจ้าปารฺวตีเอ๋ย...ข้าก็เพียรมาหาเจ้า มารักเจ้า มาดูแลเจ้าก็นานแล้ว แต่เจ้ากลับไม่มีหัวใจให้แก่ข้าผู้เป็นพราหมณ์รูปงามแห่งอาศรมเหมือนกับนางอื่น ๆ เจ้ายังคงหลงใหลในมหาเทพตัวเน่าเหม็น ผมเผ้ารุงรังสกปรก สังวาลเป็นงูรัดน่ารังเกียจ อาภรณ์นั้นก็สาปเน่าด้วยหนังสัตว์เสือ ทั้งยังวิปลาส โง่เขลาไม่เหมาะที่จะเป็นมหาเทพ ในวันนี้ ไม่มีอะไรที่น่าเทิดทูนเหลือไว้ให้มวลมนุษย์ศรัทธาอีกเลย ทิ้งทั้งโลก ทำลายทั้งจักรวาล ไปพร่ำเพ้อถึงแต่ความรักของตนเอง น่าขยะแขยงยิ่งนัก มหาเทพผู้ครองสามภพองค์นี้
.
"...พี่พรหมณ์จ๋า ให้คำว่าร้ายของพี่พราหมณ์นั้นตกมากระหน่ำแก่ข้าเถิด พระองค์เป็นมากยิ่งกว่าที่พี่พราหมณ์ได้เอ่ยไว้ พี่พราหมณ์ไม่เคยเห็นหรอก ....แต่ข้าเคยได้เห็นนะ ข้าเคยสัมผัสในรักที่อบอุ่นของพระองค์เมื่อชาติภพที่แล้ว .....พี่ไม่เห็น ...พี่ก็จะไม่เข้าใจหรอก พระองค์เป็นมหาเทพแห่งความรักที่แท้จริง ในวันนี้อาจขาดเพียงแต่ความรักที่มากพอจะกลับไปเยียวยาความระทมทุกข์ในจิตใจของพระองค์... .แต่หากในวันใดวันหนึ่ง เมื่อพระองค์ได้กลับมาพบเจอกับความรักที่สูญหายไปอีกครา โลกก็จะกลับสู่สันติแลสงบสุข ข้าตั้งหวังเพียงว่า จะได้เห็น "ความรัก" ของพระองค์ที่คืนกลับมาด้วยปิติแห่งหัวใจรักในที่แห่งใดก็ได้ไปตราบนานแสนนาน เพราะความรักของข้านั้น มอบถวายแด่องค์พระศิวะไปแล้วตลอดกาล.."ข้ารักพระศิวะ"...” 
.
“... พี่พราหมณ์จ๋า....ในหัวใจของข้ามีแต่พระศิวะมหาเทพ ข้ารักพระองค์ ข้ารักพระศิวะ ข้ารักพระศิวะ และจะรักไปจนสิ้นทิวาราตรี ไปจนสิ้นใจและกายอันเจ็บปวด ...แสนทรมาน นี้...
.
“...ข้าก็จะยังคงรักพระศิวะ...ตลอดไป...” 
.
*** พราหมณ์หนุ่มที่สดับฟังอย่างชัดเจน และควรจะเศร้าเสียใจในความรักที่ไม่มีทางสมหวังของตนกับนางปารฺวตี กลับน้ำตาซึมไหลออกมาให้เห็นอย่างน่าฉงน ก้มหน้าหยุดนิ่งอยู่เบื้องหน้า ไม่ใช่เพราะคำสะบัดรัก ตัดเยื่อใยของนางปารฺวตี
.
