วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ปรางค์ประธาน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปรางค์ประธานวัดสมณโกฏฐาราม” ชุมชนเริ่มแรกในเขตตะวันออกของเกาะเมืองอยุทธยา  

“คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” (เอกสารจากหอหลวง) อายุเอกสารในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึง พระมหาธาตุสำคัญ ที่เป็นหลักแห่งกรุงศรีอยุธยาว่ามีจำนวน  5 องค์  “...พระมหาธาตุที่เปนหลักกรุงศรีอยุธยา ๕ องค์ คือ พระมหาธาตุวัดพระราม ๑ พระมหาธาตุวัดมหาธาตุ ๑ พระมหาธาตุวัดราชบูรณ ๑ พระมหาธาตุวัดสมรโกฏ ๑ พระมหาธาตุวัดพุทไธสวริย ๑ ...”
.
*** ถึงแม่ว่าในปัจจุบัน พระปรางค์ (เจดีย์ทรงปราสาท) ประธานวัดสมณโกฏฐารามจะพังทลายลงมาจนหมดแล้ว แต่ภาพหลักฐานถ่ายเก่าในช่วงรัชกาลที่ 5 จากหนังสือฟิล์มกระจกจดหมายเหตุหนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ (กรมศิลปากร 2559) ได้แสดงภาพขององค์ปรางค์มุมทางทิศใต้และทิศตะวันออกที่ยังไม่พังทลายลงมา แสดงให้เห็นตัวเรือนธาตุผังสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ 7*7 เมตร บนฐานที่พังทลายไม่มีรูปทรงชัดเจน เรือนธาตุยกเก็จประธานหนาออกมาผนังเรือนเพียงชั้นเดียว เกิดมุมหลักแบบกล่อง 4 เหลี่ยม (Cube) ขนาดใหญ่อย่างเห็นได้ชัด กลางเก็จแต่ละด้านยกมุขเป็นซุ้มประตูซ้อน 2 ชั้น หน้าบันทรงใบหอกซ้อนขึ้นไป 2 ชั้น จนถึงลวดบัวรัดเกล้าของตัวเรือน ติดแนบไปกับผนังเรือนธาตุแบบบาง ๆ ไม่ยื่นเป็นมุขยาวออกมา เป็นแผนผังจัตุรมุขแคบ ๆ ซุ้มประตูด้านตะวันออกยื่นออกมามากกว่าด้านอื่นเล็กน้อย เป็นประตูทางเข้าภายใน ส่วนอีก 3 ด้าน ยังคงเห็นเป็นซุ้มประตูหลอกประดับผนังที่มีทับหลังจำลอง อกเลาและนมเลาอย่างชัดเจนครับ 
.
ฐานบัวเชิงผนังและซุ้มประตูของเรือนธาตุ ก่ออิฐเป็นชุดลวดบัวเชิงอยู่เป็นแผงในระนาบเดียวกัน ส่วนบัวรัดเกล้าด้านบนผนังเดินเส้นลวดขนาดใหญ่ เน้นเส้นและส่วนลวดที่นูนยาวในระนาบเดียวกัน แบบเดียวกับเส้นลวดของบัวเชิงด้านล่าง
.
ชั้นวิมานซ้อนเรือนจำลองขึ้นไป 6 ชั้น ประดับกลีบขนุนที่มุมเริ่มจากชั้นอัสดง ตามแบบปราสาทเขมรละโว้ เอียงสอบโค้งขึ้นไปตามขนาดลดหลั่นของชั้นวิมานจนดูเป็นทรงพุ่ม ด้านบนสุดยังคงเห็นแกนในของส่วนก่ออิฐเป็นจอมโมฬี/บัวกลุ่มยอดปรางค์อย่างชัดเจน รวมความสูงประมาณ 25 เมตร (เทียบอัตราส่วนจากภาพบุคคลที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่า) ครับ
.
*** รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดสมณโกฏฐาราม แตกต่างไปจากปรางค์ปราสาทแบบเขมรละโว้  (อย่างที่วัดนครโกษา ปรางค์บริวารภายในวัดมหาธาตุลพบุรี และปรางค์แบบต้นกรุงศรีอยุธยา (ปรางค์วัดลังกา ปรางค์บริวารวัดมหาธาตุ) ที่มีการยกเก็จซ้อนเพิ่มอีก 1- 2 ชั้นทำให้เกิดการเพิ่มมุมที่ถี่มากขึ้น (จนกลีบขนุนเรียงชิดกัน) และมีสันมุมโค้ง แต่มีการยกเก็จแบบเดียวกับปรางค์เมืองศรีเทพและปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ที่ยกขึ้นมาเพียงระดับเดียว ทำให้เกิดการเพิ่มมุมเพียงด้านละ 3 มุม มุมหลักมีที่ว่างของผนังกว้าง กลีบขนุนในชั้นต่าง ๆ ของวิมานจึงวางห่างกัน    
.
*** หลังคาทรงวิมานและฐานนั้น อาจได้รับการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยหลัง (ประมาณช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21) ที่อาจได้มีการปรับเปลี่ยนผนังเชิงบาตรจากเดิมที่เป็นผนังตรงมาเป็นทรงโค้งรองรับหน้ากระดานในแต่ละชั้น จัดวางกลีบขนุนใหม่ให้สอบโค้งเข้า ส่วนฐานล่างก็ดูเหมือนว่าจะมีการฟอกเสริมครอบฐานยกสูงเดิมจนกลายเป็นฐานประทักษิณมีทางขึ้นด้านหน้าขนาดใหญ่คาดบัวลูกแก้วอกไก่ที่ท้องไม้ รองรับฐานเขียงและฐานปัทม์คาดบัวแถบลูกฟัก 2 ชั้น (ฐานปรางค์ต้นอยุธยา นิยมซ้อนฐานบัวแถบลูกฟักสูงมากกว่า 3 ชั้น)
*** ด้วยเพราะมีเรือนธาตุแบบเดียวกับปรางค์ศรีเทพและปรางค์วัดมหาธาตุอยุธยา แต่มีการจัดชั้นวิมานทรงพุ่มที่ดูทันสมัยกว่า ปรางค์ประธานวัดสมณโกฏฐารามจึงอาจสร้างขึ้นในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ในสภาพแวดล้อมที่แม่น้ำป่าสักเดิม (คลองหันตรา) ยังคงไหลอ้อมไปทางตะวันออก ก่อนจะมีการขุดคูเมืองตะวันออก (จนขยายกลายมาเป็นแม่น้ำป่าสักในปัจจุบัน) ยังไม่มีเกาะเมือง ผู้คนจากเมืองโบราณศรีเทพได้อพยพลงมามาตั้งถิ่นฐานบนที่ดอน สร้างวัดและพระปรางค์ใหญ่ติดกับคลองกุฏีดาว/คลองมเหยงคณ์ขึ้น มีหนองน้ำอยู่ทางด้านหน้าทางทิศตะวันออก บริเวณวัดท่าบัวและตำหนักเสด็จ ทางใต้ของวัดมเหยงคณ์ในปัจจุบันครับ   
.
พระปรางค์ใหญ่วัดสมณโกฎฐาราม จึงอาจเป็นสิ่งก่อสร้างในคติความเชื่อรุ่นแรกในเขตตะวันออกของเกาะเมือง ที่สร้างขึ้นภายหลังปราสาทปรางค์มหาธาตุอยุธยาฐานชะลูดสูงในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้าการสถาปนากรุงศรีอยุธยาตามความในพงศาวดารในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 19 และก่อนการสร้างพระเจดีย์ช้างล้อมวัดมเหยงคณ์ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20
.
*** ชุมชนฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองที่วัดสมณโกฏฐาราม จึงควรเป็นชุมชนอพยพจากเมืองศรีเทพมาตามเส้นทางแม่น้ำป่าสักกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบตะกอนโค้งตวัดของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นกลุ่มแรก ๆ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งต่อมาไม่นานนัก กลุ่มชนตะวันตกจากรัฐสุพรรณภูมิและกลุ่มชนรัฐละโว้ คงได้เข้ามาตั้งบ้านเมืองและชุมชนใหม่กระจายตัวไปตามที่ดอนของดินแดนใหม่ สบน้ำอันอุดมสมบูรณ์และเมืองท่าสำคัญที่กำลังเติบโตขึ้นในช่วงเวลานั้นครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น