“พระพุทธปฏิมากรทองคำ” พุทธศิลป์แบบปลายรัฐสุโขทัย วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร
พระพุทธรูปประประธานในพระวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เป็นพระพุทธปฏิมากรทองคำเนื้อแก่ทองแดง ที่เป็นโลหกรรมแบบโบราณที่ใช้ทองคำบริสุทธิ์ (ที่มีสายแร่ทองแดงผสมมาตามธรรมชาติ/ไม่มีการถลุงแยก) มาใช้เป็นโลหะวัสดุในการหล่อแบบไล่ขี้ผึ้งทั้งองค์ มีพุทธศิลป์แบบปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ มีพระพักตร์กลมไข่ พระเนตรเล็ก พระขนงโก่งเชื่อมกับสันพระนาสิกทั้งสองด้าน พระโอษฐ์ทรงกระจับเล็ก พระหนุสอบเล็กกลม ขนาดหน้าตักกว้าง 1.6 เมตร สูง 1.83 เมตร เดิมนั้นถูกหุ้มปูนพอกไว้เป็นพระประธานของวิหารร้าง (โบสถ์เก่า) ที่มีพุทธศิลป์แบบต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมาใน พ.ศ. 2499 พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามในเวลานั้น ได้พบรอยกะเทาะของปูนหุ้มที่พระพักตร์ของพระพุทธรูป ทำให้รู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำฝังอยู่ภายในองค์พระ จึงได้แกะปูนที่พอกออกทั้งหมด เมื่อมีการขัดผิวขององค์พระเกิดจึงเป็นสีทองแวววาวเปล่งปลั่ง จึงถูกถวายพระนามว่า “หลวงพ่อทองสุก”ครับ
.
ที่ฐานเขียงขององค์พระพุทธรูป ปรากฏจารึกภาษาไทยสุโขทัย 3 บรรทัด ที่อาจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้อ่านแปลไว้ ความว่า
.
“...ศาสนาพระเจ้าได้ ๑๙๖๗ (ปีแบบลังกา) ปีเถาะ เดือน ๓ ออก ๗ คํ่า เสด็จท่านพระญาศรียศราช...... ศรัทธาประสาทอวย ทานกัดสวน ๒ อัน แห่งเจ้านนทปัญญาเป็นฉัน พระเจ้าองค์นี้ สวนหนึ่งต้นคํ้า ตระพังปลาย จดดอกหวาย ๖ ไร่สวน .....กับลูกเมีย.... ข้าวของทั้งมวลบําเรอพระเจ้านี้บ่ต่อสิ้นพงศ์แห่งมัน เมื่อสิ้นเขาผู้ใดบําเรอพระเจ้าได้ให้ (รุ่งเรือง ?)......”
.
*** ชื่อนามพระญาศรียศราช และปี พ.ศ. 1966 สอดรับกับพระนาม “เจ้าราชศรียศ”ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก เลขที่ 222, 2/ก,104 (ความเริ่มจากลำดับที่ 471-476 ภาคปลาย) ความว่า
.
“...แล้วให้ส่งหนังสือไปถือพระมหา (ธรรมราชา) แลพระยารามราช พ่อยาแสนสอยดาว ได้พระกำหนดผู้เป็นเจ้าที่มีพระบัณฑูรแต่ก่อนหน้าแล้ว และพระยาเชลียงก็ไว้ (มอบ) เมืองสวรรคโลกแก่เจ้าราชศรียศ ผู้เป็นบุตร หมื่นใจขวาง ขุนนครไชย นักพฤทธิ์ ทั้งหลายแลพลกุฎีศีลบาล (ข้าโอกาส) ประมาณ ๓,๐๐๐ คนแล้ว พระยาเชลียงก็สั่งแก่เจ้าราชศรียศว่า ถ้าพระยาทั้งสามให้ช้างขึ้นมาถึงเราเมื่อใดไซร้ ก็ให้เร่งตามทัพเราจนทัน อนึ่งถ้าพี่เรามหาธรรมราชามาถึงไซร้ ให้เข้ามาอยู่รั้งเมืองด้วย....”
.
สอดรับกับตำนาน มูลศาสนา (ฉบับวัดยางควง เชียงตุง) ที่ระบุว่า “...ในปี พ.ศ. 1972 พระยาเชลียงมีพระนามว่า “ไสยศรียศ”...”
.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกและตำนานมูลศาสนาวัดป่าแดง กล่าวถึงช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยาขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1967 ใกล้เคียงกันว่า ขณะนั้นพระยาบาล/บรมปาล เมืองเจ้าเมืองพิษณุโลกได้ลงมาเข้าเฝ้าที่เมืองสองแคว เจ้าสามพระยาจึงพระราชทานสุพรรณบัฏเครื่องราชูปโภคและเฉลิมพระนามเป็นมหาธรรมราชา และโปรดเรียกให้พระยารามราช พระยาเชลียง และพระยาแสนสอยดาว มาช่วยงานด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้น รัฐสุโขทัยภายหลังพรญาเลอไท ในปี พ.ศ. 1952 ได้แตกแยกออกจากกันเป็น 4 ส่วน มีกษัตริย์ปกครองเป็นอิสระต่อกัน โดยมี “พญาบาลเมือง/บรมปาล” (มหาธรรมราชา) ปกครองอยู่ที่เขตสองแคว มีความสัมพันธ์กับ “พญาเชลียง” ที่ปกครองเขตสวรรคโลก (ต่อมาคือ พระยาไสศรียศ) “พญารามราช” ที่ปกครองกรุงสุโขทัยและ “พญาแสนสอยดาว” ที่กำแพงเพชร (ปรากฏชื่อพระนามชัดเจนในจารึกลานเงินเสด็จพ่อพระยาสอย พ.ศ. 1963) ครับ
.
*** พระพุทธรูปทองคำที่วัดหงส์รัตนาราม จึงควรถูกหล่อขึ้นในยุคพระญาเชลียง กษัตริย์แห่งเมืองเชลียง พระราชบิดาของเสด็จท่านพระญาศรียศราช พระราชโอรสผู้ถวายพระพุทธรูปทองคำ ในปี พ.ศ. 1966 ที่เมืองเชลียง ช่วงเวลาก่อนที่พระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา (กรุงศรีอยุธยา) จะขึ้นครองราชย์
.
เป็นตัวอย่างอันดีของพัฒนาการงานพุทธศิลป์แบบรัฐสุโขทัยแท้ ๆ ปลายยุคสมัยแห่งความรุ่งเรือง ช่วงต้นของปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ยังไม่ปรากฏอิทธิพลงานศิลปะแบบอยุธยาเข้ามาผสมผสานครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น