“ภาพอีโรติก” ปริศนาธรรมชาดกที่พระธาตุอิงฮัง
“พระธาตุอิงฮัง” ตั้งอยู่ที่บ้านธาตุ (บ้านหลวงโพนสิม) นะคอนไกสอน พมวิหาน (เมืองคันทะบุรี) แขวงสะหวันนะเขต ห่างจากตัวเมืองริมแม่น้ำโขงไปตามเส้นทางหมายเลข 13 (ไปเซโน) ประมาณ 12 กิโลเมตร ชื่อนามของพระธาตุในเสียงลาวจะเรียกว่า “อิฮัง” ซึ่งคำว่า “อิงฮัง – อิฮัง” ก็ล้วนมีความหมายว่า “อิงตันรัง" หรือพักอยู่ที่ต้นรัง ตามตำนานอุรังคธาตุ
.
องค์พระธาตุแต่เดิมนั้นเป็นปราสาทก่ออิฐในช่วงศิลปะแบบกำพงพระ/จามปา ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ต่อมาได้ถูกกลุ่มชนในวัฒนธรรมล้านช้างที่อพยพลงมา ดัดแปลงต่อเติมยอดระฆังทรงดวงปลีและแอวขันแบบลาวไว้ที่เหนือเรือนธาตุด้านบนสุด จนกลายเป็นพระธาตุเจดีย์ในพุทธศาสนาแทนซากปราสาทเดิม ช่วงสมัยพระครูโพนสะเม็ก/พระครูโพนสะเม็ด/ญาครูขี้หอม ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 23 แล้วมาซ่อมแซมใหญ่อีกครั้งในช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส ประมาณปี พ.ศ. 2495 ครับ
.
*** ที่มุขซุ้มประตูด้านหน้าของพระธาตุอิงฮัง แกะสลักผนังด้วยเครื่องไม้ ประตูมีขนาดประมาณ 2 * 1.5 เมตร ด้านบนเป็นปั้นลมสามเหลี่ยม กรอบ (ปะกนลูกฟัก) ที่สลักลายดอกไม้ต่อเนื่อง ภายในกรอบสลักลายใบขดเป็นเครือเถาปิดทองประดับกระจกแก้ว ล้อมรอบด้วยลายลูกกลม คานบนของกรอบประตูสลักลายดอกซีกดอกซ้อนต่อเนื่อง กรอบข้างเป็นกระหนกใบขดและดอกไม้ต่อเนื่อง ส่วนบนบานประตูนั้น สลักเป็นลายกระหนกใบขาดเกี่ยวพันแบบเครือเถา ดอกไม้กลมมีกลีบ (ดอกจอก) วางสับหว่างกันเป็นดอกลาย
.
ที่ข้างประตูเป็นช่องกรอบด้านละ 5 ช่อง ภายในสลักเป็นเรื่องราวที่ยังไม่มีการศึกษาและอธิบายไว้อย่างชัดเจน ในกรอบด้านบนซ้าย เป็นภาพเทวดาสวมเทริดหน้านางรัดเกล้ายอดแหลม ประทับบนฐานเอวขันแสดงอัญชุลีมีก้านดอกไม้พวยขึ้นไปทั้งสองฝั่ง กรอบฝั่งขวาที่เป็นรูปเทวดานั่งถือดาบครับ
.
*** กรอบที่เหลือ ปรากฏภาพที่มีรูปเชิงสังวาส หรือ “อีโรติก” (Erotic Art) ร่วมอยู่ ซึ่งควรเป็นเรื่องราวในนิทานเรื่อง “จันทโครพ” (Chantakorop) ตามสำนวนลาว ที่มีเนื้อหาดัดแปลงมาจาก “จุลลธนุคคหชาดก” (Culladhanuggaha-Jātaka) โดยเรื่องเริ่มต้นจากช่องทางซ้ายกรอบบนถัดจากเทวดาลงมา เป็นภาพบุคคลก้มลงถือสิ่งของและรูปสตรีที่มีกระหนกตัวเหงาคู่ที่ท้อง หมายถึง จันทโครพ (จุลลธนุคคหบัณฑิต) ถือผอบ กำลังเปิดเนรมิตให้นางโมราที่มีรูปโฉมอันงดงามประดุจนางฟ้า (จึงสลักรูปสตรีสวมเทริด) ออกมา
.
รูปที่สองกรอบถัดลงมา เป็นภาพจันทโครพกำลังฉุดแขนนางโมราที่เพิ่งออกมาจากผอบ ยังไม่มีเรี่ยวแรง (ยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตบนโลก/อ่อนต่อโลก) ภาพที่สาม นางโมรามีเรี่ยวแรงและแสดงท่ายั่วยวน (เกิดความรัก) ต่อจันทโครพ ส่วนภาพสุดท้ายที่เชิงผนังเป็นภาพการเสพเมถุนระหว่างจันทโครบและนางโมรา ที่ต่างก็ตกอยู่ในลุ่มหลงกันและกัน รูปเทวดาด้านบนถือดอกไม้แสดงความหมายความสวยงามแห่งชีวิตรักครับ
.
กรอบฝั่งด้านขวาถัดจากรูปเทวดาถือดาบลงมา เป็นภาพบุคคลต่อสู้กัน ซึ่งเหมือนว่านางโมรากำลังมีชู้ (ลุ่มหลงชายอื่น) ถูกจันทโครบจับได้คาหนังคาเขา (จับจริง ๆ) แต่นางFมรากลับลุ่มหลงยกมือโบกไล่จันทโครพ สองภาพถัดมาเป็นภาพเทพธิดามีเครื่องประดับและอาวุธ (แตกต่างไปจากรูปนางโมรา) นั่งบนสัตว์ ถ้าพิจารณาจากชาดก จะเป็นปริศนาธรรมในความหมายว่า “สตรีงามที่คบชู้สู่ชายนั้นย่อมเป็นอันตรายต่อสามี เหมือนดังสตรีมีอาวุธร้ายและพร้อมที่จะมีความทะยานอยากประดุจสัตว์ เร็วอย่างม้า กระหายอย่างสิงห์”
.
ภาพสุดท้ายคือ รูปชู้รัก (โจร) อุ้มนางโมราที่กำลังกระสันอยากในกาม (ตามภาพสลักชัด ๆ ) ออกไปจากจันทโครพ โดยมีภาพกระต่ายซึ่งหมายถึงความกระสันอยู่ด้านล่าง (กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีความอยากผสมพันธุ์อันดับหนึ่งของโลก)
.
*** สรุปเนื้อหาตามชาดก จะเป็นคำสอนเรื่องของการละทิ้งเครื่องผูกแห่งมาร ที่จะนำไปสู่ความเสื่อมถอย (นางโมราที่กำลังมีราคะตัณหาครอบงำ เสื่อมไปจากสามี) สอดรับกับภาพเทวดาที่ถือดาบในกรอบบนสุด ที่หมายถึงการตัดกิเลสตัณหาครับ
เครดิต :FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น