“เขาพระนารายณ์-เขาศรีวิชัย” เขาศักดิ์สิทธิ์แห่งศรีโพธิ-ศรีวิชัย
เมื่อผู้คนหลากหลายจากแผ่นดินโพ้นทะเลเดินทางข้ามมหาสมุทรอินเดียมายัง “อินเดียน้อย” ดินแดน “คาบสมุทรมาลายู” (Malay Peninsula) “สุวรรณทวีป” (Suvarṇadvīpa) และ “ยวาทวีป” (Yavadvīpa) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามกระบวนการ “อินเดีย-ภารตะภิวัฒน์” (Indianization) ได้เรียกขานชื่อนามดินแดนนี้ว่า “ไครเส เคอโซเนอโซส” (Chrysḗ Chersónēsos - Chryse Chersonese) ในภาษากรีก ที่หมายถึง “ดินแดนแห่งทองคำทางตะวันออก” และชื่อนาม “สุวรรณภูมิ” (Suvaṇṇabhūmi) หรือ “สุวรรณทวีป” (Suvarṇadvīpa ) จากคัมภีร์ปุราณะหลายฉบับของฮินดู มหากาพย์รามายณะ คัมภีร์ของศาสนาเชน วรรณกรรมในพุทธศาสนาเรื่อง มิลินทปัญหาและพระมหาชนกชาดก
.
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 – 9 ยุค “ราชวงศ์อิกษวากุ” (Ikshvaku Dynasty) ผู้ปกครองแคว้น “อานธระประเทศ” (Andhra pradesh) อินเดียใต้ตอนบน ได้ส่งเสริมให้มีการค้าทางทะเล เดินทางข้ามมายังสุวรรณทวีป เพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้า นำเข้าทรัพยากรและความมั่งคั่งจากสุวรรณทวีปกลับมาสู่แผ่นดินแม่ เหล่านักสำรวจและพ่อค้าวาณิชผู้เชี่ยวชาญ อาจได้ค้นพบเส้นข้ามคาบสมุทรที่เหมาะสมกับอิทธิพลของกลุ่มการค้าราชสำนักอิกษวากุเป็นครั้งแรก ๆ จากเมืองท่าสถานีการค้าชายฝั่งทะเลอันดามันที่เกาะพระทอง หรือ “ตักโกลา” (Takola) ชื่อนามแรกของเมืองท่าสุวรรณภูมิ-ไครเส เคอโซเนอโซส ในจดหมายเหตุภูมิศาสตร์ของ “คลอดิอุส ปโตเลมี” (Claudius Ptolemy’s Geography) ที่เขียนขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 8 และนามกลุ่มนคร “เมวิลิมบันกัม” (MeviỊmbaṅgam) ที่ปรากฏนามใน "จารึกตัณจาวูร์" (Thanjavur Inscription) ครับ
.
“เส้นทางข้ามคาบสมุทรเขาสก” ข้ามสันปันน้ำเข้าสู่คลองพระแสง ลำน้ำพุมตวง ลงไปสู่เครือข่ายทางน้ำปากแม่น้ำตาปี-ลำน้ำพุนพิน ลงสู่อ่าวบ้านดอน ที่อาจหมายถึงกลุ่มนคร “ศรีวิชัย” (Śri-Vijaya - Shih-li-fo-shih) ที่ปรากฏนามในจารึกตัณจาวูร์ และ ศรีวิชัยในจารึกเสมาเมือง (หลักที่ 23) จึงได้กลายมาเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ได้รับความนิยม เพราะมีระยะทางข้ามไปสู่อ่าวบ้านดอนไม่ไกลนักและเดินทางสะดวกกว่าเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น ๆ
.
ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 9 ได้เริ่มมีการนำรูปประติมากรรมในคติความเชื่อทางศาสนายุคแรก ๆ จากอานธระประเทศ ขนย้ายติดตัวเข้ามาบนคาบสมุทรเป็นช่วงแรก เป็นรูปประติมากรรมพระวาสุเทพกฤษณะในนิกายภาควัต ลัทธิไวษณพ ที่นิยมในราชวงศ์คุปตะ มาจนถึงในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 10 เมื่อ “ราชวงศ์ปัลลวะ” (Pallava Dynasty) เข้าปกครองแคว้นอานธระประเทศ ก็ยังคงดำเนินนโนบายการค้าทางทะเลเชื่อมโยงโลกให้กว้างไกลขึ้นกว่าแต่ก่อน การค้าทางทะเลขยายตัวลึกเข้ามาภายในภูมิภาคไกลออกไปมากขึ้นกว่าเดิม เกิดเส้นทางการค้าและเมืองเริ่มแรกที่เคยเป็นชุมทางการค้า/ตลาดบนเส้นทางบก ในช่วงนี้ได้มีการนำรูปประติมากรรมพระวิษณุตามคติไวษณพนิกาย เข้ามาสู่สุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก ๆ ครับ
.
อิทธิพลการค้าตามเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากตักโกลา-เขาสก-บ้านดอน คติฮินดูทั้งไวษณพนิกาย(Vaishnavism –Vishnuism) และความเชื่อเรื่องเขาไกรลาสขององค์พระศิวะของฝ่ายไศวะนิกาย (Shaivism) ที่กำลังได้รับความนิยมในยุคแรกของราชวงศ์ปัลลวะ-อินเดียใต้ ผู้คนและนักบวชบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรจึงได้เลือกภูเขาโดดลูกหนึ่งที่ยาวขนานไปตามลำน้ำพุนพิน เป็นภูเขาลูกสุดท้ายทางตะวันออกที่ตั้งอยู่ใกล้กับแนวชายฝั่งมากที่สุด มีความสูงพอจะเป็น “จุดสังเกตสำคัญ” (Land Mark) บนเส้นทางการค้าที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลเมื่อเดินทางล่องเข้ามาจากชายฝั่งอ่าวบ้านดอนในยุคโบราณ
.
ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 11 จึงได้เริ่มมีการสร้างเทวาลัยในคติฮินดูไศวะนิกายบนแนวสันเขาศรีวิชัยขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณโบราณสถานหมายเลข 1 (ทางตะวันตกสุด) หมายเลข 2 (ตะพักเนินถัดขึ้นมา) และโบราณสถานหมายเลข 3 ดังปรากฏร่องรอยของการใช้หินสลักเป็นกรอบวงกบประตูและส่วนรับน้ำหนัก รูปประติมากรรมฐานโยนี-ศิวลึงค์ และเตาอิฐรูปวงกลมเพื่อการบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์ของนักบวชพราหมณ์ครับ
.
ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ราชสำนักของพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 1 (Narasimhavarman 1) แห่งราชวงศ์ ปัลลวะหันมาให้ความนิยมในคติไวษณพนิกาย ภายหลังจากที่พระองค์ได้รับชัยชนะเหนืออาณาจักรจาลุกยะ (Chalukya) ในช่วงใกล้เคียงกันนี้ จึงอาจได้มีการสร้างเทวาลัยเพิ่มขึ้นบนสันเขาศรีวิชัย (ซึ่งอาจเป็นโบราณสถานหมายเลข 6 และ หมายเลข 17) เพื่อประดิษฐานรูปพระวิษณุจตุรภุช 4 พระกร สวมหมวกกระบอกกิรีฏมุกุฎไม่มีลวดลาย นุ่งผ้าโธฏียาวและคาดผ้ากฏิสูตรเป็นเส้นตรงและเส้นเฉียงตัด และรูปประติมากรรมตามแบบศิลปะราชวงศ์ปัลลวะขึ้นจำนวนหนึ่ง
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 อิทธิพลของงานพุทธศิลป์ตามคติความเชื่อของนิกายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) จากราชวงศ์จาลุกยะ (Early Chalukya Dynasty) ในแคว้นอานธระประเทศ พุทธศาสนาในนิกาย “วัชรยาน” (Vajrayāna) “มหายานตันตระ” (Mahāyāna –Tantra) รวมทั้งอิทธิพลทางการเมือง-การค้าเศรษฐกิจของ “ราชวงศ์ปาละ” (Pala Dynasty) ในแคว้นพิหาร – เบงกอล (อินเดียเหนือ-ตะวันออก) ได้เข้ามาสู่ภูมิภาคคาบสมุทรยวาทวีปอย่างสมบูรณ์ ขยายอิทธิพลทางการเมืองและคติความเชื่อลงมายังหมู่เกาะทางใต้จากสุมาตราไปจนถึงเกาะชวา ที่เคยอยู่ในอิทธิพลของกลุ่มราชวงศ์สัญชัย (Sanjaya) ที่นิยมคติฮินดูในยุคก่อนหน้า เกิดเป็นกลุ่มนครรัฐศรีวิชัย–ศรีโพธิ์ขึ้นครั้งแรก ตามเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรเขาสกที่สถานีการค้าในกลุ่มอ่าวบ้านดอน ภายใต้การปกครองของ “ราชวงศ์ไศเลนทรา” (Śailendra Dynasty) ดังที่ปรากฏพระนาม “...พระเจ้าศรีมหาราชา ....พระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งกรุงศรีวิชัย ผู้อยู่เหนือเหล่าพระราชาของแคว้นโดยรอบทั้งหมดบนพื้นพิภพ...” ในจารึกเสมาเมืองช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ครับ
.
------------------------------
*** ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ความนิยมในคติฮินดูบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรเขาสกคงได้ลดน้อยลง คติมหายาน-วัชรยานและงานศิลปะทางความเชื่อจากกลุ่มอำนาจราชวงศ์ปาละ – ศรีวิชัย ได้เข้ามาควบคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทรทั้งหมด ในช่วงนี้คงได้มีการสร้างหมู่พระอาราม-สังฆารามขึ้นบนสันเขาศรีวิชัยอีกหลายแห่ง โดยเริ่มต้นจากโบราณสถานหมายเลข 4 และ 5 บนยอดเขา ในคติความหมาย “เขาพระสุเมรุ” ที่สถิตของพระพุทธเจ้ามหาไวโรจนะ (Mahāvairocana) ศูนย์กลางของมณฑลจักรวาลมันดารา-มัณฑละ (Mandala Universe) หรือ “พุทธเกษตร” (Buddha Kaset) ตามคติของฝ่ายมหายานแทนที่คติเขาไกรลาสของฝ่ายฮินดูเดิม มีการสร้างจันทิ (Candi) หรือ “กุฎี” รูปทรงปราสาทหลังเดี่ยว แผนผังรูปกากบาท ตั้งบนฐานประทักษิณแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรือนธาตุเป็นมีผังรูปกล่องสี่เหลี่ยม (Cella) ขนาดไม่ใหญ่นัก ก่อด้วยอิฐ ตามสถาปัตยกรรมนิยมของราชวงศ์ไศเลนทราขึ้นหลายแห่ง
.
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 จึงได้มีการสร้างจันทิทรงปราสาทก่ออิฐขนาดใหญ่ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นออกมาทำเป็นบันไดทางขึ้นที่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเพียงด้านเดียว (โบราณสถานหมายเลข 7 ) ที่บริเวณสันเขาทางเหนือสุด มีอาคารมุงเครื่องไม้ล้อมรอบ ทำบันไดตรงบริเวณชั้นตระพักเชื่อมต่อลงไปยังลานกลุ่มอาคารสังฆารามหน้าเขา (โบราณสถานหมายเลข 20 – 21) ครับ
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 ศูนย์กลางราชสำนักไศเลนทราเริ่มย้ายไปอยู่บนเกาะชวา การค้าทางทะเลได้เปลี่ยนไปยังช่องแคบมะละกา เส้นทางข้ามคาบสมุทรทางบกเริ่มลดความนิยมลง แต่ก็ปรากฏการสร้างอาคารศาสนสถานขนาดเล็กเพิ่มขึ้นที่เชิงเขาด้านตะวันตก (โบราณสถานหมายเลข 12 และ 13) และกลุ่มเชิงเขาทางตะวันออก (โบราณสถานหมายเลข 15 16 และ 18) ตามความนิยมในคติวัชรยาน-ตันตระ
.
