พุทธศิลป์ “สุนัขขาวเห่าใส่พระพุทธเจ้า”
ภาพสลัก “สุนัขขาวเห่าใส่พระพุทธเจ้า” (The White Dog that Barked at the Buddha) ปรากฏความครั้งแรกในพระสูตรทีฆนิกาย (Dīghanikāya ) ในนิกายสรวาสติวาท (Sarvāstivāda) นิยมสร้างเป็นรูปงานพุทธศิลป์เฉพาะในช่วงราชวงศ์กุษาณะ แบบช่างศิลปะแบบกรีก/คันธาระ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 แต่กลับไม่พบการสร้างรูปศิลปะรูปสุนัขอยู่คู่กับพระพุทธเจ้าในพระสูตรนี้ในศิลปะแบบมถุรา หรือสืบเนื่องต่อมาในสมัยหลัง นอกจากความกล่าวถึงในคัมภีร์ต่าง ๆ เท่านั้น
.
“... ครั้งหนึ่งในระหว่างการเสด็จบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าโดนสุนัขขาวตัวหนึ่งเห่าหอนใส่ด้วยอาการโกรธเกรี้ยว จึงตรัสขึ้นมาอยู่ชัดเจนว่า “ท่านโตเทยะพราหมณ์ (Todeyyaputta) เมื่อก่อนเมื่อตอนที่ยังมีชีวิต ท่านก็ด่าว่าร้ายเรา ครั้นเมื่อตายไปเกิดเป็นสุนัขแล้ว ยังมาเห่าใส่เราอีกหรือ...”...
.
ฝ่าย “ศุกะพราหมณ์/ศุภมานพ” (śuka Brāhmana / Śubhā Manava) บุตรของโตเทยะพราหมณ์ ได้ยินเข้าก็บังเกิดความไม่เข้าใจ คิดหาไปว่าพระพุทธเจ้าได้ดูถูกพ่อของตนที่ตายไปแล้ว ว่ามาเกิดมาเป็นสุนัข
.
“พระองค์รู้ได้อย่างไร ว่าสุนัขขาวนั้นเป็นบิดาข้า จึงตรัสดูถูกเช่นนั้น”
.
พระพุทธองค์ จึงได้แสดงการพิสูจน์ ทรงขอให้ศุกะเอาสุนัขขาวตัวนั้นไปอาบน้ำ แล้วให้เลี้ยงอาหารอย่างดี เมื่อสุนัขขาวกินอาหารจนอิ่มหนำสำราญแล้ว พระองค์จะทำให้สุนัขขาวนั้นระลึกชาติได้
.
ศุกะทำตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำ เกิดเป็นอัศจรรย์เมื่อสุนัขขาวมีอาการ กระสับกระส่าย แล้วก็พลันวิ่งไปยังมุมหนึ่งในอาณาเขตของบ้าน เอาเท้าตะกุยขุดดินจนเป็นหลุม มีทรัพย์สินที่โตเทยะพราหมณ์เคยฝังเอาไว้ก่อนตาย ทั้งถาดทองคำ รองเท้าทองคำ ร่มทองคำ และอื่น ๆ อีกมาก โดยไม่ได้บอกบุตรชาย
.
เมื่อศุกะ เห็นสมบัติในหลุมมากมาย ให้เชื่อว่าบิดาของตนนั้นได้กลับมาเกิดเป็นสุนัขขาวจริงแท้ จึงสามารถระลึกชาติได้ ดังพุทธวาจา
.
พระพุทธองค์ตรัสว่า “.. โตเทยะพราหมณ์นั้นเป็นคนที่มีความตระหนี่ขี้เหนียว ละโมบในสมบัติพัสถาน มีทรัพย์สินศฤงคารมาก แต่ไม่เคยมีศรัทธา ไม่เคยประกอบกรรมดี เป็นคนมิจฉาทิฐิเห็นผิดเป็นชอบอยู่เสมอ พระพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสั่งสอนเมื่อครั้งยังมีชีวิตหลายครั้ง แต่ก็ถูกขับไล่ไสส่งด้วยวาจาหยาบคายอยู่เสมอ
.
...แต่ด้วยเพราะเป็นคนมัวเมาลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติไม่ได้คิดการกระทำบุญกุศลไว้ เมื่อโตเทยะพราหมณ์สิ้นชีวิตลง จึงกลับมาเกิดเป็นสุนัขขาวในบ้านของตน เพื่อเฝ้าทรัพย์สมบัติในชาติก่อน ที่แม้แต่ตัวเองในชาติภพใหม่นี้ก็ได้ลืมเลือนไปแล้ว
.
