คติและงานศิลปะ “พระอินทร์” (และเทพมารุต) ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
“พระอินทร์” หรือ “อินทราเทพ” (Indra Deva) เป็นเทพเจ้าที่ได้รับการยกย่องในยุคพระเวท ให้เป็นเทพเจ้าสูงสุดผู้ปกครองสวรรค์ (Svarga) ดังปรากฏปรากฏพระนามครั้งแรกในบทสวดสรรเสริญคัมภีร์ “ฤคเวท” (Rigveda) ที่ถือว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวรรณคดีสันสกฤต อายุประมาณ 3,500 ปี ที่กล่าวถึงเรื่องรราวพระอินทร์ทรงช้างไอราวตะ/เอราวัณ (Airavata - Airāvana) 3 เศียร ปราบอสูรงูยักษ์ “วฤตระ” (Vritra/Vṛtrāsura/อสูรผู้เป็นอุสรรค) ที่ใช้หางยาวมหึมากวาดแม่น้ำทั้ง 7 สาย รวมทั้งสัตว์เลี้ยงและดวงอาทิตย์ ไปเก็บไว้ใต้ยมโลก ทำให้โลกเกิดความแห้งแล้ว พระองค์ได้ใช้ “วัชระ” (Vajra) อาวุธคู่กายที่ทำขึ้นจากกระดูกสะโพกของฤษีทธีจิ (Dadhīci) เข้าสังหารอสูร เมื่อได้รับชัยชนะพระอินทร์ได้แหวกท้องอสูร เพื่อนำน้ำกลับคืนมา “...ช้างผู้ยิ่งใหญ่ได้ใช้งวง ยื่นลงไปดูดน้ำจากยมโลกกลับขึ้นมา และได้ก็พ่นน้ำขึ้นไป ทำให้เกิดเป็นเมฆบนท้องฟ้า พระอินทร์ทรงใช้วัชระเป็นสายฟ้าบันดาลให้เกิดลมฝนและพายุ น้ำฝนฉ่ำเย็นโปรยปรายลงมาจากนภา เกิดเป็นแม่น้ำหล่อเลี้ยงแผ่นดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับโลก....”
.
คติพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จึงหมายถึงเป็นเทพเจ้าผู้พิชิตความแห้งแล้ง เทพเจ้าผู้สร้างเมฆฝนและเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ ส่วนช้างไอราวตตะในยุคโบราณ หมายถึง “ช้าง (ผู้เป็น) เมฆฝน” (Elephant of the clouds) พระอินทร์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพผู้กล้าหาญในการสงครามกับอสูร ผู้ผ่าฟันอุปสรรค เป็นผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์ ผู้สร้างเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง สายฝนก่อกำเนิดแม่น้ำครับ
.
*** ในยุคหลังพระเวท วรรณกรรมในคติฮินดูเริ่มปรากฏเทพเจ้าตรีมูรติ (พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม) ขึ้นมาเป็นใหญ่ พระอินทร์ได้ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงตัวประกอบ อีกทั้งสร้างภาพลักษณ์ของความหื่นในกามารมณ์ ความพ่ายแพ้เมื่อต้องสู้กับอสูรที่ได้รับพรจากมหาเทพ และการลดขั้นลงมาเป็นเพียงชั้นรองประจำทิศตะวันออกของสวรรค์เท่านั้น
.
ในคัมภีร์ฤคเวท ยังกล่าวถึงผู้ช่วยของพระอินทร์ในการต่อสู้กับอสูรวฤตระ ในชื่อนามของกลุ่ม “มารุต” หรือ “มารุตคณะ” (Maruts/ Marutagaṇa) เทพเจ้าสายฟ้าและพายุหนุ่มกระเตาะวัยคะนอง ทั้ง 49 องค์ ที่มีนิสัยรุนแรงและก้าวร้าว เป็นบุตรที่เกิดจาก “พระกัศยปเทพ” (Kashyapa) กับ “นางทิติ” (Diti) ผู้เป็นมารดาของเหล่า “แทตย์” (Daityas/อสูรจำพวกหนึ่ง) บุตรของนางถูกพระอินทร์และเทวดาเข่นฆ่าอยู่หลายครั้ง ทำให้นางโกรธ จึงครุ่นคิดจะแก้แค้นสังหารพระอินทร์ พระกัศยปเทพผู้เป็นสามี จึงแนะนำให้นางบำเพ็ญตบะ 1,000 ปี เพื่อขอบุตรที่มีพลังเก่งกล้ากว่าพระอินทร์และเหล่าเทวดา
.
