วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

นางฑากิณี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“นางฑากิณี-แหกขายกสูง” ร่องรอยคติตันตระ ที่ปราสาทเนินทางพระ สุพรรณบุรี
.
ที่บ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เคยมีซากปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณหลังหนึ่ง แต่เดิมนั้นชาวบ้านจะเรียกซากเก่าแก่ที่พบว่า “ดอนถ้ำพระ – เนินทางพระ” ซึ่งเคยมีแนวกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ 2 ชั้น ชั้นนอกกว้างยาวประมาณ 150 เมตร ชั้นในประมาณ 50 เมตร  มีซากกองอิฐและศิลาแลงที่เคยเป็นปราสาทหินเป็นประธานอยู่ตรงกลางค่อนไปทางตะวันตก  มีสระน้ำติดกำแพงบริเวณด้านทิศเหนือเยื้องฝั่งตะวันออก
.
บริเวณนี้เคยเป็นชุมชนโบราณที่ตั้งถิ่นฐานในลุ่มขนาดใหญ่ของแม่น้ำท่าว้า-ท่าคอย ซากของปราสาทหินที่เนินทางพระผ่านการถูกทำลายมาแล้วหลายครั้งในอดีต เหมือนว่าตัวปราสาทจะถูกรื้อถอนจนพังทลายลงทับถมเป็นเนินดอนใหญ่ ต่อมาในยุคประมาณ 60 -70 ปีที่แล้ว เริ่มมีการขุดหาเศษซากวัตถุโบราณอย่างพระเครื่องและรูปประติมากรรมโลหะนำออกไปขายเป็นจำนวนมาก จนถึงปี พ.ศ. 2522 จึงเริ่มมีการขุดค้นศึกษาทางวิชาการเป็นครั้งแรก  จึงได้พบซากของปราสาทหินก่ออิฐผสมศิลาแลงแกนดินอัดด้วยดินและอิฐตรงกลาง แต่ด้วยเพราะถูกลักลอบขุดทำลายอย่างละเอียดไปก่อนหน้าแล้ว จึงยากที่จะทำการศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน คงพบชิ้นส่วนบัวกลุ่มยอดปราสาทและเครื่องปักบรรพแถลง กลีบขนุนประดับเรือนยอดแตกหักกระจายอยู่จำนวนหนึ่งครับ
.
วัตถุโบราณที่ขุดพบในครั้งนั้น มีทั้งรูปประติมากรรมหินทรายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร เศียรทวารบาลหินทราย นนทิเกศวร-มหากาล พระพิมพ์เนื้อดินเผาและโลหะ รวมทั้งชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นประดับปราสาทที่เหลือรอดจากการลักลอบขุดหาวัตถุโบราณจำนวนหนึ่ง อย่างรูปพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ พระวิษณุในอวตารตรีวิกรม พระคเณศ พระโพธิสัตว์ เทพยดา รูปบุคคลสตรี อัปสรา ครุฑยุดงวงช้าง อสูรา มกร หน้ากาลและรูปสัตว์ เต่า ลิง ช้าง รวมทั้งลวดลายพรรณพฤกษาอย่างลายดอกซีกดอกซ้อน ลายกลีบบัวเชิงในขนบการจัดวางลวดลายประดับปราสาทแบบเขมรโบราณ 
.
แต่รูปประติมากรรมลอยตัวหินทราย ที่เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่หลายชิ้นนั้น ได้ถูกขุด/ขนย้ายหายไป ก่อนปี พ.ศ. 2520 ทั้งหมดแล้วครับ
.
รูปประติมากรรมที่พบจากเนินทางพระ แทบทั้งหมดล้วนสะท้อนคติความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายานแบบเขมร หรือที่เรียกว่า “วัชรยาน” (Vajrayāna Buddhism) “พุทธตันตระ” (Tantric Buddhism) หรือ “มหายานตันตระ” (Mahāyāna -Tantra) ที่มีการผสมผสานความเชื่อและศิลปะนิยมกับคติฮินดู-ไวษณพนิกายได้อย่างลงตัวมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17  โดยเฉพาะการปรากฏรูปของเทพีในคติ “ศักติ” Goddess Śakti – พลังศักดิ์สิทธิ์แห่งเพศหญิง Divine feminine power) อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของฝ่ายตันตระ ที่ถูกผนวกคติความเชื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานแบบเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ก็ได้ส่งอิทธิพลมายังงานศิลปะที่พบจากปราสาทเนินทางพระอย่างชัดเจน
.
