วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2564

เมืองโบราณกลอนโด

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“เมืองโบราณกลอนโด” ป้อมปราการบายน ที่แม่น้ำแควน้อย
ตามเส้นทางแม่น้ำแม่กลองจากแยกปากแพรก จุดบรรจบของแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อยที่ตัวเมืองกาญจนบุรี ขึ้นไปตามถนนทางทิศตะวันตกประมาณ 30 กิโลเมตร เลาะไปตามสายน้ำแควน้อยอันคดเคี้ยว บริเวณริมฝั่งน้ำใกล้กับ “เดอะ เลกาซี ริเวอร์แคว รีสอร์ท” เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนเขมรโบราณ ที่อาจเป็น “เมืองป้อมค่าย” (Fortress Barrack) เพื่อการควบคุมเส้นทางเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลอง-แควน้อย จากศรีชยปุระ-นครปฐม ศัมพูกปัฏฏนะ ไปจรดชุมชนใหญ่ไกลสุดของอำนาจแห่งจักรวรรดิบายน ที่ “เมืองสิงห์”หรือ “ศรีชยสิงหปุระ” (Śrí Jaya-Siṃhapurí) วิษัยนครบายนที่ตั้งอยู่ไกลสุดขึ้นไปตามสายน้ำแควน้อยไปอีกประมาณ  35 กิโลเมตร
.
เมืองโบราณกลอนโด หรือ “กลอนโกร” ตั้งอยู่ริมน้ำแควน้อยฝั่งทางทิศใต้ ในเขตตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเมืองที่มีคันดินล้อมรอบ ความสูงประมาณ 2-4 เมตร ค้นกว้างประมาณ 12 - 13 เมตร  ล้อมรอบตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีความกว้างยาวประมาณ 250 x 260 เมตร เป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อเทียบกับ “เมืองครุฑ” ทางทิศตะวันออกของเมืองสิงห์ ที่มีขนาดใหญ่กว่า (520 x 340 เมตร) เคยมีร่องรอยของคูน้ำล้อมรอบ แต่ในปัจจุบันถูกไถทำการเพาะปลูก เกลี่ยดินถมคูน้ำไปจนหมดแล้ว ภายในมีพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ ตรงกลางเป็นเนินสูงกว่าโดยรอบเล็กน้อย ปัจจุบันใช้เป็นที่เพาะปลูกพืชไร่อย่างอ้อยหรือข้าวโพด ทางทิศตะวันตกภายในคันดินเมือง มีบ้านเรือนตั้งอยู่ 2 – 3 หลังครับ 
.
กลางคันดิน (กำแพง) ทางทิศตะวันตกและตะวันออก มีร่องรอยของช่องประตูอย่างละ 1 ช่อง ส่วนทางทิศใต้เป็นช่องที่เจาะแนวคันดินขึ้นใหม่เพื่อตัดถนนในยุคหลัง 2 ช่อง กลางคันดินฝั่งตะวันตกเคยมีแนวคันดินยาวที่น่าจะเป็นแนวถนนต่อยาวจากช่องประตูออกไปทางแม่น้ำประมาณ 500 เมตร  ติดกับแนวกำแพงทางทิศเหนือเยื้องไปทางทิศตะวันออกมี “บาราย” (Baray) แบบชุมชนเขมรโบราณ ขนาดประมาณ 120 x 90 เมตร ตั้งในตำแหน่งเดียวกับบารายโกสินารายณ์ของเมืองศัมพูกปัฏฏนะ รับน้ำมาจากคลองตะเคียนที่ไหลมาจากตะวันตกไปไหลลงลำน้ำแควน้อยเก่าทางทิศตะวันออก
.
*** ชื่อนามของเมือง “กลอนโด” เป็นชื่อที่มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ท้าวเวชสุวรรณโณกับท้าวอู่ทอง” เล่ากันว่ามาจากคำว่า “กลอนโด่” ที่ท้าวอู่ทองมาสร้างไว้ แต่ยังสร้างเมืองไม่เสร็จ ท้าวเวสสุวรรณโณตามมาทัน ท้าวอู่ทองจึงทิ้งเมืองไว้เหลือเพียงแต่กลอนประตูตั้ง “โด่เด่” อยู่ สอดรับกับเรื่องเล่าของชาวบ้านพื้นถิ่นที่เล่ากันว่า เคยมีผู้พบชิ้นส่วนของกลอนประตูและร่องรอยของอาคารอิฐ (ดินเผา) ที่มีรูเสาตั้งอยู่บริเวณกลางเมือง แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจนหมดแล้ว
.
