วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระธรรมบาล

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระธรรมบาล” ยักษ์ร้ายใจดี ที่หายไปจากปรางค์สามยอด เมืองลพบุรี
ถึงแม้ว่าจะปรากฏร่องรอยของคติและงานศิลปะ “ผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา/พิทักษ์พระธรรมคำสอน” (Dhamma Guardian/Protector) จากอิทธิพลความเชื่อพุทธศาสนามหายาน (Mahāyāna) ลัทธิ “วัชรยาน” (Vajrayāna Tantric Buddhism) ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ดังที่ปรากฏรูปศิลปะจากปราสาทหินพิมาย ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ต่อเนื่องมาถึง “ลัทธิโลเกศวร” (Lokeśvara/เน้นการบูชาอำนาจแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) ในยุคความนิยมของราชสำนักบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ก็ตาม 
.
แต่ก็ดูเหมือนว่า งานศิลปะของผู้พิทักษ์ศาสนา ทั้งที่เรียกว่า “ยิดัม” (Yi-Dam) หรือภาคดุร้ายของเหล่าพระโพธิสัตว์และพระธยานิพุทธเจ้า/ ชินพุทธะ 5 พระองค์/พระปัญจสุคต (Dhyāni Buddha/ Paῆca jina Buddhas) ในรูปของผู้เรืองอำนาจ มีใบหน้าดุร้ายแบบยักษ์อสูร (มีพระศักติประจำพระองค์) จะปรากฏเพียง“พระไตรโลกยวิชัย” (Trailokyavijaya) ภาคยิดัมของพระอักโษภยะพุทธเจ้า ประจำอยู่ทางทิศตะวันออก หนึ่งใน “ปัญจมหาวิทยราช” (Paῆca Vidya-raja) หรือพระธรรมบาลของพระธยานิพุทธะทั้ง 5 ในภาคดุร้าย "พระเหวัชระ" (Hevajra) หรือ“พระวัชริน” (Vajrin) เหรุกะของพระอักโษภยะพุทธเจ้า และนาง “โยคิณี” (Yogini) ผู้เป็นธิดาทั้ง 8 รวมทั้ง “พระจักระสังวร” (Cakrasaṃvara) โดยไม่ปรากฏคติและรูปศิลปะของเหล่าพระโพธสัตว์ยิดัมตามแบบวัชรยานในทิเบต ทั้งภาคดุร้ายของปัญจสุคต อีก 4 พระองค์ คือ “พระวัชรยักษ์” (ภาคยิดัมแห่งพระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า) “พระกุณฑลี” (ภาคยิดัมแห่งพระรัตนสัมภวะพุทธเจ้า) “ยมานตกะ” (ภาคยิดัมแห่งพระอมิตาภะพุทธเจ้า) “พระอจล” (ภาคยิดัมแห่งพระไวโรจนะพุทธเจ้า) รวมถึงรูปของ คุหยสมาช (Guhyasamāja) มหามายา กาลจักร ชมภล และเหรุกะ (Heruka) อีก 4 พระองค์ เลยครับ
.
อีกทั้งในคติจักวาลแห่งมันดารา” (Mandala Universe) หรือ “พุทธเกษตร” (Buddha Kaset) ในลัทธิวัชรยาน/ตันตระ (ธิเบต/ปาละ) ยังจัดให้มีเหล่าผู้พิทักษ์พุทธศาสนาและพระธรรมคำสอน อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า “พระธรรมบาล” (Dhammapāla) มีตำแหน่งเทียบเท่ากับพระโพธิสัตว์ เป็นพวกยักษ์กลับใจมาทำหน้าที่ปราบปรามปีศาจและมารที่เป็นศัตรูต่อพุทธศาสนา มีหน้าตาหน้าเกลียดน่ากลัวไม่ต่างจากยิดัม  ใช้ใช้ใบหน้าเปแนอาวุธให้ศัตรูเกรงกลัว แต่มีดวงใจที่ใสบริสุทธิ์ ไม่คิดร้าย
.
*** เรียกได้ว่าเป็น “ยักษ์ร้ายใจดี” นั่นเองครับ
.
ในบางพระสูตรของธิเบตก็ได้กำหนดพระธรรมบาลไว้ 8 พระองค์ คือ ศรีเทวีลหโม (Shri Devi Lhamo) สิตพรหมา (Brahma) เบคตสี (Begtse) พระยม (Yama) กุเวร  (Kúbera) มหากาล (Mahakala) หัยครีพ (Hayagriva) ยมาตกะ (Yamantaka) แต่ในบางพระสูตรก็คงเห็นว่าธรรมบาลมีน้อยไป จึงยกให้ เทพเจ้า (Deva) ครุฑ  (Garuḍa) นาค (Nāga) รวมถึงพวกอมนุษย์ (Half-Man) อย่าง วิทยาธร (Vidyādhara) คนธรรพ์ (Gandharva) สิทธา (Siddha) อัปสร (Apasara) กินนร/กิมปุรุษ (Kiṃnara/Kimpuruṣa)  ยักษ์อสูร (Yakṣa /Asura)  กุมภัณฑ์ (Kumbhāṇḍa) รากษส (Rākṣasa) เรื่อยไปจนถึงภูตผี (Bhūta) ปีศาจ (Piśāca) คุหยกะ (Guhyaka) และ มโหราคะ (Mahorāga) ที่กลับใจมาบูชาพระพุทธศาสนา ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถาน พิทักษ์พระธรรมคำสอน ปกป้องผู้ปฏิบัติธรรม ขับไล่ความชั่วร้ายและอุปสรรคที่มาขัดขวางการเข้าสู่พระนิพพาน    
.
