“พระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคตและพระชิโนรส” กลุ่มรูปประติมากรรมประธานของปราสาทอาโรคยศาลา
“จารึกปราสาทตาพรหม” (K.273) บทที่ 117 กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า “...พระองค์ได้ทรงสถาปนาอาโรคยศาลา (ĀrogyaŚālā) ในทุก ๆ วิษัย และภายในบริเวณศาสนสถานตาพรหม ...เมื่อมีผู้คนมีความเจ็บป่วยก็มีการดูแลเยียวยาดูแลรักษา...” และใน “จารึกปราสาทพระขรรค์” (K.908) ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 55 ยังกล่าวว่า พระองค์ได้โปรดให้สถาปนา “วลภิปฺราสาท” (Valabhi prāsādā) หรือ ปราสาทหินอาโรคยศาลาขึ้นจำนวน 102 แห่ง
.
“จารึกประจำอโรคยศาลา” (ĀrogyaŚālā Stele) เป็นจารึกที่พบเฉพาะปราสาทแบบอาโรคยศาลาทุกแห่ง มีรูปทรงสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร ความสูง 50 เซนติเมตร (ขนาดไม่เท่ากันทุกจารึก) ยอดทรงกระโจมหรือทรงยอคว่ำ สลักขึ้นจากหินทราย จารด้วยอักษรเขมร ประพันธ์เป็นบทฉันท์ลักษณ์ในภาษาสันสกฤต จำนวนของฉันท์แต่ละโศลก (บท) ของจารึกแต่ละหลักไม่เท่ากัน บางหลักก็ไม่ได้จารอักษรครบทุกหน้า บางหลักมีข้อความที่แตกต่างไปบ้าง แต่ทุกหลักก็มีใจความสำคัญที่บ่งบอกถึงรูปประติมากรรมประธานแห่งปราสาทอาโรคยศาลาว่า
.
“...ข้าพเจ้า (พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ) ขอนมัสการพระชินะผู้พิชิต คือพระไภษัชยคุรุไวฑูรยะประภาราชา (Bhaiṣajyaguru Vaidūryaprabha rāja) ด้วยเพราะพระองค์ จึงทำเกิดความสุขและความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้ได้สดับแม้เพียงชื่อพระนาม อีกทั้ง... พระศรีสูรยะไวโรจนจันทราโรจิ (Śrī -sūrya-vairocana-caṇḍa-rociḥ) และพระศรีจันรไวโรจนโรหิณีศะ (Śrī -candra-vairocana-rohiṇīśaḥ) ผู้ขจัดความมืด อันได้แก่โรคร้ายของประชาชน ผู้ชนะที่อยู่เคียงเขาข้างพระสุเมรุแห่งผู้ปฏิบัติ...
.
...โรคทางร่างกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะว่าความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของผู้ปกครอง ...พระองค์พร้อมด้วยแพทย์ทั้งหลาย ผู้เชี่ยวชาญและชำนาญในการอายุรเวท (Āyurveda) และ อัษฏเวท (Āṣṭraveda) ได้ใช้เภสัชอาวุธ (Bheṣajayudhaiḥ) ฆ่าศัตรู อันได้แก่โรคร้ายของประชาชน.....
.
...พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาลและรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต (Bhaiṣajya Saugata) พร้อมด้วยรูปพระชิโนรสทั้งสองที่อาโรคยศาลา เพื่อความปราศจากโรคของประชาชนตลอดไป...
.
...พระองค์ได้สถาปนาอโรคยศาลาหลังนี้ พร้อมด้วยวิหารของ “พระสุคตาลัย – ลยมะ” (Sugatālayam) ประดิษฐานรูปพระไภษัชยสุคตนี้ ไว้ในปีศักราช ดวงจันทร์ พระหฤทัย ท้องฟ้าและพระวรกาย (Dehāmvara-hṛd-indunā - มหาศักราช (Śaka) 1108 เทียบเป็นปี พ.ศ.1729) ...
.
...พระองค์ให้สร้างรูปพระชิโนรสทั้ง 2 คือพระสูรยะไวโรจนะและพระจันทราไวโรจนะอันงดงามนี้ ให้เป็นผู้พิชิตโรคร้ายของประชาชน ผู้มีโรคทั้งหลายในที่นี้...”
.
------------------------------
*** รูปประติมากรรมประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทประธาน (สุคตาลัย) แห่งอาโรคยศาลานั้น จึงได้แก่ “พระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต” และพระชิโนรสทั้งสองที่มีพระนามว่า “พระศรีสูริยไวโรจนะจันทโรจิ” และ “พระศรีจันทรไวโรจนโรหิณีศะ” ประทับอยู่ด้านข้าง ตามชื่อนามที่ปรากฏในจารึกและคัมภีร์ฝ่ายวัชรยานครับ
.
*** ปราสาทสุคตาลัยแห่งอโรคยศาลา เป็นปราสาทหินแบบหนึ่งที่สร้างขึ้นเฉพาะในเขตวิษัยนคร-สฺรุก-ปุระ (Visaye-Sruk-Pura) หรือ “ชุมชน (Communities)”หรือ “เมือง (Town)” ในพระราชอาณาจักรของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเมืองแต่ละแห่งจะมีชื่อปรากฏในจารึกประจำอโรคยศาลา (หากจารึกไม่สูญหายหรือโดนทำลายไปแล้ว) เช่น ชื่อเมืองวิเรนทรปุระ (ปราสาทโคกงิ้ว อำเภอปะคำ) นครอวัธยปุระ – สังโวก (เมืองศรีมโหสถ จังหวัดสระแก้ว) ซึ่งพบปราสาทแบบอาโรคยศาลาจำนวน 5 แห่งอยู่ในเขตเมืองพระนครศรียโสธรปุระ ส่วนที่เหลือจะกระจายตัวไปตามชุมชนทั่วทุกภูมิภาคทั้งในกัมพูชา ภาคกลางของประเทศไทย ภาคอีสานเวียดนามและลาวใต้ ที่อาจได้แสดงอิทธิพลของ “ระบบจักรวรรดิ” (Empire) ขนาดใหญ่ ที่มีนครรัฐขนาดเล็กมารวมภายใต้ศูนย์กลางอำนาจเพียงแห่งเดียวกันที่ราชสำนักเมืองพระนครธม
.
