วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พุดตานด้านซ่อน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พุดตาน ก้านขดม้วน เครือเถา ช่อหางและใบอะแคนตัส” พุทธศิลป์งามในพระพุทธบาทแห่งวัดพุทไธศวรรย์ 

“...ตรงกลางของจัตุรัสมีพระปรางค์ใหญ่ปิดทอง มี 4 ประตู ...มีบันไดศิลาปิดทอง... มหาธาตุนั้นประดิษฐานอยู่ภายในคูหาของพระปรางค์ ห้องนี้สร้างขึ้นเพื่อให้สามารถเดินประทักษิณได้โดยรอบพระมหาธาตุโดยไม่ต้องเข้าไปใกล้... ภายในพระปรางค์ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองปิดทองอีกด้วย...” (บันทึกคณะทูตชาวสิงหล ที่ได้มาเยือนวัดพุทธิสุวรรณ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปี พ.ศ. 2239)
.
*** บริเวณช่องริมผนังภายในคูหาตรีมุขด้านหน้า ติดกับเรือนธาตุปราสาทของพระปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาทจำลอง” สลักขึ้นจากหินทราย ทั้งฝั่งทิศเหนือและฝั่งทิศใต้ โดยฝั่งทิศใต้ยังคงมีความสมบูรณ์ครบถ้วนกว่าฝั่งทางทิศเหนือ  
.
ในครั้งแรกสร้างนั้น พระพุทธบาทจำลองทั้งสองฝั่งน่าจะมีรูปแบบของการประดับและฐานขาสิงห์แบบเดียวกัน แต่พระพุทธบาทผนังฝั่งทางทิศเหนือถูกเจาะและทุบทำลายจนสิ้นสภาพ คงเหลือเพียงแต่ส่วนพระพุทธบาทที่แกะสลักจากหินทรายอยู่เท่านั้นครับ ในขณะที่ฝั่งทิศมีร่องรอยถูกเจาะบางส่วนครับ   
.
ถึงแม้ว่า รูปงานศิลปะของพระพุทธบาทสลักหินทรายทั้งสองจะแตกต่างกัน โดยพระพุทธบาทฝั่งทิศเหนือ สลักความยาวนิ้วไม่เท่ากัน ส่วนพระอังคุฐ (หัวแม่เท้า) ใหญ่กว่านิ้วอื่น ๆ ทำให้รู้ว่าเป็นพระบาทเบื้องขวา (พระพุทธบาททางฝั่งทิศใต้ ความยาวของนิ้วเท่ากัน) อีกทั้งยังสลักช่วงข้อนิ้วบุ๋มลงไปตามแบบนิ้วเท้าจริงของมนุษย์ (ทางทิศใต้ เป็นแผ่น 3 ปล้อง ปั้นรักเป็นลายม้วนก้นหอย) แต่ด้วยการจัดวางรูปแบบตะแคงตั้งขวางเพื่อประดิษฐานแบบวางพิง (ผนัง) วางสัญลักษณ์มงคล 108 ประการ (อัฏฐุตรสตมงคล) ในกรอบเส้นลวดแบบตารางไปจนสุดส้นพระบาท (พระบาททิศใต้ เว้นปลายเป็นช่องใหญ่) ไม่ได้จัดเรียงลำดับมิติสุคติภูมิอย่างชัดเจน ตามแบบแผนโบราณ (ลบเลือนไปมาก) พระองคุลีบาททั้ง 5 (พระอังคุฐ พระดัชนี พระมัชฌิมา พระอนามิกา พระกนิษฐา) หันไปทางซ้ายและร่องรอยของรูปทรงกลมของดอกบัวบานแบบซ้อนดอก ที่ล้วนมีลักษณะทางศิลปะร่วมกัน ประกอบกับลวดลายประดับปั้นรัก ปั้นปูน ลงรักปิดทองประดับกระจกเกรียบที่เหลืออยู่เกือบสมบูรณ์ของพระพุทธบาทฝั่งทิศใต้ ก็สอดรับกับลายประดับพระเจดีย์ทรงปราสาท ประธานภายในคูหาของพระปรางค์ รวมถึงลายประดับของฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ที่ประดิษฐานในคูหามุขฝั่งทิศตะวันตก 
.
*** พระพุทธบาทจำลองทั้งสององค์นี้ จึงมีรูปแบบการจัดวาง ความตั้งใจสร้างเพื่อประดิษฐานในคูหาและงานพุทธศิลป์อยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ครับ
.
