วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระศิลาขาว

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระศิลาขาว” ปางปฐมเทศนาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท/คณะมหาวิหาร/ลังกา ที่กำลังรุ่งเรืองในเมืองนครชยศรี เริ่มได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจากราชวงศ์ปาละ/อินเดียตะวันออก เป็นครั้งแรก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงคตินิยมในช่วงเวลานี้ของวัฒนธรรมทวารวดี ได้นำไปสู่การสร้างมหาวิหารแห่งทุ่งพระเมรุ (Phra Meru Monastery) วิหารจัตุรมุข/จัตุรทิศขนาดใหญ่ ที่มีแผนผังเดียวกับ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร” (Mulagandha Kuti Vīhāra) ภายในสังฆารามสารนาถ (Sarnath Monastery) ที่ถือกันว่าเป็นสถานที่ แสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นครั้งแรก” (First Sermon Dhammacakkappavattana Sutta - Dharmacakra Pravartana Sūtra) เมืองพาราณาสี รัฐอุตตรประเทศ
.
มหาวิหารขนาดใหญ่ที่ทุ่งพระเมรุ จึงเปรียบเสมือน “สังเวชนียสถาน (สมมุติ) แห่งการปฐมเทศนา” 1 ใน 8 อัษฎมหาสถาน” (Aṣṭa Mahā Sathan/The Eight Great Places of pilgrimage) เพื่อการจาริกแสวงบุญ ตามคติพุทธศาสนาในยุควัฒนธรรมทวารวดีครับ 
.
พระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ปาง “ปรลัมพปาทาสนะ” (Pralambapadasana) หรือท่านั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ภัทรบิฐ (เก้าอี้นั่งมีพนักพิง) แบบกรีกหรือแบบยุโรป (Seated Buddha on a throne -The Buddha sits in “Greek – European Posture” on a Emperor throne) พระหัตถ์ขวาทำท่ามุทรา (กรีดนิ้ว) แสดงธรรม – สั่งสอน (วิตรรกมุทรา – Teaching) พระหัตถ์ซ้ายทำมุทราประทานพร (วรทมุทรา) สลักขึ้นจาก“หินควอร์ตไซต์” (Quartzite) จำนวน 4 องค์ จึงได้ถูกแกะสลักขึ้น แบบเป็นชิ้นส่วนต่อเชื่อมกันด้วยเดือย 7 – 8 ชิ้น ต่อองค์ ไม่ได้แกะสลักจะหินก้อนเดียวทั้งองค์ เป็นพระพุทธรูปสลักหินปางปฐมเทศนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และอาจที่สุดในโลก/ที่เหลืออยู่) มาประดิษฐานไว้ภายในมุขจระนำซุ้มแต่ละด้านของแกนกลาง (สถูป) มหาวิหาร หันหน้าออกทั้ง 4 ทิศ ในคติ “พระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ประทับนั่งบนบัลลังก์” ของฝ่ายมหายาน และเพื่อเป็นสถานแห่งการระลึกถึง (เจติยะสถาน) ใน “การประกาศพระธรรมด้วยพระสุรเสียงไปทั่วทุกทิศทั้ง 4 (จักรวาล) /การปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เป็นครั้งแรกของพระพุทธองค์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน   
.
*** พระพุทธรูปใหญ่หรือ “พระศิลาขาว” ทั้ง 4 องค์ น่าจะถูกแกะสลักขึ้นโดยมีพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทองค์เล็กแกะสลักจากหินปูนเขียว (Bluish Limestone) ที่มีอายุทางศิลปะเก่าแก่กว่า ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา เป็น “ต้นแบบ” สำคัญครับ
.
------------------
*** จนเมื่อเมืองนครปฐมโบราณร้างลงในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา วิหารแห่งทุ่งพระเมรุขาดการดูแลรักษาเป็นเวลายาวนานจนพังทลายลงมา พระศิลาขาวหลายองค์แตกหักออกจากกัน หลายชิ้นมีสภาพถูกทุบทำลาย คณะพระสงฆ์ของกรุงศรีอยุธยาที่ได้เดินทางมาจาริกแสวงบุญ จึงเกิดความสังเวชใจ ได้เก็บชิ้นส่วนแตกหักนำกลับมาปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามคติการกระทำบุญกุศลอันเป็นพุทธบูชาสืบพระพุทธศาสนา แต่เก็บมาได้ไม่ครบทั้งหมด หลายชิ้นส่วนยังคงถูกทิ้งค้างไว้ ชิ้นส่วนพระศิลาขาว 3 องค์ ถูกนำไปไว้ที่วัดพระยางกงและวัดขุนพรหม นอกเกาะเมืองอยุธยาทางทิศใต้ ส่วนพระนั่งห้อยพระบาทองค์เล็กถูกนำไปปฏิสังขรณ์ประดิษฐานไว้ที่วัดมหาธาตุ กรุงศรีอยุธยา ถูกเรียกพระนามว่า “พระคันธาราฐ – พระสรรเพชญ”
.
ชิ้นส่วนพระศิลาขาว ทั้ง 4 องค์ ถูกแยกกระจัดกระจายออกจากกันมาเป็นเวลายาวนาน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ประมาณปี พ.ศ. 2404 จึงได้มีการนำพระศิลาขาวสภาพเกือบสมบูรณ์องค์หนึ่งจากซากวิหาร มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ต่อมาเมื่อการขุดค้นในปี พ.ศ. 2481 โดย “หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์” และ “นายปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont)” จาก “สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ” École française d'Extrême-Orient (EFEO) ได้พบชิ้นส่วนพระใหญ่ที่ตรงแกนกลางซากมหาวิหารจำนวนมาก ได้นำมาเก็บรักษาที่วิหารระเบียงวัดพระปฐมเจดีย์ครับ  
.
จนถึงปี พ.ศ. 2501 ได้พบชิ้นส่วนของพระศิลาขาวที่วัดพระยากง และตามพบพระเศียร 2 องค์ จากร้านขายโบราณวัตถุย่านเวิ้งนครเกษม ปี พ.ศ. 2506 กรมศิลปากรได้ย้ายพระศิลาขาวองค์หนึ่งที่ซ่อมต่อไว้แบบผสมชิ้นส่วนหลายองค์จากวัดขุนพรหม มาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และนำชิ้นส่วน (พระเพลาและพระบาท) จากระเบียงวัดพระปฐมเจดีย์มาแยกประกอบใหม่
.
*** ชิ้นส่วนพระเศียรและพระวรกายที่พบจากวัดพระยากง วัดขุนพรหม รวมกับชิ้นส่วนที่ขุดพบจากซากมหาวิหาร (วิหารระเบียงวัดพระปฐมเจดีย์) จึงได้ถูกรวบรวมนำมาซ่อมแซมประกอบชิ้นส่วนขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2507-2510 นำไปประดิษฐานที่ลานชั้น 2 บันไดทางขึ้นฝั่งทิศใต้ และอีกองค์หนึ่งนำมาประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จนมาถึงในปัจจุบัน
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น