“ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” วัดศรีสวาย ศิลปะเขมรรุ่นสุดท้ายในรัฐสุโขทัย ไกลสุดจากเมืองศรียโศธระปุระ
งานศึกษาทางโบราณคดีในปี พ.ศ. 2556 (ภาณุวัฒน์ : 2556) กล่าวถึงทับหลังจากวัดศรีสวายไว้ว่า “...ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ศิลาทราย มีขนาด 29 x 141 เซนติเมตรพบที่ปราสาทหลังกลาง สลักภาพพระนารายณ์หรือพระวิษณุ บรรทมเหนือพญาอนันตนาคราชแผ่พังพานเจ็ดเศียร มีก้านบัวผุดจากพระนาภี เหนือก้านบัวเป็นรูปพระพรหมนั่งประนมหัตถ์ปลายพระบาทมีพระลักษมีประคองพระชงฆ์ และถัดไปเป็นรูปโยคีนั่งประนมหัตถ์ ในการกำหนดอายุสมัยของนักวิชาการยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันไปกล่าวคือ หากพิจารณาจากรูปแบบทางศิลปะ พระนารายณ์มีลักษณะการบรรทมราบ และรูปโยคีนั่งมีสายโยคปัฏฏะรัด อาจมีอายุเก่าแก่สุดร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบาแค็ง (พ.ศ. 1426 – 1468) จนถึงศิลปะเขมรแบบบาปวน (พ.ศ. 1553 –1623) หรืออาจเป็นฝีมือของช่างพื้นเมืองที่เลียนแบบศิลปะรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18...”
.
การขุดตรวจชั้นดินข้างกำแพงชั้นในฝั่งตะวันตกติดกับอาคารวิหารน้อย ได้แสดงว่า ปราสาทวัดศรีสวายเป็นปราสาทที่มีอายุน้อยที่สุดในบรรดาปราสาทยอดวิมานแบบเขมรที่สร้างขึ้นในเขตเมืองสุโขทัย คือมีอายุการก่อสร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับช่วงยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ที่เมืองพระนคร และสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ศรีอินทรบดินทราทิตย์-พ่อขุนบางกลางหาว) จนถึง พญารามราช/พ่อขุนรามคำแหง (พระบาทกมรเตงอัญศรีรามราช) ในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
.
หินที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาททั้งหมดคือ “หินศิลาแลง” (Laterite) อันเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น แต่เลยชั้นเรือนธาตุขึ้นไปเป็นการก่ออิฐทั้งหมดซึ่งเป็นการก่อสร้างยอดใหม่ในสมัยอยุทธยา รูปแบบการก่อสร้างเดิมเป็นงานสถาปัตยกรรมทรงปราสาทยอดศิขระวิมาน ปราสาทวัดศรีสวายในครั้งแรกสร้างยังคงเป็นปราสาทสามยอดในคติวัชรยาน ที่เป็นความนิยมของราชสำนักผู้ปกครองสุโขทัยเดิมในจักรวรรดิบายน ตามแบบปราสาทพระพายหลวง ดังที่มีการพบรูปเคารพสำริด พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนปางแสดงธรรม (พระวัชรสัตว์ /อาทิพุทธ) ภายในปราสาท
.
แต่กระนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองครั้งใหญ่ทั้งในเมืองพระนครและในสุโขทัยในยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ที่ดูเหมือนว่ากลุ่มอำนาจใหม่ของทั้งสองรัฐ (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์/สุโขทัย และพระเจ้าชัยวรมันที่ 8) จะมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ และมีความนิยมในคติความเชื่อแบบลัทธิฮินดูเดียวกัน ดังพระนาม “อินทรา” ที่หมายถึงพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ พระนาม “รามราช” ที่แสดงถึงพระนามพระอวตารแห่งองค์พระวิษณุ ปราสาทวัดพระพายหลวงจึงอาจได้ถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นเทวาลัย 3 หลัง ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นเวลาที่ได้มีการประดับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์/วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ ที่ปราสาทหลังกลางครับ
.
*** ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่พบจากปรางค์ปราสาทวัดศรีสวาย สลักขึ้นตามขนบแบบแผนงานศิลปะแบบเขมรโบราณ ในคติ “ตรีมูรติ” (Trimurti) ดังปรากฏภาพของ “พระศิวะ” (Shiva) ในรูปของฤๅษี ประทับ (นั่ง) ในท่าโยคาสนะ (Yogāsana) แบบชันเข่าและไขว้ข้อเท้าทั้งสองข้าง (อุตกูฎิกาสนะ) มีสายนาคเป็น “สายโยคปัฏฏะ” (Yogapaṭṭa) รัดพระชงฆ์ทั้งสองข้าง (การทรมานเพื่อบำเพ็ญตบะของฝ่ายไศวะนิกาย) ด้านหลังเป็นวงรัศมีและรอยสึกกร่อนแบบแนวของใบไม้ ซึ่งควรหมายถึงต้นไทรที่ประกอบในพระภาคโยคะทักษิณามูรติขององค์พระศิวะ ตรงกลางเป็น “พระวิษณุ” (Viṣṇu) 4 กร และพระนางลักษมีกำลังปรนิบัติ ตามคติการสร้างโลกใหม่ มีรูปนาค 7 เศียร สวมมงกุฎเล็ก และกลีบบัวเกสรเรียงแถวตั้งตรงปิดขอบด้านซ้ายอยู่เหนือพระเศียร ด้านบนมีรูปโค้งต่อเนื่องคล้ายคลื่นน้ำ ? มีรูป “พระพรหม” (Brahmā) ขนาดเล็ก แสดงอัญชลีบนดอกบัว ขนาบข้างด้วยเครื่องสูง "พัดโบก/วาลวิชนี” (แบบหางนกยูง)" รูปตัว V มีแกนกลาง ที่แผ่ใบออกเป็นลายขนนกซ้อน 3 เล่ม
.
*** เมื่อพิจารณาขนาดของหิน การจัดวางตำแหน่งของภาพสลักและการเข้าหินด้านข้าง ได้แสดงให้เห็นว่า หินทรายที่นำมาใช้มีความกว้าง*ยาวเท่ากับผนังคานบนของช่องประตูปราสาทประธาน แกะสลักภาพตรงกลางแบบสมมาตรตามขนาดประตู (ประมาณ 1.1 เมตร) โดยเว้นปลายหินทั้งสองข้างด้านละประมาณ 15 เซนติเมตร ให้เป็นพื้นที่เดือยหิน เพื่อสอดเข้ากับช่องรูของผนังกำแพงด้านข้างอย่างพอดิบพอดีครับ
.
ทับหลังนี้ แกะสลักขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกับการสร้างปราสาทเป็นเทวาลัย ช่วงประมาณปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 18
.
*** ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากวัดศรีสวาย จึงเป็นงานศิลปะตามขนบแบบแผนเขมรโบราณเพื่อประกอบเข้ากับกรอบประตูปราสาทเทวาลัยรุ่นสุดท้ายในรัฐสุโขทัย และยังเป็น “ทับหลัง” ที่ปรากฏอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอาณาจักรกัมพุชะเทศะที่เมืองศรียโศธระปุระมากที่สุดอีกด้วยครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น