พุทธศิลป์ “พระตรีกาย” มหายานผสมเถรวาท ยุคหลังเขมรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
.
.
.
ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนนครอยุทธยาจะเกิดขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรใหม่ กลุ่มรัฐในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาขาตอนบน รวมไปถึงลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี ที่ประกอบด้วย ลโวทยปุระ สุวรรณปุระ ศรีชยวัชรปุรีและศรีชยเกษมปุรี ที่ยังคงปกครองโดยราชสำนักขอม เจ้าพระยา ที่เคยนิยมในคติมหายาน/วัชรยาน/บายน ในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ต่อเนื่องมาเป็นคติฮินดูไศวนิกายยุคฟื้นฟู สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ในขณะที่ชนท้องถิ่นลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงความนิยมในคติเถรวาทรามัญ/สถวีรวาท (Theravāda) อยู่แต่เดิม จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของคติความเชื่อและงานพุทธศิลป์แบบ “ลูกผสม” มหายาน-เถรวาทรามัญ-วัชรยานบายน ที่เรียกว่า “คณะกัมโพชสงฆ์ปักขะ” (Kambojsanghapakkha) หรือ “นิกายละโว้” ที่เน้นคติความเชื่อตามคัมภีร์และการปฏิบัติไปทางฝ่ายเถรวาทรามัญนิกายเดิม รักษารูปงานศิลปะแบบวัชรยานจากยุคบายน แต่รับอิทธิพลคติและงานศิลปะจากและ ผ่านรัฐหริภุญชัย มีศูนย์กลางศาสนจักรอยู่ที่เมืองละโว้และเมืองสุวรรณปุระ ในภาคกลางของประเทศไทย
.
พุทธศิลป์ลูกผสมคณะกัมโพช/ละโว้ ในกลุ่มรัฐขอมเจ้าพระยาหลังยุคเขมร ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 นิยมการหล่อสำริดเป็นรูปประติมากรรม “พระพุทธรูปมีแผ่นหลังประภาวลี/ซุ้มเรือนแก้ว” (Altarpiece with Buddha) ที่มีทั้งแบบหล่อชิ้นเดียวขนาดไม่ใหญ่นัก และแบบต่อจิ๊กซอร์ (Jigsaw) ประกอบหลายชิ้นส่วนโดยมีฐานล่างแยกออกจากชิ้นส่วนพระพุทธรูป ส่วนแผ่นหลังเป็นซุ้มเรือนแก้ว/ปรกโพธิ์ บางองค์มีชิ้นส่วนประดับเพิ่มเติม ออกแบบต่อเชื่อมด้วยการเข้าเดือยติดกัน ซึ่งรูปประติมากรรมสำริดแบบนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าแบบหล่อชิ้นเดียว รวมทั้งยังมีรายละเอียดงานศิลปะที่งดงามกว่าครับ
.
*** พระพุทธรูปนั่งเรียง 3 รูป บนฐานเดียวกัน สวมอุณหิสกลีบบัว (Crowned Buddha) แบบปาละ/หริภุญชัย ปางมารวิชัย นุ่งห่มจีวรเฉวียง ผ้าสังฆาฏิพาดเรียบตัดตรง ประทับบนอาสนะ 3 ท่อน ประดับแผ่นหลังประภาวลีเป็นซุ้มเรือนแก้วปรกโพธิ์ ความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร พบในหีบไม้จากวัดหนองพังค่า ตำบลหนองพังค่า อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งน่าจะถูกขุดได้จากกลุ่มบ้านเมืองในรัฐสุวรรณปุระ/เมืองโบราณหนองแจง ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี นั่งเรียงตามแบบคติตันตระรูปวิภัติ 3 องค์ (Triad-Trinity) บนแนวระนาบเดียวกัน มาจากอิทธิพลรูปศิลปะเขมรในคติวัชรยาน/มหายาน/บายน การนุ่งจีวรแบบห่มเฉวียง มีผ้าสังฆาฏิตัดตรง มาจากอิทธิพลรูปศิลปะจาคติเถรวาทรามัญ
.
ฐานล่างสุดทำเป็นขาแบบขาตั่งนั่งเครื่องไม้ (ปีฐะ- ปีฐกะ) รองรับชั้นบัลลังก์ปัทมะ ยกเก็จบัลลังก์ 1 ชั้น ท้องไม้ตกแต่งลวดลายเป็นรูปดอกไม้กลม 8 กลีบ ลาดบัวลายบัวรวนรูปกระจัง ดอกไม้ 4 กลีบ ทรงข้าวหลามตัดเป็นกาบประดับตรงกลางและมุมของหน้ากระดาน เป็นงานผสมระหว่างฐานขาตั่งแบบจีน/หริภัญชัยกับงานศิลปะฐานบัลลังก์แบบเขมรบายน แต่ประยุกต์ลวดลายตามแบบขอมเจ้าพระยาครับ
.
