วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ปราสาทกำแพงแลง เพชรบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปราสาทกำแพงแลง” ศูนย์กลางวิษัยนครศรีชยวัชรปุรี เมืองท่าบายนที่เพชรบุรี

ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรกัมพุชะเทศะ (Kambujadeśa ) ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ขยายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจกลับเข้ามายึดครองเมืองลวปุระอีกครั้ง ดังความในจารึกปราสาทพิมานอากาศ (K.485) ที่ได้กล่าวถึงการส่งพระราชโอรสนามว่า “นฤปตีนทรวรมัน” มาปกครอง ทั้งยังใช้เมืองลวะปุระเป็นฐานที่มั่นใหญ่ ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่แดนตะวันตก ที่ราบภาคกลางและลุ่มเจ้าพระยาตอนบนอีกครั้ง ดังปรากฏร่องรอยสำคัญ ใน “จารึกปราสาทตอว” (K.692) ที่แสดงว่ามีการทำสงครามเพื่อพิชิตเหล่าพระราชาในดินแดนตะวันตก (รามัญนะ/ทวารวดี) เช่นเดียวกับการทำสงครามกับอาณาจักรจามปา (Campāpura) ทางตะวันออก 
.
ความใน “จารึกปราสาทพระขรรค์” (K.908) บทที่ 114 121 และ 159 ได้กล่าวถึง “วิษัยนคร” (Viṣaya) ที่น่าจะเป็นเมือง/ดินแดนที่ถูกเข้ายึดครองรวมเข้าอยู่ภายในจักรวรรดิตามจารึกปราสาทตอว์ เริ่มจาก “ลโวทยปุระ” (Lavodayapura) หรือเมืองโบราณลพบุรี วิษัย “ศรีชยสิงหปุรี” (Śrí Jaya-Siṃhapurí) หรือเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี  เมืองใหญ่เพื่อการควบคุมเส้นทางตะวันตก (แม่น้ำแม่กลอง) ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปยังอ่าวเบงกอล วิษัย “ชยราชปุรี” (Jaya-Rájapurí) เมืองซ้อนทับรามัญ/ทวารวดี ที่มีราชวิหารเป็นศูนย์กลางอยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี  วิษัย “สุวรรณปุระ” (Svarṇapura) เมืองซ้อนทับที่บ้านหนองแจง  อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีเครือข่ายชุมชนขนาดเล็กที่มีศาสนสถานประจำสรุก กระจายตัวไปทั่วลุ่มน้ำท่าว้า/ท่าจีน อย่างบ้านเนินทางพระ บ้านดอนกอก บ้านดอนคา บ้านดงเชือก  วิษัย “ศัมพูกปัฏฏนะ” (Śambúkapura) สระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ใกล้กับเส้นทางโบราณตามแม่น้ำแม่กลองที่มีจอมปราสาทเป็นศูนย์กลาง วิษัย “ศรีชยเกษมบุรี” (Śrí Jaya-Käemapurí)  ที่อาจหมายถึงเมืองโบราณสุโขทัย เมืองใหญ่เพื่อการควบคุมทางเหนือขึ้นสู่จีน วิษัย "ศรีชยปุรี" (Śrí Jayapurí) ที่อาจหมายถึงเมืองโบราณที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐมครับ 
.
เมืองท่าเล็ก ๆ ดินแดนสันทรายจุดเชื่อมต่อชายทะเลกับภาคพื้นทวีป ที่สามารถเชื่อมต่อการค้าทางทะเลและการค้าทางบกบนคาบสมุทรนามว่า “เติ่งหลิ่วเหม่ย” (Dengliume/i登流眉) ตาม “บันทึกจูฟานจื้อ” (Zhu Fan Zhi) ช่วงราชวงศ์ซ่งใต้ ก็ได้ถูกเข้ายึดครอง โดยอาจได้เกณฑ์/ขนย้ายผู้คนเป็นกองคาราวานจากเมืองมัลยัง/มังคละปุระ (Malyang/Maṅgalapura) มาสร้างเป็นวิษัย/สฺรุกใหม่ ในนามวิษัย “ศรีชยวัชรปุรี” (Śrí Jaya-Vajrapurí) เพื่อคุมเส้นเส้นทางการค้าออกสู่โลกภายนอก ทั้งยังเป็นเมืองท่าการค้าจีน-อาหรับ และเป็นเมืองหน้าด่านกันชนกับเมืองครหิ (ไชยา) กลุ่มสหพันธรัฐตามพรลิงค์/ตมฺลิงคะ/ตานมะลิงค์/ในคาบสมุทรภาคใต้ที่กำลังเติบโตขึ้น โดยสร้างศาสนสถานศูนย์กลางของเมืองที่ “ปราสาทกำแพงแลง” ปัจจุบันคือ “วัดเทพปราสาทศิลาแลง” ริมถนนโพธิ์การ้องภายในตัวเมืองเพชรบุรี  
.