พราหมณ์หนุ่มเอื้อนเอ่ยวจีเบา ๆ ด้วยเสียงที่สั่นเครือ  "....ข้าก็รักเจ้า ...ข้ารักเจ้า....ข้ารักเจ้าเหลือเกินปารฺวตี ข้าจะรักและทะนุถนอมเจ้าไปตราบกาลจักรวาลสิ้นสลาย ความรักของเจ้าที่มีต่อข้านั้นช่างสวยงาม บริสุทธิ์และยิ่งใหญ่นัก ....ความรักของเจ้าทำให้ข้าเรียนรู้ว่า หัวใจข้านั้นไม่ได้เข้าใจในความหมายแห่งรักเลยแม้แต่น้อย จริตแห่งความยิ่งใหญ่ ไม่ได้ช่วยให้ข้ามอบ "ความรัก" ที่แท้จริงให้แก่โลกและสรรพสัตว์เลยแม้แต่น้อย
.
....ความรักที่เสียสละของเจ้าต่างหากปารฺวตี คือ "ความรัก" ที่ทรงอานุภาพ ความรักของเจ้า.....ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน
.
“....ข้ารักเจ้า และจะรักไปตลอดกาลเช่นเดียวกับที่เจ้ามอบความรักแก่ข้า เป็นนิรันดร..."
.
*** ร่างของพราหมณ์หนุ่มรูปงาม ได้กลับคืนมาเป็นองค์พระศิวะ มหาเทพที่หัวใจสลาย ได้ออกติดตามหา "ความรัก" ที่หายไปมาจนถึงมหาอาศรมแห่งนี้ ได้เห็นและเข้าใจในความรักแท้ที่พระนางปารฺวตีอดีตชาติแห่งพระนางสตีมอบให้ตลอดมา 
.
เมื่อได้รู้ความจริงว่าเป็นใครที่มาลองหัวใจ นางก้มลงกราบที่พระบาทและคว้าพระหัตถ์อันแสนอบอุ่นที่หายไปในชาติปางก่อนนั้น มาแอบอิงไว้ที่พระปรางอย่างนุ่มนวลอีกครั้ง 
“...ข้ารักพระองค์ พระศิวะ...ในทุกทิวาราตรี”
“...ข้าก็แสนรักเจ้า ปารฺวตี ข้าขอรักเจ้าตลอดไป...”
.
.
*** ในงานวิวาหะพิธีวิวาหะอันแสนหวาน พระนางรติเทวีชายาแห่งกามเทพที่ต้องระทมทุกข์ในการสูญเสียผู้เป็นที่รัก ในขณะพิธีวิวาหะที่มีแต่ความสุข จึงได้ขอสามีคืนจากพระศิวะที่ได้เผลอทำลายพระกามเทพด้วยเพราะห้วงทุกข์ในความรัก พระนางปารฺวตีจึงแนะให้พระองค์นำพลังแห่งความรักของพระองค์กับพระนางได้ฟื้นคืนเทพเจ้าแห่งความรักกลับคืนมา
“....โอ้พระกามเทพ ผู้มอบความรักอันหวานชื่นประดุจน้ำผึ้งและอ้อยหวาน งดงามปานบุปผา ด้วยคันศรปล้องอ้อย สายรั้งฝูงผึ้งและศรเบญจพฤกษา เราไร้สติด้วยความเจ็บช้ำ สิ้นหวังและทุกข์ระทมในการจากไปของนางสตี จึงเผลอโกรธาโดยมิตั้งใจเลย ในเหตุที่เจ้าพยายามยิงบุษปศรใส่เราเพื่อให้เราได้ครองรักกับนางปารฺวตี 
.
รุทรเนตรของเราจึงได้เผาผลาญเจ้าจงเป็นจุล จนรูปกายของเจ้าและความรักอันสดชื่น ได้สูญสิ้นไปจากจักรวาล
.  
แต่กระนั้น ข้าก็มิอาจจะคืนรูปกายอันประเสริฐให้แก่เจ้าได้ ด้วยเพราะอำนาจแห่งรุทรเนตรนั้นยิ่งใหญ่นัก ข้าไม่สามารถชุบชีวิตของเจ้า คงทำได้เพียงมอบคืนจิตวิญญาณแห่งรักให้กับเจ้าได้เพียงเท่านั้น 
.
