วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565

ประติมากรรมสิงห์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ประติมากรรมสิงห์” ใหญ่ที่สุดในยุควัฒนธรรมทวารวดี ที่วัดไก่จ้น เมืองลพบุรี
.
.
.
ทางฝั่งตะวันออกนอกคูน้ำคันดินรูปกลมติดริมแม่น้ำลพบุรี บริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์กลางในตัวเมืองลพบุรี เคยมีพระสถูปก่ออิฐขนาดใหญ่กว่าสถูปที่วัดนครโกษา มหาธาตุแห่งนครเขตคามวาสี ในยุควัฒนธรรมทวารวดี/ภารตะภิวัฒน์ /Indianization ที่อยู่ภายในตัวเมืองโบราณ เรียกกันว่า “วัดละโว้” หรือ “วัดไก่จ้น” ที่น่าจะเป็นเจดีย์ประธานของเขตอรัญวาสี แต่เมื่อราวปี พ.ศ. 2480 วัดและพระสถูปใหญ่องค์นี้ได้ถูกรื้อทำลายไปทั้งหมด เมื่อกรมยุทธโยธาทหารได้ตัดถนนประชาธิปัตย์ หรือถนนนารายณ์มหาราชในปัจจุบัน  
.  
ชิ้นส่วนรูปประติมากรรมปูนปั้นประดับสถูปจำนวนมากถูกนำมากองรวมไว้ในขณะที่มีการรื้อทำลาย ในนั้นปรากฏรูปประติมากรรมสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่ 4 รูป ในท่ามกลางชิ้นส่วนปูนปั้นพระพุทธรูป รูปสิงห์ขนาดเล็กและชิ้นส่วนลวดลายประดับซุ้มบัญชรของพระสถูป เป็นรูปสิงห์ในคติ “ทวารบาล” (Dvārapāla) ที่จะตั้งวางเป็นคู่ไว้ตรงทางขึ้นพระสถูปทางด้านตะวันออกและตะวันตกครับ
สิงห์ทวารบาล เฝ้าทางเข้าประตูศาสนสถานตามคติพุทธศาสนา หมายถึง “สิงโต” หรือ “ราชสีห์”(lion) ในวัฒนธรรมอินเดียโบราณที่รับต่อมาจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย เป็นสัตว์ทรงพลังอำนาจ สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิหรือพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ใช้รูปสิงห์เป็นสัญลักษณ์สำคัญบน “เสาอโศก” (Ashoka's Pillar) หรือ “สิงหสตัมภะ” (Lions Capital) ทั้งแบบจตุรทิศ (หันหน้าไป 4 ทิศ) และแบบสิงห์เดี่ยวแสดงท่า “คำราม” ประกาศพระสุรเสียงแห่งพระราชอำนาจที่องอาจดุจพญาราชสีห์ แผดเสียงก้องกังวานไปทั่วสารทิศ
.
รูปศิลปะสิงห์/ราชสีห์คำรามที่มีขนแผงคอเป็นลอนได้ถูกนำมาใช้เป็นสิงห์ทวารบาลเฝ้าศาสนสถานในท่านั่งแบบยืนขาหน้า นั่งขาหลัง หางม้วนขึ้นบนหลังอย่างสง่างาม โดยมีรูปศิลปะสิงห์ทะยานและสิงห์กระโจนร่วมอยู่ในงานประดับจากอินเดียและลังกา ส่งอิทธิพลคติและงานศิลปะต่อมายังวัฒนธรรมทวารวดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครับ       
.
ประติมากรรมสิงห์ปูนปั้นจากสถูปทวารดีที่วัดไก่จ้น เป็นรูปสิงห์คำราม นั่งขาหลังแบบเฝ้าทางเข้าสถูปในคติสิงห์ทวารบาล มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 เช่นเดียวกับรูปประติมากกรรมสิงห์ทวารบาล/สิงห์คำรามขนาดเล็กที่พบในคราวเดียวกันและสิงห์คู่หนึ่งที่พบจากมหาวิหารทวารวดีแห่งทุ่งพระเมรุ เมืองโบราณนครปฐม    
.
***  เป็นรูปประติมากรรมสิงห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุควัฒนธรรมทวารวดี ที่พบในประเทศไทยอีกด้วย 
.
*** ปัจจุบันประติมากรรมสิงห์ทวารบาลและปูนปั้นสถูปวัดไก่จ้น ถูกย้ายมาจัดแสดงอยู่ที่หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นล่าง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น