“พุทธปรางค์ ฐานขาสิงห์ทรงจอมแหในผัง 8 เหลี่ยม” ความนิยมในช่วงปลายอยุธยา
เริ่มจากสมัยพระเจ้าปราสาททอง ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา ราชสำนักอยุธยาหันกลับมานิยมการสร้าง “เจดีย์ทรงปราสาท” ตามแบบพระปรางค์ทรงงาเนียม ที่พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม วัดวรโพธิ์ และวัดวรเชษฐาราม และยังได้เริ่มสร้างงานสถาปัตยกรรม “เจดีย์ระฆังยกมุม/ยอมุม/หยักมุม/ย่อมุม” (เลียนแบบแบบการยกเก็จมุมของปราสาท) อย่างเจดีย์ภูเขาทอง วัดใหม่ชุมพล วัดสวนหลวง วัดอุโบสถ วัดญาณเสน ฯ และ“ปราสาททรงเจดีย์” ผสมผสานยอดวิมานปราสาทกับยอดแหลมแบบเจดีย์ แทนที่ยอดทรงงาเนียม/ฝักข้าวโพด อย่างเมรุทิศของวัดไชยวัฒนาราม เพิ่มเติมขึ้นจากรูปแบบพระเจดีย์ที่หลากหลายในยุคก่อนหน้า
.
เจดีย์ทรงปราสาทหรือพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม มีการยกฐานปัทม์ท้องไม้กว้างคาดแถบลูกฟักและอกไก่ ขึ้นไป 3 ชั้น จนสูงชะลด ทั้งมีการเพิ่มมุม/ยกมุมของส่วนฐานสูงให้สอดรับกับการเพิ่มมุมของเรือนธาตุและมุขซุ้มประตูซ้อน จนทำให้เกิดสันมุมที่เรียกว่า “ย่อมุมไม้” จำนวนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งฐานที่มีมุมเพิ่มขึ้นก็เริ่มถูกนำไปใช้กับฐานพระเจดีย์ทรงระฆังย่อมุม 12 แบบเดิมเป็นครั้งแรกครับ
.
อีกทั้งการประดับฐานพระเจดีย์ด้วย “ขาสิงห์” แบบต้นอยุทธยายังกลับมาได้รับความนิยมจากราชสำนักอีกครั้ง โดยมีการปรับรูปให้ยืดสูง หลังสิงห์วงโค้งต่อเนื่องมาที่แข้งสิงห์ ท้องสิงห์หย่อนโค้ง หัวแข้งมีทั้งแบบมนโค้งและแบบสันคม/บัวหลังสิงห์ ปั้นปูนกระหนกตัวเหงา/บัวรวนเป็นครีบประดับใต้น่อง นมสิงห์เป็นกระหนกรูปกระจังคว่ำ เกิดการประดิษฐ์ลาย “กาบเท้าสิงห์/เล็บกาบสิงห์” รูปกระจังปฏิญาณสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ พวยขึ้นมาที่เชิงของหัวแข้ง นำมาประดับเข้ากับสันมุมที่มีจำนวนมากขึ้น
.
เมื่อมีการนำฐานยกมุมเพิ่มซ้อนกันจำนวนมากจากพระปรางค์ใหญ่ย่อลงมาที่ปรางค์ขนาดเล็กลง จึงได้เกิดการย่อมุม 28 ขึ้น โดยนำมุมจากเรือนธาตุ 3 มุม (มุมหลักและมุมยกเก็จ) มารวมกับมุมของมุขซ้อน 2 ด้าน ๆ ละ 2 มุม รวมเป็น 7 สันมุมในด้านเดียว (คูณด้วย 4 ด้าน) ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ปรางค์บริวารของวัดไชยวัฒนาราม แต่ในช่วงแรกนั้น มุมหลักยังมีขนาดใหญ่กว่ามุมประกอบ ตัวปราสาทก็ยังมีขนาดใหญ่ ช่องจระนำกว้าง ตั้งบนฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ซ้อนชั้น จึงยังไม่เกิดทรง “จอมแห” และยังไม่มีการประดับ “ขาสิงห์” ที่ฐานครับ
.
ความนิยมการประดับฐานเจดีย์ด้วยขาสิงห์ จากที่เคยประดับฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ (ในเมรุทิศวัดไชยวัฒนาราม) เริ่มต้นขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีการนำศิลปะขาสิงห์มาประดับฐาน อาคารและเจดีย์อย่างกว้างขวาง เจดีย์ทรงปรางค์องค์แรกที่มีการประดับฐานสิงห์ คือพระปรางค์เล็กที่มีซุ้มคูหายาวด้านหน้าทางทิศเหนือของวัดไชยวัฒนาราม โดยฐานเดิมยังคงเป็นฐานปัทม์คาดเส้นลวดลูกแก้วอกไก่ 2 ชั้น ยกมุม 28 ตามแบบปรางค์บริวารสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่มีการปรับขนาดของสันมุมให้เท่ากัน ปรากฏขาสิงห์แบบมีบัวหลังสิงห์ชั้นเดียวตรงเชิงเรือนธาตุ ตัวปรางค์ยังคงมีขนาดใหญ่ แต่เริ่มมีการยืดส่วนเรือนธาตุจนทำให้จระนำซุ้มสูงชะลูดอย่างชัดเจนจนไม่สามารถประดิษฐานพระพุทธรูปได้เป็นครั้งแรก เป็นต้นแบบสำคัญที่นำไปสู่การเกิดพระปรางค์ (ปราสาท) ฐานขาสิงห์ ทรงจอมแหในผัง 8 เหลี่ยมในเวลาต่อมา
.
