วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู๒

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ศาสนาพราหมณ์ฮินดูในดินแดนสุวรรณภูมิ
            สมัยก่อนรัตนโกสินทร์  ศาสนาพราหมณ์ฮินดู ได้เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ก่อนสมัยทวารวดี คัมภีร์ชาดกในพระพุทธศาสนาเช่นพระมหาชนก คัมภีร์รามายณะก็กล่าวถึงดินแดนในสุวรรณภูมิ และสุวรรณทวีปไว้
            เมื่อปี พ.ศ.๓๐๓ คณาจารย์พราหมณ์ที่ติดตามพระโสณะเถระกับพระอุตรเถระ ศาสนทูตของพระเจ้าอโศก ฯ เข้ามายังสุวรรณภูมิ จุดแรกที่ทั้งสององค์มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาคือ นครปฐม ตอนนี้นับเป็นยุคแรก ๆ ของพราหมณ์ในประเทศไทย ประจักษ์พยานในการเผยแพร่ศาสนาพราหมณ์ คือ ปฏิมากรรม และปูชนียวัตถุของศาสนาเช่นเทวรูป เทวาลัย พบที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี ที่ตำบลพงตึก
            โบราณวัตถุของพราหมณ์ดังกล่าวมักจะพบคู่กับปฏิมากรรมในพระพุทธศาสนาเช่น เมื่อพบพระพุทธรูป พระเจดีย์ หรือพระปรางค์ ณ ที่ใดก็มักจะพบเทวรูป และเทวสถานของพราหมณ์ พร้อมกับวัตถุทางศาสนา เช่น เสาชิงช้า เป็นต้น ณ  ที่นั้นด้วยเสมอ
            ประมาณปี พ.ศ.๑๘๐๐ พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้แพร่จากอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งมั่นอยู่ที่สุโขทัย พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ทรงเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาก ในขณะเดียวกันก็ทรงเอาธุระในศาสนาพราหมณ์ฮินดูด้วย ในราชสำนักมีพราหมณ์ พระศรีมโหสถ พระมหาราชครู เป็นปุโรหิต ถวายความรู้วิทยาการของนักรบและวิทยาการของกษัตริย์ มีการประกอบพิธีกรรมตามพระเวท อันสืบเนื่องมาเป็นพระราชพิธีจนถึงปัจจุบัน
            บรรดาพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเบีดเบียนชีวิตมนุษย์ และสัตว์ที่เรียกว่า ยัญกรรมนั้น คณาจารย์พราหมณ์ในพระราชอาณาจักรไทยได้เลิกไปหมดสิ้น เพราะขัดกับพื้นฐานของสังคมชาวพุทธ คงเหลือแต่การประกอบพิธีสาธยายพระเวท สร้างมงคล ล้างอัปมงคล ดำเนินงานทางศาสนาคู่ไปกับพระพุทธศาสนา อีกทั้งคณาจารย์พราหมณ์ได้เป็นอุบาสก ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เจริญรอยตามพระยุคลบาท พระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่โบราณกาล ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมีคำว่าพุทธกับไสย อิงอาศัยกัน ปัจจุบันมีพิธีกรรมพราหมณ์บางอย่างก็มีพุทธเจือปนเช่น มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ท้ายพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปาวาย เป็นต้น เรื่องของพุทธก็มีพราหมณ์แทรกเช่น การเดินประทักษิณรอบวัตถุสถานมงคล การจุมเจิมลูกนิมิตร การรดน้ำสังข์ให้เจ้านาค การเบิกพระเนตรพระพุทธปฏิมา เป็นต้น
            ในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในพระราชอาณาจักรไทยตามลัทธิลังกาวงศ์นับว่าเป็นยุคที่สองของพราหมณ์ในไทย ยุคนี้ห่างจากยุคแรกประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ได้ปรากฎปูชนียวัตถุในศาสนาพราหมณ์ ในหลาย ๆ ที่ขุดพบในอาณาจักรสุโขทัยรวมทั้งจารึกพระเวทในศาสนาพราหมณ์อีกเป็นจำนวนมาก