เจ้ากามเทพผู้อุ้มสมในความรักแห่งโลกเอ๋ย นับแต่นี้ วิญญาณเจ้าจงกลับคืนมา ทำหน้าที่มอบความรักให้กับมวลมนุษย์ทั้งปวงเฉกเช่นเดิม เจ้าจะเป็นรูปอนังคะ (Ananga/ไม่มีรูปกาย) ที่จะไม่มีใครได้มองเห็นไปทั่วจักรวาล
.
.
“....ขอให้ความรักจงเป็นความงดงามที่มองไม่เห็น แต่ทุกคนจะสัมผัสได้ ยามเมื่อเจ้าแผลงศรรักอันหวานชื่น...มอบให้...เขา... ได้รักกัน” 
เครดิต FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ที่มาชื่อนครวัด

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
วิมานบนยอดสุดแห่ง “นครวัด/บรมวิษณุโลก”
ชื่อนามของ “นครวัด” (Angkor Wat) ในอดีต คือ “มหาวิษณุโลก” (Mahā Viṣṇuloka) ต่อมาคือเมืองพิศนุโลก (Bisnuloka) ที่เป็น “วัดพระเชตุพน” (Wat PhraJetavana) ตามพระนามของพระเจ้าสูรยวรมเทว ที่ 2 (Suryavarmadeva II) ภายหลังการสวรรคตว่า “บรมวิษณุโลก- พระบาทมหาวิษณุโลก” (Paramavishnuloka - Phra Bat Mahā Viṣṇuloka)  หรือ  "วรบาท กมรเตงอัญ ปรมวิษณุโลก" (Vora Bat Kamradeng An Paramavishnuloka)  ผู้สร้างมหาปราสาทอันยิ่งใหญ่ เป็น “พระเมรุมาศมหาปราสาท” เพื่อการเสด็จคืนสู่สวรรคาลัยไปรวมกับพระผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ ตามคติความเชื่อ ปรมาตมัน/เทวราชา (Paramātman/Devarāja)
.
ซึ่งน่าจะเป็นการรวมกับพระวิษณุ โดยเชื่อว่าพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 เป็นดั่งพระอวตาร (Avatar) แห่งองค์พระวิษณุ ดังปรากฏภาพสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงของระเบียงคดชั้นนอกและอวตารภาคอื่น ๆ ที่บอกเล่าวรรณกรรมสรรเสริญพระวิษณุในมหาวีรกรรมแต่ละอวตาร ทั้ง “กฤษณวตาร” (Krishna Avatar) ฉากสงครามทุ่งกุรุเกษตร พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ปราบท้าวพณาสูร กรุงพาณ “กูรมาวตาร” (Kurma Avatar) อวตารเป็นเต่าเพื่อปกป้องโลกจากเขามัทรคีรี ในการกวนเกษียรสมุทร “รามาจันทราวตาร” (Rama Avatar) อวตารเป็น “พระราม" ในมหากาพย์รามายณะ ภาพสลักชัยชนะของกองทัพเทวดาโดยการนำของพระวิษณุเหนือเหล่าอสูร ศึกเทวากับอสูร ฯลฯ ครับ
.
โดยผนังกำแพงของระเบียงคดทิศใต้ปีกตะวันตกและฝั่งตะวันออก สลักเป็นเรื่องราวของพระองค์ในฐานะพระอวตาร เดินแบบ “อุตราวรรต” (เวียนซ้าย ทวนเข็มนาฬิกา) ไปทางทิศตะวันออก เพื่อการเสด็จกลับคืนสู่สวรรคาลัยของพระองค์ เริ่มจากการนำขบวนกองทัพและพระเพลิง 22 กลุ่ม ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอันรุ่งเรืองในยุคสมัยของพระองค์ เดินผ่านการพิพากษาคุณงามความดี โดย “พระยมราชา” 18 กร ทรงกระบือ เทพเจ้าแห่งความความตาย และผู้ช่วย “ธรรมบาล - จิตรคุปต์” บนผนังต่อเนื่องปีกตะวันออก
ซึ่งพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 พระมเหสี นางใน ขุนศึกและข้าราชบริพารของพระองค์ทั้งหมดในโลกแห่งความเป็นจริง ได้รับการตัดสินให้เสด็จขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ตามภาพสลักแถวบน ส่วนศัตรูผู้คิดร้ายต่อพระองค์ จะถูกตัดสินความ แยกพาไปลงนรก 32 ขุม ที่สลักภาพการลงทัณฑ์ไว้อย่างสยดสยองในแถวล่าง
.
