“พระเจดีย์ยุคขุนหลวงพ่องั่ว” สุดชายแดนเหนือสุดของรัฐสุพรรณภูมิที่เขาธรรมามูล ชัยนาท
“วัดธรรมามูลวรวิหาร” ตั้งบนเชิงเขาริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท ปรากฏชื่อนามในพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ร.ศ. 120 ปี พ.ศ. 2544 ความว่า "....วันนี้เวลาเช้าโมงครึ่ง ออกเรือจากเมืองไชยนาท...เวลาเช้า 3 โมงเศษถึงธรรมามูล ขึ้นเขามีราษฎรมาอยู่มาก พระวิหารหลังใหญ่หลังคาพังทลายลงมาทั้งแถบ จำจะต้องปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์ทลายลงมาแถบหนึ่ง เห็นของเดิมทีจะเปนไม้ 12 จะก่อพอกให้กลม แกนนั้นยังดีอยู่ ทลายแต่ที่พอกแถบหนึ่ง พระพุทธรูปเมืองสรรค์ซึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญมาไว้ในพระอุโบสถพระรัศมีชำรุด...."
.
*** จากภาพถ่ายเก่าของ Robert Larimore Pendleton ปี พ.ศ. 2480 แสดงให้เห็นว่า พระเจดีย์บนเชิงเขายังไม่ได้ล้มลงมา จะมีก็เฉพาะส่วนองค์ระฆังและฐานด้านหน้าพังลงมาแถบหนึ่ง ตามที่รัชกาลที่ 5 เคยทอดพระเนตรเห็นและมีพระราชหัตถเลขาเอาไว้ครับ
.
ภาพของลาลิมอร์และภาพถ่ายส่วนฐานกลมที่เหลืออยู่ก่อนการบูรณะ ได้แสดงให้เห็นว่า เจดีย์วัดเขาธรรมามูลนั้นเป็นเจดีย์ทรงระฆังลอมฟางสั้น ฐานปัทม์กลมแบบมีเส้นลวดบัวลูกแก้วคาดที่ท้องไม้แยกห่างกัน 2 เส้น ซึ่งเป็นรูปแบบของเจดีย์ในช่วงปลายยุคของรัฐสุพรรณภูมิ
.
จากภาพถ่ายเก่าของลาริมอร์ ยังได้เห็นเทคนิคการก่อพระเจดีย์ในยุคปลายรัฐสุพรรณภูมิ ที่มีการก่ออิฐเป็นผนังเพื่อเป็น “แกนเอ็นค้ำยัน” ภายในส่วนฐานล่าง 8 เส้น ส่วนภายในชั้นองค์ระฆังคงเหลือเพียง 4 เส้น แต่อาจมีการใช้โครงไม้ช่วยค้ำโครงยันส่วนองค์ระฆังที่ก่ออิฐเป็นผนังไม่หนามาก ภายในแกนเอ็นทุกชั้นเป็นโพรง ยังคงเห็นผนังของส่วนฐานรองรับองค์ระฆังที่มีแผนผังกลม ก่ออิฐเป็นผนังหนากว่า มีเจดีย์/สถูปิกะ ทั้ง 4 มุม บัลลังก์ด้านบน 8 เหลี่ยม ก้านฉัตรเหมือนถูกพอกจนเต็ม จนมีขนาดเท่ากับบัวฝาละมี ประดับเสาอิงตามมุมหักในความหมายของเสาหานครับ
.
พระเจดีย์เขาธรรมามูล มีรูปทรงเดียวกับ “เจดีย์วัดชุมนุมสงฆ์” (ฐานจัตุรัส 14*14 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางวงกลม 12 เมตร) และเจดีย์วัดกุฎีสงฆ์ (ฐานจัตุรัส 14.45 *14.45 เมตร ฐานวงกลมประมาณ 14 เมตร) ในเมืองโบราณสุพรรณบุรี ฐานขององค์เจดีย์ก่อเป็นฐานเขียงผัง 4 เหลี่ยม ขนาด 14*14 เมตร ฐานเขียงกลมแบบ “มาลาสนะ/ตรีมาลา/บุปผาปธาน” (Mālāsana-Trimālā) (ชั้นล่างที่จมอยู่ในฐานใหม่ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 เมตร) 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (บัวคว่ำ-บัวหงาย) แผนผังกลม 3 ชั้น มีท้องไม้ใหญ่ คาดรัดด้วยเส้นลวดลูกแก้วคู่แบบแยกห่าง เหนือขึ้นไปเป็นฐานชุดมาลัยเถา 3 ชั้น ชั้นบัวปากระฆังรองรับองค์ระฆังทรงลอมฟางแบบสุพรรณภูมิ บัลลังก์แบบบัวปัทม์ 8 เหลี่ยม ก้านฉัตรยังไม่มีเสาหาน บัวฝาละมี ปล้องไฉน/วงแหวน/ฉัตรวลี ซ้อนแบบมีช่องว่างขึ้นไปจนถึงส่วนปลียอด โดยมีลูกแก้วอยู่ด้านบนสุด
.
