“มหาสถูปแห่งศรีสุพรรณภูมิ” พระเจดีย์ 16 เหลี่ยม เพียงองค์เดียวในประเทศไทย ที่วัดสนามชัย สุพรรณบุรี
“อาจารย์บุญครอง คันธฐากูร” ปราชญ์เมืองสุพรรณ ได้เคยเล่าเรื่องราวที่ถ่ายทอดมาจากความทรงจำของผู้คนรอบวัดสนามชัย/วัดสนามไชย ในอดีต ก่อนที่พระเจดีย์ใหญ่จะเริ่มพังลงมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2467 สรุปความได้ว่า
.
“...วัดสนามชัย อาจมีชื่อนามเก่าเรียกขานกันว่า “สระน้ำชัย” แต่เดิมนั้นอยู่ตำบลโพธิ์หลวง อำเภอท่าพี่เลี้ยง ต่อมาเปลี่ยนเป็นตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง ปัจจุบันแยกตำบลพิหารแดง ตั้งเป็นตำบลสนามชัย จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระเจดีย์แปลกกว่าเจดีย์โดยทั่วไป แทนจะเป็นเจดีย์ตัน กลับเป็นเจดีย์กลวง ตรงกลางเป็นห้องสี่เหลี่ยม เคยพบอัฐิธาตุป่นปนอยู่กับเถ้าถ่านบรรจุอยู่จำนวนมาก....
.
.....ชาวบ้านเล่าว่า แต่ก่อนนั้นเจดีย์สนามไชยสูงใหญ่มองเห็นได้แต่ไกล มีรูปทรงคล้ายโกศ...นายถวิล อายุวัฒน์ เล่าว่า "น่าจะสูงเกิน ต้นตาล 2 - 3 ต้น" ส่วนครูโปร่ง พลายบุญ เล่าว่า เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 70- 80 เมตร ยอดเป็นปล้องไฉน มีหยาดน้ำค้าง.....ส่วนบนมีเค้าลวดลายปูนปั้น บางท่านว่าลายที่เหลือเป็นพู่ห้อย ดูว่าเป็นเจดีย์สมัยอยุธยา ตอนกลางเรือนเป็นซุ้ม 8 เหลี่ยม หรือ 8 ทิศ.....
.
.....โดยรอบองค์เจดีย์มีการปูพื้นด้วยอิฐอย่างเป็นระเบียบ เป็นลานประทักษิณ กว้าง 48 เมตร ยาว 62 เมตร ส่วนล่างเป็นฐานเจดีย์ 16 เหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง 23 เมตร รอบเจดีย์องค์ใหญ่มีกำแพงแก้วและซุ้มประตู 4 ทิศ มีซากพระปูนปั้นสมัยอยุธยา ทั้ง 4 ทิศ มีเจดีย์บริวารเรียงรายด้านทิศเหนือ/ใต้ อีกประมาณด้านละ 7 องค์ ด้านตะวันตก 4 องค์ แต่ยอดพังลงมาหมดแล้ว....ซากโบสถ์ทางตะวันออก ยังเห็นผนัง มีซากพระพุทธรูปหินทรายจำนวนหนึ่ง มีใบเสมาหินสีแดง (ขาสิงห์) ปรากฏอยู่ ใกล้เคียงกันมีสระน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง....
.
....เคยมีการขุดหาของมีค่าภายในกรุมาก่อนปี พ.ศ. 2500 แล้ว เคยเจอพระกำแพงศอกและพระเครื่องแบบเดียวกับที่วัดมหาธาตุจำนวนมาก....”
.
....ก่อนปี พ.ศ. 2504 มีการขุดสำรวจภายในเจดีย์ที่พังทลาย (ก่อนบูรณะเหลือซากสูงถึงบัวรัดเกล้าของเรือนชั้น 2 ด้านทิศใต้ เพียงประมาณ 18 เมตร) พบอัฐิกระดูกป่นและเถ้าเผาไฟ.... ปี พ.ศ. 2505 มีการเจาะช่องที่ฐานล่างทำเป็นอุโมงค์ทางเดินเข้าไปห้องกรุตรงกลางเพื่อให้คณะของผู้นำรัฐบาลทหารในยุคนั้นเข้าไปข้างในได้โดยสะดวก.... ”
.
-------------------------
*** การขุดค้นศึกษาทางโบราณวิทยาระหว่างปี พ.ศ. 2511 2515 2528 พ.ศ. 2547–2549 และ พ.ศ. 2549-2551 ได้แสดงให้เห็นว่า มีความตั้งใจจะก่อพระเจดีย์ประธานวัดสนามไชยด้วยแผนผัง 16 เหลี่ยม มาตั้งแต่แรกสร้าง ซึ่งต่อมาได้มีการบูรณะและก่อสร้างอาคารประกอบเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2 ครั้งครับ
.
