วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เจ้าชายจิตรเสน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ร่องรอยเจ้าชายจิตรเสน” ที่เมืองโบราณริมแม่น้ำโขง หน้าปราสาทวัดพู
ใน “La Mission archéologique française et le Vat Phu : recherches sur un site exceptionnel du Laos /The French archaeological mission and Vat Phou :
Research on an exceptional historic site in Laos” ปี พ.ศ. 2551 ได้กล่าวถึงการศึกษาเมืองโบราณวัดหลวงเก่าริมแม่น้ำโขง หน้าเขาภูควายที่ตั้งของปราสาทหินวัดพู สรุปความว่า
.
*** ...ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ได้เริ่มมีการสำรวจพื้นที่และขุดหลุมทดสอบโดยรอบเมืองโบราณที่ไม่มีชื่อปรากฏในงานศึกษาทางจารึก (Epigraphic) เป็นครั้งแรก เมืองโบราณนี้อาจมีชื่อว่า “ลึงคปุระ” (Liṅgapura) หรือ “กุรุเกษตร”(Kurukṣetra) ตามชื่อนามที่พบจากจารึก ตั้งอยู่ตรงสบน้ำของลำห้วยสระหัว ที่ไหลลงมาจากภูเขาทางตะวันตก ลงมาปากน้ำที่บรรจบกับแม่น้ำโขง มีคูขอบน้ำชั้นนอกกว้างยาวประมาณ  2,300 x 1,800 ม. ล้อมรอบทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ทางทิศเหนือเป็นลำห้วยสระหัว (Houay Sa Houa) ทางตะวันออกติดกับแม่น้ำโขงได้ถูกกัดเซาะเข้ามาถึง 200 เมตร จนตลิ่งกลายเป็นสันทรายสูง ซึ่งยังได้เคยพบชิ้นส่วนของสิ่งก่อสร้างทั้ง อิฐ ศิลาแลง หินทราย แท่นหินและประติมากรรม ที่ก้นแม่น้ำริมตลิ่ง...
.
....เมืองถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยคันดิน เมืองส่วนทางตะวันออกติดกับแม่น้ำโขง (อาจเป็นเมืองเริ่มแรกที่เก่าแก่ที่สุด ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11) คงเหลือเพียงกรอบคันดินเฉพาะแนวนอนทางใต้ความยาว 665 เมตร (และแนวตั้งทางตะวันตก 782 เมตร) ส่วนทางเหนือติดกับลำห้วยสระหัว เมืองกลางมีร่องรอยแนวกำแพงอิฐบนคันดินที่ถูกไถทำลายจากการเกษตรและการตั้งบ้านเรือนของชุมชนเรียกกันว่า “กำแพงจาม”
.
ร่องรอยสิ่งก่อสร้างฝีมือมนุษย์จำนวนมากกว่า 30 แห่ง ในเมืองโบราณวัดหลวงเก่า ถูกปกคุลมด้วยป่ารกชัฏ ปรากฏชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศ (Aerial photographs) มี 10 แห่งเป็นบ่อน้ำและอ่างเก็บน้ำ และมี 2 แห่งที่เป็นโบราณสถานที่มีคูน้ำล้อมรอบ
.
....การสำรวจบนผิวดินยังพบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถาน ทั้งกรอบประตู (Door frames) อัฒจันทร์ (ธรณีประตู บันไดทางเข้าครึ่งพระจันทร์ Half-moon access stairs) เสาขนาดเล็ก คานเสา โดยเฉพาะแผ่นทับหลังที่พบจากทุ่งนาชิ้นหนึ่งทางเหนือใกล้กับห้วยสระหัว ที่แกะสลักอย่างสวยงาม ในงานศิลปะก่อนเมืองพระนคร (ถาลาบริวัตร Thala Boriwat Style ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12) ฐานรูปเคารพ เศษรูปปั้น หลักจารึก (Inscription steles) ที่มีอายุในช่วง พุทธศตวรรษที่ 11 - 13 ... 
.
