วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

วันพระเจ้าเปิดโลก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “เสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์/เทโวโรหณะ” เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่วัดตระพังทองหลาง กรุงสุโขทัย

พุทธประวัติตอน “พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์”  (Buddha Descending from Tāvatiṃsa /Trāyastriṃśa) หรือสวรรค์ “ไตรตรึงษ์/ตฺรายสฺตฺริศ) เป็นปรารภเหตุของคติ “วันมหาปวารณา/เทโวโรหนะ” ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11  
.
*** คำว่า “เทโวโรหณะ” หมายถึง “เทว–โอโรหณะ” แปลความว่า “การลงจากเทวโลก” ครับ
.
ในพุทธประวัติแบบเถรวาท/ลังกาวงศ์ จะเล่าว่า ก่อนวันออกพรรษาในพรรษาที่ 7 นับแต่วันตรัสรู้ ภายหลังจากทรงแสดง “ยมกปาฏิหาริย์” (Yamaka-pātihāriya /Twin Miracles) กำราบพวกเดียรถีย์ ที่เมืองศราวัสตี/สาวัตถี  (Śrāvastī Miracles)  พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาธรรมโปรดพุทธมารดา เพื่อเป็นการสนองพระคุณ ซึ่งพระนางสิริมหามายาได้ไปจุติเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ 4) เสด็จลงมาฟังธรรมที่ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ 2) พระองค์ได้เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาจนบรรลุโสดาปัตติผล ในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน 
.
ครั้นถึงวันออกพรรษา พระพุทธเจ้าจึงเสด็จลงจากเทวโลกลงสู่โลกมนุษย์ ได้เกิดอัศจรรย์เป็นเนินใหญ่เชื่อมพรหมโลก อเวจีมหานรก โลกมนุษย์และจักรวาลหลายแสนเป็นเนื้อเดียวกัน เทพยดาจึงได้แลเห็นพวกมนุษย์ มนุษย์ได้เห็นเทพยดา สัตว์นรกได้เห็นมนุษย์และเทพยดา เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” ครับ
.
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์ได้เนรมิตบันไดแก้วมณี บันไดทอง และบันไดเงินขึ้น โดยบันไดทองอยู่ด้านขวาสำหรับหมู่เทพยดาตามเสด็จ บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับท้าวมหาพรหมถือเศวตฉัตรกั้น บันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางเป็นทางเสด็จพุทธดำเนินสำหรับพระพุทธเจ้า โดยมีพระอินทร์อุ้มบาตรนำเสด็จ หัวบันไดแต่ละอันพาดที่เขาสิเนรุ (พระสุเมรุ) เชิงบันไดทอดลงยังประตูเมืองสังกัสสะ (Saṅkassa)   พรั่งพร้อมด้วยเทพยดา ปัญจสิงขรคนธรรพ์เทพบุตรบรรเลงพิณ มาตุลีเทพบุตรถือพานดอกไม้สวรรค์ “มณฑารพ/มันทาระ/มนฺทาร/มนฺทารว” (Mandāra) โปรยปรายตลอดเส้นทางเสด็จ
.
*** ถึงแม้ว่าจะปรากฏรูปพุทธศิลป์ในประเทศไทยตั้งแต่ยุควัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ที่อธิบายว่า เป็นภาพพระพุทธเจ้าตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์  แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทางศิลปะ ก็ยังไม่ชัดเจนว่ารูปพระพุทธรูปยืนแสดงวิตรรกะ (เทศนาธรรม) นั้น คือ พุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ แต่อย่างใดครับ
.
*** พุทธศิลป์ของการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แบบเถรวาท/หีนยาน จะประกอบไปด้วยรูปพระอินทร์ พระพรหมถือฉัตร บันได 1–3 ช่อง ภาพของเหล่าเทพยดาแสดงการแซ่ซ้องสาธุการ และที่สำคัญก็คือ พระพุทธรูปประธานจะอยู่ในอากัปกิริยาการเดินหรือ ปาง “ลีลา” ที่ได้รับอิทธิพลจากคติเถรวาท/รามัญนิกาย ผ่านรูปศิลปะมาจากฝ่ายพุกาม “ที่แสดงท่าเดินอย่างชัดเจน” ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17  
.
*** พุทธศิลป์ตามพุทธประวัติเสด็จลงจากดาวดึงส์/เทโวโรหนะแบบลีลาที่ชัดเจน จึงเพิ่งเพิ่งปรากฏครั้งแรกในงานศิลปะของรัฐสุโขทัยที่วัดตระพังทองหลางครับ
.
