“สิงห์ทวารบาล/สิงหปราการ” ล้อมรอบฐานพระเจดีย์องค์แรกของโลก ที่วัดธรรมิกราช
ประมาณช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 สมัย “สมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)” ปกครองอาณาจักรอยุทธยา พุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์/รามัญนิกาย ที่ผ่านเข้ามาในรัฐสุพรรณภูมิ ได้ส่งอิทธิพลต่อเนื่องไปยังเมืองท่าอยุทธยา อาณาจักรใหม่ที่เพิ่งเกิดราชสำนักกษัตริย์ผู้ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไม่นานนัก รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังเตี้ย (ฟองน้ำ) แบบลังกา ที่มีฐานตรีมาลาและฐานปัทม์ท้องไม้ในแผนผังกลม และมาลัยเถา/บัวลูกแก้วสามชั้นรองรับฐานบัวปากระฆัง ได้ถูกผสมผสานเข้ากับเจดีย์แบบสุพรรณภูมิ ทรงสูงเพรียวมีเรือนธาตุก่อเป็นผนังสูงผัง 8 เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังแบบลอมฟางเป็นครั้งแรก
.
*** เจดีย์ประธานวัดธรรมิกราช ทางเหนือของเกาะเมืองอยุธยา อาจเป็นตัวอย่างอันดีของการผสมผสานเจดีย์แบบลังกาฐานปัทม์มีท้องไม้ในผังกลม องค์ระฆังเตี้ยป้อม กับเรือนธาตุแบบ 8 เหลี่ยมของรัฐสุพรรณภูมิ โดยเปลี่ยนฐานเขียง/ตรีมาลา/บุปผาปธาน” (Mālāsana-Trimālā) แบบผังกลม 3 ชั้น มาเป็นแบบ 8 เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานปัทม์ชุดบัวคว่ำ/ท้องไม้/บัวหงาย จากผังกลมแบบลังกา ถูกเปลี่ยนเป็นฐานปัทม์ผัง 8 เหลี่ยมที่ยืดชั้นท้องไม้ให้กว้าง คาดลวดบัวลูกฟัก ลูกแก้วหรืออกไก่ 2 เส้น ห่างกัน ซ้อนขึ้นไป 3 ชั้น กว่าเดิมเลียนแบบเรือนธาตุเจดีย์สุพรรณภูมิ ที่เหมือนถูกกดชั้นเรือนธาตุให้เตี้ยลงครับ
.
ส่วนขององค์ระฆังยังคงเป็นผังกลม อาจมีทั้งแบบลอมฟาง (ชะลูดสูงแบบพุกาม) และแบบฟองน้ำ (เตี้ยป้อมแบบลังกา) แต่ไม่มีมาลัยเถา (บัวลูกแก้วเป็นวงแหวน 3 ชั้น) ตามแบบสุพรรณภูมิ มีบัวปากระฆังทรงกลมรองรับองค์ระฆัง
.
*** เหนือองค์ระฆัง เป็นฐานบัลลังก์แบบฐานปัทม์ ที่ถูกเปลี่ยนรูปบัลลังก์ผัง 4 เหลี่ยมใหญ่ มาเป็น “บัลลังก์ผัง 8 เหลี่ยม” อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเจดีย์แบบรัฐสุพรรณภูมิในช่วงเวลาแรกของการเข้าครอบครองเมืองท่าใหม่แห่งนี้ครับ
.
ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรที่มีขนาดกลมใหญ่ บัวฝาละมีที่มีพื้นใต้ล่างโค้งงอนขึ้นไปรับกับลาดบัวโค้งด้านบน แตกต่างจากพื้นล่างของแบบบัวฝาละมีแบบลังกา ต่อด้วยปล้องไฉนกลมที่เว้นช่องว่างเป็นท้องไม้ ส่วนปลียอดและลูกแก้วยอดสุดของพระเจดีย์
.
*** เจดีย์ลูกผสมแบบลังกาและสุพรรณภูมิ จึงเกิดขึ้นครั้งแรก ๆ ที่วัดธรรมิกราชนี้เองครับ
.
*** ต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 คติลังกาวงศ์แบบสีหลภิกขุ/กัลยาณีภิกขุ จากลังกาและสุโขทัยได้ส่งอิทธิพลเข้ามาอีกระลอก เกิดการสร้างพระเจดีย์ทรงระฆังอ้วนป้อมประดับฐานมาลัยเถา ฐานเตี้ยแบบลังกา อย่างเจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ตามแบบสถูป“มหิยังคณะสถูป” พระมหาเจดีย์องค์สำคัญในลังกา
.
ในรัชกาลเดียวกัน เมื่ออาณาจักรอยุทธยาพิชิตเมืองพระนครศรียโศธระปุระได้ในปี พ.ศ. 1974 มีการนำรูปประติมากรรม “สิงห์” ที่เคยประดับเป็นคู่บริเวณหน้าบันไดทางเข้าสู่ศาสนสถานแบบเขมรโบราณ ในความหมายของ “ทวารบาล” และคติการวางฐานประทักษิณยกพื้นแบบ “หัตถีปราการ” (Hatthī-Prākāra) ของลังกา อย่างวัดช้าง วัดมเหยงคณ์และวัดหัสดาวาส ที่มีการประดับรูปช้างล้อม/ช้างรอบ มาเสริมฐานประทักษิณแบบลานกว้างแบบเดียวกับวัดมเหยงคณ์ ล้อมประกบรอบเจดีย์ 8 เหลี่ยมองค์เดิมที่สร้างขึ้นในยุคพระราชบิดา โดยวางรูปสิงห์ล้อมรอบที่หมายถึง “ผู้ปกป้องพระสถูปเจดีย์” แทนรูปช้างล้อม/ช้างรอบ ที่หมายถึงการค้ำจุนพระพุทธศาสนาตามคติความหมายของฝ่ายลังกาครับ
.
*** พระเจดีย์ 8 เหลี่ยมที่วัดธรรมิกราช จึงได้มีกลายมาเป็นพระเจดีย์ที่มีฐานประทักษิณแบบ “สิงห์ล้อม” (สิงหปราการ /Siṃha-Prākāra) เป็นองค์แรกของของโลก (?) ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการประดับรูปสิงห์ทวารบาลล้อมฐานเจดีย์วัดสามปลื้มและวัดสามวิหาร
.
ประติมากรรมปูนปั้นสิงห์ล้อมฐานประทักษิณเจดีย์ประธานวัดธรรมิกราช มีจำนวนด้านละ 12 ตัวและตรงมุมทั้ง 4 ทิศ รวมเป็น 52 ตัว ผนังฐานด้านหลังตัวสิงห์ทำเป็นเสาอิงแบ่งเป็นช่องตามจำนวน (ไม่ชัดเจนว่ามีหลังคาซุ้มหรือไม่) เป็นสิงห์คำราม (อ้าปากไม่มาก แยกให้เห็นเขี้ยวแหลมคล้ายว่ากำลังขู่ให้กลัว) ปั้นปูนประดับรายละเอียดตามแบบงานแกะสลักหินทรายรูปสิงห์ทวารบาลที่พบงานศิลปะเขมรโบราณและละโว้ สองขาหน้าเหยียดตรง ขาหลังนั่งยองไม่ติดพื้นในความหมายของการเตรียมพร้อมกระโจนเข้าใส่ แผงขนส่วนหัวถูกประยุกต์เป็นลายกระหนกจนดูเป็นเทริดหรือกระบังหน้า แผงขนส่วนหน้าอกและส่วนอื่น ๆ ก็ทำเป็นลายกระหนก ลำตัวสวมกรอศอ กุณฑลและรัดข้อเท้าด้วยกำไลพาหุรัด แบบเดียวกับเครื่องประดับของรูปบุคคล ส่วนหางปั้นโค้งลู่แนบขึ้นมากับกลางแผ่นหลัง (จะได้ไม่หักง่าย) ครับ
.
ตรงกลางของฐานประทักษิณในแต่ละด้านทำเป็นบันไดทางขึ้นลานด้านบนตามแบบแผนผังเจดีย์ประธานวัดมเหยงค์ ประดับด้วยพญานาคหัวราวบันได 5 เศียร ตามคติบันไดนาคแบบเขมร ซึ่งในการบูรณะช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ได้มีการปั้นปูนเพิ่มยักษ์แบกเพิ่มเข้าไปที่ส่วนฐานของหัวพญานาค
.
*** ปูนปั้นรูปสิงห์คงชำรุดเสียหายจนต้องมีการซ่อมแซม ใส่ลวดลายประดิษฐ์ใหม่ปั้นปูนพอกทับปูนเก่า จนถึงขั้นปั้นเป็นรูปสิงห์ทั้งตัวเลียนแบบของเดิมขึ้นใหม่มาวางแทนที่ จนดูเหมือนว่าสิงห์แต่ละตัวนั้นมีรายละเอียดของลวดลายแตกต่างกันไปไม่ได้เหมือนกันทุกตัวครับ
เครดิต : :FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น