วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

พญาช้างฉัททันต์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ฉัททันตชาดก” พระพุทธเจ้าเล่านิทาน ที่ฐานสถูปจุลประโทนเจดีย์  

ในครั้งหนึ่ง พระมหาโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นพญาช้างเผือก มีปากและเท้าสีแดง ที่งามีแสงรัศมีเปล่งประกายเจิดจรัส 6 รังสี มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศได้ มีนามว่า “ฉัททันต์” ปกครองช้าง 8,000 เชือก อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์  มีภรรยา 2 ตัว (ก็คือเมียหลวงและเมียน้อยนั่นแหละ) ช้างเมียหลวงชื่อ “มหาสุภัททา” ส่วนช้างเมียน้อย ชื่อ “จุลลสุภัททา” 
.
ในวันหนึ่งของฤดูร้อน พญาช้างฉัททันต์ได้พาบริวารไปหากินในป่ารังที่มีดอกบานสะพรั่ง ใช้โหนกตระพองชนต้นรังให้ดอกหล่นลงมา นางช้างเมียหลวงยืนอยู่ใต้ลมจึงรับเกสรดอกไม้และใบสดโปรยปรายใส่ตัว ส่วนนางช้างเมียน้อยยืนอยู่เหนือลม จึงถูกใบแห้งติดกับกิ่งไม้ที่มีมดแดงตกใส่ตัว มดก็กัดนางไปทั่วร่าง นางช้างเมียน้อยจึงเกิดความน้อยใจ คิดว่าพญาช้างฉัททันต์นั้นลำเอียง โปรดปรานและรักใคร่แต่เมียหลวงมหาสุภัททา ส่วนตนมีแต่มดแดงร่วงใส่กัดจนเจ็บปวด จึงเกิดความอาฆาตพญาบาทในตัวสามีเป็นครั้งแรก 
.
ต่อมาอีกวันหนึ่ง พญาช้างฉัททันต์ได้รับดอกบัว 7 กลีบ สีสันงดงาม พญาช้างโปรยเกสรลงบนโหนกตระพองแล้วยื่นดอกบัวดอกเดียวนั้นให้แก่นางช้างเมียหลวงมหาสุภัททา เป็นเหตุให้นางช้างเมียน้อย เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมาอีกครั้ง เกิดเป็นความเจ้าคิดเจ้าแค้นสะสม อาฆาตว่า พญาฉัททันต์นั้นรักแต่เมียหลวง ไม่เคยรักตน  
.
จนถึงวันพระ พญาฉัททันต์ได้นำน้ำผึ้งไปถวายแก่พระมานุษิพุทธเจ้า ส่วนนางช้างเมียน้อยได้นำผลไม้ไปถวายด้วย แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า "หากชาติหน้าฉันใด ของให้ข้าได้ไปเกิดใหม่ เป็นอัครมเหสีของพระราชาผู้ทรงอำนาจ สามารถฆ่าพญาช้างผู้เป็นสามีคนนี้ได้ด้วยเถิด" 
.
“.....ชาตินี้ความรักเราไม่สมหวัง ไม่เคยได้รับความรักจากสามีเลย เกิดใหม่ชาติหน้า เราจะทำให้ท่านต้องเสียใจมากกว่าเรา ท่านพญาช้างฉัททันต์.....”
.
หลังจากนั้น นางช้างเมียน้อยก็อดอาหาร อดน้ำจนร่างกายซูบผอมลง ไม่นานก็ล้มป่วยและล้มตายไปเกิดเป็นธิดาของพระราชาในแคว้นมัททรัฐ เมื่อเจริญวัยแล้ว ก็ได้อภิเษกสมรสเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสีอย่างที่ได้อธิษฐานไว้ นางเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัตมาก และยังสามารถจดจำระลึกชาติแต่หนก่อนได้ วันหนึ่งจึงแกล้งทำทีเป็นประชวรหนักบรรทมอยู่ไม่ลุกขึ้นมา พระเจ้าพรหมทัตเสด็จมาตรัสถามว่า "ดูนัยน์ตาเจ้าก็แจ่มใสดี แต่เหตุไร  น้องนางจึงดูโศกเศร้าซูบผอมไปละ"
.