“เจ้าต้องบำเพ็ญปุมศวานะ (Pumsvana) ตลอดเวลา บุตรที่เกิดในตอนนั้นจะต้องเป็นผู้สังหารพระอินทร์และนำพี่น้องไปสู่ชัยชนะ”
.
“...ในช่วงบำเพ็ญตบะญาณนี้ เจ้าต้องสวมเสื้อผ้าที่สะอาดอยู่เสมอ ไม่ตัดเล็บหรือผม ไม่อาบน้ำโดยการแช่ตัวในน้ำ ห้ามพูดโกหก ไม่กล่าวคำผรุสวาท ไม่สาปแช่งผู้ใด ไม่พูดกับบุคคลที่ไม่คู่ควร ควบคุมมิให้มีความโกรธ ห้ามแตะต้องสิ่งอัปมงคล ไม่ทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตใด ๆ กินอาหารง่าย ๆ ตามปกติ ห้ามกินเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาด ห้ามดื่มน้ำโดยยกมือขึ้น ไม่ออกไปข้างนอกตอนรุ่งสางหรือพลบค่ำ เมื่ออกจากบ้านต้องแต่งผมอย่างเหมาะสม ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศเหนือหรือทิศตะวันตก ห้ามนอนโดยไม่ล้างเท้า ห้ามนอนขณะที่ขาเปียก ต้องนอนคนเดียวโดยตลอด ต้องไม่นอนทั้งเช้าและเย็น ต้องบูชาวัว พราหมณ์และพระลักษมีก่อนรับประทานอาหารเช้า ต้องบูชาเหล่าสตรีที่สามียังมีชีวิตอยู่ และสุดท้าย...เจ้าต้องบูชาข้าผู้เป็นสามีของเจ้าด้วย...” (นั่นว่ามาซะยาว ก็จบตรงนี้แหละที่สำคัญ)
.
นางทิติได้ตั้งท้องเป็นบุตรชายตามที่ต้องการ แต่ “นางอทิติ” (Aditi) ผู้เป็นมารดาของพระอินทร์และเหล่าเทวดา ภริยาอีกคนหนึ่งของพระกัศยปเทพ นำความไปแจ้งแก่พระอินทร์ จึงวางแผนให้พระอินทร์ปลอมตัวมาเป็นข้ารับใช้ เพื่อทำให้นางทิติละเมิดข้อห้ามในพิธีกรรม ซึ่งพระอินทร์ก็เนียนเป็นข้ารับใช้ที่ซื่อสัตย์ ทำงานหนักอย่างทุ่มเทจนนางทิติไว้วางใจ จนวันหนึ่งนางเผลอเข้านอนโดยไม่ได้ล้างเท้า (ข้ารับใช้ก็แกล้งลืมไม่เตือน) ทำให้พิธีเสื่อมอำนาจ พระอินทร์จึงใช้โอกาสนี้แทรกเข้าไปในครรภ์ แบ่งทารกออกเป็นเจ็ดส่วน แต่ทารกทั้ง 7 ได้เริ่มร้องไห้ส่งเสียงดัง พระอินทร์จึงพูดว่า “มา รุทะ (Ma Ruda) แปลว่า “หยุดร้องไห้ บัดเดี๋ยวนี้นะ” แต่ทารกก็ยังคงร้องต่อไม่หยุด พระอินทร์จึงแยกทารกออกเป็น 49 ส่วน เสียงจะได้เบาลงครับ
.
