“อัษฎางกะ”การกราบไหว้ด้วยความศรัทธาอย่างสูงสุด ในวิถีแห่งวัชรยาน ที่ปราสาทหินพิมาย
“ อัษฎางกะ” เป็นท่าการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แบบ 8 ส่วน (Aṣṭāṅga Prostration) ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดคำเฉพาะตายตัว แต่นิยมใช้คำว่า “อัษฎางคประดิษฐ์” (Aṣṭāṅga Pratiṣṭhā) หรือ “อัษฎางคประณาม” (Aṣṭāṅga praṇāma) หรือ “อัษฎางคประณต” (Aṣṭāṅga Praṇata) “อัษฎางคสังการะ” (Aṣṭāṅga Satkāra) “อัษฎางคอัญชลี” (Aṣṭāṅga Añjalī) “อัญฎางคนมัสการ” (Aṣṭāṅga Namaskāra) ที่ล้วนหมายถึง ท่ากราบไหว้อันแสดงถึงความเคารพอย่างสูงสุด ด้วยวิธีนอนคว่ำ แขนและเท้าเหยียดออกไปจนสุด กำหนดให้อวัยวะทั้ง 8 คือ หน้าผาก ฝ่ามือทั้งสอง หน้าอก เข่าทั้งสอง และปลายเท้าทั้งสอง แนบจรดพื้นพสุธา
.
การกราบไหว้แบบอัษฎางกะนี้ ยังคงมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงในปัจจุบัน ในกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยานในประเทศอินเดีย ภูฏาน ทิเบต เนปาล การกราบไหว้แบบนี้เรียกในภาษาทิเบตว่า “ชากเซล” (Chag Tsel) โดยคำว่า “ชาก” (chag) หมายถึง “กายอันศักดิ์สิทธิ์ วาจาอันศักดิ์สิทธิ์และจิตอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย” ส่วนคำว่า “เซล” (tsel) หมายถึง “ความตั้งใจแน่วแน่ในการปฏิบัติแห่งตน” ที่หวังจะบรรลุสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระมานุษิพุทธเจ้าของผู้แสดงการกราบไหว้ครับ
.
*** วิธีการกราบไหว้แบบอัษฎางกะ จะเริ่มด้วยการยืนตัวตรง ประนมมือที่ระดับหน้าอก โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ภายในอุ้งมือเป็นรูปดอกบัว แล้วจึงเคลื่อนมือไปยังตำแหน่งกลางกระหม่อม หน้าผาก ลำคอ และหน้าอก อันเป็นตำแหน่งที่ตั้งของ “จุดจักระ” (Chakra) ที่สำคัญในร่างกาย จากนั้นจึงเหยียดแขนออกไปข้างหน้า ย่อเข่าลงพร้อมกับโน้มเอียงตัวไปข้างหน้าจนลำตัวเหยียดตรง นอนราบลงกับพื้น แต่ก็ต้องระวังไม่ให้หัวเข่าแตะพื้นก่อนที่ลำตัวจะเหยียดออกไป
.
จากนั้นจึงเคลื่อนลำแขนทั้งสองข้างไปด้านข้างของลำตัวตามแนวโค้งของวงกลมพร้อมกับค่อย ๆ ชันตัวขึ้นบนเข่า ยืดตัวขึ้นกลับมาสู่ท่ายืนตรงอย่างตอนเริ่มต้นครับ
.
*** ในการจาริกแสวงบุญแบบวัชรยาน สาธุชนผู้ศรัทธาจะเดินไปข้างหน้าแล้วหยุด เปลี่ยนท่ามาก้มลงกราบแบบไถตัวเองไปกับพื้น เดินต่อ 3 ก้าว แล้วกราบแบบอัษฎางกะที่พื้นหนึ่งครั้ง ตลอดระยะทางขึ้นสู่ศาสนสถาน หรือกราบเพื่อการเดินจงกรมไปรอบเจติยะสถานสำคัญ
.
-----------------------
*** การกราบไหว้แบบ 8 ส่วน หรืออัษฎางกะ เป็นรูปแบบการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน/ตันตระ (Vajrayāna/Tantric Buddhism) ที่มีต้นกำเนิดมาจากการผสมผสานระหว่างตันตระยานกับมหายานในแคว้นพิหาร อินเดียตะวันออก ตั้งแต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 แล้วจึงแพร่หลายรูปแบบวิธีการไหว้เข้าไปสู่ ชวา กัมพุชะเทศะ เวียดนาม ส่วนทางเหนือ ก็ส่งอิทธิพลไปตามเส้นทางการค้าโบราณเข้าสู่ทิเบต เนปาล ภูฏาน จีนและญี่ปุ่น ในช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่องกัน
.