พระพุทธรูปองค์กลางมีพระเนตรที่พระนลาฏตามคติแบบมหายาน/ตันตระ ทั้งสามองค์สวมอุณหิสเป็นเครื่องประดับศิราภรณ์แบบกระบังหน้า มีแถบผ้าผูกไขว้กันเป็นเงื่อนกระตุกเหนือพระกรรณทั้งสองข้าง ประดับกุณฑล/กรรเจียก (ตุ้มหู) ที่ปลายพระกรรณทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นอิทธิพลงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ/พุกาม ในคติมหายานผ่านมาทางหริภุญชัย ประทับขัดสมาธิราบบนอาสนะแบบเบาะ 3 ท่อนม้วนรัด ในซุ้มเรือนแก้วโค้งสามเหลี่ยมยาวแหลมรูปทรงสูง นาครวยลำยองหยักสะดุ้ง ประดับใบระกาเรียบเป็นแถวยาว เหนือซุ้มเป็นรูปต้นโพธิ์เป็นกิ่งท่อนและใบโพธิ์แบบเรียวยาวขึ้นไปจนจบที่ปลายเป็นใบพุ่มม้วนแหลม เป็นแผงโค้งไล่ระดับยอดสอบแหลม ซึ่งงานศิลปะเด่นของคณะกัมโพช/นิกายละโว้
.
*** ประติมานของพระพุทธรูปสามองค์นี้ ควรหมายถึง “พระตรีกาย” (Tri-kāya Buddhas) ตามคติฝ่ายมหายาน โดยองค์กลางคือ “พระอาทิพุทธะ/พระวัชรสัตว์/พระมหาไวโรจนะ” (Ādi /Vajrasattva /Mahāvairocana) พระพุทธเจ้าในพุทธภาวะระดับสูงสุดเรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) ผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ที่เรียก “ปัญจสุคต” (Paῆca Sugatā) ประทับบนอาสนะ 3 ท่อนรูปกลีบบัวที่สูงและละเอียดกว่า รวมทั้งบัลลังก์และเรือนแก้วตรงกลางที่โดดดเด่นกว่า ขนาบข้างด้วย “พระพุทธเจ้าไวโรจนะ” (Vairocana Dhyāni Buddha) ในพุทธภาวะ “สัมโภคกาย” (Sambhoga-kāya) และ “พระศากยมุนีพุทธเจ้า” (Shakyamuni) พระพุทธเจ้ากายเนื้อ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) ที่ลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ครับ
.
*** ถึงแม้ว่างานพุทธศิลป์ฝ่ายมหายานจากอิทธิพลปาละ/พุกาม จะนิยมแสดงท่าพระหัตถ์ “ธยานะมุทรา” (Dhyana Mudra) หรือปางสมาธิ และนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร แต่เมื่อลงมาผสมเข้ากับศิลปะฝ่ายเถรวาท (ลังกาวงศ์/รามัญนิกาย) งานพุทธศิลป์แบบกัมโพช/นิกายละโว้ ในท้องถิ่นลุ่มเจ้าพระยา จึงได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปศิลปะตามความนิยมมาเป็นปางมารวิชัย นั่งในท่าขัดสมาธิราบ
.
---------------------
*** พระพุทธรูปมีแผงหลังประภาวลี เป็นพุทธศิลป์ที่มีรูปแบบอันเป็นลักษณะเฉพาะที่ถูกสร้างขึ้นในเขตสามรัฐขอมเจ้าพระยาเท่านั้น ก่อนจะถูกส่งต่อเข้าไปยังเมืองพระนครหลวง กลายเป็นความนิยมของราชสำนักเขมรที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยปรากฏรูปแบบของคติความเชื่อและพุทธศิลป์แบบผสมผสานนี้ ในที่แห่งใดในเขตอาณาจักรกัมพุชเทศะอย่างชัดเจนครับ
.
*** และก็เช่นเดิม คำอธิบายก็ยังคงยกให้ไปเป็นงานในศิลปะเขมร ย้อนยุคสมัยขึ้นไปในยุคบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ทั้ง ๆ ที่ในช่วงศิลปะบายน ยังคงนิยมในคติพุทธแบบวัชรยาน/ตันตระ ไม่เคยปรากฏความนิยม คติความเชื่อและอิทธิพลพุทธศาสนาแบบลูกผสมนี้ หากไม่ผ่านจากรัฐในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากแดนตะวันตกเข้าไป
.
*** 100 ปี หลังยุคเมืองพระนคร บ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ก็ยังคงมืดมนและหายไปจากความเข้าใจเช่นเดิมครับ
เครดิต :FB
วรณัย พงศาชลากร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น