วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปราสาทหินกลางนครลวะปุระยุคบาปวน” ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี

ในปี พ.ศ. 1545 พระเจ้าสูริยวรมะเทวะที่ 1 ที่ซ่องสุมกำลังในเขตอีศานปุระ ได้เริ่มพิชิตเขตตะวันออกของอาณาจักร ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองเมืองพระนครศรียโสธระปุระได้สำเร็จในปี พ.ศ. 1549 สถาปนาราชวงศ์ “ศรวะ” (Šarva dynasty) ขึ้น   
.
พระเจ้าชัยวีรวรมัน กษัตริย์เทวราชาพระองค์เดิม ได้ถอยร่นผู้คนในปกครองมาทางพระตะบองเข้ามาตั้งมั่นในเขตทางเหนือในดินแดนวิมายปุระและลวะปุระ (lavapūr) ที่ยังอยู่ในอำนาจของราชวงศ์มหิธระปุระ (Mahīdharapura Dynasty) เดิมได้อยู่ประมาณ 9 ปี พระเจ้าสูริยวรมันได้ยกทัพติดตามขยายอิทธิพลรุกไล่เข้ามาทางเมืองพิมาย เสมาและอาจตามเข้ามาเผด็จศึกทัพพระเจ้าชัยวีรวรมันและพันธมิตรชาวรามัญที่เมืองละโว้ จนบ้านเมืองเสียหายครับ  
.
จารึก K.1198 ระบุปีจารึก พ.ศ. 1554 ได้กล่าวถึงการเข้ายึดครองดินแดนตะวันตกและเมืองลวะปุระ โดยขุนศึกคนสำคัญคือ “พระกำเสตงอัญศรีลักษมีปติวรมัน” (Vraḥ Kamrateṅ Añ Śrī Lakṣmīpativarman)” แม่ทัพใหญ่ของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1  
.
 “...ทรงให้ฟื้นฟูลวะปุระที่เกิดกลียุค (สงคราม ?) จนบ้านเมืองร้างกลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า...พระองค์ได้ส่งนักรบนามว่าศรีลักษมีปติวรมันเข้าไปปกครองและฟื้นฟูดินแดนรามัญ (rāmaṇya) ทางตะวันตก...ศรีลักษมีปติวรมัน ผู้เป็นนักรบ ได้ประดิษฐานรูปพระศิวลึงค์ไปทั่วดินแดนที่ได้ยึดครองมาได้...เขาจึงได้รับพระราชทานที่ดินและวิหารสำหรับประดิษฐานพระศิวลึงค์ หลังจากยึดมาจากศัตรูแห่งกษัตริย์...” 
.
*** ภายหลังการเข้ายึดครองลวะปุระจากและราชวงศ์มหิธระปุระเดิมและกลุ่มชนชั้นนำชาวรามัญ จึงได้มีการสร้างปราสาทศิริศะ/บนยอดเขาจำลอง (ศาลพระกาฬ/ศาลสูง) ยกฐานสูงตามคติฮินดูไศวะนิกาย ขึ้นที่ใจกลางนคร ซึ่งต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 (พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 – พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3) ช่วงที่ราชวงศ์ศรวะยังมีอำนาจเหนือเมืองละโว้ จึงได้มีสร้างปราสาทหินกลางเมืองขึ้นใหม่เยื้องลงมาทิศใต้ บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในปัจจุบันครับ
.
ร่องรอยของฐานปราสาทหินกลางนครละโว้ในยุคต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ยังปรากฏให้เห็นอยู่ที่ด้านหลังของพระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ที่เพิ่งสร้างขึ้นภายหลังช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 19  เป็นฐานปัทม์/บัวลูกฟัก ขนาด 11 * 15 เมตร ก่อด้วยหินทรายสีเทา หันหน้าไปทางตะวันออก ฐานบัวเชิงของเรือนปราสาทหินผังจัตุรมุข โดยมีมุขฐานและมุขซุ้มประตูหน้ายาวกว่าด้านอื่น 
.
ชิ้นส่วนประดับปราสาทหลายชิ้นที่มีรูปแบบทางศิลปะและเนื้อหินทรายสีเทาแบบเดียวกันก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ ทั้งนาคปลายหน้าบันที่มีลายคายพวงมาลัย ชิ้นส่วนบัวเชิงชายหินทรายประดับชายหลังคามุขหน้า ชิ้นส่วนบันแถลงรูปนางอัปสรา รวมถึงส่วนหม้ออมลกะยอดปราสาทที่เหลืออยู่ อีกทั้งทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่มีสิงห์คายท่อนพวงมาลัยศิลปะแบบบาปวน ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 อาจเคยเป็นทับหลังของมุขหน้าตัวปราสาทหินกลางเมืองนี้มาก่อนครับ
.
*** การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลาต่อมา ทั้งการกลับคืนมาของราชวงศ์มหิธระปุระตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จนถึงการเข้ามาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ได้ส่งพระราชโอรส “นฤปตีนทรวรมัน” ขึ้นมาปกครองเมืองละโว้ทยปุระ (Lavodayapura) จนถึงยุคสมัยการกลับมาของราชวงศ์ลูกครึ่งชาวรามัญ/เขมรจนเกิดการสร้างปรางค์ประธานวัดมหาธาตุในนิกายคณะกัมโพชสงฆ์ปักขะ (Kambojsanghapakkha) 
.
ปราสาทหินกลางเมือง ที่อาจเคยมีอาคารประกอบอย่างบรรณาลัยและโคปุระจึงได้ถูกรื้อถอน นำหินทรายก้อนสีเทาอันเป็นวัตถุดิบสำคัญของศาสนสถานที่หมดประโยชน์/อำนาจ/การอุปถัมภ์ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ ทั้งเพื่อเป็นก่อโครงสร้างปราสาทในยุคหลัง แกะสลักเป็นหินประดับปราสาท และนำไปแกะสลักเป็นรูปประติมากรรมตามคติและศิลปะที่นิยมกันในแต่ละยุคสมัย คงเหลือแต่เพียงส่วนฐานของปราสาทมาจนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น