ภาพสลักนางอัปสรา ที่มีความงามอันหลากหลายนับพันรูปที่สลักเสลาอยู่โดยทั่ว สะท้อนให้เห็นความเป็นสรวงสวรรค์ ในขณะที่เหล่านักบวชและเจ้าหน้าที่กำลังนำพระบรมอัฐิ/พระบรมราชสรีรางคาร ที่ผ่านพิธีถวายพระเพลิงศักดิ์สิทธิ์จาก “หอพระวรเพลิง”  (วฺร เวลิง) /พระเพลิงกลาโหม-พระสังเวียนพิธีกูณฑ์ โดยราชโหตาจารย์ เหล่าพราหมณ์และและเหล่าราชบัณฑิต ประกอบดนตรีประโคม สังข์ แตร ฆ้องกลองและการฟ้อนรำถวายในภาพสลักขบวนที่ 16 ครับ
.
ปราสาทประธานที่บรรจุพระบรมอัฐิ  เป็นปราสาทกลางเพิ่มมุมที่ยกชั้นซ้อนขึ้นไป 3 ชั้น มีเรือนวิมานเป็นยอดสูงสุดของมหาปราสาทในความหมายของเขาไกลาส/ไวกูณฐ์ มีซุ้มประตูและมุขชั้นลดแบบจัตุรมุขทั้ง 4 ด้าน ต่อระเบียงคดในรูปกากบาทเชื่อมต่อกับโคปุระในแต่ละทิศ เหนือมณฑปมุมระเบียงก่อเป็นยอดวิมานปราสาท 4 หลัง ในความหมายของมหาคีรีทั้ง 4 (สุทัสสนะกูฏ/จิตตะกูฏ/กาฬกูฏ/คันธมาทณ์กูฏ) ถัดลงมาเป็นปราสาทเหนือมุมระเบียงคดชั้น 2 ในความหมายของทวีปทั้ง 4 สอดรับกับการวางผังสระน้ำทั้ง 4 ของชั้นล่าง ที่หมายถึงมหาสมุทรทั้ง 4 (ปีตะสาคร/เกษียรสมุทร/ผลึกสาคร/นิลสาคร) บริเวณทางขึ้นด้านหน้าฝั่งตะวันตก 
.
ห้องครรภคฤหะของปราสาทประธานมีขนาดประมาณ 7*7 เมตร  มีฐานรูปประติมากรรมพระวิษณุ (?) ขนาดใหญ่ตั้งอยู่  ใต้ฐานตรงกลางก่อเป็นช่องลึกลงไปประมาณ 24 เมตร (อาจเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิพร้อมของมีค่าและใช้เป็นแกนเดือยของรูปเคารพ ?) แต่เดิมนั้นทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าไปภายในคูหาได้ทั้ง 4 ด้าน ซึ่งต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 22  “นักองค์จัน” (Ang Chan I) “พระญาจันทราชา” (Chan Reachea) หรือ “สมเด็จพระเจ้าบรมราชาที่ 2 /สมเด็จพระบรมราชาองค์บรมบพิตร” ปฐมกษัตริย์อาณาจักรละแวก-ลงแวก (Lovek) ได้นำไพร่พลกลับมาครอบครองและฟื้นฟูปราสาทนครวัดขึ้นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม อย่างการแกะสลักภาพนูนต่ำบนผนังระเบียงคดชั้นแรกจากเค้าโครงเดิมที่ทิ้งค้างไว้ ฝั่งตะวันออกปีทิศเหนือและฝั่งทิศเหนือขึ้นใหม่ทั้งหมด 
.