ปราสาทหินหรือศาสนสถานประจำเมือง (สฺรุก) ตามขนบงานสถาปัตยกรรมแบบราชสำนักบายน ถูกสร้างขึ้นเกือบกึ่งกลางวิษัยนครศรีชยวัชรปุรี ที่มีผังเมืองเป็นกำแพงคันดินกว้าง 1.1 กิโลเมตร ยาว 1.2 กิโลเมตร ล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม (มีขนาดใกล้เคียงกับเมืองศัมพูกปัฏฏนะ/บ้านโป่ง และเมืองศรีชยปุรี/พระราชวังสนามจันทร์) ในปัจจุบันแนวกำแพงเมืองเดิมกลายเป็นถนนพงษ์สุริยา หน้าวัดใหญ่สุวรรณาราม ถนนช่องสะแกฝั่งตะวันออก ถนนท่าหินฝั่งทิศใต้และถนนพาณิชเจริญ ฝั่งทิศตะวันตกติดแม่น้ำเพชรบุรี  เป็นปราสาทเรือนยอดทรงวิมานศิขระ 5 หลัง ปราสาทประธานตั้งตรงกลางมีผังจัตุรมุข มุขทั้ง 4 ด้านเป็นมุขยกชั้นซ้อน มีคูหายื่นเปิดเป็นซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ตามคติ “ปราสาทเพื่อการแสดงอานุภาพบารมี” ที่นิยมประดิษฐานรูปของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี 8 พระกร”  (Bodhisattva Avalokiteśvara  Irradiant/ Prestige-Almighty) ในห้องครรภธาตุของปราสาทประธานหลังกลาง ล้อมรอบด้วยปราสาท 4 หลัง ตรงตามแกนประตูทั้ง 4 ทิศ ที่ประดิษฐานพระโพสัตว์อวโลกิเตศวร 4 พระกร พระอาทิพุทธนาคปรกและเทวีปรัญาปารมิตา ขนบเดียวกับปราสาทพนมบานัน ปราสาทพระถกล/กำปงสวาย ปราสาทวัดนครบาเจย ปราสาทตาพรหมโตนเลบาตี  ในประเทศกัมพูชา หรือปราสาทจอมปราสาท บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีและปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรีครับ  
.
ถึงโคปุระทิศตะวันออกด้านหน้ามีผังจัตุรมุขแต่ก็มีปีกอาคารด้านข้างยาวกว่ามุขด้านหน้าและด้านหลังตามแบบโคปุระปราสาทพนมบานันไม่มีผิดเพี้ยน ด้านหน้าของโคปุระยังมีการแกะสลักโกลนบนผนังของมุขหน้าและปีกทั้งสองฝั่ง เป็นรูปหน้าต่างกรงลูกแก้วปิดผ้าม่าน (หลอก) ลงมาครึ่งหนึ่ง เป็นลักษณะเด่นเฉพาะของภาพศิลปะหน้าต่างในแบบบายน ส่วนปราสาทบริวารอีก 3 หลัง (ทางตะวันตก เหนือและใต้) มีเรือนธาตุทรงจัตุรมุข โดย 2 หลังที่ขนาบปราสาทประธาน มีร่องรอยการต่อเติมมุขหน้าและมุขหลังยาว ส่วนปราสาทด้านหลัง (ตะวันตก) ผังจัตุรมุขพังทลายลงมาทั้งหมด 
.
แผนผังปราสาท 5 หลังของปราสาทกำแพงแลงมีความคล้ายคลึงกับปราสาทอานุภาพหลังอื่น ๆ แต่ปราสาทเกือบทุกหลังจะมีระเบียงคดก่อด้วยหินมุงหลังคา ส่วนปราสาทกำแพงแลงก็อาจเคยมีการสร้างระเบียงคดแบบหลังคาเครื่องไม้ แต่ไม่มีการกรุหินที่ฐานด้วยเพราะขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบหินศิลาแลงในท้องถิ่นและแรงงานที่ไม่เพียงพอ ซึ่งต่อมาอาคารเครื่องไม้ของระเบียงคงได้ถูกรื้อ/เผาทำลายไปจนหมด เช่นเดียวจอมปราสาท ที่อำเภอบ้านโป่งครับ
*** คติปราสาทเพื่อแสดงอานุภาพของจักรวรรดิ/จักรพรรดิ สอดรับกับการขุดค้นทางโบราณวิทยาที่ปราสาทกำแพงแลง ที่ได้มีการขุดพบหลักฐานชิ้นส่วนรูปประติมากรรมของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี รูปพระพุทธรูปนาคปรก รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร 2 รูป พระเศียรของเทวีปรัชญาปารมิตาและนาคหัวราวบันได ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะถูกทุบทำลายให้แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างตั้งใจ
.