                พราหมณ์ในพระราชอาณาจักรไทย  อาจกล่าวได้ว่าเป็นพราหมณ์สมัยพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าที่ตั้งของศาสนพิธีของพราหมณ์ และของพุทธที่สำรวจพบในพระราชอาณาจักรไทย มักจะมีเทวรูป ปฏิมากรรมในพระพุทธศาสนาอยู่ในสถานที่เดียวกันเสมอ
                จากตำนานและข้อสันนิษฐานต่าง ๆ จะเห็นว่าบรรดาวิชาการต่าง ๆ ที่ได้ศึกษากันมาในสมัยพันกว่าปีมานี้ได้อาศัยวิชาในแขนงอุปเวท อาถรรพเวท เป็นส่วนมากเช่น อายุรเวทว่าด้วยทางเภสัช การปรุงยาและการแพทย์ทุกแขนง นิติเวทว่าด้วยการปกครองกฎหมายจะเขียนแบบแผนของบ้านเมืองเป็นต้น ตลอดจนวรรณคดีเช่น หนังสือเรื่องสมุทโฆษคำฉันท์ ฉบับที่พระมหาราชครูแต่ง และหนังสือจินดามณี ต้นตำราเรียนภาษาไทยซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้พระยาโหราธิบดี (พราหมณ์) แต่งเอาไว้เพื่อใช้สอนกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น ดังนั้นในสมัยก่อนที่ปรึกษาราชการงานเมืองจึงมีพราหมณ์ปุโรหิตอยู่ด้วยเสมอ เพราะโดยตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนวิชาการต่าง ๆ ด้วย
                ตระกูลของพราหมณ์ ที่เข้ามาในพระราชอาณาจักรไทยมีอยู่มากมาย ตัวอย่างตระกูลพราหมณ์สำคัญครั้งสมัยอยุธยาคือ
                    พราหมณ์ศิริวัฒนะ ได้เป็นพระมหาราชครู พระราชปุโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงส์วงศ์บริโสดม พราหมณ์ทิชาจารย์ พระมหาราชครู ได้มีลูกหลานให้กำเนิดสกุลสำคัญ ๆ สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ อันเป็นต้นตระกูลทองอิน อินทรพล นรินทรกุล สิงหเสนี จันทรโรจนวงค์ ชัชกุล ภูมิรัตน์ บูรณศิริ สุจริตกุล ศิริวัฒนกุล
                หน้าที่ของพราหมณ์  แบ่งออกได้เป็นพราหมณ์โหรดาจารย์ ผู้บูชาในลัทธิหราหมณ์  อุทาคาดา ผู้สวดขับดุษฎีสังเวย และพราหมณ์อัชวรรย ผู้จัดทำพิธีในลัทธิ

            สมัยรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พราหมณ์จากปักษ์ใต้ขึ้นมารับสนองพระบรมราชโองการเป็นพราหมณ์ประจำราชสำนัก ปฏิบัติพระราชพิธีสำหรับพระองค์ และพระราชอาณาจักร โดยให้ประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย โล้ชิงช้า ซึ่งเป็นการขอพรจากพระอิศวร เพื่อให้พระนครมั่นคง แข็งแรง และมีความอุดมสมบูรณ์
            พรหมณ์ได้ปฎิบัติทางราชพิธีต่อมาทุกรัชกาล จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ในกระทรวงวัง
            ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พราหมณ์ปฏิบัติพระราชพิธีสำหรับพระองค์และประเทศชาติต่อไป โดยให้ขึ้นตรงต่อสำนักพระราชวัง และปฏิบัติศาสนกิจที่เทวสถาน สำหรับพระนครข้างวัดสุทัศนเทพวราราม เสาชิงช้า กรุงเทพ ฯ
                ตำแหน่งพราหมณ์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  มีอยู่หลายตำแหน่งด้วยกันคือ
                    พระมหาราชครู พระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดี    นา ๑๐,๐๐๐
                    พระราชครู พระครูพิเชดษรราชธิบดีศรีษรคม    นา ๕,๐๐๐
                    พระธรรมสาตรราชโหรดาจารย์ ปลัดมหิธร    นา ๓,๐๐๐