*** จากรูปถ่ายเก่าภายในห้องครรภคฤหะ ของ“จอร์จ อเล็กซานเดอร์ ตรูเว่” (Georges Alexandre Trouvé) ภัณฑารักษ์ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d'Extrême-Orient หรือ EFEO)  ประมาณปี พ.ศ. 2477 และภาพของสำนักจดหมายเหตุ EFEO ประมาณปี พ.ศ. 2490 แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมนั้นภายในห้องครรภคฤหะเคยมีฐานรูปเคารพขนาดใหญ่ในสภาพแตกหัก ที่กรอบประตูทั้ง 4 มีการนำหินก้อนมาอุดช่องประตู 3 ช่อง คงเหลือแต่ฝั่งทิศใต้เท่านั้นที่ไม่มีการอุดช่องกรอบประตูครับ
.
การอุดช่องประตูทั้ง 3 ด้าน คงเกิดขึ้นในสมัยนักองจันทราชา โดยได้มีการการแกะสลักพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยตามรูปแบบศิลปะละแวกบนผนังกำแพงด้านนอก โดยทางทิศใต้แกะสลักเป็นพระพุทธรูปยืนแบบลอยตัวในรูปศิลปะเดียวกัน ตั้งประดิษฐานที่หน้าประตู
.
*** การเปิดช่องประตูทางทิศใต้ของปราสาทประธานในสมัยพระญาจันทราชา อาจเพื่อให้สอดรับกับภาพสลักขบวนกองทัพและภาพการพิพากษาคุณความดีบนผนังระเบียงคดฝั่งทิศใต้ ที่ปรากฏรูปของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 และจารึกกำกับชื่อพระนาม “สมตจ วรปาท กมรเตง อัญ ปรมวิษณุโลก” ที่ชัดเจนทั้งสองภาพครับ 
เครดิตFB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปราสาทหินกลางนครลวะปุระยุคบาปวน” ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี

ในปี พ.ศ. 1545 พระเจ้าสูริยวรมะเทวะที่ 1 ที่ซ่องสุมกำลังในเขตอีศานปุระ ได้เริ่มพิชิตเขตตะวันออกของอาณาจักร ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองเมืองพระนครศรียโสธระปุระได้สำเร็จในปี พ.ศ. 1549 สถาปนาราชวงศ์ “ศรวะ” (Šarva dynasty) ขึ้น   
.
พระเจ้าชัยวีรวรมัน กษัตริย์เทวราชาพระองค์เดิม ได้ถอยร่นผู้คนในปกครองมาทางพระตะบองเข้ามาตั้งมั่นในเขตทางเหนือในดินแดนวิมายปุระและลวะปุระ (lavapūr) ที่ยังอยู่ในอำนาจของราชวงศ์มหิธระปุระ (Mahīdharapura Dynasty) เดิมได้อยู่ประมาณ 9 ปี พระเจ้าสูริยวรมันได้ยกทัพติดตามขยายอิทธิพลรุกไล่เข้ามาทางเมืองพิมาย เสมาและอาจตามเข้ามาเผด็จศึกทัพพระเจ้าชัยวีรวรมันและพันธมิตรชาวรามัญที่เมืองละโว้ จนบ้านเมืองเสียหายครับ  
.
จารึก K.1198 ระบุปีจารึก พ.ศ. 1554 ได้กล่าวถึงการเข้ายึดครองดินแดนตะวันตกและเมืองลวะปุระ โดยขุนศึกคนสำคัญคือ “พระกำเสตงอัญศรีลักษมีปติวรมัน” (Vraḥ Kamrateṅ Añ Śrī Lakṣmīpativarman)” แม่ทัพใหญ่ของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1  
.
