วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ตาลโตนด

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ตาลโตนด” พันธุ์ไม้มหัศจรรย์จากโลกโบราณ

“ตาลโตนด” (Palmyra palm, Sugar palm) เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ขยายพันธุ์มาทางตอนใต้ของคาบสมุทรอินเดียเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับผู้คนที่หลากหลายจากอินเดียที่เดินทางเข้ามา 
.
รากศัพท์ของคำว่าตาลโตนด มาจาก “ตาละ” ในภาษาบาลี เป็นหนึ่งในพรรณไม้ที่ถูกกล่าวถึงในพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก เสด็จไปประทับ ณ ลัฏฐิวนอุทยาน (ลัฏฐตาล) กรุงราชคฤห์ ในพรรษที่สองหลังจากการตรัสรู้ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ จึงเสด็จไปเฝ้าพร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนเป็นอันมาก พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารและประชาชนทั้งปวง เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารทรงบรรลุโสดาปัตติผล จึงทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ ทรงดำริว่าป่าไผ่นั้นร่มเย็นดีกว่าป่าตาล จึงได้ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันหรือป่าไผ่ ให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาครับ
.
ในพุทธประวัติยังยังมีพระวินัยสำคัญ ที่ห้ามมิให้นำลูกตาลและผลไม้อีก 9 ชนิด มาใช้ทำน้ำอัฎฐปาล/มหาผลทั้ง 10 (น้ำผลไม้ - ปานะ) เพราะเป็นผลไม้ต้องห้ามหลังเที่ยงวันครับ (เพราะหมักได้ไม่นานก็จะเกิดเป็นน้ำเมา)
.
*** ชาวฮินดูในอินเดียนิยมปลูกต้นตาลตาลโตนด เพื่อใช้  “น้ำตาลโตนด” (Jaggery) มาเป็นส่วนผสมในอาหารหวาน เครื่องบูชาเทพเจ้า อย่างเช่น “ขนมโมทกะ” อีกทั้งยังใช้เป็นอาหารบริโภคและใช้ทำน้ำตาลเมา
ตาลโตนดเข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อก็คงไม่มีใครบอกได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเข้ามาตั้งแต่ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 ดังปรากฏหลักฐานเป็นตราประทับดินเผา (sealings/molded tablet) รูปคนปีนต้นตาล จากเมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ครับ
.
การเดินทางเข้ามาของน้ำตาลโตนดในยุคเริ่มแรก หากเป็นทางทะเล ผลตาลแห้งคงติดจะเข้ามากับขบวนเรือค้าขายของพ่อค้าอินเดีย ดังจะเห็นได้จากตรงที่ต้นตาลขึ้นชุกชุมตามบริเวณเมืองท่าและเมืองโบราณเก่าแก่ ในจังหวัด สงขลา ยะลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี เรื่อยขึ้นมาในเขตภาคกลาง อย่าง กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชัยนาท ลพบุรี ยิ่งลึกและไกลเข้าไปในแผ่นดินมากเท่าใดความหนาแน่นของต้นตาลก็จะลดลง
.
แต่ก็เป็นที่น่าแปลก ว่าสถานที่ใดที่มีศาสนสถานเก่าแก่ในคติพราหมณ์-ฮินดู ทั้งจากอิทธิพลของอินเดียในภาคใต้ จากอินเดียผ่านพุกามหรือเขมรในยุคโบราณ พื้นที่นั้นก็จะดาษดื่นไปด้วยต้นตาลเต็มท้องทุ่งหรือใกล้เคียงกับตัวศาสนสถานอยู่เสมอ เลยขึ้นไปถึงแขวงสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว ที่มีปราสาทหินโบราณในคติฮินดูตั้งอยู่ครับ 
.
---------------------------------
*** ตาลเป็นพันธุ์ไม้มหัศจรรย์ที่ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่รากจรดยอด “ลำต้น” ใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้ในงานก่อสร้าง เช่น เสาเรือน ถากเป็นกระดาน ทำเสาสะพานปลา ในสมัยโบราณยังใช้ต้นตาลปักเป็นกำแพงเชิงเทินเมือง หรือค่ายหอรบในการศึกสงคราม
.
“แก่นเนื้อไม้” ยังเอามาทำเครื่องมือเครื่องใช้มากมาย อย่าง ขันตักน้ำ ของเล่นแกะสลัก โต๊ะ ม้านั่ง เก้าอี้ กล่อง และเฟอร์นิเจอร์ 
.
“กาบตาลหรือทางตาล” ใช้เป็นเชื้อเพลิงใช้ทำฟืน ทำรั้วบ้าน รั้วไร่นา คอกสัตว์ เส้นใยกาบตาลใช้ทำเชือก เครื่องจักสานต่าง ๆ อย่าง หมวก กระเป๋า ไม้กวาด และเครื่องใช้ในบ้าน
.
“ใบตาล” ใช้แทนกระดาษเขียนหนังสือในยุคโบราณ เขียนบันทึกตำรา คัมภีร์ต่าง ๆ ใช้ทำของเล่นเด็ก เช่น กังหันลม สานเป็นตะกร้อ ปลาตะเพียน ใช้สานเป็นของใช้ เช่น หมวก ภาชนะใส่สิ่งของ ทำถาดอาหาร ใช้ทำพัด “ตาลปัตร” มุงหลังคา กั้นฝาบ้าน ใช้ในการทำอาหารขนมหวาน เช่น เผาเป็นขี้เถ้าละลายน้ำสำหรับทำขนมเปียกปูน และยังใช้ทำปุ๋ยหมัก
.