*** พระปรางค์ยอมุม 28 ฐานประดับขาสิงห์สูง 3 ชั้น ตัวเรือนธาตุชะลูด มุขจระนำแคบ แต่ยังไม่ลดขนาด (จึงยังยังไม่เกิดทรงจอมแห) และเริ่มมีการ “บีบสันมุมที่ซ้อนกันด้านละ 7 มุม ให้มีขนาดเท่ากับขนาดของมุขแต่ละด้าน ในผัง 8 เหลี่ยม” อาจเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่วัดอุทิศขนาดเล็ก ภายในวัดมหาธาตุนอกกำแพงแก้วทางทิศเหนือครับ
.
พระปรางค์ยอมุม 28 สมัยสมเด็จสมเด็จพระนารายณ์ คือ พระปรางค์เหล็กหล่อที่ตั้งอยู่บนยอดสุดของเจดีย์ทรงหอคอย มุมตะวันออกเฉียงใต้นอกกำแพงแก้ว วัดมหาธาตุ มีฐานสิงห์แบบไม่มีกาบเล็บที่ฐานล่าง ประดับลายใบไม้แบบตะวันตก ยอดเหล็กเดิมคงได้ถูกฟ้าผ่าจนแตกเสียหายจึงต้องปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ด้วยปูนปั้นในสมัยหลัง ซึ่งต่อมาก็คงถูกฟ้าฝ่าซ้ำจนปูนที่ปั้นซ่อมแตกหักเสียหายอีก
.
*** พระปรางค์แบบยอมุม 28 ฐานปัทม์ใหญ่ลดหลั่นขนาด ประดับขาสิงห์สูง 3 ชั้น ตัวเรือนธาตุชะลูด มุขจระนำแคบ บีบสันย่อมุมเท่ากับผนังมุขจนกลายเป็นผัง 8 เหลี่ยม เริ่มลดขนาดเรือนธาตุทรงชะลูดสูงให้แคบลง จนเกิดเป็นพระปรางค์ทรงจอมแห (ทำยอดปรางค์บีบให้เล็กแบบเจดีย์ยอดแหลม) องค์แรก น่าจะเป็นพระปรางค์วัดบรมพุทธราม ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชา
.
พุทธปรางค์แบบยอมุม 28 แบบสมเด็จพระเพทราชา ยังปรากฏที่วัดพระยาแมน ที่ทรงโปรดให้สร้างถวายพระศรีสัจญานมุนีราชาคณะคามวาสี ที่ถวายพยากรณ์ว่าพระองค์จะได้เสวยราชย์สมบัติ และยังนิยมสืบต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ดังปรากฏที่วัดโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร ภูมิสถานที่ประสูติของพระองค์ครับ
.
ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พุทธปรางค์ฐานสิงห์ได้เปลี่ยนมานิยมทำเป็นยอมุม 20 (ด้านละ 5 สันมุม โดยลดมุมของมุขซ้อนออก ฝั่งละ 1 มุม เอาหน้าบันขึ้นไปซ้อนด้านบน) เรือนธาตุชะลูดสูงขึ้นกว่าเดิมบนฐานสิงห์ที่ลดหลั่นขนาดจนเป็นทรงจอมแหอย่างสมบูรณ์แบบ ดัง พระปรางค์คู่วัดสระบัว เมืองเพชรบุรี ประดับปูนปั้นที่งดงาม (วัดไผ่ล้อมในตัวเมือง ที่มีการบูรณะในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็น่าจะเคยมีปรางค์ทรงเดียวกันแต่ถูกรุกที่ดินด้านหน้าจนหายไป) พระปรางค์วัดมงกุฎ (ร้าง/ทางเหนือของเกาะเมือง) พระปรางค์รายคู่ด้านหน้าวัดโลกยสุธา พระปรางค์คู่วัดป่าโมก และพระปรางค์เล็ก ริมถนนข้างวัดมหาธาตุ (วัดจันทร์ ?)
.
*** ความนิยมในพุทธปรางค์ทรงจอมแหฐานสิงห์ ลดหายไปช่วงระยะหนึ่งในสมัยพระเจ้าอยู่บรมโกศ จนถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 จนได้รับความนิยมกลับมาอีกครั้งในราชสำนักรัตนโกสินทร์ ที่มีการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมพุทธปรางค์แบบอยุธยาปลายต่อเนื่องมาอีกมากมายครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น