----------------------------------
*** เจดีย์วัดสนามชัย จึงไม่ได้มีอายุก่อสร้างขึ้นไปถึงสมัยปลายทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 (หรือก่อนหน้า) และไม่ควรเกี่ยวข้องกับตำนานพระเจ้ากาแต มอญน้อยในพงศาวดารเหนือ ที่เล่าว่าสร้างวัดสนามชัยในปี พ.ศ. 1706 ที่นำมาครอบทับใช้อธิบายกันอยู่ในปัจจุบันครับ
.
-------------------------
*** จากภาพถ่ายเก่า (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง) ก่อนบูรณะครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 ได้แสดงให้เห็นว่า การพังทลายลงมาหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 นั้น ได้ทำให้เจดีย์ที่มีความสูงใหญ่ในยุครุ่งเรือง คงเหลือเพียงเนินกองอิฐและดินทับถมขนาดใหญ่ มีผนังเรือนธาตุที่เหลือเสาอิง/บัวหัวเสา ของมุมของเรือนธาตุชั้นแรก 4 มุม (ปัจจุบันเหลือเสา 3 มุม) ส่วนผนังของเรือนธาตุแสดงร่องรอยก่ออิฐของซุ้มจระนำมีหน้าบันโค้งหน้านาง 8 ช่อง สลับกับผนังเรียบ ในรูปแบบของเรือนธาตุทรงปราสาท
.
ลวดลายปูนปั้นที่เหลืออยู่บนบัวหัวเสาบริเวณมุมของเรือนชั้นที่ 2 ที่เหลืออยู่เพียง 3 เสา แสดงชั้นลวดบัวของหัวเสาที่ยังต่อเนื่องขึ้นไปยังแถบลวดบัวลูกแก้วชั้นบน ผนังเสาเป็นมุมหักเหลี่ยมล้อไปตามมุมเรือนธาตุ ชั้นบนเป็นบังหงาย/บัวลูกแก้ว ไม่มีปูนปั้นเหลืออยู่ ลงมาเป็นร่องท้องไม้ ผนังร่องปั้นเป็นกรอบช่องกระจกสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ช่อง ล้อมรอบด้วยปูนลายดอกจอกเป็นระยะ ถัดมาเป็นหน้ากระดานยื่น ปั้นลายดอกจอกกลมและดอกสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด 4 กลับ สลับกันต่อเนื่อง (ลายดอกไม้ต่อเนื่อง) ถัดลงมาเป็นแถบประดับดอกไม้กลมนูน (บัวกุมุท) เป็นระยะ ด้านล่างสุดเป็นเฟื่องอุบะมาลัยที่มีลวดลายแตกต่างกัน โดยเสาแรกมีลายดอกจอกซ้อนเป็นประธาน แตกใบขด/กระหนกตัวหัวกลม แบบม้วนเข้าด้านในมีครีบหยักเกาะหลัง ด้านล่างทิ้งเป็นมาลัยดอกไม้กลมจบด้วยใบเทศ ล้อมรอบด้วยลายบัวรวนโค้งเป็นพวงมาลัย 2 โค้งตามมุมหักครับ
.
ลวดลายของอีกบัวหัวเสาหนึ่งยังคงใช้ดอกจอกซ้อนดอก ทิ้งมาลัยดอกไม้กลมลงด้านล่าง จบลายด้วยใบเทศ สลับกับดอกไม้ทรงข้าวหลามตัด ในกรอบมาลัยวงโค้ง 2 วง ส่วนอีกเสาหนึ่งที่เหลืออยู่ทางทิศใต้ ทำเส้นลวดเป็นกรอบกระจังหยักหัวกลมวางกลับหัว คล้ายลาย “หัวหยู่อี้” ในอิทธิพลการวางเส้นลวดกรอบแบบจีน เรียงกัน 3 ชุด ภายในกรอบตรงกลางทิ้งอุบะเป็นพวงระหว่างหัวกลม มีดอกจอกซ้อนเป็นประธาน แตกลายขด/เหงาหัวกลม/ตัวโค้งงอออกด้านข้าง มีครีบเกาะหลัง จบด้วยใบเทศแหลม
.
*** ลวดลายปูนปั้นประดับที่เหลืออยู่บริเวณหัวเสาของเรือนธาตุชั้นสองนี้ ล้วนแต่แสดงงานศิลปะแบบรัฐสุพรรณภูมิ ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจีนมาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับลวดลายแกะสลักที่พบบนใบเสมาหินทราย ที่พบจำนวนมากในเขตภาคกลางฝั่งตะวันตกหรือในรัฐสุพรรณภูมิครับ
.