 “...ทรงให้ฟื้นฟูลวะปุระที่เกิดกลียุค (สงคราม ?) จนบ้านเมืองร้างกลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า...พระองค์ได้ส่งนักรบนามว่าศรีลักษมีปติวรมันเข้าไปปกครองและฟื้นฟูดินแดนรามัญ (rāmaṇya) ทางตะวันตก...ศรีลักษมีปติวรมัน ผู้เป็นนักรบ ได้ประดิษฐานรูปพระศิวลึงค์ไปทั่วดินแดนที่ได้ยึดครองมาได้...เขาจึงได้รับพระราชทานที่ดินและวิหารสำหรับประดิษฐานพระศิวลึงค์ หลังจากยึดมาจากศัตรูแห่งกษัตริย์...” 
.
*** ภายหลังการเข้ายึดครองลวะปุระจากและราชวงศ์มหิธระปุระเดิมและกลุ่มชนชั้นนำชาวรามัญ จึงได้มีการสร้างปราสาทศิริศะ/บนยอดเขาจำลอง (ศาลพระกาฬ/ศาลสูง) ยกฐานสูงตามคติฮินดูไศวะนิกาย ขึ้นที่ใจกลางนคร ซึ่งต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 (พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 – พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3) ช่วงที่ราชวงศ์ศรวะยังมีอำนาจเหนือเมืองละโว้ จึงได้มีสร้างปราสาทหินกลางเมืองขึ้นใหม่เยื้องลงมาทิศใต้ บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในปัจจุบันครับ
.
ร่องรอยของฐานปราสาทหินกลางนครละโว้ในยุคต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ยังปรากฏให้เห็นอยู่ที่ด้านหลังของพระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ที่เพิ่งสร้างขึ้นภายหลังช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 19  เป็นฐานปัทม์/บัวลูกฟัก ขนาด 11 * 15 เมตร ก่อด้วยหินทรายสีเทา หันหน้าไปทางตะวันออก ฐานบัวเชิงของเรือนปราสาทหินผังจัตุรมุข โดยมีมุขฐานและมุขซุ้มประตูหน้ายาวกว่าด้านอื่น 
.
ชิ้นส่วนประดับปราสาทหลายชิ้นที่มีรูปแบบทางศิลปะและเนื้อหินทรายสีเทาแบบเดียวกันก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ ทั้งนาคปลายหน้าบันที่มีลายคายพวงมาลัย ชิ้นส่วนบัวเชิงชายหินทรายประดับชายหลังคามุขหน้า ชิ้นส่วนบันแถลงรูปนางอัปสรา รวมถึงส่วนหม้ออมลกะยอดปราสาทที่เหลืออยู่ อีกทั้งทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่มีสิงห์คายท่อนพวงมาลัยศิลปะแบบบาปวน ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 อาจเคยเป็นทับหลังของมุขหน้าตัวปราสาทหินกลางเมืองนี้มาก่อนครับ
.
*** การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลาต่อมา ทั้งการกลับคืนมาของราชวงศ์มหิธระปุระตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จนถึงการเข้ามาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ได้ส่งพระราชโอรส “นฤปตีนทรวรมัน” ขึ้นมาปกครองเมืองละโว้ทยปุระ (Lavodayapura) จนถึงยุคสมัยการกลับมาของราชวงศ์ลูกครึ่งชาวรามัญ/เขมรจนเกิดการสร้างปรางค์ประธานวัดมหาธาตุในนิกายคณะกัมโพชสงฆ์ปักขะ (Kambojsanghapakkha) 
.
ปราสาทหินกลางเมือง ที่อาจเคยมีอาคารประกอบอย่างบรรณาลัยและโคปุระจึงได้ถูกรื้อถอน นำหินทรายก้อนสีเทาอันเป็นวัตถุดิบสำคัญของศาสนสถานที่หมดประโยชน์/อำนาจ/การอุปถัมภ์ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ ทั้งเพื่อเป็นก่อโครงสร้างปราสาทในยุคหลัง แกะสลักเป็นหินประดับปราสาท และนำไปแกะสลักเป็นรูปประติมากรรมตามคติและศิลปะที่นิยมกันในแต่ละยุคสมัย คงเหลือแต่เพียงส่วนฐานของปราสาทมาจนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy