วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

จูลประโทนเจดีย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“จุลประโทนเจดีย์” สถูปเจดีย์ที่ (อาจ) เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
“...สถูปคันธาระ น่าจะเป็นต้นแบบของเจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม ทั้งนี้เพราะสถูปองค์นี้มีฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมและบันไดขึ้นทั้ง 4 ด้าน ตกแต่งด้วยเครื่องประดับทางสถาปัตยกรรมเช่น เสาอิง และซุ้ม อันเป็นลักษณะเด่นของสถูปที่แคว้นคันธาระ ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นศูนย์กลางของนิกายสรรวาสติวาท ...การตกแต่งสถูปด้วยเส้นลวดบัวด้วยสีแดงและสีดำ เช่นที่เจดีย์จุลประโทน ก็ยังเป็นคตินิยมของนิกายนี้...” (พิริยะ ไกรฤกษ์ : 2544)
สถูปจุลประโทนเจดีย์ ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของพระประโทณเจดีย์ ประมาณ 400 เมตร หรือหากนับจากถนนเพชรเกษม ปากทางเข้าข้างเทคนิคนครปฐมไปตามถนนเทศบาล 1 ประมาณ 250 เมตร มีขนาดฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวประมาณ 20 * 20 เมตร ครับ 
ในปี พ.ศ. 2483 มีการขุดลอกหน้าดินเนินทับถม โดย “ปิแอร์ ดูปองต์” (Pierre Dupont) จาก “สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ “ (École française d'Extrême-Orient - EFEO) ร่วมกับกรมศิลปากร ภายใต้การนำของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้ตั้งชื่อซากสถูปที่พบนี้ขึ้นใหม่ว่า “จุลประโทน” เพื่อมิให้ไปสับสนกับ “พระประโทณเจดีย์” (ที่มีขนาดใหญ่กว่า) ต่อมายังมีการขุดค้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2511 จึงทำให้รู้ว่า เจดีย์จุลประโทนนั้นมีการก่อสร้าง บูรณะและปรับปรุงต่อเติมมาต่อเนื่องมาถึง 3 สมัย เริ่มมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 ถึงพุทธศตวรรษที่ 13 และยังได้มีการบูรณะครั้งสุดท้ายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
--------------------
*** จุลประโทนเจดีย์ สร้างในครั้งแรกราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12  ในคติ “สรวาสติวาท” (Sarvāstivāda) อันเป็นนิกายหนึ่งของนิกาย“สถวีรวาท-เถรวาท” (Sthāvirīya -Theravāda) ในอินเดียเหนือ แต่ใช้คัมภีร์ภาษาสันสกฤต ปฏิเสธปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามแบบนิกายมหาสังฆิกะ-มหายาน (Mahāsāṃghika - Mahāyāna)  ซึ่งในยุคแรกสร้างนั้น มีฐานแผนผังรูปจัตุรัส รูปแบบของชั้นฐานประทักษิณ 1 ชั้น (ปัจจุบันจมอยู่ใต้ดิน ที่เห็นอยู่เป็นชั้นต่อเติมในสมัย 2 – 3 ) ที่หน้ากระดานตกแต่งเป็นเสาอิง/เสาคั่นแบบคันธาระ เกิดเป็นช่องว่างระหว่างกลางเพื่อประดับรูป “ประติมากรรมดินเผา” (Terracotta plaques) ที่เล่าเรื่อง ชาดก (ชาตกะ-Jātaka) วรรณกรรม “อวทานะ - อวทานศตกะ – ทิวยาวทานะ” (Avadānas – Avadānashataka - Divyāvadāna) เป็นตัวอย่างการกระทำคุณงามความดีและกุศลบารมีโดยพระโพธิสัตว์และบุคคลหลากชนชั้น ที่จะได้บรรลุเป็นพระมานุษิโพธิสัตว์ในอนาคต ภาพมงคลรูปบุคคลและสัตว์ มีบันไดทางขึ้นตรงกลางทั้ง 4 ด้าน ทำราวบันไดเป็นรูปลิ้นที่แลบออกมาจากปากสิงห์ ส่วนเชิงบันไดทางขึ้นทำเป็นรูปอัฒจันทร์วงโค้ง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะแบบคุปตะในอินเดียเหนือและแคว้นอานธระในอินเดียใต้ครับ
ถัดขึ้นไปเป็นชั้นฐานที่มีการเพิ่มมุมยกเก็จซ้อนชั้น เพื่อรองรับซุ้มอาคารจำลองที่มีซุ้มหน้าบัญชร