“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” เมืองไชยา งามเมตตากรุณาที่สุดในประเทศไทย
.
.
.
คติความเชื่อเรื่อง “พระโพธิสัตว์” (Bodhisatava) นั้น อาจเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 7 จากแนวคิดของ “พระอัศวโฆษ(Aśvaghoṣa) ผู้รจนา “มหายานศรัทโธทปาทศาสตร์” (Mahayanasraddhotpatti) และ “พุทธจริต” (Buddhacarita) อันถือเป็นคัมภีร์เล่มแรก ๆ ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) ซึ่งต่อมาไม่นานนัก “ท่านนาคารชุนนะ” (Nāgārjuna) ได้รจนา “มาธยมิกศาสตร์” (Madhyamakakārikā) ผสมปรัชญาและวิถีปฏิบัติที่เด่นชัดของแต่ละนิกายในพระพุทธศาสนารวมเข้ากับปรัชญาโยคะของฝ่ายพราหมณ์มาอธิบายเป็น “ปรัชญาศูนยตาวาทิน” (Śūnyatā) จนเกิดเป็นนิกายมหายานขึ้นอย่างชัดเจน
.
นิกายมหายาน แบ่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ออกเป็นสามระดับที่เรียกว่า “ตรีกาย” (Tri-kāya) โดยระดับพุทะภาวะสูงสุดเรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) มี “พระอาทิพุทธ” ( Ādi) “พระวัชรสัตว์ – พระมหาไวโรจนะ” (Vajrasattva - Mahāvairocana) เป็นผู้กำเนิดพระธรรมและพระธยานิพุทธเจ้า 5 พระองค์ รองลงมาคือ “สัมโภคกาย” (Sambhoga-kāya) คือ กายทิพย์ หมายถึงระดับของพระธยานิพุทธเจ้าและพระธยานิโพธิสัตว์ และ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) หรือกายเนื้อ อันหมายถึงพระมานุษิพุทธเจ้าและพระมานุษิโพธิสัตว์ ที่จะบังเกิดเป็นกายมนุษย์ขึ้นบนโลกมนุษย์ครับ
.
ในคติมหายาน ผู้บำเพ็ญ “โพธิสัตว์บารมี” (Bodhisatava Pāramīs) อันได้แก่ ทาน (Dāna) ศีล (Sīla) ขันติ (Kṣānti) วิริยะ (Viriya) ปัญญา (Prajñā) ญาณ (Dhyāna) ได้ถึง 6 ประการแล้ว จะบังเกิดเป็นพระเทวโพธิสัตว์ ที่มีพลังอำนาจสามารถแสดงปาฏิหาริย์และช่วยเหลือเหล่าสรรพสัตว์ได้ตามปณิธาน และหากบำเพ็ญ พละ (Bala) ชญาณ (Jñāna) ปณิธาน (Praṇidhāna) อุบายะ(Upāya) รวม 10 ประการ จะบรรลุสู่การตรัสรู้และนิพพาน
.
นิกายมหายาน ผู้บูชาพระพุทธเจ้าตรีกาย พระโพธิสัตว์และการปฏิบัติโพธิญาณบารมี ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในราชสำนักและพระราชนิยมของเหล่ากษัตริย์และพระจักรพรรดิในแว่นแคว้นต่าง ๆ ของอินเดีย ส่งอิทธิพลความนิยมทั้งคติความเชื่อและงานศิลปะออกไปยังดินแดนต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นจากยุคราชวงศ์คุปตะ/อนุวงศ์แห่งแคว้นอานธระ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 จนมาถึงยุคของราชวงศ์ปาละในอินเดียตะวันออก ที่ได้แผ่อิทธิพลลงมาครอบครองคาบสมุทรมาลายู (Malay Peninsula) สุวรรณทวีป (Suvarṇadvīpa) และยวาทวีป (Yavadvīpa –หมู่เกาะชวา) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13
*** พุทธศิลป์ของพระโพธิสัตว์ในครั้งแรกเริ่มนั้น นิยมทำเป็นรูป “พระโพธิสัตว์ถือบัวปัทมะ” (พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี / Padmapāṇi Bodhisattva) หมายถึงผู้ถือดอกบัวอันเป็นความรู้แจ้ง/บริสุทธิ์ ซึ่งในนิกายสุขาวดีจะนิยมสร้างรูป “พระโพธิสัตว์ปัทมะปาณี” คู่กับ “พระโพธิสัตว์มหาสถามปราปตะ” /Mahāsthāmaprāpta) หรือ “พระโพธิสัตว์วัชรปาณี” (Vajrapāṇi Bodhisattva) ในนิกายอภิรตี (ผู้ศรัทธาในพระพุทธเจ้าอักโษภยะ) ซึ่งต่อมาในยุคราชวงศ์คุปตะ-วากาฏกะช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา จึงได้เกิดความนิยมในพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่กำเนิดขึ้นจากพระอมิตาภะ และเปลี่ยนจากพระโพธิสัตว์วัชรปาณี มาเป็น “พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ” (Bodhisattva Maitreya) ที่ประทับอยู่บนสวรรค์ รอการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า (กายเนื้อ) ในอนาคต ลงมาเป็นผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือนำพามวลมนุษย์สู่พระนิพพานแทนครับ
.
