วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ปราสาทพระถกล

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
อดีตที่เคยงดงาม “ปราสาทพระถกล” ปราสาทอานุภาพบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ ที่เมืองกำปงสวาย
.
.
.
เมื่อครั้งที่ “หลุยส์ เดอลาพอร์ต” (Louis Delaporte) นักสำรวจและจิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้หลงใหลในวัฒนธรรมที่สาบสูญในลุ่มน้ำโขง ได้ท่องเที่ยวสำรวจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากยูนนานลงมายังลาว ไทยและเขมร ในช่วงทศวรรษที่ 2400 นักเดินทางชาวฝรั่งเศสผู้นี้ได้วาดรูปลายเส้นเพื่อจดบันทึกเรื่องราวการเดินทางท่องอินโดจีนไว้มากมาย ซึ่งแต่ละภาพนั้น ก็ล้วนแต่มีคุณค่าในเวลาต่อมา เพราะภาพที่เขาวาดไว้นั้นยังคงอยู่ 
.
*** แต่ตัวซากปรักหักพังหลายแห่งในภาพวาดของเขา ได้ถูกทำลายซ้ำซากโดยสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งและความยากจนครับ
.
ครั้งหนึ่ง ดอลาพอร์ตได้เดินทางไปถึงกลุ่ม “ปราสาทพระขรรค์แห่งกำปงสวาย” (Preah Khan Kampog Svay) นครใหญ่ลึกลับในป่าทางตะวันออกของอาณาจักรกัมพุชะเทศะที่เคยยิ่งใหญ่ ภาพวาดลายเส้นของเขาจำนวนมาก ได้แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของหมู่มหาปราสาทในไพรสณฑ์ สะพานชาลาทางเดินและภาพแกะสลักอันวิจิตรบรรจง สลักเสลาไปบนเนื้อหินที่ดูอ่อนนุ่มราวอย่างกับงานแกะสลักไม้
.
 *** “ปราสาทพระถกล” (Preah Thkol) หรือที่เรียกกันว่า “ปราสาทแม่บุญ” (Mebon) เป็นปราสาทแบบเพื่อการแสดงอานุภาพแห่งจักรวรรดิบายน ตั้งอยู่กลางบารายใหญ่ (ตระเปรียงประดาก/Tapeang Pradak) ทางตะวันออกของเมืองรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เรียกว่ากำปงสวาย มีปราสาทพระขรรค์เป็นศูนย์กลาง ปราสาทประธานของปราสาทพระถกล ผังจัตุรมุขทรงศิขระวิมานจำลองลดหลั่นเป็นชั้นเชิงบาตร ไม่มีใบหน้าของพระโพธิสัตว์เหมือนปราสาทประธานในรูปแบบอื่น ๆ  มีซุ้มประตูโคปุระทั้ง 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง อาคารบรรณาลัย ปราสาทหลังนี้เคยมีสภาพที่สมบูรณ์ก่อนถูกกะเทาะทำลายอย่างยับเยิน เพื่อเอารูปสลักติดผนังออกมาขายในยุคไร้เสถียรภาพด้วยเพราะสงครามกลางเมืองครับ 
.
ภายในคูหาจัตุรมุข เปิดเป็นประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้านอันเปล่าเปลี่ยว เคยเป็นที่ประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอำนาจบารมีเหนือสกลจักรวาล นับเป็นรูปประติมากรรมที่มีความสมส่วนทางสรีระ มีใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในวัยหนุ่ม ที่มีความงดงามมากที่สุดในบรรดารูปเคารพในคติและงานศิลปะเดียวกัน รวมทั้งรูปประติมากรรมพระทวารบาล สิงห์ทวารบาลและนาคหัวราวบันได ที่ปัจจุบันได้ถูกขนย้ายไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ช่วงยุคอาณานิคม
.
ภาพลายเส้นปราสาทพระถกลของเดอลาพอร์ต ได้แสดงให้เห็นอดีตอันสุดอลังการของปราสาทอานุภาพหลังนี้ ที่มุมรักแร้ของเรือนธาตุ ส่วนเพิ่มมุมที่ควรจะว่างเปล่า กลับแกะสลักทำเป็นชั้นของหมู่นางอัปสราและเทพยดากำลังถวายอัญชลีสาธุการ ถัดขึ้นไปเป็นช้างเอราวัณสามเศียร มีรูปครุฑยุดนาคแบกขนาดใหญ่รองรับลวดบัวชั้นรัดเกล้าของเรือนธาตุ ที่เริ่มต้นชั้นอัสดงเป็นรูปหงส์เหิน
.
*** ภาพวาดของเดอลาพอร์ต คงได้ช่วยเติมเต็มจินตนาการให้กับความงดงามที่สาบสูญไปแล้วตลอดกาล ในท่ามกลางซากปรักหักพังของปราสาทงามและความหดหู่ใจ ได้คืนกลับมาครับ 
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น