รูปประติมากรรมปูนปั้นบุคคลสตรีหลายชิ้นจากเนินทางพระ แสดงท่าทางในลักษณะแยกขายกสูงขึ้นมาเหนือศีรษะ เป็นลักษณะเด่นชัดของรูปประติมาน “นางฑากิณี” (ḍākinī - Dakini) บุคลาธิษฐานแห่งผู้เป็นพลังอำนาจ ความรู้แจ้งและพลังแห่งเครื่องเพศ นางมีสมญานามจากคัมภีร์สันสกฤต ว่า “ผู้เต้นรำบนท้องฟ้า" หรือ “ผู้เฉิดฉายบนนภากาศ” แสดงถึงความสมดุลแห่งเสรีภาพที่สมบูรณ์ นางเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดพลังแห่งพุทธะครับ
.
นางฑากิณีในคติวัชรยานตันตระ คือพลังเพื่อการปกปักษ์รักษาเหล่าสิทธะ (นักบวชตันตระ) เช่นเดียวกับยิดัม  (Yi-Dam The Guardian) นางฑากิณีมีหลายองค์ มีทั้งรูปปกติและรูปดุร้าย รูปปกติมี 5 องค์ตามตระกูลพระพุทธเจ้า“พุทธฑากิณี” (Buddhaḍākinī วรรณะกายขาว-ไวโรจนะ) “วัชรฑากิณี” (สุขสิทถี Sukhasiddhi- Vajraḍākinī วรรณะกายฟ้า-อักโษภยะ) “รัตนฑากิณี” (Ratnaḍākinī วรรณะกายเหลือง-รัตนสัมภาวะ) “ปัทมฑากิณี” (Padmaḍākinī วรรณะกายแดง-อมิตาภะ) “กรรมฑากิณี” (Karmaḍākinī วรรณะกายเขียว-อโมฆสิทธิ)  รูปลักษณ์ในภาคดุร้ายคือ “สรวพุทธฑากิณี (Sarva Buddha Dakini) สิงหวักตรา(Simhavaktra) มกรวักตรา (Makaravaktra) วัชรวราหิ (Vajravārāhī)” และมีนางฑากิณีประจำฤดูกาล อีก 4 องค์คือ “วสันตเทวี คิมหันตเทวี ศรัทเทวี และเหมันตเทวี” 
.
ในหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” ปี 2500 ของท่านเสถียรโกเศศ  กล่าวว่า นางฑากิณีในลัทธิลามะธิเบตนั้นเป็นชายาของธรรมบาล ซึ่งชั้นเดิมเป็นพวกยักษ์และนาถ มีจำนวน 8 นาง มีนามว่า “สาสยา” ผิวขาวถือกระจก “มาลา” ผิวเหลืองถือพวงลูกประคำ “คีตา” ผิวแดงถือพิณ “ครรม” ผิวเขียว ร่ายรำ “บุษปา” ผิวขาวถือดอกไม้ “ธูปา” ผิวเหลืองถือหม้อน้ำ “ทีปา” ผิวแดงถือโคม “คินธา” ผิวเขียวถือแจกันน้ำหอมครับ  
.
ในคัมภีร์จักระสังวรฝ่ายตันตระ นางฑากิณีไม่ใช่ “นางโยคินี” (Yogini) ธิดาแห่งเหวัชระทั้ง 8 อันได้แก่นางเคารี (Gauri) นางเฉารี (Chauri) นางเวตาลี (Vetali) นางฆษมารี (Ghasmari) นางปุกกาสี (Pukkasi) นางชาพารี (Shabari) นางฉนฑลี (Chandali) และนางโทมพี (Dombi) ที่นิยมนำมาสร้างเป็นรูปบุคคลสตรีร่ายรำในท่า “ยินดีปรีดาในชัยชนะ” (อรรธปรยังกะ-Ardhaparyaṅka) เหนือซากศพแห่งอวิชชาทั้ง 8 (พระศิวะ พระพรหม พระอินทร์ พระวิษณุ พระยม ท้าวกุเวร พระนิรฤติ และเทพอสูรวิมาสิตริน)  ซึ่งท่ารำแหกขาแบบนางโยคินี/ตันตระนี้ ยังปรากฏเป็นรูปประติมากรรมปูนปั้นชิ้นหนึ่งจากเนินทางพระด้วยเช่นกัน
.  