" หม่อมฉันแพ้ครรภ์เพคะเสด็จพี่  ฝันเห็นสิ่งที่หายากเป็นงาเปล่งรัศมี 6 รังสี หม่อมฉันต้องการงาคู่นั้น ถ้าไม่ได้ชีวิตของหม่อมฉันคงอยู่ไม่ได้เช่นกัน  ขอให้พระองค์นำมาให้ข้าด้วยเถิดจะหาได้   "
.
พระเจ้าพรหมทัต จึงโปรดให้เรียกนายพราน 60,000  คนมาที่ท้องพระโรง และรับสั่งให้ออกตามหาช้างที่มีลักษณะดังกล่าว แต่พรานทั้งหลายก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน พระมเหสีจึงได้เลือกบิดาของเหล่าพรานช้างนามว่า “โสณุตระ” มีเท้าใหญ่ เข่าโต หนวดดก เคราแดง ตาเหลือง เป็นผู้ที่มีความโหดเหี้ยมพอที่จะสามารถสังหารพญาช้างนี้ได้ แล้วพระนางจึงได้บอกทิศทางที่จะไปหาพญาฉัททันต์แก่พรานป่า
.
"...จากนี้ไปทางทิศเหนือ ข้ามภูเขา 7 ลูก มีภูเขาสูงที่สุดลูกหนึ่งชื่อ “สุวรรณปัสสคีรี” เจ้าจงขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้นมองดูตามเชิงเขา จะเห็นต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งมีกิ่งก้านสาขาหนาทึบมีพญาช้างเผือกเชือกหนึ่งอาศัยอยู่ มีงาสวยงามมาก มีบริวารอยู่มาก เจ้าจงระวังตัวให้ดี พวกมันระวังรักษาแม้แต่ธุลีก็ไม่ให้แตะต้องพญาช้างได้..."
.
นายพรานโสณุตระเดินทางมาจนถึงป่าหิมพานต์ พบพญาช้างเผือกที่มีงารัศมี 6 รังสี ถึงเวลากลางคืนจึงลอบขุดหลุมพรางปักไม้หลาวปลายแหลมที่ก้นหลุม เพื่อให้ตกหลุมแล้วคอยดักพญาช้างในเวลาใกล้รุ่ง คลุมร่างกายมิดชิดด้วยผ้าเหลืองร่มกาสาวพัตร์แล้วลงไปยืนถือธนูอาบยาพิษแอบอยู่ รอการมาของพญาช้าง
.
วันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ พญาช้างฉัททันต์เดินทางไปสักการะพระมานุษิพุทธเจ้าบนทางที่มีการขุดหลุมพรางไว้อยู่เป็นประจำ จึงเดินตกลงไปในหลุมพราง ถูกแทงด้วยไม้หลาวปลายแหลมและถูกลูกศรธนูอาบยาพิษของนายพราน ฝูงช้างบริวารเมื่อได้ยินเสียงร้องของพญาช้างต่างก็ตกใจ แตกตื่นวิ่งหนีหายเข้าไปหลบในป่า พญาช้างบาดเจ็บหนัก แต่ได้ใช้งวงคว้าจับตัวนายพรานไว้ได้ หมายจะสังหาร แต่เห็นผ้าเหลืองพันกายนายพราน จึงละความโกรธ ละเว้นชีวิตแก่นายพราน 
.
"....เจ้าพรานเอ๋ย เจ้าสังหารเราเพื่ออะไร เพื่อตนเอง หรือคนอื่นใช้ให้มาฆ่าเรา...." นายพรานป่าตอบว่า "....พญาช้าง พระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตประสงค์ให้มาสังหารท่านเพื่อเอางาทั้งคู่ของท่านกลับ...."
.
พญาช้างฉัททันต์ รู้แจ้งด้วยญาณในทันที ว่านี่คือการผูกเวรอาฆาตแค้นแต่ชาติปางก่อนของนางจุลลสุภัททาผู้เป็นเมียน้อยของตน ส่วนพรานนั้น ก็คือพระเทวทัตในอนาคตกาล จึงกล่าวว่า "...พรานเอ๋ย พระมเหสีมิได้จะต้องการงาทั้งสองของเรานักหรอก หากแต่นางประสงค์ที่จะสังหารเราเท่านั้น  “...นายพราน เราจะมอบงาของเราให้แก่ท่าน” นายพรานกล่าวว่า “แต่...มือที่สกปรกของข้ามิสามารถแตะต้องงาอันหนักอึ้งของท่านได้เลย...” พญาช้างฉัททันต์จึงได้ใช้งวงดึงงาทั้งคู่ออก มอบให้แก่นายพราน
.
