“พระพุทธรูปลีลา/ประทานพร” ศิลปะราชวงศ์คุปตะ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
*** บันทึกของหลวงจีนฟาเหี้ยน (Faxian ,Fa-Hien) พระภิกษุในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก ที่ได้เดินทางไปไปนมัสการสังเวชนียสถานที่สารนาถในปี พ.ศ. 945 ในยุคของพระเจ้าจันทรคุปตะที่ 2 วิกรมาทิตย์ (Chandragupta II Vikramaditya) แห่งราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 10 เขียนไว้ว่า
.
“....คณะของเราออกเดินทางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำวรุณาประมาณ 10 ลี้ ได้มาถึงสังฆารามสารนาถ (อารามมฤคทายวัน) อันใหญ่กว้าง บริเวณฆาราวาสแย่งออกเป็น 8 ส่วน มีกำแพงล้อมอยู่โดยรอบแยกเป็นสัดส่วนจากพระภิกษุสงฆ์ แต่ละส่วนทำเป็นชั้นต่อกันขึ้นไปยื่นออกไปด้วยระเบียงทางเดินยาว นายช่างผู้ออกแบบได้แสดงฝีมือการก่อสร้างที่หาเปรียบไม่ได้ ขณะไปถึง มีพระภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่ในบริเวณสังฆารามแห่งนี้ประมาณ 1,500 รูป เป็นสงฆ์ในนิกายสางมิตียะอันเป็นสาขาหนึ่งแห่งนิกายหินยาน...”
.
-------------------
*** “พระพุทธรูปยืนตริภังค์” (Tribhaṅga/เอียงสามส่วน) ปางประทาน/ลีลา มีแผ่นหลังเป็นประภามณฑล ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับถวายมาจากรัฐบาลอินเดีย/อังกฤษในครั้งเสด็จเยือนในปี พ.ศ. 2434 ดังปรากฏความใน “นิทานโบราณคดี” (พ.ศ. 2487) เรื่องที่ 7 ตอน “สืบพระศาสนาในอินเดีย” ความว่า
.
“...เวลาฉันเสาะหาของโบราณ ที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เจ้าพนักงานกรมตรวจโบราณคดีของรัฐบาลอินเดียเขาสงเคราะห์มาก ของโบราณเช่นพระพุทธรูปเป็นต้น ที่ยังไม่ได้ส่งเข้าพิพิธภัณฑสถานฉันไปพบสิ่งใด อยากได้เขาก็ให้ แต่เราก็ต้องเกรงใจเขา เลือกเอามาบ้างแต่พอสมควร ฉันได้พระพุทธรูปปางลีลาแบบสมัยคุปตะ ราว พ.ศ. ๑,๐๐๐ มาจากมฤคทายวันองค์หนึ่ง และมาได้รอยพระพุทธบาที่กล่าวมาแล้ว กับทั้งพระพุทธรูปและพระสถูปขนาดน้อยที่พุทธคยาอีกหลายสิ่ง ของเหล่านั้นฉันเอามาถวายพระเจ้าอยู่หัว เดิมโปรดให้ไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังย้ายเอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ยังอยู่ที่นั่นทั้งนั้น...”
.
*** พระพุทธรูปยืนปางประทานพร ศิลปะแบบคุปตะ ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครองค์นี้ เป็นงานพุทธศิลป์แบบ “สกุลช่างสารนาถ” (Sārnāth Art) (“สารงฺค+นารถ – สารังคนาถ” /ที่พักพิงของหมู่กวาง) /ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (Isipatana Migadava) ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 10 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 11 สลักขึ้นจากหินทรายชูนาร์ (Chunar sandstone) สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง กระหม่อมอุษณีษะกลมไม่โหนกสูง ไม่มียอดพระเจ้า มวยพระเกศาหยิกแบบก้นหอย ครองผ้าจีวรและสังฆาฏิแบบห่มคลุม ผ้าบางแนบพระวรกายแบบผ้าเปียกน้ำ ไม่มีรอยริ้วผ้า (ซึ่งอาจหมายผ้าไหมกาสี (Kashi Silk) เนื้อบางละเอียด มีความงดงาม มีคุณค่าและคงทน เป็นผ้าชั้นสูงที่นิยมของราชสำนักเมืองพาราณาสีมาแต่ยุคโบราณ) แต่ยังปรากฏลายเส้นผ้าย่น ลายเส้นจีบทบ ลายเส้นรัดประคดผ้าสบงแบบผูกปมปล่อยสายห้อย ผ้าสังฆาฏิจากข้อพระกรทั้งสองลงมาที่พระชงฆ์ ปลายรั้งขึ้นเหนือกว่าผ้าสบง พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพรแบบทิ้งพระกรฝั่งขวาตามแนวพระวรกาย แล้วแบพระหัตถ์หงายออก แยกพระกนิษฐา (นิ้วก้อย) ออกมาเป็นสัญลักษณ์ พระหัตถ์ซ้าย ชักรั้งผ้าขึ้นมากำลูกบวบ (หักหายไป) ที่แสดงถึงท่าเดิน (ลีลา)
.
พระพุทธรูปองค์นี้ เป็น “พระพุทธเจ้าสมณโคตม” ในนิกาย“สถวีรวาท”(Sthāvirīya) หรือนิกายหินยาน นิกายย่อย “สางมิตียะ/วาตสิปตรีย/วาตสิปุรียสางมิตียะ” (Samitīya) ผสมผสานกับคติมหาบุรุษ/เทพเจ้าของฝ่ายฮินดู (รูปลักษณ์แบบตริภังค์) ที่อาจเรียกว่า “นิกายคุปตะ” (ราชสำนักคุปตะนับถือ/นิยมลัทธิฝ่ายฮินดูแทบทุกสมัย) ใช้คัมภีร์เป็นภาษาสันสกฤต เน้นคำสอนเรื่อง ขันธ์ 5 ในการเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตาไม่มีตัวตน ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาไม่ใช่เทวดาหรือพระเจ้าแต่อย่างใด เพียงแต่มีคุณสมบัติบางประการเหนือมนุษย์สามัญเท่านั้น
.
.
*** พรุ่งนี้ เราจะได้ไปเรียนรู้แบบชัด ๆ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กันครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น