ภายในห้องครรภคฤหะ-ครรภธาตุ ของปราสาทประธาน-สุคตาลัยแห่งอาโรคยศาลา ทุกแห่งจะพบฐานรูปเคารพรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีช่องเสียบเดือย 3 ช่อง ประดิษฐานรูปประติมากรรม 3 องค์ วางเรียงรูปวิภัติ 3 เพศ (ลิงค์) ในภาษาสันสกฤต คือ ปุงลิงค์ (บุรุษ), อิตถีลิงค์ (สตรี-ศักติ) และนปุงสกลิงค์ (เพศกลางที่มีความเกี่ยวข้อง) หรือการ “วาง 3 รูปวิภัติ (Trinity) เรียงบนระนาบฐานเดียวกัน เป็นประติมากรรมการเพื่อแสดงความหมายผ่านการสร้างภาพลักษณ์ (มโนภาพ) ในมุมมอง “บุคลาธิษฐาน” (Personification) ตามคติ“ตันตระ” (Tantra-Tantric) โดยรูปกลางนั้น เป็นรูปประติมากรรมของพระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต ในรูปการแสดงท่า “วัชร หุมกะระมุทรา” (Vajrahumkara-mudrā ยกพระกรขึ้นในระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือ “วัชระ” (Vajra) อยู่ด้านบน พระหัตถ์ซ้ายถือ “วัชระกระดิ่ง-วัชระฆัณฏา” (Vajra-Ghaṇṭā) ซึ่งตามแนวคิดบุคลาธิษฐานในรูปศิลปะของพระวัชรธร (Vajradhara) มีความหมายถึงการใช้ปัญญาและอุบายเพื่อการบรรลุ (การปฏิบัติ,การรักษา) โดยมีเป้าหมายให้หายจากโรค ผ่านการสวดภาวนามนตราธาริณี เพื่อการบรรลุได้โดยเร็ว (ฉับพลันดั่งสายฟ้า) ครับ
.
ตามคติรูปวิภัติ ทางด้านขวาของรูปประธานจะเป็นเพศชาย และตามคตินิยมในงานศิลปะ จะกำหนดให้ “พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ” เป็นปุงลิงค์ (บุรุษ) ผู้เป็นพระชิโนรส-ผู้ช่วย ยกพระกรขึ้นในระดับพระอุระ พระหัตถ์ทั้งสองประคองม้วนคัมภีร์ขนาดเล็ก ซึ่งในความหมายเชิงบุคลาธิษฐาน จะหมายถึงตำรายา-ตำราอายุรเวช ด้านซ้ายของรูปประธานเป็นอิตถีลิงค์ คือ “พระศรีจันทรไวโรจนโรหิณีศะ” ยกพระกรขึ้นในระดับพระอุระ พระหัตถ์ทั้งสองประคองหม้อน้ำกลม (หม้อน้ำโสมะ-หม้อยา-อมฤต) ซึ่งในความหมายเชิงบุคลาธิษฐาน จะหมายถึงยา-ทิพยเภสัช-อัษฏเวท ที่ประดุจดั่งอาวุธสำคัญในการพิชิตโรคร้าย
.
รูปประติมากรรมทั้งสามมีรูปแบบทางศิลปะที่คล้ายคลึงกัน คือทรงมงกุฎรัดเกล้ารูปกรวยครอบอุษณีษะ สวมกระบังหน้าแบบเครื่องกษัตริย์ ไม่สวนเครื่องประดับ ประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานบัวคว่ำ รูปประธานตรงกลางจะมีฐานและขนาดที่ใหญ่กว่ารูปด้านข้างเล็กน้อยครับ
.
ฐานสนานโทริณี “สนานโทรณี” (Sanandorini) ของรูปประติมากรรมประธานแห่งอาโรคยศาลา มีช่องเสียบสามรูเดือยอยู่บนฐานเดียวกัน มีทั้งแบบหน้ากระดานของฐานเรียบเสมอกันและแบบยกเก็จเฉพาะตรงกลางให้มีขนาดใหญ่กว่าส่วนฐานของรูปด้านข้างเล็กน้อย
.
*** เมื่อสิ้นอำนาจแห่งจักรวรรดิ รูปประติมากรรมประธานแห่งอาโรคยศาลาทั้งหมดในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ถูกทุบทำลายรื้อถอนเคลื่อนย้ายออกมาโยนทิ้งนอกปราสาท หรือกองทิ้งชิ้นส่วนกระจายอยู่กับพื้นโดยรอบนอก ไม่ก็ถูกโจรกรรมรูปเคารพออกไปในยุคหลัง การขุดแต่งปราสาทอาโรคยศาลาทุกแห่งจึงยังไม่เคยพบรูปประติมากรรมประธานทั้งสามเหลือรอดตั้งอยู่บนฐานภายในปราสาทเลยแม้แต่ชิ้นเดียวครับ
เครดิต ;FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น