*** ลวดลายปูนปั้นของปราสาทประธานปราสาทกำแพงแลงที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้แสดงถึงฝีมือเชิงช่างในเทคนิคการปั้นปูนประดับบนศิลาแลง สร้างลวดลายที่มีความความสวยงามไม่แตกต่างไปจากการแกะสลักหินทราย วางโครงแม่ลายและจัดวางตามขนบแบบแผนศิลปะบายน แต่ได้ผสมลวดลายในท้องถิ่น ทั้งลายลวดบัวบัวหัวเสา บัวกุมุทและดอกไม้สี่กลีบแบบแยกวางห่าง ลายประจำยาม ลายเฟื่องอุบะแบบมาลัย ลายเพื่องอุบะใบมะม่วง/ดอกบัวตูมแหลม ลายหน้ากาลลิ้นยาวกลางยอดลำยอง (รวยนาค) มกรตัวเล็กลีบปากกว้างคายนาคปลายหน้าบัน 5 เศียร บัวหงายกลีบใหญ่ซ้อนของชั้นรัดเกล้า ลายประดับภายในใบระกา (ครีบรวยนาค/ลำยอง) ที่ทำเป็นลายกระหนก รูปตัวสิงห์และหน้ากาลผสมผสานลายขดม้วนหัวกลม ซึ่งแตกต่างไปจากลวดลายตามขนบงานศิลปะเขมรโบราณไปเกือบทั้งหมดครับ  
.
*** เมื่อสิ้นสุดจักรวรรดิบายนอายุสั้น ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ราชสำนักผู้ปกครองนครศรีชยวัชรปุรีที่เป็นชาวมัลยัง คงยังมีความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติและการเมืองอย่างแน่นแฟ้นกับราชสำนักในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 มีสถานะเป็นรัฐอิสระขนาดเล็ก ดังปรากฏในบันทึกราชวงศ์หยวน “ต้าเต๋อ หนานไห่จื้อ” (Ta děi Nan hi tchih) ของ “เฉินต้าเจิ้น” (Chen Ta-Chin) ได้กล่าวถึงวิษัยวัชรปุรีว่า “...ในช่วงปี พ.ศ. 1837 กันมู่ติง (กมรเตง) ผู้ปกครองจากนครปี้ชาปู้หลี (Bi cha bu li /ไพชะบูรี)  ได้ส่งราชทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ในเดือน 6 วันเกิงอี๋น ปีที่ 31 รัชกาลจี้หยวน...” ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของพระจักรพรรดิจูหวางตี้ หรือ “กุบไลข่าน” (Kublai Khan) 

ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นปราสาท 3 หลัง ตามคติฝ่ายฮินดูไศวะนิกาย โดยมีร่องรอยการก่อสร้างต่อเติมมุขซุ้มหน้าและหลังของปราสาทบริวารให้ยาวขึ้น รื้อปราสาทองค์ด้านหลังออก อาจรื้อถอน/ทุบทำลายรูปประติมากรรมในคติวัชรยานเดิมทั้งหมด จนมาถึงประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 กลุ่มรัฐวัชรปุรี/เพชรบุรี จึงได้ถูกกลุ่มรัฐสุพรรณภูมิจากทางเหนือ ที่เป็นรัฐของชาวรามัญ-ทวารวดีดั้งเดิมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา/ท่าจีน เข้าโจมตีและอาจได้ทุบทำลายรูปเคารพอันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจเดิมทั้งหมดภายในปราสาทกำแพงแลงอีกครั้ง ผนวกเมืองวัชรปุรี/เพชรบุรีเข้าในรัฐสุพรรณภูมิ ที่กำลังพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐใหญ่ในเขตตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามชื่อนาม “เสียน” ในบันทึกยุคราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิงครับ
.
*** ปราสาทกำแพงแลง จึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นพระปรางค์/พระธาตุ/พุทธสถานแบบเถรวาท/ลังกาวงศ์ ประดับบันแถลงเป็นรูปใบเสมา ปั้นพระพุทธรูปยืนปางประทานพรที่อกเลาของผนังประตูหลอกเดิม ซึ่งต่อมาในช่วงสมัยอยุธยา ยังก็ได้มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปสลักหินทรายเข้ามาประดิษฐานในคูหาปราสาท และคงได้ถูกทิ้งร้างหมดความสำคัญไปช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครับ
.
.
*** ปล. หลังตุรษจีนนี้ ชวนไปเที่ยวเมืองศร้างสรรค์อาหารอร่อยระดับ UNESCO กินปูดูปราสาท ที่เพชรบุรีกันครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น