...ถึงเก็บสะสมทรัพย์สมบัติไว้ได้มากมาย แต่ถ้าไม่คิดการกุศลสร้างผลบุญแก่โลก .. .ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ๆ ก็ไม่ได้ใช้หรอก...”
.
ศุกะพราหมณ์ เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ จึงทูลถามข้อสงสัยที่ติดอยู่ในใจ ว่า “ข้าแต่พระผู้เจริญ เพราะเหตุใดบางคนที่เกิดมาในโลกนี้ จึงเป็นคนมั่งมีด้วยทรัพย์สมบัติศฤคาร และมีคนยากจนเข็ญใจ เพราะเหตุใดบางคนจึงมีรูปกายที่สวยงาม บางคนขี้เหร่ไม่น่าดู เพราะเหตุใดบางคนจึงอายุยืน แต่บางคนกลับมีอายุสั้น เพราะเหตุใดบางคนจึงมีสติปัญญาดีเลิศ แต่หลายคนกลับโง่เขลาเบาปัญญา เพราะเหตุใดบางคนจึงมียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่ง แต่บางคนจึงไร้เกียรติยศ”
.
พระพุทธองค์จึงได้มีพุทธวัจน ว่า “ศุกะ บุตรแห่งโตเทยะพราหมณ์เอ๋ย บุคคลที่เกิดมาในชาติภพนี้ หากมั่งมีด้วยทรัพย์สมบัติศฤคาร ก็เพราะด้วยในชาติปางก่อน เขาเคยทำทานบารมีไว้มาก ติดมาในชาติภพนี้ เขาก็จะยังมีความขยันหมั่นเพียร ส่วนคนที่เกิดมายากจน ก็เพราะไม่เคยประกอบทานบารมีไว้ในชาติปางก่อน ติดมาในชาตินี้ ก็จะเป็นคนเกียจคร้านไม่มีความเพียรพยายาม
.
คนที่เกิดมารูปร่างสวยนั้น เพราะชาติภพที่แล้ว เขารักษาศีลธรรม มีเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง เป็นคนไม่โกรธง่าย เป็นเหตุให้เกิดมาในชาตินี้ จึงเป็นคนมีรูปร่างหน้าตา กายและใจสวยงาม ส่วนคนที่มีหน้าตาขี้เหร่หน้าเกลียดทั้งกายและใจนั้น เป็นคนไม่รักษาศีลธรรม ไม่มีหิริโอตัปปะ เป็นคนฉุนเฉียวโมโหง่าย จึงเกิดมามีรูปร่างขี้เหร่
.
คนที่เกิดมาแล้วมีอายุยืน ก็เพราะเป็นคนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก ไม่ทำลายชีวิตของสัตว์ ส่วนคนที่เกิดมาแล้วอายุสั้นนั้น เพราะว่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมามาก จึงทำให้อายุสั้น
.
บางคนที่เกิดมาแล้วมีสติปัญญานั้น ก็เพราะว่า ในชาติก่อนได้ศึกษาเล่าเรียนภูมิปัญญาความรู้ วิชาการมามาก สดับรับฟังพระธรรมมามาก ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมมามาก ได้ให้ธรรมเป็นทานมามาก จึงเป็นเหตุให้มีสติปัญญา ส่วนบางคนโง่เขลาเบาปัญญาเพราะในชาติภพที่แล้ว ไม่หมั่นเล่าเรียนศึกษาหาความรู้ ไม่ฟังครูบาอาจารย์ ไม่มีธรรมะในจิตใจ ไม่เคยปฏิบัติธรรม
.
บางคนที่เกิดมามียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งนั้น เพราะว่าในชาติก่อนเป็นผู้ที่ไม่มีความอิจฉาริษยา อาฆาตมาดร้ายแก่ผู้ใด ใครได้ดีก็แสดงความยินดีเสมอด้วยความจริงใจ ส่วนคนที่เกิดมาไร้เกียรติยศศักดิ์ศรีนั้น ก็เพราะในชาติปางก่อนเป็นผู้อิจฉาริษยาผู้อื่น เห็นเขาได้ดีแล้วทนไม่ได้ หาทางลิดรอนใส่ความว่าร้าย ไม่อยากให้คนอื่นได้ดีกว่าตนเอง..."
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น