นางทิติดีใจมากที่ให้กำเนิดบุตรชายถึง 49 คน แทนที่จะมีเพียงคนเดียว พวกเขาถูกเรียกว่ามารุตตามเสียงที่พระอินทร์พูดไว้ในครรภ์ แต่ด้วยเพราะนางล้มเหลวในการบำเพ็ญปุมศวานะ เหล่ามารุตทั้งหมดจึงไม่ได้เป็นศัตรูของพระอินทร์ อีกทั้งยังกลายเป็นมาเป็นสหายและบริวารร่วมสงครามกับพระอินทร์อีกด้วย
.
*** เหล่ามารุตคณะจะสวมหมวกเสื้อเกราะสีทอง มีขวานทองเพื่อแยกเมฆ (เป็นฟ้าผ่า) ให้ฝนตกลงมา มีสายฟ้าเสียงฟ้าคำรามประดุจสิงโต สามารถเขย่าภูเขาและทำลายป่า ขี่รถม้าศึกสีทองเทียมด้วยม้าสีแดงก่ำครับ
.
----------------
*** รูปศิลปะจากคติเทพเจ้าสายฟ้ามารุต/มารุตคณะ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทยและกัมพูชา) ปรากฏความนิยมอยู่เพียงระยะสั้น ๆ ด้วยเพราะมีวรรณกรรมในคติไศวะนิกาย(บูชาพระศิวะ) ที่ได้ลดบทบาทของพระอินทร์ลงมาเป็นเพียงเทพเจ้าชั้นรองประจำทิศตะวันออก ซึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 อาจเป็นช่วงสุดท้ายที่ปรากฏเรื่องราวของพระอินทร์ร่วมกับเหล่าเทพมารุตจากคัมภีร์ฤคเวทอยู่ ดังปรากฏรูปศิลปะของพระอินทร์ร่วมกับเทพมารุตในยุครัฐ “อีศานปุระ” (Īśānapura) บนทับหลังในงานศิลปะแบบปราสาท “สมโปร์ไพรกุก” (Sambor Prei Kuk) ตั้งแต่ช่วงกลาง- ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ที่มีการจัดวางองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน โดยมีรูปนักรบนั่งบนตัว ม ก ร ชูงวง อ้าปากเห็นเขี้ยวและฟัน มีหางเป็นกระหนกใบขดห้อยสองม้วน ยืนบนแท่นฐาน/ยกเก็จ เหมือนกันทั้งสองด้านของทับหลัง คายแถบเส้นคาดออกมาเป็นวงโค้งเข้าหากัน 4 ขยัก ในความหมายของการสำรอกน้ำศักดิ์สิทธิ์ สะพานสายรุ้ง/ความอุดมสมบูรณ์ ประดับลายลูกปัดอัญมณีและดอกไม้ โดยมีพุ่มช่อดอกไม้ประดับลายลูกปัดอัญมณีในเส้นลวดกลมรี 3 ช่อ ตรงตำแหน่งจุดขยัก ช่อตรงกลางเป็นรูป “พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ” รูปม้าในกรอบด้านข้างทั้งสองฝั่งหมายความถึง เทพสายฟ้า "มารุตคณะ” ขี่ม้า ด้านบนเป็นรูปดอกไม้แตกพุ่มกระหนกกับดอกไม้ 8 กลีบ วางสลับห่างกัน ใต้แถบเส้นแถบโค้งแกะสลักเป็นอุบะมาลัยสลับกระหนกใบห้อยทิ้งยอดแหลมลงมา ตรงกลางเป็นพวงมาลัยใหญ่มีพุ่มแผ่ออกที่ปลาย คอสอง/ท้องไม้ด้านล่างยุบเข้าไปสลักเป็นลายกระหนกใบขดสลับลายดอกไม้
.
*** ในประเทศไทยพบรูปศิลปะจากคติเทพมารุตจากวรรณกรรมเก่าแก่ บนทับหลัง 2 แผ่น จากปราสาทเขาน้อยสีชมพู ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ปัจจุบันตั้งจัดแสดงอย่างสวยงามที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรีครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น