                    พระอัฐยาปรีชาธิบดีโหระดาจารย์ ปลัดพระครูพิเชด    นา ๓,๐๐๐
                    พระญาณประภาษอธิบดีโหระดาจารย์    นา ๓,๐๐๐
                    ขุนไชยอาญามหาวิสุทธิปรีชาจารย์    นาคล ๑,๕๐๐
                    ขุนจินดาพิรมยพรมเทพวิสุทธิวรษาจารย์    นาดล ๑,๕๐๐
                    พระมหาราชครู พระราชประโรหิตาจารย์ ราชสุภาวดี ฯ    นา ๑๐,๐๐๐
                    พระราชครู พระครูพิราม ราชสุภาวดี ฯ    นา ๕,๐๐๐
                    พระเทพราชธาดาบดีศรีวาสุเทพ  ปลัดพระราชครูปุโรหิต      นา  ๓,๐๐๐
                    พระจักปานีศรีสัจวิสุทธิ ปลัดพระครูพิราม    นา  ๓,๐๐๐
                    พระเกษมราชสุภาวดี ศรีมณธาดูลราช เจ้ากรมแพ่งกระเษม    นา  ๓,๐๐๐
                    ขุนสุภาเทพ ๑ ขุนสภาสภาพาน ๑  ปลัดนั่งศาล    นาดล  ๔๐๐
                    ขุนหลวงพระไกรศรี ราชสุภาวดี ฯ  เจ้ากรมแพ่งกลาง    นา   ๓,๐๐๐
                    ขุนราชสุภา ๑ ขุนสภาไชย ๑  ปลัดนั่งศาล    นาดล  ๔๐๐
                    พระครูราชพิทธี จางวาง    นา  ๑,๐๐๐
                    พระครูอัศฎาจารย์ เจ้ากรม    นา  ๘๐๐
                    หลวงราชมณี ปลัดกรม    นา  ๖๐๐
                    ขุนพรมไสมย ครูโล้ชิงช้า    นา  ๔๐๐
                    ขุนธรรมณะรายสมุบาญชีย    นา ๓๐๐
                    ขุนในกรม นา ๓๐๐ หมื่นในกรม นา ๒๐๐  พราหมเลวรักษาเทวาสถาน    นาดล  ๕๐
                    พระอิศวาธิบดี ศรีสิทธิพฤทธิบาท จางวาง    นา  ๑,๐๐๐
                    ขุนในกรมพฤทธิบาท  นา ๓๐๐  หมื่นในกรมพฤทธิบาท  นา ๒๐๐
                    ประแดงราชมณี    นา  ๒๐๐
            ในปี พ.ศ.๒๔๒๒  ศาสนิกพราหมณ์จากทางภาคใต้ของอินเดียที่อยู่ในไทย ได้ร่วมกันจัดสร้างศาลาเล็ก ๆ สำหรับประดิษฐานเทวรูปพระแม่อุมาเทวีไว้เคารพบูชา  ต่อมาเมื่อจำนวนศาสนิกชนมีมากขึ้น จึงได้ไปสร้างวัดวังวิษณุ โดยศาสนิกชนพราหมณ์อุตตรประเทศได้ร่วมกันสร้างขึ้น

            ศาสนิกชนชาวปัญจาบ  แบ่งออกเป็นสองพวกคือ ซิกข์ และพราหมณ์ฮินดู ได้ใช้สถานที่ร่วมกันปฎิบัติศาสนกิจ ที่บ้านบริเวณหลังวังบูรพา  เมื่อมีจำนวนคนมากขึ้นจึงแยกกัน โดยศาสนิกชนพราหมณ์ฮินดู ได้ไปสร้างฮินดูสมาช ที่บริเวณใกล้เสาชิงช้า ต่อมาชาวภารตได้รวบรวมกันจัดตั้งสถาบันขึ้น พร้อมกับสมาคมฮินดูธรรมสภา เรียกว่า อารยสมาช เป็นพราหมณ์ฮินดูที่ถือธรรมะเป็นศาสดา ไม่บูชานับถือรูปเคารพใด ๆ
            ศาสนสถาน
                เทวสถานสำหรับพระนคร  ตั้งอยู่ที่ถนนบ้านดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗   โดยสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสามหลัง มีกำแพงล้อมรอบคือ
                    สถานพระอิศวร   เป็นโบสถ์ถือปูนไม่มีลาย หรือภาพเขียนใด ๆ สร้างแบบเรียบง่าย ภายในมีเทวรูปพระอิศวร เป็นเทวรูปประธาน ขนาดเท่าคนธรรมดาอยู่ในท่าประทับยืน เป็นปางประทานพร อยู่บนเบญจา  และยังมีเทวรูปอื่น ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก  ได้แก่  พระพิฆคเณศวร พระนางอุมา  พระอิศวรปางนาฎราช พระนางราธา พระกฤษณะ พระฤษีไกลอโกฎิ พระปัญจมุข พระเทวบิดร พระนารายณ์ พระนางลักษมี พระพรหมา พระอิศวรทรงโค ชาวบ้านเรียกโบสถ์หลังนี้ว่า โบสถ์ใหญ่
                    สถานพระพิฆเนศวร   มีขนาดเล็กกว่าสถานพระอิศวร มีพระพิฆเนศวรเป็นประธาน องค์ใหญ่และองค์เล็ก รองลงมาอีก ๔ - ๕ องค์  ไม่มีเทวรูปอื่น ๆ เลย  ชาวบ้านเรียก โบสถ์กลาง
                    สถานพระนารายณ์   มีขนาดเท่าสถานพระพิฆเนศวร มีพระนารายณ์เป็นประธาน พร้อมด้วยพระนางลักษมี และพระนางมเหศวรี  ทั้งสามเทวรูปประทับอยู่ภภายในบุษบกองค์ละหลัง ชาวบ้านเรียก โบสถ์ริม
                เสาชิงช้า  สร้างขึ้นพร้อมเทวสถาน อยู่บริเวณหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย  ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๗  เป็นต้นมา  จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๖ จึงยกเลิก ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้เลิกกรมพิธีพราหมณ์ พิธีโล้ชิงช้าจึงงดไป แต่พรหมณ์ยังคงทำพิธีตรียัมปวายอยู่  โดยทำอยู่ภายในเทวสถานเท่านั้น และอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์
                การปฎิสังขรณ์เสาชิงช้า ครั้งแรกทำเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓  โดยบริษัทหลุยตีลี โอโนเวนส์ จำกัด  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๐   เกิดไฟไหม้เสาชิงช้า เนื่องจากไฟจากธูปได้ตกลงไปในรอยแตก รัฐบาลครั้งนั้นดำริจะรื้อ แต่เมื่อมีเสียงไม่เห็นด้วยจึงได้ระงับไว้ และมีคำสั่งให้เทศบาลนครกรุงเทพ ซ่อมกระจังไว้ชั่วคราว  ได้มีการเปลี่ยนเสาใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓
                วัดพระศรีอุมาเทวี   ตั้งอยู่ที่ถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ ฯ คณะชาวอินเดียเผ่าทมิฬ จากอินเดียภาคใต้ สร้างขึ้นเมื่อร้อยปีเศษมาแล้ว  องค์เทพ และเทพีต่าง ๆ ได้มาจากประเทศอินเดีย
                เริ่มด้วยการสร้างศาลาเจ้าแม่ศรีมหาอุมาเทวี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๒  เดิมชื่อว่า ศาลาศรีมารีอัมมัน  เป็นที่เคารพบูชาของชาวอินเดีย ชาวไทย และชาวจีนในสมัยนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๔  ชาวอินเดียทมิฬที่ได้ตั้งรกรากอยู่ย่านสีลม ได้พร้อมใจกันสร้างเทวาลัยขึ้น และนำองค์เจ้าแม่มาประดิษฐานเป็นเทวรูปประธาน จากนั้นได้นำเทวรูปต่าง ๆ มาจากอินเดีย มาประดิษฐานไว้ด้วย ชาวบ้านได้ขนานนามวัดนี้ว่า วัดแขกสีลม มีการจัดงานเทศกาลประจำปีนับแต่นั้นมา
                ในปี พ.ศ.๒๔๙๘  คณะกรรมการและบรรดาสานุศิษย์ ได้พร้อมใจกันสร้างพระพุทธศรีชินราช ประดิษฐานไว้ภายในเทวาลัย ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อชินราชวัดแขก
                ในปี พ.ศ.๒๕๑๑  ได้มีการอัญเชิญเทวรูปพระอิศวร มาประดิษฐาน ณ บริเวณลานหน้าวัด  และจัดให้มีการเวียนเทียนขึ้นในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  และตามแต่โอกาสอันสมควร
                ในปี พ.ศ.๒๕๑๗   ได้มีการซ่อมแซมปฎิสังขรณ์  และสร้างอาคารหลังใหม่คือ เทวศาลา พร้อมทั้งตบแต่งสถานที่ ขยายบริเวณให้สง่างาม น่ารื่นรมย์กว่าเดิมดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
