“เมืองฝ้าย” บุรีรัมย์ ร่องรอยมหายานครั้งแรกในแดนอีสานใต้
เมืองโบราณ “เมืองฝ้าย” ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเมืองโบราณรูปวงกลมขนาดใหญ่ ในลุ่มน้ำห้วยลึกที่ไหลขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงสู่ลำปลายมาศ ประกอบด้วย บ้านฝ้าย หมู่ 1 บ้านปราสาททอง หมู่ 9 และบ้านคูเมือง หมู่ 10
.
เมืองฝ้ายเป็นเนินโคกเมืองขนาดใหญ่ที่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัย ซ้อนทับ 4 ยุค เริ่มตั้งแต่ “ชุมชนยุคเหล็ก” ที่มีอายุประมาณ 2,000 – 2,300 ปี “วัฒนธรรมหินตั้ง” ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 - 9 ที่พบการจัดวางหินล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บนเนินสูงหลายแห่ง ช่วง “วัฒนธรรมภารตะภิวัฒน์-ทวารวดี” ราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 14 ที่มีการเมืองรูปวงกลมที่มีคันดินและคูน้ำ 3 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 50 – 60 เมตร ความกว้างแนวเหนือใต้ชั้นนอก ประมาณ 900 x 800 เมตร ชั้นในสุด 400 x 450 เมตร และช่วงวัฒนธรรมแบบรัฐศรีจานาศะ-มหายาน ราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ที่มีการขยายตัวเมืองออกมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นแนวกำแพงดิน (คั้นผันน้ำ) ยาวแนวเหนือใต้ ความยาวประมาณ 600 เมตร รื้อคันดิน (กำแพง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ออกไปบางส่วน ขยายแนวคูเมืองชั้นนอก ออกมาประมาณ 150 – 200 เมตรจากแนวเดิม รวมทั้งมีร่องรอยของการขุดคูน้ำและคันเมืองขยายออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากแนวกำแพงชั้นนอกประมาณ 700 เมตรครับ
.
บริเวณเมืองฝ้ายโบราณ ปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้างทางความเชื่อศาสนาที่ถูกทำลายไปในหลายยุคสมัย เริ่มจากกลุ่มหินตั้ง ที่จัดวางหินในรูปแบบต่าง ๆ ล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บนเนินดินสูงอย่างน้อย 4 กลุ่ม สถูปหรือปราสาทเจ็ดได ฐานอาคารศาสนสถานก่อด้วยอิฐ 4 – 5 แห่ง ปราสาทคูตะน๊อบ -คูกันน๊อบ ปราสาท (สถูป ?) คูตะบึ้ง และแนวถนนโบราณหรือคันผันน้ำ
.
งานพุทธศิลป์ชิ้นเอกที่พบจากเมืองฝ้าย คือพระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก ในคติ “พระสมณโคดมพุทธเจ้า” (Samaná Gautama” ของฝ่ายสถวีรวาท-เถรวาท อายุทางศิลปะในราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ในพุทะศิลปะแบบแคว้นอานธระ ในอิทธิพลของงานศิลปะคุปตะ ที่เล่ากันว่าขุดพบได้ที่บริเวณซากกองอิฐในป่าไผ่ด้านทิศตะวันตกของเมืองฝ้าย แล้วถูกย้ายไปประดิษฐานซ่อนไว้ที่ศาลปู่ตากลางหมู่บ้าน ที่เรียกว่า “ปราสาทกลางบ้าน” หรือ “ปราสาทเจ็ดได” ที่เป็นซากเนินดินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองโบราณ ต่อมาในปลายเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2507 จึงได้ถูกโจรกรรม ขนย้ายด้วยเกวียนจากบ้านฝ้ายไปถึงบ้านหินดาด ที่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 26 กิโลเมตร เพื่อนำไปขายให้กับพ่อค้านายหน้าที่จะนำไปส่งต่อผู้สั่งซื้อที่ปลายทางจากกรุงเทพมหานคร ในราคา 7,000 บาท แต่เกิดการทะเลาะวิวาทเพราะเรื่องแบ่งเงินได้ไม่เท่ากัน ชาวบ้านที่หินดาดเห็นเป็นพิรุธจากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทชกต่อย จึงแจ้งตำรวจที่สถานีตำรวจภูธร กิ่งอำเภอห้วยแถลง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำกำลังไปดักจับ พบรถหกล้อและคนแปลกหน้าจำนวนหนึ่งที่ใกล้สระน้ำ ในที่ดินของ นายอุดลย์และนางทองมี ค้าดี และทราบเรื่องจากคนขายคนหนึ่งที่ปริปากออกมาอย่างไม่ตั้งรู้ประสีประสาว่า “ขนพระเก่ามาจากบ้านฝ้าย ไม่มีของผิดกฎหมายเด้อ” ความจึงแตกขึ้นมาครับ
.