-------------------
*** จากหลักฐานคำบอกเล่าของผู้คนที่เคยพบเห็นก่อนที่เจดีย์จะพังทลายลงมา ว่ามีความสูงถึงประมาณ 70 เมตร มีรูปทรงโกศ มีปล้องไฉน มองเห็นได้แต่ไกล ประกอบกับส่วนฐานที่ยังคงเหลืออยู่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 23 เมตร รูปทรงสถาปัตยกรรมในยุคสุพรรณภูมิที่นิยมสร้างพระเจดีย์ทรงสูงชะลูด และการก่ออิฐผนังข้างโดยรอบที่มีความหนาเป็นพิเศษเพื่อการรองรับน้ำหนักด้านบน เปรียบเทียบกับเจดีย์ในยุคร่วมสมัยรัฐสุพรรณภูมิ อย่างเจดีย์มหาธาตุเมืองสรรค์บุรี ที่มีฐานสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 17*17 เมตร เจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรค์ ฐานสี่เหลี่ยม 10*10 เมตร เจดีย์สูง 37 เมตร รากฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมบริวารของวัดมหาธาตุสุพรรณ 11*11 เมตร ฐานปรางค์วัดมหาธาตุสุพรรณ 18 เมตร และฐานเจดีย์ 8 เหลี่ยมขนาดใหญ่ของวัดใหญ่ชัยมงคล (ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุทธยา) เฉพาะส่วนฐาน 4 เหลี่ยมที่สร้างต่อเติมในยุคหลังมีขนาด 27*27 เมตร เจดีย์สูงถึง 62 เมตร
.
*** เจดีย์ประธานวัดสนามไชย จึงควรมีความสูงประมาณ ไม่เกิน 55 เมตร เคยเป็น “มหาสถูปเจดีย์” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในยุครัฐสุพรรณภูมิ และเป็นพระมหาเจดีย์จากยุคโบราณเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีแผนผัง 16 เหลี่ยมครับ
.
ด้วยขนาดที่ใหญ่โตของพระมหาเจดีย์ที่สอดรับกับที่ตั้งของวัดทางตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน ยังคงปรากฏร่องรอยเส้นทางคลองน้ำเชื่อมต่อไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือของเกาะเมืองอยุทธยา มหาสถูปแห่งวัดสนามไชยนี้ จึงควรถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น “พระมหาธาตุ” ศูนย์กลางสำคัญของรัฐสุพรรณภูมิในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (ก่อนพระเจดีย์ทรงชะลูดสูงแบบสุพรรณภูมิ ประธานวัดมหาธาตุสุพรรณบุรี ที่สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ช่วงสมัยของขุนหลวงพะงั่ว) สอดรับกับกับหลักฐานของชื่อนาม “ศรีสุพรรณภูมิ” (Śrī Supaṇṇabhūmi) ที่พบในจารึกลานทองวัดส่องคบ 1 อายุประมาณช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่พระอินทราชา (นครินทราธิราช) กษัตริย์แห่งรัฐสุพรรณภูมิ ที่มีอิทธิพลเหนือเกาะเมืองอยุทธยา ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งมีการย้ายอุโบสถจากตะวันตกมาผูกพันธสีมาใหม่ทางตะวันออก และสร้างระเบียงคดล้อมรอบในแผนผังเดียวกับที่วัดมรกต
.
--------------------------
*** รูปแบบสันนิษฐาน/มโนวิทยาจากหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ของพระมหาสถูปเจดีย์แห่งศรีสุพรรณภูมิ เริ่มต้นจากฐานเขียง 16 เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานล่างเป็นฐานปัทม์ 16 เหลี่ยม มีคาดเส้นบัวลูกฟักคู่ (รัดท้องไม้) ที่นิยมในช่วงนั้น รองรับเรือนธาตุทรงปราสาท 16 เหลี่ยม มีซุ้มหน้าบันโค้งยื่นล้ำออกมาไม่มากนัก จำนวน 8 ผนัง สลับกับผนังเรียบว่าง (แบบการสลับผนังของเรือนธาตุชันสองของวัดพระแก้วเมืองสรรค์) ด้านบนเป็นบัวหัวเสาและรัดเกล้า (ที่ยังเหลืออยู่ 3 เสาในปัจจุบัน) เหนือขึ้นไปไม่มีหลักฐาน จึงมโน/จินตนาการต่อด้วยชั้นฐานปัทม์ 8 เหลี่ยม มีซุ้มจระนำเตี้ย ๆ ตามตำแหน่งล้อกับซุ้มของเรือนธาตุชั้นล่าง (ตามแบบการซ้อนชั้นของเจดีย์ทรงปราสาท 8 เหลี่ยม ที่วัดพระยาแพรก ที่มีอายุร่วมสมัยกัน) ต่อด้วยเรือนธาตุแบบมีซุ้มจระนำ 8 เหลี่ยม (ตามคำบอกเล่า) ฐานปัทม์ 8 เหลี่ยม 2 ชั้น รองรับองค์ระฆังทรงลอมฟาง (แบบสุพรรณภูมิ จากอิทธิพลพุกาม/ล้านนา/หริภุญชัย) บัลลังก์ 8 เหลี่ยม ปล้องไฉนเป็นวงมีสันแหลม (ฉัตรวลี) ไม่ชิดกัน ขึ้นไปถึงปลียอด (ตามรูปแบบเจดีย์ 8 เหลี่ยม ของรัฐสุพรรณภูมิ เช่นวัดพระรูป วัดมรกต เจดีย์บริวารวัดมหาธาตุสุพรรณบุรี และคำบอกเล่าเรื่องยอดเจดีย์ที่เคยมีอยู่ในอดีต) รวมความสูงประมาณ 50-55 เมตร ครับ
เครดิต :FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น