ต่อมาคติพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ได้รับความนิยม ยกย่องนับถือและสรรเสริญมากกว่าพระอมิตาภะ (พระผู้ช่วยให้รอด) จนเกิดเป็นลัทธิของผู้บูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่เรียกว่า “โลเกศวร” ขึ้น เกิดการสร้างวรรณกรรมเพื่ออธิบายถึงอานุภาพแห่งมหากรุณาเพื่อปัดเป่าภัยร้ายของมนุษย์ 8 ประการ อันได้แก่ ภัยร้ายจากสัตว์ใหญ่ ภัยร้ายจากสัตว์มีเขี้ยว ภัยร้ายจากอมนุษย์ ภัยร้ายจากเรืออับปาง ภัยร้ายจากไฟ ภัยร้ายจากงู ภัยร้ายจากโจรและภัยร้ายจากภูตผีปีศาจ ต่อมายังเพิ่มเติมมหากรุณาที่ทรงโปรดคุ้มครองสรรพสัตว์ในโลกบาดาลและโปรดคุ้มครองแก่นักบวชผู้บำเพ็ญโพธิญาณบารมี
.
พระโพธิสัตว์ในคติมหายาน คือ สัตว์ที่แสวงหาโพธิญาณและอุทิศบุญกุศลที่สะสมไว้ให้แก่ผู้อื่น เปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาอันไพศาลต่อสรรพสัตว์อันเป็นหัวใจของคติมหายาน สละแล้วซึ่งโลกียะ ไม่ประสงค์เอาบุญกุศลของตนไปใช้เพื่อการสู่แดนพระนิพพานเพียงคนเดียว แต่ตั้งปณิธานที่จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้พ้นทุกข์ นำทางไปสู่แดนสุขาวดีและพระนิพพาน
.
“เราจะเป็นที่พึ่งพิงของมวลมนุษย์ ...เป็นทางดำเนินเพื่อการหลุดพ้นจากห้วงทุกข์แห่งโลก”
.
--------------------
*** พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรยืนแบบตริภังค์ (Tribhaṅga) หักเหลือพระวรกายส่วนบนเหนือพระนาภี เหลือความสูง 64 เซนติเมตร พระกรขวาหักหายไปทั้งหมด พระกรซ้ายคงเหลือส่วนต้นพาหา มวยพระเกศา “ชฏามุกุฏ” ที่มีรูปพระอมิตาภะพุทธเจ้าด้านหน้าหักหายไป คงเหลือแต่อุณหิส (เทริด/กระบัง) สวมเครื่องประดับนิรมิต/ทิพย์ ทั้งมงกุฎ ลูกปัด กรอศอและพาหุรัด ประดับตาบอัญมณี คล้องสายมงคล “ยัชโญปวีท” (Yajñopavīta) ในรูปสร้อยสังวาล ทับอยู่บนผ้าหนังสัตว์มีรูปหัวเลียงผา/กวาง/แอนติโลป อันเป็นสัญลักษณ์ของนักบวชที่สละแล้วจากทางโลก ห่มเฉียงลงมาจากพระอังสะซ้าย เป็นงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ/อนุวงศ์คาบสมุทร/ศรีวิชัย/ราชวงศ์ไศเลนทรา ในคติมหายาน/วัชรยาน ในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 14 พบที่วัดพระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2448
.
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์สำคัญจากเมืองไชยา ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครนี้ ได้แสดงเชิงช่างศิลปะที่สะท้อนให้เห็นความเมตตากรุณาที่เปี่ยมล้นอันเป็นคติสำคัญผ่านพระพักตร์อวบอิ่มอันแสนงดงาม มีพระอุณาโลมกลางพระนลาฏ พระขนงโก่งนูนโค้ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กเป็นกระจับ พระหนุนูนกลม พระเนตรมองเหลือบมองต่ำด้วยความอ่อนโยนครับ
.
.
*** โอมฺ มณิ ปทฺเม หูมฺ” (โอม-ม-ณี-ปทฺ-เม-หูม Oṃ - Auṃ maṇi padme hūṃ)
“ดวงแก้วมณี (แสงสว่างเจิดจรัส) ได้อุบัติขึ้นจากดอกบัวแล้ว”.
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น