รูปศิลปะในคติ “ศาสนาเชน” เพียงองค์เดียวในประเทศไทย ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
.
.
.
“ศาสนาเชน” ไชนะหรือชินะ (Jainism/Jain) แปลว่า “ผู้ชนะ” กำเนิดขึ้นที่เมืองเวสาลี (Vaishali) แคว้นวัชชี (1 ในแว่นแคว้นที่เรียกว่า 16 มหาชนบท/รัฐพิหารปัจจุบัน) ก่อนพุทธกาลกว่า 50 ปี โดยมี “พระมหาวีระ” (Mahāvīra) หรือ “เจ้าชายวรรธมานะ/วรรธมาน” (Vardhamāna) ( ในวรรณกรรมฝ่ายพุทธศาสนาจะเรียกศาสนาเชนว่าลัทธิสัจจะนิครนณ์ และเรียกพระมหาวีระว่า นิครนถนาฏบุตร) เป็นพระศาสดาพระองค์แรก
.
แต่ในวรรณกรรมของฝ่ายเชนจะอธิบายว่า ศาสนาเชนนั้นมีมายาวนานนับล้านล้านปี โดยมีพระพระฤษภนาถ/พระอาทินาถ (Ṛṣabhadeva - Adinatha) เป็นพระปฐม “ตีรถังกร” (Tirthankaras/Tīrthaṅkara - ผู้เป็นประดุจสะพานพาข้ามวัฏจักรสงสาร) องค์แรก สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน 24 พระองค์ ซึ่งพระองค์สุดท้ายกำหนดให้เป็นพระมหาวีระ โดยมีภาคพระอดีตและภาคพระอนาคตตีรถังกร อีกรวม 72 พระองค์ครับ
.
พระศาสดา/ตีรถังกรที่ได้รับการเคารพสูงสุดในศาสนาเชน คือ พระฤษภนาถ/พระฤษภเทพ (พระอาทิตีรถังกร) พระเนมินาถ (Neminatha) ตีรถังกรองค์ที่ 22 เมื่อ 3,200 ปีที่แล้ว) พระปรรศวนาถ (Pārśvanāth ตีรถังกรองค์ที่ 23 เมื่อ 2,800 ปีที่แล้ว) และพระมหาวีระ (ตีรถังกรองค์ที่ 24 ในโลกปัจจุบัน)
.
คติความเชื่อในศาสนาเชนได้รับความนิยมศรัทธาในอินเดียควบคู่มากับพุทธศาสนา มีหลักธรรมที่คล้ายคลึงกันมาก จนไม่สามารถระบุได้ว่า ใครลอกใครกันแน่ หรืออาจเคยเป็นคติความเชื่อเดียวกันมาตั้งแต่ครั้งเริ่มแรก แต่กระนั้นเมื่อพุทธศาสนาในอินเดียถูกทำลาย ย้ายค่ายออกมายังลังกา พิหารและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ศาสนาเชนนั้นยังคงดำรงอยู่ได้ ด้วยเพราะเหล่าผู้ศรัทธาในศาสนาเชนนั้น ส่วนมากเป็นพ่อค้าวาณิชผู้มั่งคั่ง ชนชั้นสูงของสังคมที่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นเอกภาพ ดำเนินกุศโลบายอันแยบยลทางการเมือง รวมทั้งการสนับสนุน/แบ่งปันทางเศรษฐกิจแบบยืดหยุ่นแก่ผู้มีอำนาจเพื่อการดำรงอยู่ของศาสนามาในทุกยุคทุกสมัยครับ
.
รูปประติมากรรมทางศิลปะของพระตีรถังกร จะมีความคล้ายกับพระพุทธรูปที่ทำมวยพระเกศาเป็นกระจุกก้นหอย (Tuft) แตกต่างกันตรงที่รูปพระตีรถังกรนั้นจะเป็นรูปบุคคลไม่สวมอาภรณ์ เปลือยเปล่าแบบนุ่มลมห่มฟ้า ซึ่งพระตีรถังกรทั้ง 24 พระองค์ ก็จะมีสัญลักษณ์รูปสัญลักษณ์มงคลประจำพระองค์ที่แตกต่างกัน โดย 1)พระฤษภเทพ มี วัว เป็นสัญลักษณ์ 2) พระอชิตนาถ/ช้าง 3)พระสัมภวนาถ/ม้า 4) พระอภินันทนนาถ/วานร 5) พระสุมตินาถ/นกกะสา 6) พระปัทมประภา/ปัทมะ 7) พระสุปารศวนาถ /สวัสดิกะ 8)พระจันทรประภา/พระจันทร์เสี้ยว 9) พระปุษปทันตะ-สุวิธินาถ/มกร 10) พระศีตลนาถ/กัลปพฤกษ์ 11) พระเศรยางสนาถ/แรด 12) พระวาสุปุชยะ/กระบือ 13) พระวิมลนาถ/หมูป่า 14) พระอนันตนาถ/เม่นหรือเหยี่ยว 15) พระธรรมนาถ/วัชระ 16) พระศานตินาถ/ละมั่งหรือกวาง 17) พระกุนฤนาถ/แพะ 18) พระอรนาถ/นันทวัตตะหรือปลา 19) พระมัลลินาถ/หม้อกลศ 20) พระมุนิสุวรตะ/เต่า 21) พระนมินาถ/เต่า 22) พระเนมินาถ/หอยสังข์ 23) พระปารศวนาถ/งู และ 24) พระมหาวีระ/สิงห์
.
*** คติความเชื่อในศาสนาเชน คงจำกัดอยู่เฉพาะในสังคมชั้นสูงและพ่อค้าอินเดียมาตั้งแต่ยุคโบราณ จึงไม่ปรากฏหลักฐานร่องรอยอิทธิพลทั้งทางศิลปะและความเชื่อออกมานอกดินแดนเลย ส่วนในประเทศไทยนั้น มีรูปประติมากรรมพระตีรถังกรองค์หนึ่ง ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับถวายมาจากรัฐบาลอินเดีย/อังกฤษ ในปี พ.ศ. 2476 ตามที่ได้ทรงขอไป จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นรูปพระตีรถังกร นั่งแสดงธยานมุทรา/สมาธิ ในงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 มีรูปสัญลักษณ์ด้านล่าง เป็นรูปสิงห์ (ทะยาน หันหน้ามาด้านใน) รูปหอยสังข์ขนาบข้างรูปดอกบัวบานตรงกลางที่หมายถึงความบริสุทธิ์ ซึ่งการปรากฏรูปสังข์ที่ชัดเจนนี้ เป็นประติมานสำคัญที่แสดงว่า รูปศิลปะนี้ก็คือ “พระเนมินาถ” ตีรถังกรองค์ที่ 22 ในศาสนาเชนนั่นเองครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น