แต่กระนั้น การกราบไหว้แบบอัษฎางกะนี้ กลับไม่ปรากฏชัดในหลักฐานของฝ่ายฮินดูในอินเดีย จึงน่าเชื่อได้ว่า การกราบไหว้รูปแบบนี้ เป็นเอกลักษณ์สำคัญเพียงเฉพาะคติความเชื่อแบบวัชรยาน/ตันตระมาตั้งแต่ในยุคโบราณเท่านั้นครับ
.
*** เมื่ออิทธิพลของพุทธศาสนาวัชรยานแบบตันตระ เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณ ตามคติมหายาน/วัชรยานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 วัชรยานแบบตันตระช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ที่พิมาย และเริ่มเด่นชัดในลัทธิ “โลเกศวร” (Lokeśvara) ตั้งแต่ช่วงยุคของจักรวรรดิบายน กลางพุทธศตวรรษที่ 18
.
ภาพศิลปะการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธาอย่างสูงสุดแบบอัษฎางกะที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่บนทับหลังชิ้นหนึ่งจากปราสาทหินพิมาย ที่แสดงภาพของบุคคลกำลังแสดงการกราบไหว้ด้วยท่าอัษฎางกะ ถวายเครื่องบรวงสรวงบูชา (เทียน/เชิงเทียน กุณฑีหม้อปากหงส์) แด่พระพุทธรูป “กัมรเตงชคตวิมาย” (Kamarateṇ Jagatta Vimāya) ตามชื่อนามที่ปรากฏในจารึกกรอบวงกบประตูโคปุระ (K.397) ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 โดยรูปบุคคลที่กำลังแสดงการกราบไหว้นี้ ควรเป็น “พระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราธิบดีวรมัน” (Kamarateṇ Añ Śrī Vīrendrādhipativarma) แห่งเมืองโฉกวกุล (Chok Vakula/ป่าพิกุล) หรือเมืองวิมาย ที่มีปราสาทหินพิมาย หรือ “ศรีวเรนทราศรม” (Srī Vīrendrāshram) ตามชื่อนามในจารึก เป็นอาศรม (ศาสนาสถานศูนย์กลาง) ของเมืองครับ
.
ภาพศิลปะการกราบไหว้แบบ 8 ส่วนหรือ อัษฎางกะ ยังปรากฏงานศิลปะในเขตเมืองพระนครศรียโสธรปุระ หลายแห่ง อย่างผนังระเบียงคดชั้น 2 ด้านทิศใต้ ของปราสาทบายนแสดงภาพของกษัตริย์และพระมเหสีทั้ง 2 พระองค์กำลังแสดงการกราบไหว้ (ถวายพุ่มดอกไม้) แด่รูปพระวิษณุ 4 กร ภาพของบุคคลนี้ ควรเป็นภาพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สถาปนาปราสาทบายน กำลังแสดงความเคารพรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แต่ต่อมาในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ได้ถูกแกะสลักดัดแปลงให้เป็นรูปพระวิษณุ และผนังด้านอื่น ๆที่แสดงภาพของกษัตริย์แสดงการกราบไหว้แบบอัษฎางกะกับรูปฤๅษี (พระศิวะ) ที่ถูกสลักขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8
.
*** ภาพสลักการกราบไหว้แบบอัษฎางกะที่สวยงามรูปหนึ่งในช่วงยุคจักรวรรดิบายน ที่เหลือรอดจากการทำลายขูดลบรูปพระพุทธเจ้าออกหรือดัดแปลงรูปในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ปรากฏบนหน้าบันปราสาทประธานของปราสาทบันทายฉมาร์ ส่วนซุ้มของมุขที่ยื่นเข้ามาชนกับปราสาทบริวารฝั่งทิศเหนือ อาจเป็นภาพของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 พระโอรสในชุดเครื่องทรงกษัตริย์ กำลังแสดงความเคารพแบบอัษฎางกะ ต่อรูป “พระมานุษิพุทธเจ้า” ( พระปางนาคปรก สวมเสื้อ ประดับสังวาลเฉียง) ในความหมายของ “มหาบรมสุคตบท” พระนามหลังสวรรคตพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชบิดาของพระองค์ครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น