                ศิลปการก่อสร้างเทวสถาน ในยุคก่อนถึงยุคปัจจุบันได้สร้างตามแบบสกุลศิลปเผ่าฑราวิท  อันสืบเนื่องกันมานับแต่สมัยปาลวะ  และโจฬะ  วัดนี้จึงมีลักษณะคล้ายกับเทวาลัยมหาวิมาน  แห่งเมืองทันจอร์  มหาเทวาลัยโคปรา แห่งเมืองมตุรา  และเทวาลัยจิตตัมภาลัม แห่งเมืองไบราปุระ เป็นต้น
                วัดวิษณุ และสมาคมฮินดูสภา  ตั้งอยู่ที่ซอยวัดปรก แขวงทุ่งวัดดอน  เขตยานนาวา กรุงเทพ ฯ  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓  โดยชาวอุตตรประเทศจากอินเดีย  ในโครงการของสมาคมฮินดูธรรมสภา ซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘  มีการนำเทวรูปต่าง ๆ มาจากประเทศอินเดียมาประดิษฐานในวัด จัดให้มีสุสานฮินดู  เพื่อดำเนินพิธีการฌาปนกิจศพของชาวพราหมณ์ฮินดู ชาวซิกข์  และชาวนามธารี ในโบสถ์ใหญ่ มีเทวรูปต่าง ๆ เพื่อสักการะบูชาดังนี้
                ตอนกลางมีรูปพระราม นางสีดา พระพรต พระลักษมัน พระศัตรุฆน์ หนุมาน ศิวลึงค์ จากแม่น้ำนรมทา พระศาลิคราม จากแม่น้ำนารายณ์
                ข้างขวามีรูปพระรามทุรดา ข้างซ้ายมีรูปพระนารายณ์ พระแม่ลักษมี พระศิวะ พระแม่ปารพดี พระพิฆเนศวร พระกฤษณะ และพระนาราธา เป็นต้น
                หน้าพระราม (ติดกับเสา) ข้างขวาหนุมาน และพระคเณศ
                นอกมณฑปด้านขวา มีรูปพระพุทธเจ้าปางต่าง ๆ และข้างซ้ายมีพระคัมภีร์พระเวท
                ในบริเวณวัดวิษณุ มีโบสถ์ย่อยคือ โบสถ์พระแม่ทุรคา โบสถ์พระศิวลึงค์ โบสถ์ศิวนาฎราช และโบสถ์หนุมาน
                สมาคมอารยสมาช  ตั้งอยู่ที่ซอยดอนกุศล ๓ แขวงทุ่งวัดดอน เขตยานนาวา ติดกับฮินดูธรรมสถา อารยสมาชนับถือคัมภีร์พระเวทเป็นองค์บูชาสักการะ มีสวามีทยานันท์เป็นองค์ปรมาจารย์ ผู้ให้กำเนิดลัทธินี้
                คีตา อาศรมแห่งประเทศไทย  ตั้งอยู่ที่ซอยพร้อมศรี ถนนสุขุมวิท กรุงเทพ ฯ ถือว่าพระกฤษณะ เป็นใหญ่ พระคัมภีร์ศรีมท ภควท คีตา ถือเป็นหลักในการปฏิบัติ
                สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมพราหมณ์ - ฮินดู  ตั้งอยู่ที่ซอยสมประสงค์ ถนนเพชรบุรี กรุงเทพ ฯ  เผยแพร่พระธรรมโดยสังคีต และนาฎศิลป์ตามคติของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู
                สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดู
                    สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดู  ตั้งอยู่ที่ซอยสมประสงค์ ถนนเพชรบุรี กรุงเทพ ฯ  เผยแพร่พระธรรมโดยสังคีตและนาฎศิลป์ ตามคติของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู
                    อาศรมวัฒนธรรมไทย - ภารต  แผนกสอนลัทธิโยคะ มีสมาชิกผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ ผู้สอนโยคะขึ้นกับศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู เป็นส่วนมาก