*** การที่พระเจดีย์มาตั้งอยู่นอกเมือง บริเวณเชิงเขาริมแม่น้ำใหญ่ ด้วยเพราะในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น ชนชั้นนำในรัฐสุพรรณภูมิได้รับอิทธิพลทั้งคติความเชื่อและงานศิลปกรรมมาจากฝ่ายลังกาผ่านเมืองนครพัน (เมาะตะมะ - Martaban) ที่กำลังมีความนิยมในคติรามัญนิกาย/อุทุมพรคีรี โดยเฉพาะคติความเชื่อ “อารัญวาสี-อรัญวาสี” (Āraṇya-vāsī) พระพุทธรูปปางลีลา/จงกรม และสถาปัตยกรรมแบบลังกาหลังยุคโปโลนนารุวะ (Post Polonnaruwa) เมืองคัมโปละ (Gampola) ดังการปรากฏรูปชุดฐานตรีมาลา-มาลัยเถา-องค์ระฆัง-บัลลังก์รองรับก้านฉัตรของพระเจดีย์เป็นครั้งแรกครับ
.
*** รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์เขาธรรมามูล ยังสอดคล้องกับใบเสมาหินทรายแดงแบบสุพรรณภูมิ (ทรงกลีบบัวสูงคอดเอว โครงกรอบลาย (หน้าใบ) หัวจุก/ยอด/หมวก โค้งปีกค้างคาว โก่งคิ้ว (ท้องใบ) โครงสามเหลี่ยมโค้งร่างแห) แกะสลักลวดลายอันวิจิตร จากอิทธิพลงานศิลปะจีนในช่วงปลายราชวงศ์หยวนต่อราชวงศ์หมิง ที่นิยมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ทั้งลายดอกไม้กลมมีกลีบ (ดอกจอก) ลายตัวโค้ง ลายตัวเหงาหัวกลม หลังมีครีบและไรขน ลายเครือเถา ลายดอกโบตั๋นแย้มกลีบ ลายดอกบัวมีกลีบ ลายดอกเบญจมาศมีกลีบ ลายนกหงส์ ลายเส้นลวดกรอบ ลายเส้นลวดกรอบเกี่ยวพัน ลายหัวหลูอี่ ลายใบเทศ ลายหางไหล ฯ
.
*** เจดีย์วัดเขาธรรมามูลได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยการก่ออิฐเป็นฐานปัทม์ 4 เหลี่ยม เสริมคงมั่นคงที่ส่วนฐาน และสร้างเจดีย์ขนาดเล็ก/สถูปิกะ ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นความนิยมในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาจำนวน 4 องค์ บนมุมของฐานใหม่ครับ
.
*** เมื่อนำองค์หลักฐานมาพิจารณาร่วมกับการปรากฏของพุทธศิลป์ปางลีลา ในรูปแบบพระพิมพ์หลายรูปแบบที่พบจากรุวัดชุมนุมสงฆ์ ที่สะท้อนคติอรัญวาสี/รามัญนิกาย ในรัฐสุพรรณภูมิ รูปแบบของฐานเจดีย์ที่ปรับเปลี่ยนจากฐาน 8 เหลี่ยมนิยม ในยุคพุทธศตวรรษที่ 19 มาเป็นฐานกลมแบบลังกา งานศิลปะจากอิทธิพลจีนบนใบเสมา และการพบพระเจดีย์รูปทรงเดียวกันในเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังมีกษัตริย์ปกครองอยู่ พระเจดีย์วัดเขาธรรมามูลจึงควรเป็นพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยของ “ขุนหลวงพ่องั่ว/สมเด็จพ่อพระญาศรีอินทราราช/สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1/ซานเลี่ยเจาผีหย่า 參烈昭毗牙สมเด็จเจ้าพ่อพญา”กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งรัฐสุพรรณภูมิ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ทรงครองราชย์ในเมืองสุพรรณบุรีเป็นเวลายาวนานจนมีพระชนมายุถึง 63 พรรษา ทรงเป็นผู้เริ่มขยายอิทธิพลของรัฐสุพรรณภูมิขึ้นไปปะทะกับรัฐสุโขทัยทางเหนือเป็นช่วงแรก ก่อนที่จะทรงย้ายราชสำนักไปครองราชย์/ครอบครอง/ผนวกเมืองท่าอยุทธยา/อโยธยา เมืองใหม่ที่มีชัยภูมิก้าวหน้านานอีก 18 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 1913-1931)
.
*** เจดีย์วัดเขาธรรมามูล จึงควรถูกสร้างในช่วงประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 บนชัยภูมิเชิงเขาริมแม่น้ำอันเป็นเขตชายแดนทางเหนือสุดของรัฐสุพรรณภูมิ ที่เหนือขึ้นไปยังคงเป็นเขตอิทธิพลของรัฐสุโขทัย ที่มี “เมืองพระบาง” เป็นหน้าด่าน (มีพระเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยเป็นประธานของเมือง) เหนือขึ้นไปมีเมืองสองแควเป็นเมืองสำคัญทางทิศใต้ของรัฐที่พระมหาธรรมราชาที่ 1/พระญาฦๅไทย/ลือไท/พญาลิไท ต้องย้ายราชสำนักและยกกองทัพใหญ่มาตั้งมั่นรักษาอยู่นานถึง 7 ปี (พ.ศ. 1883-1890) ซึ่งต่อมา เมื่อขุนหลวงพ่องั่วได้ครองอยุทธยาแล้ว จึงได้รวมกองทัพใหญ่ขึ้นมาพิชิตสองแคว ภายหลังการสวรรคตของพญาลิไทประมาณปี พ.ศ. 1917 กำราบรัฐสุโขทัยทางเหนือได้เป็นครั้งแรกครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น