วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เทพนพเคราะห์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เรื่องราวของ “เทพนพเคราะห์” บนทับหลังชิ้นงาม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  

ทับหลังชิ้นงามแผ่นหนึ่งได้มาจากปราสาทล่อลั่ว (Lolei) ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2449 ที่สยามยังปกครองเมืองเสียมราฐ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แสดงคติเรื่องราวและงานศิลปะอันงดงามเรื่อง “เทพนพเคราะห์/นวคฺรห/นวเคราะห์” (นะวะคระหะ Navagrahas – Nine Planets) ทั้ง 9 องค์ ในงานศิลปะแบบปราสาทพะโค ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15
.
คติและงานศิลปะเรื่องเทพเคราะห์ เป็นการนำดวงดาวและปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่สังเกตได้ มาจัดเป็นเทพเจ้าทั้ง 9 (Nine Deities) เริ่มจากพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู (คราสของพระอาทิตย์) พระเกตุ (โหนดเว้าของพระจันทร์) ปรากฏในอินเดียเหนืออย่างชัดเจนในยุคราชวงศ์คุปตะ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9-10 ต่อเนื่องมาในงานศิลปะช่วงยุคราชวงศ์จาลุกยะ (Chalukya) ในอินเดียใต้ ราชสิทธิ์ตุลยกุล (Rajarsitulyakula) ในแคว้นกลิงคะ ราชวงศ์ปัลลวะ (Pallava) ในอินเดียใต้ฝั่งตะวันออก ราชวงศ์คุชราต-ปาฏิหาริย์ (Gurjara-Pratihara) อินเดียเหนือ-ตะวันตก  ราชวงศ์โจฬะ (Chola) อินเดียใต้ และยังคงได้รับของผู้ศรัทธาในลัทธิฮินดูในอินเดียมาจนถึงในปัจจุบันครับ    
.
จนถึงประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 12  เริ่มปรากฏรูปศิลปะเทพนพเคราะห์จากอินเดียใต้ในงานศิลปะแบบปราสาทสมโบร์ไพรกุก-อีศานปุระ โดยใช้รูปบุคคลยืนเรียงแถว เริ่มจากวันอาทิตย์ (พระสูริยเทพ) ถึงวันศุกร์ (พระพฤหัสคุรุ จะเป็นรูปบุคคลมีเครายาว)  ตามลำดับแบบดั้งเดิมในอินเดียใต้ โดยยังไม่มีรูปสัตว์พระวาหนะ (Vāhana-Mount, Vehicle) เข้ามาประกอบร่วมอยู่ด้วย 
.
แต่คงอาจด้วยเพราะห่างไกลจากคติต้นแบบมาเป็นเวลายาวนาน ช่างในยุคเริ่มแรกของเมืองพระนคร ก็อาจได้หลงลืมหรือสับสนในคติเทพนพเคราะห์แบบดั้งเดิมที่ไม่มีรูปพระวาหนะประกอบ จึงได้มีการสร้างรูปศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นใหม่ด้วยการวางรูปสัตว์วาหนะมาใส่ให้เพิ่มเติม โดยไม่ได้คำนึงถึง “ตามลำดับวัน” แบบวัฒนธรรมอินเดีย มาเรียงลำดับแบบวางเทพนพเคราะห์สลับวันกัน แต่ยังคงรักษาตำแหน่งของพระสูริยเทพและจันทราเทพที่ด้านหน้า และพระราหูกับพระเกตุที่ด้านหลัง ตามลำดับของขนบแบบแผนเดิมจากอินเดียครับ
ทับหลังชิ้นงามจากปราสาทร่อลั่ว ศาสนสถานเพื่อการอุทิศแด่บรรพบุรุษกลางบาราย "อินทรฏะฏะกะ" นครหริหราลัย ทางตะวันออกของเมืองเสียมเรียบ ยังคงจัดวางรูปเทพนพเคราะห์ตามแบบอินเดีย แต่สลับรูปเทพเจ้ากับสัตว์พาหนะไม่เรียงตามลำดับวัน เริ่มจากทางซ้ายสุดคือ “พระสูริยะเทพ” (Surya Deva) ถือบัวขาบอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ บนรูปม้า 7 ตัว 7 สีและราชรถ กำเนิดจากพระกัศยปะเทพและนางอทิติ (บ้างก็ว่าพระศิวะสร้างขึ้นจาก ราชสีห์ทั้ง 6 (ความกล้าหาญทั้ง 6 ) พรมด้วยน้ำอมฤต  สัญลักษณ์ของความกล้าหาญ รวดเร็ว ฉับไว ซื่อสัตย์มั่นคง
.
"พระจันทราเทพ" (Chandra – Soma Deva) ประทับในเรือนแก้ว ถือบัวขาบอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ กำเนิดจากพระกัศยปะเทพและนางอทิติ (พระศิวะสร้างขึ้นจาก มิสยูนิเวิร์สทหาอัปสราทั้ง 15 (ความงามพร้อมทั้ง 15) พรมด้วยน้ำอมฤต) ทรงม้าขาวนวลดั่งสีมุกดา 10  สัญลักษณ์ของความอ่อนหวาน นุ่นนวล หลงใหลและรวนเร  
.
ลำดับ 3 คือ “พระพฤหัสปติเทพ”(Brihaspati Deva) แสดงประทานพร ทรงกวาง พระศิวะสร้างพระพฤหัสบดีขึ้นจากขึ้นจาก"ฤๅษีคุรุ ทั้ง 19) บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต  แสดงมุทราแห่ง "ครูผู้ให้/การให้ " (เราเลยต้องมากราบสักการะพระคุณครูบาอาจารย์กันในวันพฤหัสไงครับ) สัญลักษณ์แห่งปัญญาและความรู้ 
.