                สมาคมฮินดูสมาช  ตั้งอยู่ที่ถนนศิริพงษ์ เสาชิงช้า กรุงเทพ ฯ ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ ในชื่อฮินดูสภา และได้เปลี่ยนเป็นฮินดูสมาช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ โดยหลักใหญ่ของสมาคมจะยึดมั่นอยู่กับคำสอนของศาสนาพราหมณ์ฮินดู กิจกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของสมาคมซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติในตอนต้น คือนัดชุมนุมกันในเวลากลางคืนของทุกวันจันทร์ นอกจากสวดมนต์และขับร้องเพลงถวายพระเจ้าแล้วก็มีการอ่าน และบรรยายความหมายของคำสอนในคัมภีร์ภควัทคีตา บางครั้งก็มีการอ่านบทความว่า ด้วยเรื่องราวทางศาสนา หรือวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิวิทยาคุณจากประเทศอินเดียมาแสดงปาฐกถาให้ผู้ชุมนุมฟัง พร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วย
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้มีการตั้งโรงเรียนภารตวิทยาลัย มีการสอนภาษาฮินดี และภาษาอังกฤษ ให้เยาวชนอินเดียเป็นพิเศษในเวลากลางคืน

                    โบสถ์เทพมณเฑียร  มีเทววรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ด้วยกัน ดังนี้
                        - พระนารายณ์ และพระแม่ลักษมี (พระวิษณุ และพระลักษมี) เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ สัญลักษณ์แห่งการรักษาความดี และต่อสู้อธรรม ถือว่าเป็นผู้ปกครองและบริหารโลก เป็นเจ้าแห่งโมกษะ ส่วนพระแม่ลักษมีได้ชื่อว่าเป็นเทวีแห่งโชคลาภ
                        - พระราม และภควดีสีดา (พระราม และพระแม่สีดา) พระรามเป็นอวตารปางที่เจ็ดของพระนารายณ์ สัญลักษณ์แห่งการพัฒนาการของสังคม ศาสนา การเมือง และให้แสงสว่างแก่มนุษยโลก
                        - พระกฤษณะและพระนางราธา  พระกฤษณะเป็นอวตารปางที่แปดของพระนารายณ์ สัญลักษณ์แห่งการรักษาต่อสู้อธรรม สิ่งที่มอบให้แก่มนุษยโลกคือ คัมภีร์ภควัตคีตา มีว่าเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เมื่อรับหน้าที่อันใดแล้วควรจะปฏิบัติอย่างจริงจัง และความซื่อสัตย์อีกประการหนึ่งคือเรื่องหลัก กรรมโยค คือ ผลแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
                        - พระพุทธเจ้า  ชาวพราหมณ์ฮินดูถือว่าเป็นอวตารปางที่เก้าของพระนารายณ์ สัญลักษณ์แห่งความไม่เบียดเบียน (อหิงสา) ด้วยแสงสว่างแห่งสันติ ความรัก ความนับถือ และทำลายความโง่เขลา โดยให้แสงสว่างใหม่ที่เรียกว่า กรรมโยค คือผลแห่งกรรม
                        - พระศิวะ (พระอิศวร)  เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย สิ่งใดที่มากเกินหรือล้นเหลือเกินไปก็จะถูกขจัดให้มีความพอดี นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่า เป็นเทพเจ้าแห่งศิลป และการฟ้อนรำเรียกว่านาฎราช
                        - พระแม่ทุรคา  สัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งและความมีอำนาจสำหรับทำลายอธรรม เป็นอวตารของเจ้าแม่อุมา การนับถือบูชาเช่นเดียวกับเจ้าแม่กาลี จัณฑี และไวษณวี
                        - พระพิฆเนศวร (พระคเณศ)  เป็นโอรสของพระอิศวรและพระแม่อุมา ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ ความสำเร็จ และเจ้าแห่งศิลป เมื่อมีการบูชาต้องทำการบูชาเป็นลำดับแรก
                        - พระหนุมาน  เป็นอวตารของพระศิวะ เพื่อคุ้มครองดูแลพระราม
                        - พระแม่สตี (รานีสตีเทวี)  เป็นพระแม่เทวีที่ทำความดี แสดงความจงรักภักดีต่อสามีโดยเผาพระองค์ตามสามีของท่าน 

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