ชาวบ้านหินดาดเมื่อรู้เรื่อง จึงช่วยกันออกค้นหาพระจนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 นายมีได้พบพระพุทธรูปในสระน้ำ ตำรวจจึงกลับไปที่รถหกล้ออีกครั้ง ปรากฏว่าคนร้ายรู้ตัวขับรถหนีออกไปก่อน จับได้เฉพาะชาวบ้านที่รับจ้างขนพระมาจากเมืองฝ้ายเท่านั้น (แต่ก็ปล่อยตัวไปภายหลัง)
.
ชาวบ้านหินดาด จึงอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณจากเมืองฝ้ายไปประดิษฐานไว้ที่วัดอุทัยมัคคาราม เรียกว่า "หลวงพ่อศรี" เพื่อเป็นสิริมงคล พระครูอาทรนวกิจ เจ้าอาวาส จึงถวายพระนามใหม่ว่า "พระพุทธศรีพิทักษ์ชน" มาจนถึงในปัจจุบันครับ
.
-----------------------------
*** ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 เมื่อชุมชนได้เริ่มขยายตัวหักร้างถากพงภายในโคกเมืองมากขึ้น นายลับ ขุนนาม ได้ขุดพบพระพุทธรูปหินทรายแสดงพระหัตถ์วิตรรกะมุทราทั้งสองพระหัตถ์ (พระหัตถ์ซ้ายหักหายไป) ความสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นงานพุทธศิลป์ของรูป “พระฌานิพุทธอมิตาภะ” (Amitābha Dhyāni Buddha) ตามคตินิกาย“สุขาวดี” (Sukhāvatī) ของฝ่ายมหายาน ที่นิยมในวัฒนธรรมทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ชาวบ้านได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านฝ้าย ต่อมาถูกโจรกรรมแต่ก็ตามจับคืนมาได้ ปัจจุบันไปเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
.
เมื่อชุมชนขยายตัวจับจองแผ้วถางที่ดินไปทั่วเกาะเมือง ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2514 นายเสนอ นาคินทร์ชาติและนางอารมณ์ นาคินทร์ชาติ ได้ขุดพบพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์สำริดจำนวน 3 องค์ ซึ่งเล่ากันว่า พบที่บริเวณข้างถนนดินทางทิศใต้ภายในเกาะเมืองชั้นใน ในระหว่างที่ฝนตกหนัก น้ำจากกลางเนินเกาะเมืองได้ไหลชะล้างหน้าดินตามถนนจนรูปประติมากรรมสำริดลอยขึ้นมาครับ
.
ชาวบ้านในยุคนั้นจะเรียกรูปประติมากรรมสำริดสามองค์ที่พบว่า “พระสามพี่น้อง” เล่ากันว่า มีร่องรอยการถูกเคลื่อนย้ายออกมามาจากซากศาสนสถานรอบเมืองฝ้าย นำมาซ่อนไว้โดยฝังรวมกันไว้ในหลุมเดียวกัน ซึ่งก็อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2507 ที่มีการค้นหารูปประติมากรรมโบราณจากเขตอีสานใต้เพื่อการโจรกรรมออกไปขาย รูปสำริดทั้งสามองค์จึงมีรูปแบบของศิลปะงานช่างที่แตกต่างกันออกไป และยากที่จะหาที่มาได้อย่างชัดเจน
.
