วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ปุณฑริกสูตร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
สถาปัตยกรรมและงานพุทธศิลป์ในคติ  “เทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร” ที่จันทิเมนดุต

“จันทิเมนดุต” (Candi Mendut) หรือชื่อนามตามจารึกว่า “วินุวนา” (Venuvana /แปลว่าป่าไผ่) สร้างขึ้นในสมัย “พระเจ้าสามาลาตังกะ” (Samaratungga)  ราชวงศ์ไศเลนทรา (Śailendra Dynasty) ตามคติมหายาน/วัชรยาน ในปี พ.ศ. 1367 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอินทรา ตรงบริเวณสถานที่จัดพิธีถวายพระเพลิง ตัวจันทิจึงวางหันหน้าไปทางทิศตะวันตกตามคติของความตาย เป็นอาคารก่อหินภูเขาไฟทรงปราสาทวิมาน มีเรือนผังกล่องสี่เหลี่ยมเรียกว่า “กุฎี” หรือ “จันทิ” (Candi)  ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวด้านละ 14 เมตร ด้านหน้ามีมุขบันไดยื่นออกมาสำหรับขึ้นลงเพียงทางเดียว ชั้นหลังคาทำเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นแบบศิขระประดับจระนำซุ้ม  ลาดหลังคาประดับด้วยหน้าบันจำลอง เหนือลาดหลังคาวางสถูป (สถูปิกะ /Stupika) จำลองเป็นเครื่องประดับอยู่ที่มุม ยอดสุดเคยเป็นพระสถูปใหญ่ กรอบประตูและกรอบหน้าต่างจะประดับด้วยลายเกียรติมุขและมกร ด้านหน้าของตัวอาคารเรือนธาตุ เป็นมุขซุ้มประตูที่อาจเคยมีวิมานปราสาทชั้นซ้อนจำลองอยู่เหนือหลังคามุขอีกทีหนึ่ง  
.
*** องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและงานพุทธศิลป์แกะสลักของจันทิเมนดุต ได้แสดงถึงคติเรื่องราวในพุทธประวัติฝ่ายมหายานตอน “เทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร/สทฺธรฺมปุณฺฑรีกสูตฺร” (Saddharmapuṇḍarīka Sūtra) หรือ “พระสูตรบัวขาวแห่งธรรมอันล้ำเลิศ” (Sūtra on the White Lotus / Lotus Sūtra) ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 8 ปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของ “พระศากยมุนีพุทธเจ้า” (Śākyamuni) ทรงมีพระประสงค์จะเทศนาพระสัทธรรมอันประเสริฐสูงสุดให้แก่มวลมนุษย์เพื่อการพ้นทุกข์/สู่พระนิพพาน แต่มนุษย์ในสมัยนั้นก็ยังไม่พร้อมจะเข้าใจในพระสัทธรรมขั้นสูงของพระองค์ จึงทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า ภายหลังที่พระองค์เสด็จสู่มหาปรินิพานไปแล้ว 2,000 ปี จึงจะปรากฏพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ ซึ่งในเวลานั้นยังคงเป็นพระโพธิสัตว์องค์ใดองค์หนึ่งบนสวรรค์ ลงมาเทศนาพระสัทธรรมของพระองค์ให้เหล่ามวลมนุษย์ในอนาคตเข้าใจได้ครับ
.
เมื่อเสด็จไปถึงกรุงราชคฤห์  พระศากยมุนีพุทธเจ้าจึงได้เสด็จขึ้นไปบนยอดเขาคิชกูฏ (เขาแร้ง) เพื่อโปรดเทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร ฝากไว้ให้กับเหล่าพระโพธิสัตว์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งจะลงมาจุติ/ประสูติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ด้วยเพราะในเวลานั้นมีแต่เพียงพระโพธิสัตว์เท่านั้นที่จะเรียนรู้และเข้าใจในพระสัทธรรมขั้นสูงได้ 
“คัมภีร์ทิวยาวทาน” (Divyāvadāna) วรรณกรรมประเภทอวทาน (Avadāna – เรื่องเล่าประวัติการกระทำบุญกุศลของบุคคลสำคัญ) เล่าว่า เมื่อเริ่มต้นการเทศนาพระสัทธรรม พระศากยมุนีพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนดอกบัวขาว พญานาค “นันทะ-นนฺท”  (Nanda Nāga kings) และ“อุปนันทะ-อุปนนฺท” (Upananda Nāga – นาคผู้น้อง) ตัวแทนแห่งโลกและสะพานสายรุ้ง ปรากฏขึ้นใต้ดอกบัว แสดงอิทธิฤทธิ์ยกดอกบัว“ปัทมบัลลังก์” พุ่งขึ้นสู่สรวงสวรรค์  เหล่าพระมหาโพธิสัตว์ พระมานุษิโพธิสัตว์ทั่ว จากทั่วพุทธมัณฑละจำนวน 80,000 องค์ ต่างมาเข้าเฝ้าเพื่อฟังเทศนาเรียนรู้พระสัทธรรม ทรงจำแนกคำสอนออกเป็น 4 ส่วน เพื่อสั่งสอนมนุษย์ทั้งหลายให้บรรลุนิพพานและการปฏิบัติสู่ความเป็นพระมานุษิโพธิสัตว์ สำหรับคำสอนขั้นสูงสุดเพื่อการบรรลุสู่ความเป็นพระพุทธเจ้านั้น มนุษย์ไม่สามารถเรียนรู้ได้ พระองค์จะทรงสอนให้แก่ระดับพระ(มานุษิ)โพธิสัตว์ขึ้นไปเท่านั้นครับ
.