รูปประติมากรรม “แหก-ยกขาสูง” (เพื่อแสดงพลังแห่งเครื่องเพศอันบริสุทธิ์ ปกปักษ์พุทธะ/พลังแห่งโลกทุกทิวาราตรี) ที่ปรากฏความนิยมในรูปศิลปะของนางสุขสิทถี-วัชรฑากิณี ยังคงปรากฏเฉพาะที่ประสาทเนินทางพระเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าพบรูปประติมานแบบเดียวกันนี้ในงานศิลปะเขมรโบราณที่อื่น ๆ ในประเทศไทยเลยครับ  
.
------------------------------------
*** การปรากฏตัวของรูปนางฑากิณีแหกยกขาและนางโยคิณีร่ายรำในงานศิลปะตามคติแบบวัชรยานตันตระ (ที่ไม่ใช่มหายาน – เพราะมหายานไม่มีศักติ) ที่ปราสาทเนินทางพระ อาจได้สะท้อนคติความเชื่อจากอินเดียในยุคพุทธศตวรรษที่ 17 – 18  ที่เพิ่งเข้ามาผสมผสานกับงานศิลปะที่ได้ถูกดัดแปลงผสมผสานจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะภูมิภาคของกลุ่มรัฐ “สุวรรณปุระ” ในฝั่งตะวันตกของลุ่มเจ้าพระยา 
.
รัฐสุวรรณปุระ เป็นจุดปะทะสำคัญทั้งศิลปะและคติความเชื่อระหว่างปาละ - พุกาม (ตันตระ-มหายาน-เถรวาท) ลังกา (เถรวาทลังกาวงศ์) ละโว้ (กัมโพชสงฆ์ปักขะ) และเขมร (วัชรยานตันตระ – ฮินดู) จนมีความโดดเด่นในเฉพาะภูมิภาคลุ่มเจ้าพระยายุคหลังบายน ก่อนจะพัฒนามาเป็นศิลปะต้นอยุธยาโดยแท้จริงในเวลาต่อมาครับ
.
น่าเสียดายที่โบราณสถานส่วนใหญ่ของรัฐสุวรรณปุระ ได้ถูกทำลายอย่างย่อยยับภาพหลังการล่มสลายของกลุ่มอำนาจลูกผสม และการพัฒนาไปเป็นรัฐสุพรรณภูมิใหม่ของกลุ่มคนผู้ปกครองใหม่ที่นิยมคติเถรวาทและการทำลายในยุคร่วมสมัยปัจจุบัน 
.
งานศึกษาทางวิชาการของกลุ่มรัฐสุวรรณปุระจึงยังมีไม่มาก หลายเรื่องติดหล่มวนเวียนอยู่กับการตีความในมุมมองข้อมูลเดิม ๆ ที่อ้างอิงต่อกันมาไว้ ถึงดินแดนบริเวณแถบนี้จะดูเป็นโซนแรก ๆ ที่มีการเขียนและพูดถึงกันไว้อย่างกว้างขวาง แต่ทั้งหลายนั้นก็กลับมากลายเป็นกรอบความคิดที่แปลกประหลาด เพราะเหมือนมีอะไรมากมายและกลับไม่มีอะไรให้เห็นเลย หลายสิ่งหลายอย่างในยุคเริ่มก่อตัวเป็นอยุธยา กลับถูกยกเอาไปเป็นงานศิลปะเขมร ยกไปเป็นศิลปะอยุธยา-อู่ทอง อโยธยา หรือยกไปเป็นศิลปะลพบุรี (ละโว้) ทั้งหมด
.
ภาพปูนปั้นนางฑากิณีแหกขาที่ปราสาทเนินทางพระ จึงอาจช่วยลดอคติความคิด เอาคติความนิยมมาทำความเข้าใจในคติความเชื่อแบบวัชรยานตันตระที่แตกต่างไปจากมหายาน และยังเป็นร่องรอยสำคัญของผู้คนที่เคยครอบครองดินแดนสุวรรณปุระ ที่มีความคิดความเชื่อในคติตันตระแบบเดียวกับเมืองพระนครธมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนพัฒนาตัวเองกลายมาเป็นรัฐใหญ่นาม “สุพรรณภูมิ” ริมแม่น้ำท่าจีนในเวลาสืบเนื่องต่อมาครับ
เครดิต ;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น