พระพุทธรูปสำริดที่พบจากเมืองฝ้ายโบราณ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนตรงแบบ “สมภังค์” (Samabhaṅga) ความสูง 1.10 เมตร รูปประติมานแสดงว่าเป็น “พระฌานิพุทธอมิตาภะ” ของฝ่ายมหายาน พุทธศิลป์ในวัฒนธรรมทวารวดี ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 พระกรทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า พระกรขวาอยู่ในท่าแสดงธรรมหรือวิตรรกะมุทรา พระกรซ้ายนิ้วพระหัตถ์หักหายไปแต่ก็อย่าในรูปแสดงวิตรรกะมุทรา พระเมาลีเป็นรูปกรวย เม็ดพระศกเป็นรูปก้นหอย พระขนงโก่งต่อกันคล้ายปีกกา มีอูรณาหรืออุณาโลม (Unalome) อยู่ตรงกลางพระนลาฏ ห่มจีวรคลุมบางแนบพระองค์ ส่วนที่ชำรุดและซ่อมแล้วคือ พระเศียรหักตรงพระศอ พระอังสา พระหัตถ์ซ้ายและข้อพระบาท ด้านหลังมีรอยซ่อมด้วยปูน
.
พระพุทธรูปยืนที่พบจากเมืองฝ้าย ถือเป็นพระพุทธรูปสำริดในงานพุทธศิลป์ช่วงวัฒนรรมทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยพบในประเทศไทยครับ
.
----------------------------------------
*** องค์ที่สอง คือ “พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ” (Bodhisattva Maitreya) สำริด 4 กร ประทับยืนในท่าสัมภังค์ สูง 1.37 เมตร พระกรหน้าทั้งสองข้างยื่นไปข้างหน้าแสดงท่าคล้ายวิตรรกะมุทรา พระกรซ้ายล่าง ซ้ายบน และขวาล่างยกขึ้นพระกรแสดงท่ามุทราถือสิ่งของ ส่วนพระกรขวาบนหักตรงข้อศอก มุ่นมวยผมทรงชฏามงกุฏ พระเกศาทำเป็นวงซ้อนกันสี่ชั้น ทรงภูษาสั้นบางแนบพระองค์ มีเข็มขัดเส้นเล็กคาดเอว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานศิลปะแบบไพรกเมง (Prei Kmeng) ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ที่สอดรับกับคติความนิยมในพระโพธิสัตว์ไมเตรยะอนาคตพุทธะจากเมืองศรีเทพ เมืองใหญ่ทางเหนือของกลุ่มรัฐศรีจานาศะ
.
*** องค์ที่สาม เป็นพระโพธิสัตว์ไมเตรยะสำริด 2 กร ประทับยืนในท่า “ตริภังค์” (Tribhaṅga) หรือเอียงสะโพก มีความสูงประมาณ 70 เซนติเมตร มุ่นมวยผมทรง “ชฏามุกุฏ” (Jaṭāmukuṭa) ทรงภูษาสั้น มีเข็มขัดผ้า (รัดพระองค์) เส้นเล็ก ๆ คาดทับอยู่เหนือพระโสณีและผูกเป็นโบที่ด้านหน้า ชายผ้าห้อยอยู่ทางด้านขวาและริ้วชายผ้าทำเป็นเส้นบางๆ พระกรหักตรงข้อศอกทั้งสองข้าง พระชงหักตรงพระชานุ (ซ่อมต่อขึ้นใหม่) ศิลปะแบบไพรกเมง (Prei Kmeng) ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13
.
ความนิยมในคติพระพุทธเจ้าไมเตรยะในนิกายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรากฐานความนิยมมาจากยุคราชวงศ์กุษาณะ ในแคว้นคันธาระ ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษ 7 และในช่วงราชวงศ์คุปตะ ในอินเดียเหนือ ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 ที่ได้ส่งอิทธิพลทั้งคติและงานศิลปะพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ ลงมาทางใต้ในยุค “ราชวงศ์วากาฏกะ” (Vākāṭaka Dynasty) กลางพุทธศตวรรษที่ 11 ต่อเนื่องมาถึงยุค “ราชวงศ์จาลุกยะ” (Early Chalukya Dynasty) ราชสำนักฮินดูที่ให้การสนับสนุนนิกายมหายานฝ่ายวัชรยาน-ตันตระ ที่เข้าครอบครองแคว้นอานธระ-อินเดียใต้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12
.
*** รูปงานศิลปะพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ (พระพุทธเจ้าอนาคตของฝ่ายมหายาน) จากแคว้นอานธระ ปรากฏหลักฐานในช่วงเวลาสั้น ๆ ในเขตรัฐศรีจานาศะ ตั้งแต่เมืองศรีเทพลงมาถึงเขตอีสานใต้อย่างที่เมืองฝ้าย ลงไปถึงเขตเขมรล่างกลุ่มรัฐทางเหนือของโตนเลสาบ เฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏความนิยมอีกเลยครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น