*** ผนังโดยรอบของจันทิเมนดุต จึงแกะสลักเป็นรูป “พระอัษฏมหาโพธิสัตว์” (Aṣṭamahābodhisatava)  ในความหมายของ “ตัวแทน” แห่งพระโพธิสัตว์ทั้ง 80,000 องค์ และ 8 ทิศมงคลแห่งสรวงสวรรค์ โดยด้านหน้าฝั่งทิศตะวันตก ฝั่งเหนือเป็นรูปของ “พระสรรวนิวรณวิษกัมภินโพธิสัตว์” แสดงวิตรรกะมุทราในพระหัตถ์ซ้ายและถือดอกบัวในพระหัตถ์ขวา ฝั่งใต้เป็นรูปของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (แต่พังทลายลงมาแล้ว) ทิศเหนือฝั่งตะวันตกเป็นรูปของ “พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ” มีสถูปประดับบนมงกุฎ แสดงประทานพรในพระหัตถ์ขวาและถือดอกไม้สามช่อดอกในพระหัตถ์ซ้าย ทิศเหนือฝั่งตะวันออก (ด้านหลังอาคาร) เป็นรูปของ “พระสมันตภัทระโพธิสัตว์” แสดงประทานพรในพระหัตถ์ขวาและถือดอกไม้สามช่อดอก (จินดามณี) ในพระหัตถ์ซ้าย
.
ด้านหลังทิศตะวันออกฝั่งเหนือ เป็นรูป “พระกษิติครรภะโพธิสัตว์” แสดงประทานพรในพระหัตถ์ขวาและถือดอกไม้สามช่อดอกในพระหัตถ์ซ้าย ทิศตะวันออกฝั่งใต้เป็นรูปของ “พระวัชรปาณีโพธิสัตว์” ถือวัชระในพระหัตถ์ขวาและพระหัตถ์ซ้ายแสดงวิตรรกะมุทรา ด้านข้างทิศใต้ฝั่งตะวันออกเป็นรูปของ “พระโพธิสัตว์มัญชูศรี” แสดงธรรมจักรมุทราในพระหัตถ์ขวาและถือดอกบัวขาบในพระหัตถ์ซ้าย และฝั่งทิศตะวันตกคือรูปของ “พระอากาศครรภะโพธิสัตว์” ถือดาบในพระหัตถ์ซ้ายและประทานพรในพระหัตถ์ขวาครับ 
.
*** ในการเทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร เหล่าพระโพธิสัตว์ยังได้มีโอกาสเรียนรู้พระธรรมร่วมกับ “พระอดีตพุทธเจ้า” ทั้งปวงที่เข้าสู่พระนิพพานไปแล้ว ซึ่งในรูปศิลปะจะทำเป็นรูป (Stupa) ซึ่งก็คือ “สถูปิกะ” ที่ประดับอยู่บนชั้นหลังคาวิมานลดหลั่นของตัวจันทิเมนดุตนั่นเอง
.
*** ภายในห้องครรภธาตุ ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานรูปของ “พระศากยมุนีพุทธเจ้า” ที่กำลังเทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร แสดงพระหัตถ์ทั้งสองในท่า “ธรรมจักรมุทรา” (Dharmachakra Mudra) นั่งห้อยพระบาทแบบกรีก/ยุโรป บนรัตนบัลลังก์ที่มีพนักพิงประดับด้วยรูปช้าง สิงห์และมกร กลางพระนลาฏมีพระอุณาโลม (Unalome) แบบปาละ มีแผ่นประภามณฑลล้อมรอบพระเศียร โดยเบื้องขวา มี “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (Bodhisattva Avalokiteśvara) มุ่นมวยพระเกศาแบบ “ชฏามกุฏ” (Jaṭāmakuṭa) มีรูปพระอมิตาภะด้านหน้ามวยผม  รัดพระองค์ด้วยเข็มกลัดรูปตาบประดับอัญมณี  คาดหนัง “มฤค” (เลียงผา กวาง ละมั่ง หรือพวกแอนติโลป) เฉียง พระหัตถ์ซ้ายแสดง “วรทมุทรา”(ประทานพระ พระหัตถ์ขวาถือบัวปัทมะ (หายไป อาจทำจากโลหะสำริด/ทองคำ?) ครับ 
.
เบื้องขวา คือ “พระโพธิสัตว์วัชรปาณี” (Vajrapāṇi Bodhisatava) หรืออาจเป็น “พระมัญชุศรีโพธิสัตว์” (Mañjūsrī Bodhisatava) พระโพธิสัตว์แห่งปัญญา หรือ “พระไมเตรยะโพธิสัตว์” (Maitreya Bodhisatava) พระอนาคตพุทธเจ้า สวมกีรีฏมุกุฏ  (Kirīṭamukuṭa) พระหัตถ์ขวาแสดงการถือของมงคล (หายไป) ที่อาจเป็นได้ทั้ง “วิศววัชระ” (Viśva Vajra) ดอกบัวขาบ คัมภีร์ หม้อน้ำหรือพระขรรค์ (ที่เป็นโลหะมีค่า)
.
*** พระมหาโพธิสัตว์ทั้งสององค์มีประภามณฑลล้อมรอบพระเศียร นั่งในท่า “ลลิตาสนะ” (Lalitāsana) ประทับบนดอกบัวบาน บนบัลลังก์ที่มีปลายคานเป็นรูปตัวมกรแบบเดียวกับบัลลังก์ของพระศากยมุนีครับ   
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น