ในอีกความหมายหนึ่ง ชื่อของเมือง “กลอนโด” เดิมเคยมีการเรียกกันว่า “กลอนโก” นั้น อาจมาจากชื่อในภาษาเขมรโบราณว่า “เกราโก-กรอลโก” (Krol ko) ที่มีความหมายถึง “คอกเลี้ยงวัว” แต่ก็เพี้ยนเสียงมาเป็นกลอนโด่ ผสมผสานกับนิทานเรื่องเล่าพื้นบ้าน กลายมาเป็นกลอนโดในปัจจุบันครับ 
.
*** การขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงปี พ.ศ. 2548  และเศษเครื่องถ้วยที่ชาวบ้านเก็บไว้ พบเครื่องเซรามิคเคลือบขาวแบบจีน (ชิงไป๋) (Chinese Glaze Stoneware) ที่ผลิตจากเตาในมณฑลฟูเจี้ยน เครื่องเคลือบดินเผาเขมรโบราณ (Khmer Glaze Stoneware) แบบเตาราชวงศ์มหิธระปุระ อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 แตกหักทับถมอยู่ทั่วบริเวณเมืองเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังพบเครื่องประดับตะกั่ว เงิน รูปประติมากรรมสำริดแบบเขมร รูปเคารพหินทรายเทวสตรีที่แตกหัก อาวุธเหล็กและ “ก้อนดินเผา” ที่มีร่องรอยการกดประทับพิมพ์ของโครงสร้างอาคารไม้ ทั้งเป็นรอยโค้งนูน  รอยเว้า เรียบแบน คล้ายแผ่นไม้ไผ่สานขัดเป็นผนังโครงสร้าง และรอยพิมพ์ของเศษเยื่อไผ่ติดอยู่กับก้อนดินเผาเป็นจำนวนมาก
.
ที่คันดินกำแพงเมืองยังพบก้อนดินเผากองพูนทับถมกันอย่างหนาแน่น คันกำแพงดินทางทิศตะวันตกมีร่องรอยการจัดเรียงก้อนดินเผาทำเป็นผนังกำแพงด้านนอก ด้านในกุด้วยดินอัดเป็นแกนกำแพงและเชิงเทิน อีกทั้งยังมีร่องรอยของเพลิงไหม้ ปรากฏบนก้อนดินเผาเป็นบริเวณกว้างครับ
.
จากหลักฐานก้อนดินเผาที่พบเป็นจำนวนมากอาจแสดงให้เห็นว่า ในครั้งเริ่มแรกเมืองกลอนโด มีการสร้างแนวกำแพงคันดินที่มีการปักไม้ไผ่ไว้บนยอดสันกำแพงเป็นเชิงเทิน ด้านนอกคันดิน อาจมีการสุมไฟเพื่อเปลี่ยนหน้าดินอ่อนให้แข็งเป็นดินเผา เพื่อความแข็งแรงทนทาน ไม่ให้ศัตรูที่เข้ามาประชิดขุดทำลายฐานกำแพงได้โดยง่าย
.
*** เมืองโบราณกลอนโดเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็น “ขั้นตอน”การขยายอิทธิพลทางการเมืองและคติความเชื่อในยุค “จักรวรรดิบายน” (Bayon Empire) สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (Jayavarman 7) ที่ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่แดนตะวันตก จากฐานที่มั่นใหญ่ของราชวงศ์ “มหิธระปุระ” ที่เมืองลวะปุระหรือจังหวัดลพบุรีตามที่ปรากฏใน  “จารึกปราสาทตอว์” (K.692) ที่กล่าวว่า “...พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือจามปา …และเหล่าพระราชาในแดนตะวันตก (King of the west- inam aparaṃ) ...” (โศลกที่ 35, 45) ครับ
.