“...บริวารช้างของเรามีมากมากมหาศาลนัก หากพวกเขารู้ว่าเจ้าสังหารเรา คงไม่ปล่อยเจ้าออกจากป่านี้ได้โดยง่ายเป็นแน่ เจ้าจงเดินทางไปทางทิศเหนือตามเส้นทางไปสักการะพระมานุษิพุทธเจ้าก่อน จะได้ไม่ปะทะกับบริวารของเรา”
.
พญาช้างมอบงาให้นายพรานแล้วตั้งจิตอธิษฐาน มอบเมตตาอภัยทานให้แก่นายพรานและให้อภัยไม่จองเวรแก่นางจุลลสุภัททาผู้เกิดเป็นพระมเหสีมในชาตินี้ แล้วก็ล้มลงขาดใจตาย
.
เมื่อนายพรานนำงาเปล่งรัศมีอันวิจิตร 6 รังสี กลับไปถวายพระนางสุภัททา พระนางรับงาคู่อันงดงามวางของอดีตพระสวามีในชาติที่แล้วไว้ที่พระเพลาทอดพระเนตรดู ก็บังเกิดความเศร้าโศกสลดในทันทีทันใด “...ท่านได้สิ้นชีวิตไปแล้วจริง ๆ หรือ พระโพธิสัตว์....” ด้วยเพราะยังคงผูกพันและระลึกถึงในความรักที่มีต่อพญาฉัททันต์ในชาติก่อน  ดวงหทัยของพระนางจึงตกในห้วงปริเวทนาแตกสลาย สิ้นพระชนม์ในราตรีที่สามนั้นเอง...
.
.
*** ภาพปูนปั้น (Stucco figures) ประดับฐานสถูป จุลประโทนเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ในช่องท้องไม้ของฐานในยุคแรก (ปัจจุบันฐานหน้ากระดานที่มีการแบ่งห้องเพื่อประดับปูนปั้นชาดก จมอยู่ในระดับใต้ดิน) มุมด้านทิศใต้ของฝั่งทิศตะวันออก ช่องหนึ่งได้แสดงเรื่องราวของพญาช้างเผือก “ฉัททันตชาดก” (Shaddanta Jataka) ถึงส่วนฐานจะมีอายุการสร้างในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 แต่ปูนปั้นจำนวนมากอาจปั้นซ่อมแซมของเดิมที่เป็นรูปดินเผา (Terrracotta) ในการสร้างต่อเติมครั้งแรกช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 13  
.
ภาพปูนปั้นประดับนี้เป็นงานพุทธศิลป์ที่ถูกสร้างขึ้นตามคติความเชื่อของนิกาย“สรรวาสติวาท” (Sarvāstivāda) อันเป็นนิกายหนึ่งในสายหีนยาน ร่วมกับ “สถวีรวาท-เถรวาท” (Sthāvirīya -Theravāda)  แต่ใช้คัมภีร์ภาษาสันสกฤต ปฏิเสธปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามแบบนิกายมหาสังฆิกะ-มหายาน (Mahāsāṃghika - Mahāyāna) โดยใช้เรื่องราว “อรรถกถาชาดก”  (Jātakatthavaṇṇanā) ในภาษาบาลี ร่วมกับนิทานคติธรรมอย่าง “ชาดกมาลา” (Jātaka-mālā) บารมี 10 ทัศนะของพระโพธิสัตว์ และนิทาน “อวทานะ/อวทานศตกะ/ทิวยาวทานะ” (Avadānas – Avadānashataka - Divyāvadāna) ในภาษาสันสกฤต เป็นตัวอย่างของการกระทำคุณงามความดีและกุศลบารมีแบบต่าง ๆ โดยพระมหาโพธิสัตว์และบุคคลหลากชนชั้น ที่จะได้นำไปสู่การบรรลุเป็นพระมานุษิโพธิสัตว์/พระพุทธเจ้าครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น