---------------------------
*** ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ราชสำนักไศเลนทราคงได้ย้ายศูนย์กลางอำนาจกลับจากเกาะชวามาที่เมือง “คาฑารัม” (Kaḍarām) หรือเมืองเกดะห์-เคด้าห์ ในประเทศมาเลเซียเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนถูกโจมตีและทำลายโดยกองทัพเรือของพระเจ้าราเชนทราที่ 1 (Rājendra) แห่งจักรวรรดิโจฬะ (Chola Empire) ในช่วงปี พ.ศ.1568 ตามข้อความที่ปรากฏในจารึกตัณจาวูร์ นำไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์ไศเลนทราที่นิยมในนิกายวัชรยาน พร้อมกับเมืองศรีโพธิ์-ศรีวิชัย กลุ่มชนในเขตอ่าวบ้านดอนและเขาศรีวิชัยก็คงได้ถูกเซตซีโร่ด้วยการทำลายล้างจนยับเยิน ดังปรากฏร่องรอยของซากศาสนสถานในสภาพถูกทำลายอย่างยับเยินและร่องรอยการถูกทิ้งร้างที่ยาวนาน ชุมชนบนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรเขาสกได้ยุติลงอย่างถาวรครับ
.
“.. ทรงพิชิตประตูอัญมณีแห่งนครศรีวิชัย ที่ประดับดาประดาด้วยอัญมณีอันงดงามตระการตา....”
.
--------------------------
*** เขาพระนารายณ์ หรือ เขาศรีวิชัย ตั้งอยู่ในเขตหมู่ 1 บ้านหัวเขา ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลักษณะเป็นภูเขาลูกโดด มีระดับความสูงจากพื้นราบประมาณ 30 เมตร กว้าง 100 เมตร ยาว 650 เมตร ทอดตัวตามแนวทิศเหนือเฉียงตะวันออก-ทิศใต้เฉียงตะวันตก มีคลองพุนพินขนานอยู่ทางด้านตะวันออก ไหลลงสู่อ่าวไทยที่อ่าวบ้านดอนระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร พื้นที่บนเขาศรีวิชัยในปัจจุบันเป็นป่าโปร่ง มีต้นงิ้ว ขี้เหล็ก ขี้แรด โมกมัน ยางนา ตะแบกและไผ่ เป็นพืชพรรณท้องถิ่นของภาคใต้ ชาวบ้านในชุมชนโดยรอบนิยมขึ้นไปเก็บสมุนไพรบนเขาศรีวิชัยเพื่อมาทำเป็นยารักษาโรค ส่วนพื้นที่บริเวณโดยรอบเขา ชุมชนนิยมปลูกพืชทางเศรษฐกิจ ทั้ง ปาล์มน้ามัน ยางพาราและมะพร้าว นอกนั้นเป็นไม้ผล เช่นกล้วยและทุเรียน
.
*** เขาศรีวิชัยปรากฏซากโบราณสถานในคติความเชื่อฮินดู พุทธมหายานและวัชรยานบนแนวสันเขา 8 กลุ่ม เชิงเขาด้านทิศตะวันออก 3 กลุ่ม และเชิงเขาด้านทิศตะวันตก 8 กลุ่ม มีอายุการก่อสร้างและศิลปะมาตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 11 มาสิ้นสุดที่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ครับ
เครดิต ;
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น