*** วัดตระพังทองหลาง ตั้งอยู่ทางตะวันออกนอกเมืองโบราณสุโขทัย ห่างจากประตูเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร บนเกาะกลางน้ำของตระพังทองหลางที่ได้ตื้นเขินไปมากแล้ว จึงทำให้ดูเหมือนว่าเป็นเพียงแค่คูน้ำล้อมรอบ ซากอาคารที่เหลืออยู่มีวิหารผนังโปร่งด้านหน้า มีเจติยะประธานรูปทรงมณฑปเรือนกล่องสี่เหลี่ยม (Cella – Cube) ไม่ลดสันมุม ภายในมีซากโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปปางมารวิชัยนั่งเต็มพื้นที่ระหว่างผนัง 
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ราชสำนักสุโขทัยเกิดความนิยมในสถาปัตยกรรมเรือนปราสาทผังสี่เหลี่ยม ที่มียอดหลังคาก่ออิฐหน้าจั่วป้านลม/หลังคาลาด แทรกเข้าไประหว่างกลางตัววิหารและพระเจดีย์ที่เป็นประธานของวัด รวมทั้งมณฑปหลังคาทรงกรวยเหลี่ยม ซ้อนชั้นด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องยอดแหลมเดี่ยวแบบกุฎาคาร และยอดแบบพระเจดีย์อย่างที่เรือนวัดศรีชุม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเต็มพื้นที่จนดูคับแคบตามคติ “พระคันธกุฏี” (Gandha kuti) ที่ประทับของพระพุทธเจ้า จากอิทธิพลของงานสถาปัตยกรรมพุกาม/ล้านนา ผสมผสานงานประดับจากศิลปะสุโขทัยเดิม ที่มีอิทธิพลของฝ่ายเขมรและเถรวาท-ลังกา จากยุคโปโลนนารุวะครับ
.
*** เจติยะทรงมณฑป เรือนธาตุทรงปราสาทที่วัดตระพังทองหลาง ตั้งบนฐานบัว ลวดลูกฟักเหลี่ยมแคบคาดที่ท้องไม้ ด้านหน้าทำเป็นมุขอาคารยื่นออกมาเล็กน้อย ซ้อนชั้นด้วยซุ้มประตูชั้นลด ยอดซุ้มประตูโค้งแหลม (Arch) แบบใบหอก กลางผนังเรือนอีก 3 ด้าน ยกซุ้มแคบ ๆ ออกมาจากผนัง ในระดับต่ำกว่าซุ้มประตู โดยไม่ยกเก็จประธานที่ฐาน ซ้อนด้วยจระนำซุ้มเป็นชั้นลด ยอดซุ้มโค้งหน้านางในงานศิลปะลังกา ตรงกลางเป็นหน้ากาลคายมาลัยที่ปลายเป็นรูปกินร/กินรี ตวัดกระหนกหางเป็นกระหนกพุ่มใหญ่ ตามอิทธิพลของงานศิลปะลังกา ในขณะที่ปลายซุ้มมุขด้านบนยังคงนิยมทำเป็นหัวนาคปลายหน้าบันตามงานศิลปะสุโขทัย-เขมรเดิม    ภายในช่องปั้นปูนประดับเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติที่เกี่ยวเนื่องกับกับกระทำปาฏิหาริย์/อภินิหารของพระพุทธเจ้าเจ้าจากคติอัษฏมหาปาฏิหาริย์ ที่เป็นคติความนิยมจากอิทธิพลฝ่ายปาละผ่านมาทางพุกาม 
.
ซุ้มฝั่งตะวันออกด้านหน้าเป็นซุ้มประตูใหญ่เข้าสู่เรือนธาตุ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือภูมิสปรศมุทรา ตามพุทธประวัติ ตอนผจญมาร (Assualt of Mara)  ที่ทรงกระทำปาฏิหาริย์ แสดงพลังอำนาจกำราบกองทัพพญามารท้าววสวัตตีจนพ่ายแพ้ ซุ้มฝั่งทิศตะวันตกปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวก ในพุทธประวัติตอนโปรดช้างนาฬาคีรี (Nalagiri Elephant) ที่กรุงราชคฤห์ (Rajgriha) พระพุทธเจ้ายืนในปางประทานอภัยหรืออภยมุทรา (Abhaya Mudra) ซุ้มทางฝั่งทิศใต้ ปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางลีลา ในพุทธประวัติตอน “มหาปาฏิหาริย์” (Mahā Pāṭihāriya)  ที่เมืองสาวัตถี (Sravasti) ตอนที่พระพุทธเจ้าได้แสดงมหาปาฏิหาริย์ปลูก “ต้นคัณฑามพฤกษ์” จากเมล็ด แล้วจึงลีลา (เดิน) ออกจากคันธกุฏีไปยังต้นคัณฑามพฤกษ์เพื่อแสดง “ยมกปาฏิหาริย์” (Yamaka- Pāṭihāriya) กำราบพวกเดียรถีย์ที่ต้นคัณฑามพฤกษ์นี้ครับ
.
*** ซุ้มฝั่งทิศใต้ แสดงเรื่องราวพุทธประวัติตอนเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์/เทโวโรหนะ” หรือเรียกในจารึกยุคสุโขทัยว่า “พระเจ้าหย่อนตีน” มีภาพของพระอินทร์ (ซ้าย) พระพรหม 4 พักตร์ (ขวา) ถือเศวตรฉัตรกั้น เหล่าเทพยดาตามเสด็จและส่งเสด็จแสดงอัญชุลี พระพุทธรูปแสดงท่าก้าวเดินลีลาอันงดงามลงจากดาวดึงส์เหนือบันไดแก้วมณี (เส้นขวางในภาพปูนปั้นคือบันได) อันเป็นองค์ประกอบตามพุทธประวัติการเสด็จลงจากดาวดึงส์ที่สมบูรณ์แบบ  
.
*** ภาพประติมากรรมปูนปั้นที่วัดตระพังทองหลาง กรุงสุโขทัย จึงเป็นงานพุทธศิลป์จากพุทธประวัติตอนเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์/เทโวโรหนะ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยครับ
เครดิต FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น