...เมืองโบราณวัดหลวงเก่า ยังพบชิ้นส่วนแตกหักของเครื่องใช้ประจำวันอย่างภาชนะดินเผา แท่นบดยา ครกหิน ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้ถูกรบกวนจากการขยายตัวของชุมชนยุคใหม่ที่ขยายตัวขึ้นติดกับโบสถ์คาทอลิกทางเหนือของตัวเมือง อีกทั้งถนนสมัยใหม่ที่ตัดผ่านเมือง พื้นที่ราบถูกใช้ในการทำนา ซากกองอิฐถูกขุดค้นปล้นสะดมเพื่อค้นหาวิ่งของมีค่ามานานกว่าหลายปี... 
.
...จากการสำรวจร่องรอยบนพื้นผิว การขุดหลุมทดสอบขนาดเล็ก 2 แห่ง ร่วมกับการศึกษาวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ (Photogrammetric) ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (GIS) ได้แสดงร่องรอยโบราณสถานก่ออิฐขนาดใหญ่ที่จมอยู่ใต้ดินตะกอน จำนวน 6 เนินในเมืองโบราณ (ดอนไผ่รุม,หนองพระปู่,โฟนธาตุ, ดอนปู่ตา,หนองเวียนและหนองม่วง) โดยเฉพาะที่ดอนปู่ตา ทางเหนือตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองใกล้กับห้วยสระหัว มีเนินดินขนาดใหญ่ รองลงมาคือเนินดินรูปวงกลมของหนองเวียนตรงกลางเมือง... 
.
...หลุมทดสอบบริเวณจุดบรรจบของห้วยสระหัวกับแม่น้ำโขง ที่เรียกว่า “ห้วยสระหัว 2”  (Houay Sa Houa 2)  นั้น มีร่องรอยโบราณวัตถุที่หนาแน่น มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากหลุมทดสอบยังพบก้อนอิฐก่อเป็นจำนวนมาก พื้นที่เต็มไปด้วยเศษซากและร่องรอยของอิฐและหินที่เป็นชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมและวัตถุทางความเชื่อ แท่นหินทรายสองแท่นมีจารึกของเจ้าชายศรีจิตรเสน (Prince Śrī Citrasena) หรือ พระเจ้ามเหนทรวรมัน (Mahendravarman) ที่มีอายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12 ที่มีความสำคัญในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยฟู มาสู่เจนละและเขมรโบราณ (ปัจจุบันจารึกทั้งสองหลัก อยู่ในห้องคลังของพิพิธภัณฑ์วัดพู) ...
.
*** ...ในปี พ.ศ. 2536 จึงได้มีการเริ่มต้นโครงการขุดค้นทางโบราณวิทยาขึ้นที่เมืองโบราณวัดหลวงเก่า 
ที่ห้วยสระหัว 2  เป็นครั้งแรก บริเวณนี้เกี่ยวข้องกับจารึกเจ้าชายจิตรทั้งสองหลัก (K.1173 และ K.1174) ที่ถูกขนไปเก็บไว้ที่วัดหลวงเก่า ซึ่งการขุดค้นได้เผยให้เห็นว่าซากอาคารก่ออิฐขนาดใหญ่ความยาวกง่า 14.5 เมตร มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 และอาจถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 10...
.
...การขุดค้นที่ห้วยสระหัว 2 เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539  ครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า มีศาสนสถานก่ออิฐสร้างซ้อนทับต่อเนื่องกันมาถึง 3 ยุคสมัย ทั้งยังตั้งอยู่บริเวณดอนปู่ตา ใกล้เคียงกับจุดที่มีการค้นพบฐานของ “จารึกศรีเทวานิกะ” (Śrī Devānīka Inscription K.365/ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพู)... 
.
...เนินดินข้างดอนปู่ตาถูกขุดปล้นสะดม และถูกไถปรับหน้าดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนเหลือความสูงเพียง 2.5 ม. ส่วนฐานรากของอาคารยังจมอยู่ใต้เนินดิน ซึ่งดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกับฐานรูปประติมากรรมวัวนนทิ ที่ถูกย้ายไปยังวัดหลวงเก่าอีกด้วย...