“สุวรรณประภาโสตตมราชาสูตร” (Suvarṇaprabhāsottama  Sūtra) ในคติมหายาน/ของฝ่ายจีน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ได้กล่าวถึง “พระธรรมบาล 24 พระองค์” คือ พระศรีมหาเทวี (พระแม่ลักษมี) พระสุรัสวดี ท้าวมหาพรหม พระอินทร์  ท้าวธฤตราษฎร์  ท้าววิรุฬหก ท้าววิรุฬปักษ์ ท้าวไวศรวณ /กุเวร  เทพคุยหบดี/วัชรปาณี ปัญจิกะยักษา   หาริตียักษิณี นางอาภิรดีเทวี พระมเหศวร/ศิวะ สกันธเทพ/ขันธกุมาร พระปฤถิวี/พระธรณี  โพธิทรุมเทวี เทวีมาริจี  พระสูริยเทพ พระจันทราเทพ พระดารกาเทพ พระไตรตรึงส์เทพ พญายมราช ท้าวสาครนาคราช และกินนรราช /อัคนีเทพ/เทพเตาไฟครับ
.
ในบทที่ 15 “ยักษาศรยรักษาปริวรรต” ของพระสูตร ยังกล่าวถึงการอารักขาผู้ปฏิบัติธรรมโดยเทวดาและยักษ์ ทั้ง พระมหาพรหม มหาเทพในไตรตรึงษ์ พระสรัสวดี พระนางลักษมี ท้าวสักกะเทวราช/อินทรา ท้าวธตรฐ  ท้าววิรุฬหก ท้าววิรุฬปักษ์ ท้าวไวศรวณ/ท้าวกุเวร  สัญชเญยะยักษ์ มณิภัทรยักษ์ ปูรณภัทรยักษ์ กุมภีรยักษ์ อฏาวกยักษ์  ปิงคลยักษ์ พญานาคอนวตัปตะในมหาสมุทร พญานาคมุจลินท์ พญานาคเอลาปัตร พญานาคนันทะ พญานาคอุปนันทะ พญากินนร พญาครุฑ เทพอสูรวลี ราหู นมุจิ เวมจิตร สังวร ประหาทะ พระสกัณธะ/ขันธกุมาร  เทพอสูรอื่นๆ รวมถึงหมู่เทวดาประจำพืชผล เทวดาประจำแผ่นดิน  เทวดาประจำพระอาราม รุกขเทวดา เทวดาประจำพระเจดีย์ เทวดาประจำแม่น้ำ รวมทั้งยักษ์เทพอสูรที่น่าหวาดกลัวของสรรพสัตว์ แต่สำหรับผู้ที่เผยแผ่และผู้ฟังสูตรนี้ จะได้รับการคุ้มครองในรอดพ้นจากภัยอันตรายและความชั่วร้ายทั้งปวง
.
*** แต่ก็ดูเหมือนว่า ลัทธิวัชรยานตันตระ/โลเกศวร ในยุคราชสำนักบายน จะไม่นิยม/ไม่ได้รับอิทธิพลความเชื่อในคติพระโพธิสัตว์-ยิดัมและพระธรรมบาล/ผู้พิทักษ์พุทธศาสนาและพระธรรมคำสอนจากทั้งฝ่ายทิเบต จีนและราชวงศ์ปาละในอินเดียมาทั้งหมด อาจเพราะมีจำนวนมากมายเกินไป อีกทั้งบางพระสูตรยังไปนำเทพเจ้าฮินดูเข้ามาปะปนเป็นจำนวนมาก รูปศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาในงานศิลปะยุคจักรวรรดิบายน (ที่ราชสำนักโบราณยังคงมีการนับถือลัทธิฮินดูร่วมอยู่ด้วย) จึงปรากฏเฉพาะรูปยักษ์อสูรที่มีหน้าตาดุร้าย (แต่ใจดีตามคติความเชื่อ) หรือ “พระธรรมบาล” โดยไม่ได้กำหนดชื่อนามเจาะจงเอาไว้อย่างชัดเจนครับ  
.
------------------------------
*** รูปศิลปะพระธรรมบาล-ยักษ์ร้ายใจดี ตามคติวัชรยาน/ตันตระ/โลเกศวร แบบรับมาธิเบต/อินเดียอย่างไม่เต็มสูบในยุคจักรวรรดิบายน จึงได้ถูกเลือกมาเป็นงานศิลปะปูนปั้นประดับที่กรวยเชิงเหนือลวดบัวเชิงธาตุของสันมุมหลัก เรือนปราสาทบริวารทั้งสองหลังของปราสาทปรางค์สามยอด อย่างวิจิตรอย่างดงงามทั้งรุปศิลปะและสื่อคติความหมาย
.
เป็นที่น่าเสียดายที่ปูนปั้นพระธรรมบาลผู้ปกป้องพระปรางค์สามยอด พระพุทธศาสนามหายาน/โลเกศวรที่เคยรุ่งเรืองในเมืองละโว้ทยปุระ (Lavodayapura) ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ได้สูญหายไปจนเกือบทั้งหมดแล้ว คงเห็นแต่เพียงภาพถ่ายเก่า (หอจดหมายเหตุสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพทิศ/ Archives EFEO) ในปี พ.ศ. 2496 ให้ได้เห็นเพียงเท่านั้นครับ  
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น