ลำดับที่ 4 คือ  “พระเสาร์เทพ"(Shani Deva) ที่มีจุดเด่นคือถือไม้คทายอดกลม (Danda scepter) ทรงนกกระยาง (ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามศิลปะ บ้างก็ปากสั้นแบบนกคุ้ม บ้างก็ปากยาวแบบ นกกา หรือนกกระยางซึ่งเป็นนกมงคล ประจำถิ่นของวัฒนธรรมเขมรโบราณ เกิดจากเสือบด 10 ตัวสัญลักษณ์ของความเคร่งขรึม ความกล้าได้กล้าเสียและความโศกเศร้า
ลำดับที่ 5 "พระพุธเทพ"(Budha Deva) พระศิวะสร้างพระพุธขึ้นจากขึ้นจาก"ช้างงาม" ทั้ง 17 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต ทรงช้าง แสดงมุทราถือ แท่งหลักชัย/ศิวลึงค์  สัญลักษณ์ของความสุขุมรอบครอบ การพูด การเจรจา ความสุขุม ตั้งมั่นในสติ
.
ลำดับที่ 6 "พระศุกร์เทพ" (Shukra Deva) ) หรือเทพดาววีนัส ดาวแห่งความงดงาม ในคติปรัชญาของ "ศิลปศาสตร์ ความงาม และความรื่นรมย์"  พระศิวะสร้างพระศุกร์ขึ้นจากขึ้นจาก โคงาม ทั้ง 21 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต ทรงม้า (ในศิลปะอื่นอาจทรงโค) แสดงมุทราถือ ม้วนคัมภีร์ อันหมายถึงการเป็น “พระศุกราจารย์” ทรงเป็นผู้สอน (คุรุ อาจารย์) ศิลปวิทยาการแก่เหล่ายักษ์อสูร  สัญลักษณ์ของความรัก ความสุขและความงดงาม ความสุข โชคลาภและความมั่งคั่ง
 .
ลำดับที่ 7 “พระอังคารเทพ/มังคลา”(Mangala - Mars - Angaraka Deva) หรือพระดาวคะนอง พระศิวะสร้างพระพุธขึ้นจากขึ้นจาก กระบืองามทั้ง 8 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต ถือคทาวุธ/พระขรรค์/ศัสตราวุธ (ดาบ) อันหมายถึงการทรงเป็นเทพแห่งสงครามและความขัดแย้ง บาปเคราะห์   จึงได้ทรงสัตว์อย่างแพะ ตัวแทนของความโง่เขลา ในความโมโหโกรธา หุนหันพลันแล่น ไม่มีสติยั้งคิด สัญลักษณ์ของความขัดแย้ง สงคราม และความรุนแรง
.
อันดับที่ 8 "พระราหู" (Rahu Asura) อสูรผู้กลืนกินแสงแห่งสูริยะและจันทรา จนโลกมิดมิด ทรงวิมานเมฆา พระศิวะสร้างพระราหูขึ้นจากขึ้นจาก ผีโขมด ทั้ง 12 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต เป็นรูปบุคคลมีแต่หัว แสดงมุทรามายา อันหมายถึงบาปเคราะห์ เป็นดาวแห่งอุปสรรค ความท้อแท้ ความลุ่มหลงมัวเมาในอวิชชา นำไปสู่ความหายนะและอุปสรรค ทรงเป็นคราสพระจันทร์ในข้างขึ้น หรือโหนดขึ้น (Ascending node /North Lunar Node) ในฝั่งทิศเหนือ 
.
อันดับสุดท้ายทางขวาสุดคือ "พระเกตุ-ดาวหาง"(Kethu Asura) พระศิวะสร้างพระเกตุขึ้นจากขึ้นจาก นาค ทั้ง 9 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต เป็นรูปบุคคลมีแต่หัว แสดงมุทราถืออาวุธโค้ง (คล้ายบูมเบอแรง) เป็นอสูรผู้มีหางอย่างนาคา บ้างก็ว่า พระเกตุเกิดขึ้นมาจากหางของพระราหูที่ถูกตัดขาดในคราวขโมยดื่มน้ำอมฤต จึงไม่มีรูปกายที่เต็มตัว ไม่สามารถเป็นเพผู้เสวยอายุของมนุษย์ได้โดยตรง แล้วด้วยเพราะเกิดจากหางของพระราหู พระเกตุจึงถือเป็นผู้กลืนกินพระจันทร์ในข้างแรม - โหนดลง (Descending Node) รูปร่างของพระจันทร์จึงมีทั้งโค้งเข้าและโค้งออก ในอินเดีย รูปลักษณ์ของพระเกตุจะเป็นบุคคลหางยาวหัวมีนาคแผ่พังพาน บ้างก็ให้พระเกตุทรงนกอินทรี ในคติแบบไทยจะทำรูปให้พระเกตุทรงนาค (แบบเดียวกับพระพิรุณ) แต่ในรูปแบบของศิลปะเขมรโบราณ กลับนิยมสลักทำเป็นรูปของอสูรขี่ราชสีห์ผู้มีอำนาจแทน 
*** ผู้ศรัทธาในคติเทพนพเคราะห์ จะนิยมสักการบูชาพระคเณศก่อน ด้วยเพราะที่เป็นประธาน (คณปติ) แห่งดวงดาวที่คอยปกป้องและขจัดอุปสรรคไปจากชีวิตของมนุษย์ อันมาจากดวงดาวบาปเคราะห์ที่เป็นดาวเสวยอายุของมนุษย์ในกลุ่มเทพนพเคราะห์นี่เองครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น