เป็นมุขยื่นออกมาจากฐานสี่เหลี่ยมแบบเดิม ประดับชั้นฐานของมุขด้วยลวดบัวผูกเป็นชั้น “เวทีพันธะ/อธิษฐาน” “เวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” (Vedībandha - Adhiṣṭhaāna)  ประกอบด้วย “ขื่อปลอม” (Dentils) คล้ายซี่ฟันเฟือง ทำเป็นหัวไม้ที่เหลาปลายยื่นออกมาในท้องไม้ด้านล่าง รองรับชั้นบัวลูกแก้วหรือ“บัววลัย” (Bua Valai) โค้ง ซึ่งนิยมทั้งในอินเดียเหนือและอินเดียใต้ แบบเดียวอย่างชุดฐานวิหาร “พระมูลคันธกุฏี-วิหาร” (Mulgandha kuti – vihar) ที่สังฆารามสารนาถ ในศิลปะแบบปลายราชวงศ์คุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 11-  12 และชุดฐานของมหาสถูปนาลันทา (Nalanda) ในรัฐพิหาร ในงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 
ชุดลวดบัวของชั้นซ้อนในครั้งแรกสร้าง ทำเป็นฐานชุดหน้าบัวคว่ำ ท้องไม้ชั้นล่างทำเป็นรูปขื่อปลอม ถัดขึ้นมาเป็นชั้นบัววลัย หน้ากระดานท้องไม้แคบมีเสาแบ่งเป็นช่อง ๆ ทำเป็นลายตารางหมากรุกคล้ายหน้าต่าง ตามแบบสถูปคันธาระ – กุษาณะ สิ้นสุดที่ชั้นคานหลังคาปลอม (กโปตะ-Kapota) บัวเชิงรองรับผนังอาคารยกเก็จที่มีการประดับตกแต่งด้วยเสาอิงและซุ้มอาคารวิมาน ประดิษฐานประติมากรรมเช่นพระพุทธรูปยืนอยู่ภายในซุ้ม เหนือชั้นฐานยกเก็จประดับซุ้มอาจซ้อนด้วยเนินโดมอัญฑะหรือองค์ระฆังด้านบนทแต่ได้พังทลายลงมาทั้งหมดครับ  
*** จนถึงในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ได้มีการต่อเติมชั้นฐานให้สูงขึ้นจนกลายเป็นกำแพงสูง ด้วยลวดบัววลัยขนาดใหญ่ (ทำหน้าที่บัวเชิงไปในตัว) ต่อด้วยชุดของหน้ากระดานที่มีเสาอิง (ติดผนัง) เรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย รองรับชั้นคานหลังคาปลอม (กโปตะ) ปิดทับส่วนฐานของชั้นย่อเก็จชั้นแรกที่สร้างในยุคก่อนไปจนหมด แต่ยังคงรักษาบันได ทั้งยังมีการซ่อมแซมรูปดินเผาเดิม รวมทั้งปั้นเติมส่วนที่แตกหักออกไปใหม่ด้วย “ปูนปั้น” (Stucco figures) เป็นเรื่องราวชาดกในคติเถรวาท

*** ต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 - ต้นพุทธศตวรรษที่14 จึงมีการสร้างฐานประทักษิณขึ้นใหม่ ทำเป็นฐานยกเก็จ 8 กระเปาะ ที่บริเวณมุมและตรงกลาง ทับฐานจัตุรัสเดิมในยุคก่อนหน้าทั้งหมด ตามแบบความนิยมในยุคศิลปะทวารวดี ที่มีชุดของลวดบัววลัยในชั้นของลวดบัวหน้ากระดาน ขื่อปลอมที่จมลงไปในท้องไม้ สลับกับเสาติดผนังแบ่งเป็นช่องขนาดเล็กประดับรูปยักษ์แบก ทำให้ลานประทักษิณมีความสูงกลายเป็นฐานขนาดใหญ่ ที่มุมทั้ง 4 ด้าน ทำเป็นสถูปบริวาร
รูปประติมากรรมภายในซุ้มบัญชร อาจได้ถูกปรับเปลี่ยนจากพระพุทธรูปยืนปางวิตรรกะ (ที่นิยมในยุคก่อนหน้า) มาเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทแบบกรีก (ปรัมภปาทาสนะ) และพระพุทธรูปนาคปรก ตามแบบคติเถรวาทลังกา–อานธระในช่วงเวลานี้   
ต่อมาในยุควัฒนธรรมบายน – ขอมเจ้าพระยา ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ก็ยังพบหลักฐานการเข้ามาใช้ประโยชน์ที่เจดีย์จุลประโทนอีกครั้ง โดยพบรูปปูนปั้นประดับอาคารรูปบุคคล รวมทั้งพระพิมพ์อีกเป็นจำนวนมากครับ
*** ถ้าไม่นับพระปฐมเจดีย์ ที่ถูกสร้างครอบไว้จนยากจะรู้ว่า พระเจดีย์ใหญ่ที่อยู่ภายในนั้นมีความเก่าแก่ขนาดไหน จุลประโทนเจดีย์จึงนับว่าเป็นสถูปเจดีย์ในงานสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะคุปตะ-อานธระ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่สร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ครับ 
เครดิต FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น