ประติมากรรมรูปเต่า “พระกูรมะอภิเษก” พบเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เมืองโบราณพิมาย
.
.
.
ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 เด็กน้อยในตัวเมืองพิมายหลายคน ได้ชักชวนกันไปเล่นน้ำจับปลาที่สระโบสถ์ สระน้ำ(บารายโบราณ) นอกแนวคันดินและคูน้ำ ทางตะวันตกของตัวเมืองโบราณพิมาย ติดกับลำจักราช กลุ่มเด็กที่กำลังเล่นน้ำหาปลาบริเวณด้านใกล้กับเนินดิน (เกาะ) กลางสระน้ำฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ ได้ไปสะดุดกับก้อนหินขนาดเขื่องที่ก้นสระ เมื่อช่วยกันยกขึ้นมาจึงพบว่าเป็นหินทรายที่มีการแกะสลักเป็นรูป “เต่า” (Turtle Statue) น้องณัฎฐ์สักก์ จันทร์เกษม จึงได้แจ้งแก่ผู้ปกครอง แล้วนำไปมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
.
*** ประติมากรรมรูปเต่า มีขนาดกว้างยาวประมาณ 32 * 46 เซนติเมตร สูงประมาณ 15 เซนติเมตร สลักขึ้นจากหินทรายแดง มีลายตารางและรูปกลมบนกระดอง หัวยื่นแหลมมาด้านหน้า สลักลายลูกตาทั้งสองด้าน บนกระดอกเจาะช่องตันสี่เหลี่ยม 7 ช่อง ล้อมรอบช่องตันสามเหลี่ยมใหญ่ตรงกลาง 1 ช่อง ทั้งหมดคงเคยมีฝาหินยัดปิดช่องรูแบบพอดีแต่คงได้หลุดหายไปทั้งหมด คงเหลือเพียงฝาของช่องสามเหลี่ยมกลาง ที่เมื่อเปิดออกได้พบแผ่นทองสี่เหลี่ยมขนาดเล็กจำนวน 6 แผ่นบรรจุอยู่ด้านในครับ
.
รูปประติมากรรมเต่าบรรจุสิ่งของมงคล (อย่างแผ่นทอง) เป็นคติความเชื่อในวัฒนธรรมเขมรโบราณ มาตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 แต่พบมากที่สุดในช่วงศิลปะแบบจักรวรรดิบายน กลางพุทธศตวรรษที่ 18 ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคติฝ่ายฮินดูไวษณพนิกาย (Vaishnavism) ดังวรรณกรรมพระอวตาร ที่พระวิษณุนั้นเคยได้อวตารมาเป็น “กูรมาราชา-กูรมาวตาร” (Kurmraja/ Kurma Avatar) ลงมาค้ำจุนปกป้องโลก ในตอน “การกวนเกษียรสมุทร” ที่พระกูรมะ(เต่า) ได้ใช่กระดองหลังของตนรองรับเขามัณทรคีรี (Mandaragiri) ที่ก้นเกษียรสมุทร (Kṣīrasāgara) มิให้ทะลุผ่านลงไปทำลายโลก
.
รูปประติมากรรมเต่าในวรรณกรรมกูรมาวตาร พัฒนากลายมาเป็นคติ “รากฐานอันมั่นคง” เพื่อการ “ค้ำจุนอาณาจักร/ค้ำจุนโลก” ผ่านคติการ “การอภิเษก” (Abhiṣeka) ให้รูปประติมากรรมเปลี่ยนเป็นตัวแทนของพระกูรมะ/เต่า ด้วยการบรรจุวัตถุมงคลในช่องต่าง ๆ ทำพิธีแล้วนำไปประดิษฐานไว้ใต้สระน้ำ เพื่อเปลี่ยนผ่านให้สระน้ำ/บารายนั้นให้กลายเป็นเกษียรสมุทรที่ประทับแห่งวิษณุครับ
.
ซึ่งประติมากรรมรูปเต่าเพื่อการอภิเษกนี้ ได้เคยพบในเมืองพระนครหลายแห่ง ทั้งที่ประตูเมืองนครธมฝั่งทิศเหนือ สระน้ำฝั่งทิศใต้ของปราสาทบายน ปราสาทนาคพัน ล่าสุดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 พระกูรมะอภิเษก 2 องค์ ในสระสรงหน้าปราสาทบันเตียกะเดย ด้วยเพราะที่มีการอภิเษกสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงการขุดสระครั้งแรกในสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมัน ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 รูปศิลปะเป็นเต่าน้ำจืด/เต่าทะเลขนาดใหญ่ บรรจุหินเขี้ยวหนุมาน (ควอตซ์ใส) จำนวนมาก (ที่นิยมใช้บรรจุในเครื่องหินศิลาฤกษ์) และอภิเษกอีกครั้งด้วยรูปเต่ากระดองโปน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ได้มีการกรุหินขอบบ่อใหม่ทั้งหมด สร้างพลับพลาท่าน้ำ (ลงสรง) ริมคันบารายเป็นแนวตรงรับกับซุ้มประตูด้านหน้าของปราสาทบันเตีย-กะเดย ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18
.
รูปศิลปะของประติมากรรมเต่า/พระกูรมะอภิเษกในยุคจักรวรรดิบายนทั้งหมดที่พบในเมืองพระนคร จะนิยมรูปแบบของเต่าบก (Tortoise, Land turtle) ที่มีกระดองนูนโปน เจาะตรงกลางหลังกระดองเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ไม่พบแบบที่มีการเจาะช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กล้อมรอบ ในขณะที่พระกูรมะอภิเษกที่พบจากสระโบสถ์ เมืองพิมาย มีการเจาะช่องเล็กล้อมรอบเพื่อให้ครบ 8 ช่อง ตามคติ “ทิศมงคลทั้ง 8” เพิ่มเติมเข้าไป จึงสลักเพียง 7 ช่อง นับรวมกับช่องสามเหลี่ยมกลางจนครบ 8 ตามขนบพิธีกรรมการวางศิลาฤกษ์ (Deposit stones Ritual) แบบฮินดู/เขมรโบราณครับ
.
และด้วยเพราะบารายสระโบสถ์ เป็นบารายที่มีการถมดินตรงกลางเพื่อให้เกิดเป็นเกาะ เช่นเดียวกับบารายพิมายทางทิศใต้ที่มีเกาะกลางราย เรียกว่า “เนินวัดโคก” มีซากปราสาทก่ออิฐหรือพลับพลาเครื่องไม้ สอดคล้องกับคติ “พระราชวังไวกูณฐ์” ที่ประทับของพระวิษณุกลางเกษียรสมุทร เช่นเดียวกับบารายตะวันออก บารายของปราสาทบันทายฉมาร์ ที่พบเทวาลัยในคติฮินดูไวษณพนิกาย
.
*** ประติมากรรมรูปเต่าที่พบจากสระโบสถ์ เมืองพิมาย จึงมีความเกี่ยวข้องกับคติไวษณพนิกายในความหมายพระกูรมะโดยตรง เป็นรูปพระกูรมะชิ้นแรกที่พบในประเทศไทย มีอายุการใช้งานอภิเษกสระน้ำอยู่ประมาณช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนการสร้างคูน้ำค้นดินเมืองพิมายครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น