.
...ทางตะวันตกของสิ่งก่อสร้างชั้นแรกถูกซ้อนทับด้วยฐานของอาคารก่ออิฐแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ ประมาณ 14.5*14 เมตร มีผนังก่ออิฐสองชั้นหนาล้อมรอบพื้นที่ว่างตรงกลางขนาด 4.6 x 5.1 ม. ที่น่าจะเป็นห้องครรภคฤหะ หน้าด้านทิศตะวันออกก่อฐานเป็นมุขขนาด 3.5 x 7 ม. มีบันไดขึ้นลงและปูพื้นด้วยอิฐที่จัดเรียงอย่างไม่เป็นระเบียบบนกรวดอัดโดยรอบอาคาร...
.
...ในการขุดค้น ได้มีการพบหินทรายประกอบโครงสร้าง ทั้งคานรองรับที่มีลวดลายประดับ ส่วนบนของยอดปราสาทรูปดอกบัวตูม (หัวหอม) อัฒจันทร์/ธรณีประตู ฐานกรอบวงกบประตู หินทรายแผ่นเล็ก เศษหินทรายแผ่นบาง ๆ หลายชิ้น คล้ายรูปเขาสัตว์ (ใบไหม้แหลม) ที่อาจเป็นส่วนประดับที่ยื่นออกมาจากเรือนวิมานแบบปราสาทจามปา ชิ้นส่วนของรางโสมสูตร (Somasūtra) หรือท่อระบายน้ำ ชิ้นส่วนหินรูปตัว L ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนยึดเข้ากับผนังก่ออิฐ และชิ้นส่วนแตกหักของแท่นรูปเคารพ รวมทั้งฐานที่อาจเป็นที่ตั้งของรูปประติมากรรมนนทิ...(ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพู)
.
...ร่องรอยการก่อสร้างที่ซ้อนทับและปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ห้วยสระหัว 2 อาจได้แสดงว่า อาคารเหล่านี้มีอายุเก่าแก่จนถึงช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 11 สนับสนุนสมมติฐานของ ยอร์ช เซเดส์ George Coedès) ที่เชื่อว่า พระเจ้าศรีเทวานิกะในจารึกเป็นกษัตริย์มาจากชายฝั่งทะเลจามปา /ชวา เป็นผู้เริ่มก่อตั้งเมืองโบราณแห่งนี้เป็นครั้งแรกในชื่อนามของท่าน้ำ “มหาตีรถะ” (Mahātīrtha)  แห่ง “กุรุเกษตร” โดยนำความเชื่อเรื่อง “พระภัทเรศวรลึงค์/ศรีลึงคปาวตา”( Bhadreśvara liṅga/Śrī Lingaparvata) เข้ามาด้วย...  
.
---------------------------------
*** จารึกเจ้าชายจิตรเสน/พระเจ้ามเหนทรวรมัน 2 หลัก ทับหลังถาลาบริวัตร รูปประติมากรรมวัวนนทิ ฐานศิวลึงค์ อายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12 ที่พบจากการขุดค้นในปี พ.ศ. 2538-2539 รวมทั้งจากการถูกเคลื่อนย้ายไปรวมไว้ที่วัดหลวงเก่าในอดีต มีความเกี่ยวเนื่องกับโบราณสถานก่ออิฐที่ห้วยสระหัว 2 ที่สร้างซ้อนทับไปบนซากอาคารก่ออิฐที่เก่าแก่กว่าอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งก็อาจเคยเป็นอาคารที่ตั้งของมหาตีรถะริมน้ำห้วยสระหัวและที่ปักตั้งจารึกศรีเทวานิกะ มาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 11 ก่อนจะมีการดัดแปลงใหม่ซ้อนทับ ภายหลังจากที่เจ้าชายจิตรเสน/มเหนทรวรมันเข้ามาครับ  
เครดิต FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น