“พระพุทธจักรพรรดิ/พิมพ์ใบแต้แซ่ม้า” พุทธศิลป์นิกายปาละ ในยุคปลายวัฒนธรรมทวารวดี
การขุดค้นทางโบราณวิทยา บริเวณสถูปขนาดย่อมก่ออิฐ/หินท้องถิ่น บนหน้าเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 180 เมตร ของเขารางกะบิด ในช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2560 ได้พบพระพิมพ์ดินเผา (Terracotta Votive Tablet) ที่มีพุทธศิลป์เฉพาะแบบหนึ่ง ขนาด 8 * 11.5 เซนติเมตร ด้านบนโค้งมนจำนวนหลายองค์ บรรจุอยู่ภายในไหดินเผาที่ฝังอยู่มุมด้านหนึ่งของพระสถูป รวมกับรูปประติมากรรมในความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบมหายาน/ปาละ/มอญทวารวดี
.
พระพิมพ์ชิ้นหนึ่งปรากฏการจาร/เขียนข้อความไว้ที่ด้านหลังในระหว่างการกดพิมพ์ก่อนนำไปเผาไฟ เป็นอักษรแบบหลังปัลลวะในภาษามอญ ว่า “...vauᵃʼ puñʼ tralaᵃʼ mra tā kyātʼ...” อายุของอักษรอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 (Hunter Ian Watson 2017) แปลความหมายว่า “การทำบุญของพระมระตา/การทำบุญถวายแด่พระพุทธเจ้าโดยพระมระ/“การกระทำบุญของ (พระ)มะระ ด้วยการสร้างพระ(ถวาย)” อันเป็นเนื้อความที่กล่าวถึงการกระทำบุญ อุทิศถวายอุเทสิกเจดีย์อันได้แก่พระพิมพ์ รูปเคารพและสิ่งของมีค่าไว้ประดับแก่สถูปเจดีย์ เพื่อเป็นการปฏิบัติพุทธบูชาสักการะในระหว่างการเดินทางมาจาริกแสวงบุญ (Pilgrimage) มิใช่การบรรจุพระภายในกรุของพระสถูปตั้งแต่แรกสร้างครับ
.
พุทธศิลป์ของพระพิมพ์ สะท้อนงานศิลปะในช่วงราชวงศ์ปาละ (อินเดียตะวันออก) ในคติมหายาน หรืออาจเรียกเป็นการเฉพาะว่า “นิกายปาละ” ที่มีส่วนผสมระหว่างฝ่ายมหายาน (วัชรยาน) กับเถรวาทลังกาคณะมหาวิหารที่นิยมในวัฒนธรรมทวารวดีมาแล้วในยุคก่อนหน้า แต่ใช้แก่นธรรมและแนวปรัชญาของฝ่ายมหายานเป็นหลัก เป็นรูปของ“พระศากยมุนีพุทธเจ้า” (Śākyamuni) พระพุทธเจ้ากายเนื้อ (นิรมาณกาย/Nirmāṇakāya) ประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิราบ ตามอิทธิพลทางศิลปะในวัฒนธรรมทวารวดีฝ่ายเถรวาทคณะมหาวิหารเดิมที่เคยนิยมในเขตภาคกลางมาก่อน (ถ้าเป็นพุทธศิลป์มหายานจะนิยมขัดสมาธิเพชร ไขว้ข้อพระบาท) แสดงปางสมาธิหรือ “วรทมุทรา” (Varada Mudrā) บนแท่นภัทรบิฐโพธิบัลลังก์มีพนักพิง คาดรัดท้องไม้ด้วยสังวาลที่มีข้อสร้อยเป็นรูปดอกไม้ 4 กลีบในโครงรูปสี่เหลี่ยม
.
พระวรกายของพระพุทธรูปแสดงการนุ่มจีวรแบบห่มคลุม มีชายผ้าสังฆาฏิแบบพับทับเกิดเป็นนิ้วและชายผ้าปลายแหลม มี “ประภามณฑล” (Prabhāmandฺala) โค้งรอบพระวรกายและศิรจักรรัศมีที่มีกระหนกเปลวล้อมรอบที่พระเศียร แวดล้อมด้วยเครื่องสูงแห่งจักรพรรดิทั้ง 5 ประกอบด้วยฉัตรสัปทนเดี่ยว ซ้อนอยู่บนรูป “ต้นศรีมหาโพธิ” ขนาบข้างด้วยพัดบังแทรก/บังสูรย์ และแส้จามร แสดงอิทธิพลของงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 ในวัฒนธรรมรามัญ/ทวารวดีอย่างชัดเจนครับ
.
*** รูปศิลปะบนพระพิมพ์ จึงแสดงคติ “พระพุทธจักรพรรดิ” ตามศิลปะแบบนิกายปาละ/มหายาน โดยใช้พุทธประวัติตอนตรัสรู้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อันเป็นช่วงเวลาที่นับว่ามีความสำคัญมากที่สุดในพุทธประวัติทั้งหมด ที่นิยมทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท จึงน่าจะเป็นการสร้างรูปพิมพ์ศิลปะขึ้นเองในเขตวัฒนธรรมทวารวดี พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย **** ไม่ได้นำเข้ามาจากอินเดีย/ปาละแต่อย่างใด
.
*** ในปี พ.ศ. 2562 – 2563 ยังได้มีการขุดพบพระพุทธจักรพรรดิแบบนิกายปาละผสมศิลปะทวารวดีหลายองค์ที่วัดพระงาม จังหวัดนครปฐม ซึ่งก็ได้แสดงว่า ในอดีตได้เคยมีคณะพระสงฆ์และผู้ศรัทธาเดินทางมาจาริกแสวงบุญที่พระสถูปแห่งนี้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 และได้อุทิศถวายสร้างอุเทสิกเจดีย์อย่างพระพิมพ์ไว้ตามสถูปในเมืองโบราณนครชยศรี เช่นเดียวกับที่พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
.
*** ซึ่งในอดีต ก็เคยได้มีการพบพระพิมพ์พระพุทธจักรพรรดิแบบนิกายปาละ/ทวารวดีนี้มาแล้วก่อนหน้าจะขุดพบที่เมืองโบราณอู่ทองและนครปฐม ทั้งที่เมืองโบราณลพบุรี (วัดนครโกษา) ที่กันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามเส้นทางการจาริกแสวงบุญของคณะสงฆ์ชาวรามัญจากแดนตวันตกไปยังเมืองโบราณในเขตภาคอีสานที่นับถือพุทธศาสนา เรียกรูปแบบพุทธศิลป์ (พิมพ์) กันต่อมาว่า “ใบแต้แซ่ม้า” ซึ่งหมายถึงใบมะค่าแต้ที่มีรูปทรงกลมแทนรูปศิลปะบังแทรก/บังสูรย์ และแซ่ม้าแทนความหมายรูปศิลปะของแส้จามรที่ปรากฏร่วมอยู่บนพระพิมพ์ครับ
เครดิต :FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น