ด้วยเพราะเมืองกลอนโด มีลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 50-80 ปี (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – กลางพุทธศตวรรษที่ 19) เมืองโบราณริมแม่น้ำดแควน้อยแห่งนี้จึงน่าจะเป็นป้อมปราการ (Fortress ) หรือ “ค่ายทหาร” (Barracks) ของจักรวรรดิบายน ที่รุกเข้ามาสู่ดินแดนตะวันตกตามแนวลำน้ำแม่กลองเข้าสู่ลำน้ำแควน้อย
อีกทั้งหลักฐานภาชนะที่พบทั้งเครื่องดินเผา เครื่องเคลือบแบบเขมรและแบบจีน ที่มีรูปร่างรูปแบบคล้ายคลึงกัน ที่ดูเป็นแบบแผน ไม่มีความหลากหลาย และร่องรอยการสร้างอาคารเรือนพักที่ใช้โครงสร้างไม้และไม้ไผ่ที่มีการนำดินโคลนมาพอกทับ ล้วนแสดงให้เห็นความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่มีรูปแบบของการอยู่อาศัย รวมทั้งหน้าที่ที่เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็อาจหมายถึง ชุมชนที่ตั้งมั่นอยู่ในเมืองกลอนโด ก็คือกลุ่มทหารหรือคาราวานกองทัพ-ผู้คนเขมรโบราณ ที่เข้ามาตั้ง “ฐานทัพ” แรก บนลุ่มแม่น้ำแควน้อย เพื่อขยายตัวเข้าสู่แดนตะวันตกในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา และได้พัฒนาชุมชนขึ้นเป็น “ป้อมค่าย” เมืองรูปสี่เหลี่ยมเพื่อการควบคุมอำนาจเหนือเส้นทางน้ำ ลำลเยงของป่าและทรัพยากรออกไปสู่เมืองสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลองครับ    
.
ร่องรอยหลักฐานยังได้แสดงให้เห็นว่า มีการ “เผาทำลาย” หรือ  “เกิดเพลิงไหม้” ครั้งใหญ่ จนดินที่พอกไม้ แนวดินหรือพื้นดินที่รองรับโครงสร้างไม้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเรือนพักและเชิงเทิน ต่างก็ถูกความร้อน เผาไหม้จนกลายเป็นดินสุก (แข็ง) บ้าง ไม่สุกบ้าง ที่มีร่องรอยของพิมพ์ไม้ประทับติดอยู่ แตกกระจายไปทั่วบริเวณเมือง
.
ซึ่งเหตุผลสำคัญของเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ก็อาจจะมาจาก “การสงครามครั้งสุดท้าย” ที่ “เหล่าพระราชาตะวันตก” ในจารึก อาจได้กลับเข้ามาปลดแอกอำนาจที่อ่อนแอลงของผู้คนจากแดนโตนเลสาบ นำทหารเข้าโจมตี ทำลายป้อมค่ายกลอนโด ตัดเส้นทางเชื่อมต่อสำคัญไปยังเมืองสิงห์และเมืองครุฑ จนถึงการเข้าทำลาย “ศัมพูกปัฏฏนะ”(จอมปราสาท-สระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19  รื้อถอนปราสาทและทุบทำลายรูปเคารพแห่ง “อานุภาพ” จนย่อยยับไปทั่วแคว้นแดนตะวันตกครับ
.
*** หลังจากร้างราไปกว่าร้อยปี ผู้คนในยุคหลัง (ช่วงกรุงศรีอยุธยา) คงได้ย้อนกลับเข้าไปใช้เมืองกลอนโด เพื่อเป็นจุดพักแรมระหว่างเดินทางตามเส้นทางน้ำแควน้อย หรือตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อทำการเพาะปลูก จึงปรากฏร่องรอยของการบูรณะเมืองกลอนโด โดยการนำเศษก้อนดินเผาที่แตกกระจัดกระจายพูนถมกลับขึ้นไป ทำเป็นแนวคันกำแพงดินขึ้นใหม่อีกครั้ง
.
และก็ร้างลงไปอีกนับร้อยปี จนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต ;
วรณัย พงศาชลากร          
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น