พิชิตละโว้และยึดครองแดนตะวันตก ในจารึก “ศรีลักษมีปติวรมัน”
ในปี พ.ศ. 2537 จารึกสำคัญหลักหนึ่งสลักขึ้นจากหินทรายเป็นแผ่นกว้าง มีความสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ได้ถูกโจรกรรม ขนย้ายมายังชายแดนเพื่อส่งเข้ามายังประเทศไทยตรงด่านช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ แต่ถูกตำรวจกัมพูชาจับได้ที่ด่านโอเสม็ด จังหวัดอุดดอเมียนเจย ถูกกำหนดทะเบียนให้เป็นจารึกโอเสม็ด (O Smach Inscription) K.1198 หรือ Ka.18 ปรากฏข้อความจำนวน 2 ด้าน ด้าน A มี 59 บรรทัด ด้าน B มี 57 บรรทัด จารึกเป็นอักษรเขมรโบราณ ภาษาเขมรโบราณและสันสกฤต
.
จารึกถูกทำขึ้นโดย “มรตาญศรีวีเรนทรวัลลภะ” กล่าวถึงเรื่องราวในระหว่างปี พ.ศ. 1552 – 1557 ของบิดา ท่าน “ศรีลักษมีปติวรมัน” (Śrī lakṣmīpativarmmaṇā) ขุนศึกคนสำคัญของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 (Suryavarman I) โดยในหน้า A นั้น มีกรอบหน้าบรรพสามเหลี่ยมด้านบน สลักเป็นรูปพระศิวะถือตรีศูลทรงโคนนทิ ประกอบรูปพระทวารบาลถือพระขรรค์ ขนาบข้างด้วยรูปพระพรหมและพระวิษณุทรงครุฑ ริมสุดด้านซ้ายเป็นพระสูริยะทรงราชรถ ด้านขวาสุดเป็นรูปพระจันทราเทพครับ
.
ด้านล่างเป็นข้อความจารึก 3 บรรทัดแรกเป็นภาษาเขมรโบราณ กล่าว่าถึง.มหาศักราช 931 (พ.ศ.1552) สิทฺธิ สวสฺติ ชย ไอศูรฺยฺย มีลาภ ตราบเท่าที่ยังมีพระจันทร์และพระอาทิตย์ยังคงส่องสว่าง จากนั้นกล่าวถึงการบูชารูปเคารพสำคัญของสายตระกูลท่านศรีลักษมีปติวรมัน เริ่มจากพระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรเมศวร พระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรมสวามี พระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรไมกนาถ พระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรเมศวร พระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรมชนนี พระกัมรเตงอัญเคารีปตีศวร พระกัมรเตงอัญนารตเกศวร
.
บรรทัดที่ 4-19 เป็นภาษาสันสกฤต แต่งเป็นฉันทลักษณ์-โศลก กล่าวบูชาพระศิวะ พระวิษณุ และพระนางลักษมี เกียรติยศอันยิ่งใหญ่แห่งพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 บรรทัดที่ 20 กล่าวถึงเรื่องราวของท่านศรีลักษมีปติวรมัน โดยในบรรทัดที่ 23-24 กล่าวว่า
.
“...นักรบ (ผู้เก่งกล้า) คนนี้ได้รับพระราชโองการจากกษัตริย์ (พระเจ้าสูริยวรมันที่ 1) ให้เข้าปกครองพวกรามัญ (Rāmaṇya) ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตก....ท่านขุนศึกได้ใช้ยุทธวิธีอันชาญฉลาด เข้าปราบปรามและยึดครองตามพระราชประสงค์เป็นผลสำเร็จ ได้รับผลประโยชน์กลับมาเป็นจำนวนมาก...”
.
บรรทัดที่ 28 “ ...ท่านได้สร้างอาศรม สร้างปราสาท สร้างรูปเคารพต่าง ๆ ไว้ที่ “ปฤถุปรฺวต” หรือ “ปฤถุบรรพต” ... (อาจหมายถึงปรางค์น้อย บนเขาพนมรุ้ง)
.
บรรทัดที่ 37 – 38 เป็นภาษาเขมรโบราณ กล่าวว่า “...ลวะปุระ (lavapūr) เกิดกลียุค (Kaliyuga) บ้านเมืองถูกทำลายจนสูญเสียความงดงามไปทั้งหมด กลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าดุร้ายเช่นเสือ และยังน่าสะพรึงกลัวดุจป่าช้า กษัตริย์จึงมีพระราชโองการให้ท่านศรีลักษมีปติวรมัน เข้าไปฟื้นฟูดินแดน-วิษัย (Viṣaya) ทางตะวันตก ที่ถูกทอดทิ้งและเสื่อมโทรมจนกลายเป็นป่ารกชัฏมาเป็นเวลายาวนานในช่วงกลียุค ..เมื่อก่อนเป็นอย่างไรก็ให้ทำเต็มที่ เพื่อให้กลับมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง....”
.
บรรทัดที่ 39-59 กล่าวถึงรายชื่อข้าทาสชายหญิงและทรัพย์สมบัติ ที่ถวายกัลปนาแด่เทพเจ้า
.
*** ส่วนด้าน B นั้น เป็นเรื่องราวของท่านศรีลักมีปติวรมัน ในช่วงตั้งแต่มหาศักราช 931 หรือ พ.ศ.1552 ไปจนถึง พ.ศ. 1557 (ปีที่ทำจารึก) ครับ
.
--------------------------
*** จารึกศรีลักษมีปติวรมัน หรือ K.1198 เป็นร่องรอยหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นกระบวนการเข้ายึดครองเมืองละโว้ (ลวปุระ) และการเข้าครอบครองดินแดนของชาวรามัญในเขตเจ้าพระยาตะวันตก ในวัฒนธรรมทวารวดีเดิมเป็นครั้งแรกโดยพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ที่ต่อเนื่องมาจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างพระองค์กับพระเจ้าชัยวีรวรมัน กษัตริย์องค์เดิมของอาณาจักร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1545 พระองค์สามารถเข้ายึดครองเมืองพระนครศรียโสธระปุระไว้ได้ในปี พ.ศ. 1549 ซึ่งพระเจ้าชัยวีรวรมันได้ถอยร่นผู้คนในการปกครองขึ้นมาทางพระตะบองเข้ามาตั้งมั่นในเขตทางเหนือ ในดินแดนติดกับวิมายปุระและลวะปุระได้ในระยะหนึ่ง จนพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ได้นำกองทัพติดตามขึ้นมาไล่บดขยี้เสี้ยนหนามในราชสมบัติของพระองค์ และขยายอิทธิพลต่อเข้ามาจนถึงเมืองลวปุระได้ในอีก 8 ปีต่อมา ซึ่งเหตุการณ์สงครามระหว่างพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 กับพระเจ้าชัยวีรวรมัน อาจเป็นเหตุให้เมืองลวปุระ-ละโว้ ตกอยู่ในสภาพเสียหายทรุดโทรมในกลียุค (ของการสงคราม) อย่างที่ถูกกล่าวถึงในจารึก
.
ซึ่งในช่วงของชัยชนะ พระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ยังได้ส่งท่านศรีลักษมีปติวรมัน ขุนศึกของพระองค์ นำกองทัพเข้ายึดครองดินแดนตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (อาจมาจนถึงเมืองนครปฐม – อู่ทอง) ที่เป็นกลุ่มชนรามัญในวัฒนธรรมทวารวดีไปพร้อมกันครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น