วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2564

โนรา/มโนราห์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“โนรา/มโนราห์” มรดกแห่งภูมิปัญญาของมนุษยชาติ เริ่มต้นมาจากวรรณกรรมฝ่ายมหายานของรัฐศรีวิชัย

การแสดงร่ายนำประกอบเนื้อเรื่อง “โนรา” (Norah, Dance Drama) เป็นนาฏกรรม (Dramatic presentation) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย มีเนื้อเรื่องในการแสดงมาจากเรื่อง “พระสุธน-มโนราห์ชาดก”(Sudhana-Manoharā) ที่มีเนื้อหาหลักมาจาก “กินรีชาดก” (Kinnarī-jātaka) ปรากฏในวรรณกรรมเก่าแก่ทางพุทธศาสนาอย่าง “มหาวัสดุ” Mahāvastu/นิกายมหาสังฆิกะ (Mahāsāṅghika) ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 4 - 5 และใน “คัมภีร์ทิวยาวทาน” (Divyāvadāna) วรรณกรรมประเภทเรื่องเล่า/อวทาน (Avadāna) ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7- 8  ปรับเปลี่ยนเนื้อหามาเป็น “กินรีสุธนชาดก” (Kinnarīsudhana-jātaka) เรื่องเล่าพระโพธิสัตว์ 35 เรื่องของ “หริภัฏฏชาดกมาลา (Haribhaṭṭa-Jātakamālā) ในภาษาสันสกฤต ที่มีอายุการรจนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-11 ทั้งยังแพร่หลายและส่งอิทธิพลให้กับนิทานในญี่ปุ่น (เรื่อง “ฮาโกโรโม" แปลว่าเสื้อขนนก) จีน ลาว ชวา เขมร มอญ บอร์เนียว ในเค้าโครงการดำเนินเรื่องที่คล้ายคลึงกัน คือมีนางฟ้า/นางกินรีจากสวรรค์แบบต่าง ๆ ลงมาเล่นน้ำ และถอดปีกหางหรือเสื้อผ้าไว้ แล้วมีนายพรานมาขโมยเอาปีกหางหรือเสื้อผ้า เลยกลับไปสวรรค์ไม่ได้ 
.
วรรณกรรมสันสกฤตเรื่องพระสุธน/มโนราห์ ปรากฏอย่างชัดเจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกจากอิทธิพลของ “ราชวงศ์ปาละแห่งคาบสมุทรมาลายู” (Pala Dynasty of Malay Peninsula) ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ราชสำนักที่มีความนิยมในพุทธศาสนาแบบมหายาน/วัชรยาน (Mahāyāna/ Vajrayāna Buddhism) ใช้คัมภีร์ในภาษาสันสกฤต ได้พัฒนาจนกลายมาเป็น “ราชวงศ์ไศเลนทรา” (Śailendra Dynasty) อนุวงศ์ใหญ่ที่กระจายตัวปกครองดินแดนคาบสมุทรไปจนจรดหมู่เกาะชวาครับ
.
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าราชสำนักไศเรนทราแห่งหมู่เกาะจะมีความนิยมในวรรณกรรมเรื่องกินรี/มโนราห์ จากอวทานในคัมภีร์ทิวยาวทานเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังปรากฏงานพุทธศิลป์เป็นภาพแกะสลักบนผนังกำแพงฐานชั้นที่ 1 “มหาบุโรพุทโธ” (Candi Borobudur) หรือ “ชินาลายา” (Jinalaya-แดนแห่งผู้ชนะ) จำนวน 20 ช่องผนัง  ที่สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14  
.
การแสดงละครลำนำ/ร่ายรำเรื่องพระสุธน/มโนราห์ในราชสำนักไศเลนทรา อาจดำเนินไปตามรูปแบบ “ราธยาตรี/ยาตรา” (Rath Yatri/Yatra) ที่เป็นร่ายรำประกอบเนื้อหาของแคว้นเบงกอลตะวันตก ที่ได้ผสมผสานอิทธิพลการแสดง “กถัก กฬิ” (Kathak Kali)” อันเป็นความนิยมในกลุ่มราชสำนักฮินดูในอินเดียเหนือมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์คุปตะ เป็นการแสดงเรื่องราวละครประกอบจังหวะด้วยดนตรีที่ถ่ายทอดเนื้อหาในวรรณกรรมผ่านผู้เล่าเรื่อง (คนร้อง/คนพากย์/กลอนสด) แสดงในที่แจ้ง ไม่มีโรงละคร ผู้แสดงชายล้วน แต่งกายแบบเทพที่มีการประดับประดาอย่างหรูหราครับ 
.
สอดรับกับหลักฐานจากวรรณกรรมในภาพสลักทางศิลปะที่บุโรพุทโธ ที่ได้แสดงความนิยมในเรื่องกินรีชาดก/มโนราห์อันชัดเจน การแสดงเรื่องราวของพระสุธน/มโนราห์ ตามการลำนำเรื่องราวแบบละครราชยาตรี/กถัก กฬิ ในราชสำนักของราชวงศ์ปาละ จึงควรเป็นความนิยมในราชสำนักไศเลนทรา (ศรีวิชัย) ที่ยังเป็นการแสดงลำนำวรรณกรรมแบบเดียวกับการแสดงละคร “รามายณะ” ที่นิยมในวัฒนธรรมชวา/อินโดนิเชีย สืบทอดต่อมาจนถึงในปัจจุบัน  
.
การแสดง “มโนราห์” (ดำเนินเนื้อเรื่องแบบละครชาตรี) ที่มีการแต่งกายอย่างหรูหรา ประดับลูกปัดแก้วแบบเฉพาะคาบสมุทรร้อยเป็นเส้น สวมปลอกเล็บงอน นุ่งผ้าแบบโธฏียาวคลุ่มสมพตขายาว ทิ้งชายผ้ากุฎิสูตร สวมเทริดมียอดแหลมแบบเทพเจ้าอินเดีย จึงควรมีมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรศรีชัยตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ครับ
ซึ่งต่อมาก การแสดง “มโนราห์ยาตรี” ได้มีพัฒนาเปลี่ยนแปลงท่าร่ายรำและการประยุกต์เครื่องแต่งกายไปตามยุคสมัย แต่ยังคงเป็นกินรีชาดกตามแบบวรรณกรรมมหายาน ทั้งยังส่งความนิยมในรูปแบบการแสดงละครลำนำ/ดำเนินเรื่องราว ให้แก่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ในวรรณกรรมชาดกอื่น ๆ มาตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยม จนมาถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เกิดละครชาตรี (ชายล้วนแบบโนรา) ขึ้น โดยใช้เนื้อหาในวรรณกรรมเรื่องอื่นมาลำนำการแสดง 
.
**** เป็นรากเหง้าที่เกิดขึ้นจากผสมผสานคติเรื่องราวในวรรณกรรมและการแสดงร้องรำทำเพลงในท้องถิ่น สะสมพัฒนาไปตามยุคสมัยในดินแดนคาบสมุทรปักษ์ใต้มาตลอด 1,200 ปี มิได้เป็นการรับรูปแบบการแสดงไปจากกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด 
.
.
*** ในวันนี้ การแสดงละครลำนำ “โนรา” จากภาคใต้ของประเทศไทย ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Intangible Cultural Heritage) จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) อย่างเป็นทางการแล้วครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น