“ผลอ่อนหรือลูกตาลอ่อน เนื้อใส ๆ เหมือนวุ้น มีรสนุ่มหอมหวาน นำมารับประทานเป็นผลไม้ ลูกตาลแก่ที่สุกเหลืองสดมีกลิ่นหอม เรียกว่า “จาวตาล” นำมาเชื่อมทำขนม กินเป็นของหวาน นำมากรีดคั้นน้ำ ใช้ต้มดื่มหรือทำอาหารคาวหวาน เช่น แกงหัวตาล ขนมตาลคลุกมะพร้าว ใช้ประดิษฐ์เป็นของเล่น เช่น ทำล้อรถเด็ก ตุ๊กตา กะลาตาล เนื้อตาลแก่ใช้เผาทำถ่านสำหรับผสมยาสีฟัน
 “เปลือกผลแก่” ของตาล คั้นเอาน้ำสำหรับทำขนมตาล ใช้เป็นส่วนผสมของสบู่ ยาสระผม ใยลูกตาลแก่ใช้เป็นฝอยล้างจาน หรือนำมาเป็นฝอยขัดตัว
.
“ช่อดอก” หรือ “งวงตาล” ขึ้นปาดได้น้ำหวาน เรียกว่า “น้ำตาลสด หรือ น้ำตาลโตนด” ใช้ดื่มสด ๆ หรือนำมาเคี่ยวทำน้ำตาลปึก น้ำตาลปี๊บ ทำน้ำผึ้งตังเม นำมาหมักทำเป็นน้ำส้มสายชู กะแช่ หรือกลั่นเป็นเหล้า/น้ำตาลเมา
.
นอกจากนี้ ต้นตาลยังให้ประโยชน์ด้าน “สมุนไพร” น้ำตาลสดใช้เป็นยาระบาย เป็นกระสายยาบำรุง “ดอก”หรือ “งวงตาลอ่อน” นำมาฝานต้ม เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาเจริญอาหาร รักษาตานขโมยในเด็ก ฝนทำยารักษาแผล แก้ร้อนใน ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับพยาธิ “ผลตาลแก่” คั้นเอาน้ำจากเปลือกผล ใช้ต้มดื่มกินแก้โรคตานขโมย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข ร้อนในกระหายน้ำ หรือใช้แช่น้ำอาบ แก้ผดผื่นคัน
.
“ก้านตาล” และ “ใบตาล” นำมาเผาไฟแล้วคั้นเอาน้ำดื่มสำหรับเป็นยาแก้ท้องร่วง ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย หากนำมาต้มน้ำดื่ม แก้อาการกระสับกระส่ายหลังคลอด แก้อาการท้องร่วง ท้องเสียและช่วยลดความดันโลหิต
.
รากตาลโตนด นำมาต้มดื่ม แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ซางเด็ก บำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ และใช้ขับพยาธิ ในพม่ายังคงใช้รากตาลอ่อนมาต้ม คลุกน้ำตาล ทำเป็นขนม ในพม่าจะใช้รากตาลมาทำขนมปิ้งเรียกว่า “ขนมทาเมี๊ยะ”
.
*** ด้วยคุณประโยชน์อันมหาศาล ตาลโตนดจึงเป็นที่นิยมของมนุษย์ จนแพร่กระจายขยายพันธุ์ไปตามที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า การแพร่กระจายของตาลโตนดนั้น สัตว์ก็มีส่วนด้วยเหมือนกัน เช่น เวลาช้างกินเมล็ดตาลโตนด ก็จะกลืนทั้งเมล็ด ช้างที่เดินทางไกลนับเป็นร้อยกิโลเมตร ก็จะเป็นผู้กระจายพันธุ์ ทำให้ตาลโตนดแพร่กระจายจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้เช่นกัน ตรงข้ามกับวัว ควาย ซึ่งชอบกินเมล็ดตาลโตนดสุกเหมือนกัน แต่วัว ควายได้แต่แทะ และดูดกินส่วนของเส้นใยของเมล็ดตาล พอหมดรสหวานก็จะทิ้งไว้ใกล้เคียงบริเวณเดิม ไม่แพร่กระจายไปสู่ถิ่นอื่น
.
*** การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากอินเดียในยุคก่อนทวารวดีต่อเนื่องมาจนถึงเขมรโบราณ โดยเฉพาะกลุ่มชาวฮินดู น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายพันธุ์ของตาลโตนด ไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกว้างขวาง และยังลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ เราจึงพบทุ่งต้นตาลไปถึงสกลนคร หนองคาย หนองหาน วัดพู นครพนม ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีศาสนสถานแบบปราสาทเขมรตั้งอยู่ หรือแม้แต่กรุงสุโขทัย เมืองใหญ่ในยุคโบราณของเขมร ก็ยังใช้ต้นตาลโตนดเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำจังหวัด 
.
ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า แต่ก็ดูเหมือนว่า หากที่ใดมีปราสาทหิน มีศาสนสถานแบบฮินดูหรือเป็นเขตอิทธิพลของอาณาจักรเขมรโบราณมาก่อน ที่นั่นก็มักจะพบต้นตาลขึ้นอยู่ทุกหนแห่งเลยครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น