ลวดลายประดับของซุ้มพระพุทธบาททางฝั่งทิศใต้ ได้สะท้อนพัฒนาการของศิลปะอยุธยาที่รับอิทธิพลจากตะวันตกในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี  เริ่มต้นจากการจัดวางฐานขาสิงห์ล่างสุด ที่ส่วนหลังสิงห์กลายมาเป็นลาดหลังคาหรือบัวคว่ำ จนเกิดเป็นสันคมระหว่างหลังสิงห์เเละท้องสิงห์ที่เรียกว่า “บัวหลังสิงห์” น่องสิงห์โค้งมีคิ้วประดับ กาบเท้าสิงห์ ครีบน่อง ครีบท้องเเละนมสิงห์ มีการใช้กระหนกรูปทรงกระจังเข้ามาประกอบ เหนือฐานสิงห์ประดับกระจังตาอ้อยและกระจังเจิม ต่อด้วยท้องไม้รองรับชั้นกลีบบัวหงายสอดไส้กระจังคว่ำ หน้ากระดานดอกไม้ต่อเนื่องแบบช่องกระจกกลม (ประดับกระจกเกรียบ) สลับดอกไม้กลีบ (ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นลายช่องกระจกแบบยาวสลับก้ามปูในช่วงอยุธยาตอนปลาย) ด้านบนปั้นปูนเป็นกระจังตาอ้อยวางตัวถี่ 2 ระดับ ฐานท้องไม้รองรับบัวลูกแก้วที่ปั้นปูนประดับเป็นบัวกลุ่ม วางกลีบบัวซ้อนแบบบัวคลุ่มสับหว่าง 4 ชั้น 
.
ด้านบนทำเป็นโครงหน้าบันสามเหลี่ยม ขอบลำยองคาดเส้นลูกปัดอัญมณี 2 เส้นคู่ ตรงกลางประดับกระจก ส่วนโค้งมีหยัก (นาค) สะดุ้ง ขอบนอกปั้นเป็นกระจังบัวรวนเรียงเฉียงต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงยอด มุมขอบล่างทั้งสองฝั่งปั้นปูนเป็นกระจังกาบใหญ่ซ้อนชั้น วางลวดลายปูนปั้นแบบลงรักปิดทองบนพื้นรักดำที่เคยประดับกระจกเกรียบ พื้นที่ด้านล่างส้นพระบาทปั้นปูนเป็นก้านขดม้วน แตกใบฝรั่ง/อะแคนตัส (Acanthus) แบบหน้าบันวิหารวัดเตว็ด ไปตามก้านเครือเถาแบบอิทธิพลจีนครับ
.
ลวดลายประดับของกรอบสามเหลี่ยมหน้าบัน เป็นการผสมผสานศิลปะแบบอยุธยา/จีนและตะวันตก จัดวางรูปประธานกลางภาพเป็นดอกพุดตานแตกใบดอกโบตั๋นในรูปใบฝรั่งประดิษฐ์ แตกเถาเป็นก้านขดวง ก้านม้วนแบบเครือเถาไม้เลื้อย แตกใบเป็นกระหนกเปลว กระหนกตัวเหงา ต่อก้านด้านบนเป็นดอกพุดตานเล็กแตกใบ ก้านโค้งแตกเป็นใบฝรั่งม้วนเข้ามาด้านใน จบลายที่ปลายก้านเป็นช่อหางรูปพุ่มข้าวบิณฑ์และกระหนกสามตัว  ขอบล่างตรงกลางเป็นดอกไม้มีกลีบครึ่งดอกแบบลายจีนแต่ใช้รูปดอกไม้ตะวันตก
.
ดูเหมือนว่ารูปศิลปะของลวดลายกระหนกแบบผสมผสานอยุธยา/จีน/ตะวันตกจะพบได้เฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เท่านั้น เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจราชสำนักในเวลาต่อมา รูปศิลปะของใบอะแคนตัสได้หายไป ก้านจะเริ่มมีขนาดใหญ่ไม่แตกใบเป็นเถาแบบจีน แต่ยังคงลายนิยมลายก้านขดเป็นวง นิยมจบลายด้วยพุ่มช่อหาง
.
*** ลวดลายประดับของพระพุทธบาทในคูหามุขหน้าของปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์นี้ เรียกได้ว่า เป็นลายกระหนกแบบอยุธยาผสมผสานรูปศิลปะตะวันตกในโครงร้างการแตกพุ่มใบในงานสิลปะจีน ที่นิยมมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ยังคงมีความสมบูรณ์ หาชมความงดงามเช่นนี้ได้ยากแล้วครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น